[Review] Dunkirk: การกลับสู่สามัญของโนแลน


By มาร์ตี้ แม็คฟราย

หลังจากสร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่รักของนักวิจารณ์และคนทั่วโลกกับผลงานถือเป็นหมุดหมายสำคัญหลายเรื่องที่ฮอลลีวูดต้องนำไว้ศึกษา อย่าง Memento, Inception และ The Dark Knight คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นผู้กำกับที่คนทั่วโลกจับตามองในทันที ในฐานะผู้กำกับที่มีความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะในเรื่องราวในภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน จริงจัง เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ขับเคลื่อนไปและข้อมูลอันหนักอึ้ง แฝงด้วยแนวคิดให้เหล่าคอหนังนำไปเป็นประเด็นถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ

หลังจากจบภารกิจพาคนดูไปสำรวจโลกอวกาศ หลุมดำต่างมิติใน Interstellar (2014) มาแล้ว 3 ปีต่อมาโนแลนได้นำคนดูเข้าสู่สงครามกันบ้าง กับเหตุการณ์ยุทธการดันเคิร์ก เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้นี่เป็นหนังสงครามเรื่องแรกของโนแลนอีกด้วย

ยุทธการดันเคิร์ก เป็นเรื่องราวของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร กว่า 3 แสนคน ที่ถูกทหารฝ่ายอักษะตีจนต้องถอยร่นมาจนถึงชายหาดดันเคิร์ก ประเทศฝรั่งเศส ที่พวกทหารเหล่านั้นไม่สามารถหนีไปไหนได้อีก นอกจากรอปาฏิหาริย์

- การเล่าเรื่องที่กลับสู่สามัญ -
แม้ว่าเราจะเคยเห็นโนแลนทำหนังที่จำเป็นต้องใช้สมองในการดูมาแล้วกี่เรื่อง หรือจะเคยเห็นโนแลนเล่นท่ายากในลำดับการเล่าเรื่องตามเส้นเวลาที่สลับซับซ้อนมากมายก่อนหน้านี้ แต่กับผลงานเรื่องล่าสุดสิ่งที่เราคุ้นตาจากหนังโนแลนนั้นแทบไม่เหลือเลย เพราะกับผลงานล่าสุดโนแลนได้หวนกลับมาใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม ที่เน้นการเล่าเรื่องด้วยสถานการณ์ ให้เหตุการณ์นำเรื่องไปผ่านภาพที่เรียงร้อยกัน คล้ายกับวิธีการเล่าเรื่องในยุคหนังเงียบที่ใช้ได้เพียงภาพเล่าเรื่องผสมกับดนตรีประกอบเท่านั้น หนังเรื่องนี้จึงไม่มีการเล่าเรื่องอะไรที่ซับซ้อน ไม่ได้มีข้อมูลอะไรที่เราต้องตามให้ทัน (ไม่งั้นจะดูไม่รู้เรื่อง) ไม่ได้มีแนวคิดอะไรที่ต้องถกเถียงได้ต่อเหมือนหนังโนแลนเรื่องก่อนหน้านี้

แค่นั้นยังไม่พอ สิ่งที่ตอกย้ำการหวนกลับสู่สามัญอีกอย่างหนึ่งคือ โนแลนเลือกที่จะเล่าเรื่องผ่าน 3 สถานการณ์ที่เกี่ยวข้อกัน ได้แก่ สถานการณ์เครื่องบินบินน่านฟ้า (ที่ ทอม ฮาร์ดี้ แสดงนำ) สถานการณ์ของทหารหนุ่ม 3 บนหาด (ที่หนึ่งในนั้นมี แฮร์รี่ สไตลส์ แสดงนำ) และสถานการณ์บนเรือพลเรือนที่กำลังเดินทางไปช่วยทหารที่ดันเคิร์ก (ที่ มาร์ค ไรแลนซ์ แสดงนำ) เป็นการเล่าเรื่องเหมือนกับเรากำลังดูหนังสั้น 3 เรื่อง 3 สถานการณ์แบบสลับไปมา แต่อยู่ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน และเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน ที่นับว่าเป็นความเก่า.. ที่กลับรู้สึกใหม่เมื่อได้ดูการเล่าเรื่องแบบนี้
ซึ่งโนแลนก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้หนังที่เพียบไปด้วยข้อมูลและความซับซ้อนเหมือนเรื่องก่อน ๆ เลย

- ทักษะที่การเล่าเรื่องด้วยภาพ (ที่ไม่เคยเห็น) -
ตามประสาคนที่ดูหนังโนแลนมาทุกเรื่อง เราจะค่อนข้างชินและรู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นผู้กำกับที่เก่งกาจมากในเรื่องการวางเงื่อนไขภายนอกเรื่องราวที่ซับซ้อนอย่างที่กล่าวไป เขามักดำเนินเรื่องราวด้วยเงื่อนไข ข้อมูล และสถานการณ์ผ่านบทสนทนาไปเรื่อย ๆ แต่ในเรื่องนี้เราได้เห็นตัวตนอีกแบบของเขาที่ไม่ได้เคยเห็นมาก่อน ก็คือทักษะการเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมที่เล่าถึงสถานการณ์ผ่านภาพอย่างเดียว

ซึ่งเป็นการพิสูจน์ความสามารถของเขาอีกครั้ง ว่าหากไม่มีเรื่องราวซับซ้อนต่าง ๆ และหนังมีเพียงสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โนแลนจะทำออกมาได้ดีเท่างานที่ซับซ้อนของตัวเองมั้ย ทำตอบคือ ดีกว่าที่คาด และจะยิ่งรู้สึกชื่นชมความสามารถในการกำกับที่รอบด้านของเขาอีกด้วย

เพราะเขาทั้งกำกับฉากที่ตึงเครียด ลุ้น ตื่นเต้น ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยแทบไม่มีบทสนทนาเลย แต่ในจุดนี้ต้องชมดนตรีประกอบของ ฮานส์ ซิมเมอร์ ด้วยที่นับเป็นพระเอกอีกคนของหนัง เพราะเพลงประกอบไม่ว่าจะเป็นเสียงนาฬิกา (จากนาฬิกาของโนแลนเอง) หรือเสียงอันครึกโครมในฉากอื่น ก็เป็นส่วนสำคัญในการดึงอารมณ์ร่วมของคนดูไปสู่จุดสูงลิ่วไปเรื่อย ๆ

แต่แม้ว่าคราวนี้จะเล่าเรื่องแบบสถานการณ์ที่ไร้ความซับซ้อน แต่โนแลนก็ยังไม่ทิ้งลายเซ็นของตัวเองในเรื่องจังหวะการตัดต่อแบบไม่เรียงลำดับเวลาอยู่เหมือนกับหนังเรื่องก่อนหน้าอยู่เหมือนกัน ที่มากพอให้เราสังเกตความเป็นโนแลนอยู่บ้าง

- IMAX 70 MM -
“หากจะไปดูหนังเรื่องนี้ ถ้าเป็นไปได้ คุณควรดูหนังเรื่องนี้ด้วยฟิล์ม IMAX 70 MM ที่พารากอนเท่านั้น” (ที่เขียนแบบนี้ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด) เพราะในตอนนี้ในฮอลลีวูด โนแลนดูจะเป็นผู้กำกับที่ใช้กล้อง IMAX ได้คุ้มค่าและเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะมันชัดเจนว่าเขารู้จักหนังตัวเองดี ว่ามุมกล้องช็อตไหนควรเป็นกล้อง IMAX ฉากไหนไม่จำเป็น และใช้กล้องได้อย่างคุ้มค่ากับฉากนั้นจริง ๆ (โปรดลืมการใช้กล้อง IMAX แบบสะเปะสะปะและชวนน่ารำคาญอย่างมากของ Transformers: The Last Knight ของ ไมเคิล เบย์ ไปก่อน)

โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์บนฟ้าในหนัง ที่โนแลนได้ใช้กล้อง IMAX ได้คุ้มค่าเหลือเกิน เพราะมีทั้งช็อตที่อยู่กลางเวหาที่เราได้เห็นเครื่องบินทำการรบอยู่ ภาพบนฟ้าที่เราได้เห็นในโรง IMAX กับโรงปกติ จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะความยิ่งใหญ่เสมือนเหตุการณ์ตรงหน้า รวมถึงฉากในบนหาดอันยิ่งใหญ่ที่มากด้วยนักแสดงประกอบนับร้อยชีวิตที่กำลังหนีตาย ต่างเป็นสุนทรียภาพทางด้านภาพยนตร์ที่ทั้งตัวหนังระบบกล้องส่งเสริมกันได้มากที่สุด และเป็นหนึ่งประสบการณ์ในโรง IMAX ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

- สงคราม (ของใคร) -
แน่นอนว่าเมื่อเป็นหนังสงคราม ก็มักจะมีประเด็นการสูญเสียที่แสดงความโหดร้ายของสงครามอยู่แล้ว แม้ว่าเรื่องนี้เราจะไม่ได้เห็นดราม่าในระดับหนังสงครามขึ้นหิ้งที่ตั้งใจสื่อสารประเด็นการสูญเสียเป็นหลักอย่าง Platoon (1989) The Deer Hunter (1978) และ Saving Private Ryan (1998) แต่เป็นเพราะ Dunkirk โนแลนตั้งใจจะถ่ายทอดสถานการณ์ของตัวละคร ณ เวลานั้นแบบสมจริง มากกว่าจะเป็นเน้นเรื่องดราม่าต่าง ๆ

แต่หนังก็ยังมีแง่มุมของตัวละครที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่ผ่านสถานการณ์ของตัวละครมาร์ค ไรแลนซ์บนเรือพลเรือนที่กำลังไปช่วยเหลือทหารที่หาด ที่ต้องพบเจอทั้งกับทหารที่มาพร้อมบาดแผล

โดยจุดจบของหนังเรื่องนี้ อารมณ์ความรู้สึกมันไม่หนีกับหนังสงครามเรื่องเยี่ยมเรื่องอื่น ๆ เท่าไรนัก เป็นอารมณ์ที่คล้ายกัยว่า โลกไม่มีทางเปลี่ยนสันดานมนุษย์ที่ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง และเมื่อมันเกิดสงครามที่คนทั่วไปไม่ได้ก่อ แต่กลับต้องเอาชีวิตไปทิ้งเพื่อสิ่งที่เรียกว่าอำนาจและการเอาชนะของคนอื่น

ในเมื่อเราทำอะไรไม่ได้ ก็คงทำได้แค่ทำใจและสู้ต่อไปในชีวิตภายหน้า

ขอบคุณรูปภาพจาก Warner Bros. Pictures

ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่