ประมูลเดินรถเมล์คึก กทม.-บีทีเอสร่วมชิง

จับตากทม.ขอแจมเดินรถเมล์โดยสารสาธารณะตามแผนที่ขบ.กำหนด ด้านบีทีเอสจ้องแข่งร่วมประมูลเพื่อป้อนผู้โดยสารให้รถไฟฟ้าบีทีเอส และสายสีชมพู สายสีเหลือง โดยใช้สถานีและศูนย์ซ่อมบำรุงเป็นจุดจอดแล้วจรของโครงการ

แหล่งข่าวระดับสูงของกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการที่นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์จำนวนกว่า 200 เส้นทางนั้นโดยพบว่ามีเส้นทางที่อยู่ในการให้บริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และของ ขบ.ที่จะนำออกประมูลเส้นทางจำนวนหนึ่งโดยขบ.เตรียมนำร่องออกประมูลก่อนเบื้องต้นนี้จำนวน 8 เส้นทางก่อนที่จะขยายไปสู่เส้นทางอื่นๆต่อไป

ล่าสุดนั้นพบว่ามีความเคลื่อนไหวของกรุงเทพ มหานคร (กทม.) ที่อาจร่วมกับกลุ่มบีทีเอสเข้าร่วมประมูลแข่งเดินรถโดยสารสาธารณะที่ขบ.เปิดแข่งขันในครั้งนี้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือกทม.สามารถเจรจาตรงในฐานะหน่วยงานภาครัฐขอเอาเส้นทางเดินรถมาบริหารจัดการเองโดยมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) รับไปดำเนินการโดยมีบีทีเอส คอยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเพื่อนำเส้นทางต่างๆมาป้อนผู้โดยสารให้กับโครงการรถไฟฟ้าของกทม.ดูแลและที่บีทีเอสให้บริการ


“เป็นสิทธิ์ของกรุงเทพ มหานครที่อาจขอบางเส้นทางหรือทั้งโครงการดังกล่าวไปบริหารจัดการเองได้ซึ่งจะมีความเป็นไปได้มากกว่า คาดว่าจะได้ความชัดเจนในเร็วๆนี้เนื่องจากกทม.มีความต้องการนำรถเมล์โดยสารสาธารณะไปบริหารจัดการเองแต่ติดปัญหาเรื่องภาระหนี้เท่านั้น ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วคาดว่ากทม.เอาแน่โดยอาจจะร่วมกับบีทีเอส ดำเนินการโดยมอบหมายให้เคทีรับผิดชอบหรือว่าจ้างให้บีทีเอสวิ่งรถให้บริการเนื่องจากกทม.มีเส้นทางรถเมล์บีอาร์ทีที่ได้ศึกษาเส้นทางรองรับไว้แล้วจึงสามารถเปิดให้บริการตามแผนได้ทันที อีกทั้งมีหลายเส้นทางที่สหภาพขสมก.แสดงความชัดเจนว่าไม่ต้องการวิ่งให้บริการซึ่งเป็นไปได้ว่าบีทีเอสจะเข้าไปวิ่งให้บริการเพื่อป้อนผู้โดยสารให้รถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆนั่นเอง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าปัจจุบันต้นทุนของขสมก.ต่อกิโลเมตรพบว่าสูงกว่ารถร่วมภาคเอกชนประมาณ 1เท่าตัว รายได้เฉลี่ย 30-40 บาทต่อคนต่อวันดังนั้นรถร่วมจึงยังดำเนินการธุรกิจต่อไปได้ เมื่อมีการพัฒนาตามแผนปฏิรูปเส้นทางตามที่ขบ.กำหนดไว้จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถของขสมก.อย่างแน่นอนแม้จะขอสิทธิ์ในเส้นทางหลักไปดำเนินการแล้วก็ตามแต่การบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพจะส่งผลให้แข่งขันกับภาคเอกชนไม่ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

http://www.thansettakij.com/content/181952
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่