" วิชัย " เฮี้ยนหนัก ฟ้องข่าวหุ้นเรียก 50 ล้านบาท IFEC

กระทู้สนทนา
ก.พาณิชย์ตอกคว่ำ “วิชัย IFEC” แต่ยังเปรี้ยวฟ้อง “ข่าวหุ้น” 50ล้านบาท!
“เม้ง” เฮี้ยนหนัก! หายหัวไปนานโผล่มาอีกรอบ ยื่นฟ้อง “ข่าวหุ้นธุรกิจ” 50 ล้านบาท อ้างถูกใส่ความจนชาวบ้านเหม็นขี้หน้าร้องยี้กันทั้งเมือง ปัดใช้เล่ห์เพทุบายเลือกตั้งกรรมการจนมีชัยเหนือผู้ถือหุ้นใหญ่ ตะแบงสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว วงการงง! พูดเฉยข้อบังคับบริษัทที่ตัวเองเซ็นกับมือผิดกฎหมาย ยืนหยัด “ลงคะแนนแบบสะสม” มีความชอบธรรม ฟากกระทรวงพาณิชย์ตอกหน้าหงาย “ไม่รับฟอกขาวบอร์ดเถื่อน”!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560
นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFECเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ”ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2275/2560 ต่อศาลอาญา โดยระบุข้อหาหรือฐานความผิด “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”
โดยจำเลยในคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท บูรพาทัศน์ (1999) จำกัด นิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ฯ เป็นจำเลยที่ 1 นายประวิทย์ อริยวงศานุกูล กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เป็นจำเลยที่ 2 นายสืบศักดิ์ ปลื้มจิตต์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เป็นจำเลยที่ 3 นายชาญชัย สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการ/ผู้เขียนบทความ เป็นจำเลยที่ 4 และนายเกษตร ศิวะเกื้อ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เป็นจำเลยที่ 5
ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า เมื่อประมาณวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2560 จำเลยทั้ง 5 ได้ร่วมกันตีพิมพ์ข้อความใส่ความ นายวิชัย ผ่านคอลัมน์ “ขี่พายุ ทะลุฟ้า” ตอน “ดองไอเฟคจนกลายเป็นไอเฟอะ” ซึ่งนายชาญชัย จำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 7-อาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2560 โดยมีข้อความใส่ความหมิ่นประมาทนายวิชัยตามคำฟ้อง ดังต่อไปนี้
นายชาญชัยเขียนลงในคอลัมน์ดังกล่าว โดยมีเนื้อหาใจความตอนหนึ่งระบุว่า “ไม่เห็นหุ้นอะไรเลอะเทอะเช่นนี้ จากไอเฟคจะเรียกว่าไอเฟอะก็คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก”
“ปมปัญหาก็คือ ผู้ถือหุ้นข้างน้อย ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ อันเป็นกฎกติกาสากลและประเพณีจารีตอันดีงามในตลาดทุน
“กลับใช้วิธีการอันผิดกฎหมายและผิดกฎข้อบังคับบริษัทที่ตนเป็นผู้ลงนามเอง ลายเซ็นชื่อนพ.วิชัย ปรากฏหรา แต่ทั้งที่รู้ทั้งรู้ก็ยังใช้วิธีโหวตเลือกบอร์ดแบบสะสม (Cumulative Voting) แทนการนับแบบวันแชร์วันโหวตในรายชื่อเสนอบอร์ดแต่ละราย
“ต้องใช้การประชุมผู้ถือหุ้นถึง 3 ครั้ง ประธานบอร์ดก็ใช้เล่ห์เพทุบายโหวตแบบสะสมอยู่นั่นแหละ สิ่งประหลาดจึงได้เกิดขึ้นในบริษัทนี้ คือผู้ถือหุ้นข้างน้อย กลับใช้อำนาจประธานบอร์ดที่ไม่ชอบธรรม ผลักดันให้พวกตัวเองมีที่นั่งมากกว่าผู้ถือหุ้นข้างมาก”
ด้านนายวิชัย ได้มีการกล่าวอ้างตามคำฟ้อง โดยระบุว่า ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับรู้ข้อมูลเข้าใจว่าตน ในฐานะประธานบอร์ด IFEC และเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อย ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (รายใหม่) และยังได้ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย และผิดกฎข้อบังคับของบริษัทฯที่ตนเป็นผู้ลงนามด้วย
ขณะเดียวกันการที่นายชาญชัยเขียนข้อความว่าตน “ใช้เล่ห์เพทุบาย หรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมผลักดันให้พวกของตน”นั้นแสดงให้เห็นว่า ตนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือกฎหมาย แต่ใช้เล่ห์เพทุบายอันเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ชอบธรรมเอารัดเอาเปรียบเพื่อให้ได้กรรมการที่เป็นคนของตน โดยไม่สนใจกฎหมายหรือวิธีการอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นความเท็จ
ทั้งนี้ มีการระบุในเอกสารคำฟ้องโดยอ้างว่า ความจริงในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีการขอมติที่ประชุมฯเพื่อหาวิธีการเลือกตั้งกรรมการเข้าใหม่ โดยขั้นตอนดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อที่ 20 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 70
โดยข้อบังคับบริษัทฯข้อที่ 20(1) ระบุว่า หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการ ให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง (มักถูกเรียกว่า การลงคะแนนแบบหนึ่งหุ้นหนึ่งเสียง หรือ One Share One Vote) และข้อที่ 20(2) ระบุว่า ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (1) เลือกตั้งบุคคลเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
ขณะที่ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ มาตรา 70(1) ระบุว่า เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการ ให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือคูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะเลือกตั้ง (มักเรียกกันว่า การลงคะแนนแบบสะสม หรือ Cumulative Voting)
โดยที่มาตรา 70(2) ระบุว่า ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (1) เลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ ในกรณีที่เลือกตั้งบุคคลหลายคนเป็นกรรมการจะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดก็ได้
ส่วนในกรณีที่บริษัทมีข้อบังคับกำหนดวิธีการเลือกกรรมการไว้เป็นอย่างอื่น ข้อบังคับนั้นจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิผู้ถือหุ้นในการลงคะแนนเลือกกรรมการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นว่า ตามข้อบังคับและข้อกฎหมาย การลงคะแนนแบบสะสม สามารถกระทำได้เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการตามข้อบังคับที่ 20(1) ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบหนึ่งหุ้นหนึ่งเสียง ขัดต่อพ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ มาตรา 70(1) ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบสะสม
โดยบทสรุปนี้ถือว่า เป็นไปตามข้อบังคับที่ 61 ซึ่งกำหนดให้บรรดาระเบียบหรือคำอนุมัติที่ที่ประชุมฯจะบังคับได้ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับและกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด อีกทั้งข้อบังคับดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการตัดสิทธิผู้ถือหุ้นในการลงคะแนนเลือกกรรมการด้วย
ต่อมา ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในวาระที่ 2 เรื่องเลือกตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนกรรมการที่ครบวาระ ได้มีการนำวิธีการลงคะแนนตามที่ที่ประชุมวิสามัญฯ ครั้งที่ 2/2560 มาใช้เช่นเดียวกัน คือ การลงคะแนนแบบสะสม
โดยในบทสรุป นายวิชัยกล่าวอ้างตามเอกสารคำฟ้องว่า การลงคะแนนแบบสะสมมิใช่เป็นการใช้เล่ห์เพทุบายหรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมตามที่จำเลยทั้ง 5 กล่าวหา แต่เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ดีโดยเฉพาะการเลือกตั้งกรรมการซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมแต่งตั้งกรรมการเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตน
การออกเสียงแบบสะสมจึงอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นสามารถออกเสียงของตนทั้งหมดหรือบางส่วนให้กรรมการคนเดียวหรือบางคนหรือกรรมการทั้งหมด เพื่อให้ได้กรรมการตามสัดส่วนมิใช่ให้กรรมการผูกขาดของผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากซึ่งจะเป็นการผูกขาดและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย
ดังนั้น พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน ตนจึงไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของ IFEC หรือพ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ หากแต่เป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับและข้อกฎหมาย
ขณะที่การใส่ความโดย “หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ” ส่งผลให้ตนได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากประชาชนที่ได้อ่านข้อความตามที่มีการพิมพ์โฆษณา ซึ่งหนังสือพิมพ์ของจำเลยถือเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ
ทั้งนี้ นายวิชัยได้ระบุคำขอท้ายคำฟ้องอาญาว่า การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่า เป็นความผิดต่อกฎหมาย และบทมาตราดังนี้ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 326, 328, 332 และขอให้ศาลออกหมายเรียกและนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งและบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้
1.ให้ยึดหรือทำลายนสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจในส่วนที่มีการพิมพ์โฆษณาหมิ่นประมาทตน 2.ให้ลงประกาศคำพิพากษาของศาลทั้งฉบับในหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ รวมทั้งนสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3.ให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และ 4.ให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนตนทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ล่าสุด นางสาวสุธินันท์ ชาญปรีชา นายทะเบียน ส่วนจดทะเบียนบริษัทมหาชน และธุรกิจพิเศษ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีคำสั่งไม่รับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทของ IFECซึ่งได้มีการยื่นไว้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม และวันที่ 20 มิถุนายน 2560
โดยนายทะเบียนได้พิจารณาแล้วว่า การที่ IFEC ได้กำหนดข้อบังคับของบริษัทฯเกี่ยวกับการเลือกตั้งกรรมการ โดยให้ผู้ถือหุ้นหนึ่งคน มีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง และผู้ถือหุ้นแต่ละคนนั้น จะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดเลือกตั้งบุคคลคนเดียว หรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
ดังนั้น บริษัทฯจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการลงคะแนนเลือกกรรมการในการประชุมสามัญฯครั้งที่ผ่านมาที่ถูกนำมาใช้ คือ การลงคะแนนแบบสะสม ถือว่า “ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อที่ 20 และมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายวิชัยเป็นผู้ลงนามในข้อบังคับของบริษัทฯด้วยตนเองจริง ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ IFEC ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 โดยมีนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ร่วมลงนามด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่