พิธีหมั้น พิธีแต่งงานแบบไทย เขาจัดกันยังไง By พี่วาส

เมื่อคราวที่แล้วพี่วาสได้มีโอกาสมาแบ่งปัน  เขียนบทความอธิบายถึงเรื่องความหมายของ ออแกไนซ์ แพลนเนอร์ แม่งาน รันคิว กันไปแล้ว  มาครั้งนี้เลยอยากนำประสบการณ์ที่มีในเรื่องของการจัดงานแต่งงาน หรืองานหมั้นแบบพิธีไทยๆ มาไว้ให้ว่าที่เจ้าบ่าว ว่าที่เจ้าสาว  ได้เข้าใจถึงประเพณีของเรา
    
         ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า  เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประเพณีบางสิ่งบางอย่างก็ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคกับสมัยในปัจจุบัน  สมัยก่อนอาจจะแยกหมั้น กับแต่ง คนละวัน  แต่ปัจจุบันแทบจะเรียกว่า 99%  นำมารวมกันไว้เป็นวันเดียวกัน  

         แล้วขั้นตอนล่ะ จะเป็นยังไงบ้าง อ่ะๆ มาถึงตรงนี้ เริ่มมีคำถามในใจกันแล้วใช่ไหม ว่าสิ่งที่เราเปิดในตำรา หาจากในเน็ต หรือคำบอกเล่ารอบสารทิศ จะถูกหรือผิด  มาถึงวันนี้ พี่วาสบอกได้คำเดียวว่า ไม่ต้องไปนั่งเถียงกันว่าใครผิดใครถูก    ขนาดว่างานแต่งงาน คนละหมู่บ้าน พิธีการก็อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้  ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และประเพณีที่สืบทอดต่อๆ กันมา  

          มาถึงตรงนี้ บางคนเริ่มสงสัย แล้วต้องจ้างคนมาดูแลงานไหม  แขกก็ช่างน้อยนิด มีก็แต่ญาติพี่น้อง   พี่วาสบอกได้คำเดียวค่ะว่า "จ้างเหอะ"  ไม่ใช่ต้องมาจ้างพี่นะ  จ้างใครก็ได้ เพื่อความเรียบร้อยของงาน  เพราะงานหมั้นเป็นเรื่องของความเชื่อ เรื่องของคนที่สามารถออกความคิดเห็นกันได้ทุกคน บางงานก็อาจจะถึงขั้นทะเลาะกันในงานก็เยอะ บ่าวสาวงี้หน้าตาบูดกันเลยทีเดียว
    
         มาๆๆ เขยิบมาใกล้ๆ  วันนี้พี่วาสจะขอเขียนอธิบายแบบกลางๆ    สามารถนำหยิบไปใช้กันได้ และก็ไปปรับเปลี่ยนกันได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน แต่ละท้องที่

            "พิธีสงฆ์"
           โดยปกติ พิธีแต่งงานหรือพิธีหมั้นไทย  จะเริ่มต้นขึ้น จากพิธีสงฆ์  เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิตคู่  มาถึงตรงนี้น้องๆ ก็เริ่มกังวลกันแล้ว กลัวว่าจะทำพิธีไม่ถูกต้อง จะงกๆ เงิ่นๆ จะเริ่มจากอันไหนก่อนดี โอ๊ยยยยยย งงเด้ๆ    
          ไม่ต้องงงกันไปลูก  โดยปกติแล้วขั้นตอนพิธีสงฆ์ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนแต่อย่างใด  แถมถ้ามีศาสนาจารย์ หรือที่เรามักคุ้นเคยและเรียกติดปากกันว่า มัคทายก ผู้ทำพิธีทางศาสนามาคอยกำกับอยุ่ด้วยแล้ว ยิ่งง่ายไปใหญ่เลย  ขั้นตอนคร่าวๆ ก็ตามนี้นะคะ
           - บ่าวสาวเริ่มจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
           - พิธีกรนำไหว้พระ อาราธนาศีล และรับศีล5
           - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
           - บ่าวสาวตักบาตร คำกล่าวโบราณว่าไว้ ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขันแบบนี้นี่เอง
           - พระสงฆ์อนุโมทนา
           - คู่บ่าวสาวกรวดน้ำ
           - พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์
           - เสร็จพิธีทางศาสนา



       
             "ขันหมาก"
             หลังจากทำพิธีสงฆ์เสร็จเป็นที่เรียบร้อย  ขั้นตอนถัดไป ก็คือ พิธีแห่ขันหมาก   มาถึงขั้นตอนนี้ โอย ปาดเหงื่อยิ่งกว่าตอนพิธีสงฆ์อีก  จะยังไงๆ พานมีกี่พาน แล้วพานไหนสำคัญไม่สำคัญ ต้องมีมากน้อยแค่ไหน  บอกไว้ก่อนเลยว่า เรื่องพานขันหมากนี้ ขึ้นอยู่กับประเพณีแต่ละท้องถิ่นเลย  แต่วันนี้จะเขียนเรื่องพานแบบใน กทม.ที่มักนิยมจัดกัน
            พานขันหมาก ประกอบด้วย อาทิเช่น ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ถุงเงิน ถุงทอง ดอกรัก ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ข้าวตอกดอกไม้ และหมากพลู เป็นต้น ก็เรียกว่าเป็นพานที่สำคัญที่สุดนั่นแหล่ะค่ะ คนที่จะถือได้ก็ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาถือนะคะ จะต้องเป็นคนที่มีครอบครัวสมบูรณ์แบบ เป็นครอบครัวที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเราได้
             พานสินสอด จะ 1 พาน หรือ 2 พาน หรือมากกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับสินสอดที่เราจะนำมามอบให้กับฝ่ายเจ้าสาว
             พานแหวน
             พานธูปเทียนแพ  เอาไว้สำหรับให้เจ้าบ่าวถือ
             พานขนมมงคล
             ต้นกล้วย ต้นอ้อย
    
          ส่วนฝ่ายเจ้าสาวเองก็ต้องเตรียมพานเชิญขันหมาก ก็จะนิยมให้เด็กสาวบริสุทธิ์ เป็นผู้ทำหน้าที่ถือ สำหรับเชื้อเชิญขันหมากเข้าสู่บ้าน
          เพื่อนๆ ญาติ ๆ ที่จะคอยเตรียมกั้นประตู




              จะว่าไป เรื่องของการกั้นประตู ถือว่าเป็นเรื่อง Sensitive มากๆ ต้องระมัดระวังกันให้เป็นอย่างดี เล่นกันให้แต่พองาม อย่าถึงขั้นเรียกเงินกันแบบหมดตัว  บ่อยครั้งที่พี่วาสมักจะเจอกับปัญหาในช่วงเวลานี้    เราต้องเข้าใจก่อนว่า การกั้นประตูมันคือการละเล่น เป็นการกระเซ้าเย้าแหย่ให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักมักจี่กันมากขึ้น  ก็เล่นกันแค่พอหอมปากหอมคอกัน ทั้งสองฝ่ายก็จะมีความสุขด้วยกันทั้งคู่

                "สู่ขอ"
                หลังจากผ่านประตูเข้ามาเรียบร้อย ก็เข้าสู่ช่วงพิธีสู่ขอ  ก็เป็นการบอกกล่าวระหว่างผู้ใหญ่ 2 ฝ่าย โดยมีแขกในงาน ญาติๆ มาร่วมรับรู้กันแบบเป็นทางการอีกครั้งนึง  บางคนบอกว่าไม่มีได้ไหมพี่ ก็หนูสู่ขอกันไปแล้ว  .... มันก็ไม่ได้ผิดแต่ประการใด ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ เจ้าของงานเลยจ้า ว่าจะมีพิธีนี้ไหม หรือยังไงดี


                 "รับตัวเจ้าสาว"
                 มาถึงขั้นตอนสวยๆ  เจ้าบ่าวเดินไปรับตัวเจ้าสาว  บางที่ก็อาจจะมีผู้ใหญ่อยู่กับเจ้าสาวด้วย แต่เดี๋ยวนี้ใน กทม.ก็จะนิยมให้เจ้าบ่าว เดินไปหาเจ้าสาวเพียงคนเดียว  เพื่อจะได้เก็บภาพสวยๆ เอาไว้


                "พิธีปูเรียงสินสอด" หรือ "ตรวจนับสินสอด"
               หลังจากที่คู่บ่าวสาว เข้ามาถึงห้องทำพิธีกันแล้ว ลำดับขั้นถัดไปก็จะเริ่มพิธีแจงสินสอดกัน  ก็เอาสินสอดมาวางๆ ตรวจนับกันพอเป็นพิธี แต่ไม่ถึงขั้นเอามานับกันทีละใบ  และเพื่อความเป็นสิริมงคล เขาก็จะนำเอาใบเงิน ใบทอง ใบนาค มาปูเรียงก่อน แล้วจึงค่อยนำสินสอดมาวางทับอีกที หลังจากนั้นจึงค่อยโปรยเมล็ดพันธ์ ข้าวตอกดอกไม้ อวยพรให้กับคู่บ่าวสาว


                "สวมแหวนหมั้น"
              เมื่อคุณแม่เจ้าสาว แบกสินสอดขึ้นบ่าเรียบร้อย นำสินสอดไปเก็บเรียบร้อย  ก็ถึงเวลาที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว รอคอยกันแล้ว  พิธีหมั้น หรือการสวมแหวนหมั้น   ในสมัยโบราณ เขาก็จะให้เจ้าบ่าวสวมให้เจ้าสาวคนเดียว  แต่ปัจจุบันเราก็รับวัฒนธรรมตะวันตกมาด้วย ก็ประยุกต์มาเป็นแลกแหวนให้แก่กัน  เห็นไหมคะว่า ประเพณีทุกอย่างถ้ามันเป็นสิ่งดีๆ มันก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย และความเหมาะสม


                " รับไหว้ " "ผูกข้อมือ"
                สำหรับลำดับนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมาเสมอ ว่าจะเอาพิธีไหนขึ้นก่อนดี ระหว่างหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ กับรับไหว้  ตอบเลยว่า ทั้งสองพิธีนี้ สามารถสลับกันได้ตามความเหมาะสม และตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่นที่เคยทำมา   แต่พี่วาสจะมีข้อแนะนำอย่างนึงว่า ถ้าจุดที่เราต้องทำพิธีคือจุดเดียวกัน  ถ้าเราตั้งหลั่งน้ำสังข์ไว้ก่อน  พื้นที่ที่พิธีก็อาจจะเปียกได้ และเดี๋ยวคู่บ่าวสาวก็ต้องมานั่งทำพิธีรับไหว้ต่อ  จึงแนะนำให้เอารับไหว้ขึ้นก่อนหลั่งน้ำสังข์
                 พิธีรับไหว้ หรือ พิธีผูกข้อมือ  ก็เพื่อเป็นการแสดงถึง ความเคารพคารวะญาติผู้ใหญ่  หรือเป็นการขอขมาในการที่คู่บ่าวสาวอาจจะเคยทำล่วงเกินเอาไว้  โดยเจ้าบ่าว เจ้าสาว ยกพานธูปเทียนแพ  ผู้ใหญ่ก็จะมาให้ศีลให้พร พร้อมทั้งมอบเงิน มอบทอง เพื่อให้ทั้งคู่ไว้เป็นทุนสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่ หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวก็จะมีของขวัญมอบให้กับผู้ใหญ่  

                
                 
                "หลั่งน้ำพระพุทธมนต์"  หรือ "หลั่งน้ำสังข์"
                พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์  เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์  น้ำที่ใช้ก็เป็นน้ำมนต์ที่ประกอบพิธีสงฆ์มาเรียบร้อยแล้ว  ขั้นตอนนี้คือการให้ผู้ใหญ่ ญาติๆ แขกที่มาร่วมงาน ได้มาร่วมอวยพร แสดงความยินดีให้กับทั้งคู่

                      
                 "ส่งตัว"
                  หลังจากเสร็จพิธีต่างๆ  ก็อาจจะมีการส่งตัวเข้าหอกันต่อเลย  เพื่อความสะดวกกับทุกๆ ฝ่าย แต่บางครั้งก็อยู่ที่ฤกษ์ยามที่ได้มาด้วย  ในพิธีนี้โดยส่วนใหญ่จะเชิญคู่ตัวอย่าง มาทำพิธี เป็นคู่ที่มีครอบครัวสมบูรณ์ มาปูเตียง มานอนที่เตียงและอวยพรให้กับคู่บ่าวสาว
                  สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีส่งตัว อาทิเช่น
                  - หินบดยา
                  - ไม้เท้า
                  - ฟักเขียว
                  - ถั่วและงาอย่างละถุง
                   - ขันใหม่ใส่น้ำ
                   - แมวคราว (ใช้รูปปั้นแทนได้)
                   - ไก่ขาว (ใช้รูปปั้นแทนได้)
                   - ข้าวตอกดอกไม้และเหรียญเงินเหรียญทอง

          


วันนี้ก็ขออนุญาตมาเล่าถึงขั้นตอนเอาแบบคร่าวๆ กันเพียงเท่านี้ค่ะ  ถ้าท่านใดมีข้อสงสัยก็ติดตามกันได้ที่หน้าเพจพี่วาสได้เลยนะคะ ยินดีให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ค่ะ  



ขอขอบคุณภาพสวยๆ ประกอบบทความ  จาก  Unseen Wedding Photo
เขียนโดย  พี่วาส Vas Wedding
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่