บ้านของพระอินทร์

กระทู้สนทนา


เมื่อหลายวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตเงินวัดออกมา ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องที่ผ่านมายาวนานกว่าสี่สิบปี สมัยนั้นวัดบ้านนอก เรื่องราวที่น่ากลัวที่สุดคือยามที่มีการเผาศพ ฉันชอบไปยืนมองการเผาศพกับหลวงน้า หลวงน้าเป็นพระหนุ่ม เป็นน้องชายคนสุดท้องของแม่ฉัน ชอบขีดเขียน ลายไทย มีฝีมือเชิงช่างสร้างสรรค์อยู่ไม่น้อย เวลางานวันพระใหญ่ งานผ้าป่า หรือกฐิน หลวงน้าจะมีหน้าที่เขียนป้าย เขียนรายชื่อญาติโยมที่มาทำบุญ ไม่เว้นแม้แต่การเขียนชื่อบนกระดานเวลาสวดศพ เขียนป้ายชื่อหน้าที่เก็บกระดูกด้วยพู่กันและสีน้ำมันกระป๋องเล็กๆ อดีตฉันเป็นเด็กวัด ใช่ครับฟังไม่ผิดหรอก

ตอนนั้นวัดไม่มีเมรุเผาศพแบบปัจจุบันที่เป็นคอนกรีตประดับตกแต่งลายไทย อ่อนช้อยสวยงาม มีปล่องไฟสูง สามารถเผาศพด้วยไฟฟ้า ที่เขาว่ากันว่าถูกหลักสาธารณสุขและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมทางอากาศ แม้ไฟดับก็ยังสามารถเผาด้วยฟืนได้ แตกต่างจากสี่สิบกว่าปีที่แล้วชาวบ้านจะเผาศพกันที่เชิงตะกอน เชิงตะกอนอยู่หลังวัดออกไปไกลพอสมควร ตรงนั้นจะเป็นลานกว้าง ไม่ห่างจากบ่อน้ำใหญ่ที่มีกอไผ่เป็นที่บอกแนวเขตวัดและกอกล้วยน้ำว้าหนาทึบเป็นรั๊วแถวที่สองถัดเข้ามาจดริมสระ มีกองฟืนกองใหญ่ที่พระบ้าง ญาติโยมบ้างนำมากองไว้เป็นเชื้อไฟ ส่วนใหญ่เป็นปีกไม้ที่เหลือเศษจากเลื่อยเป็นไม้ปลูกบ้าน เสาไม้ที่เหลือจาการประกอบกั้นคอกวัว คอกควาย อีกส่วนเป็นต้นไม้หักโค่นจากไม้ใหญ่ที่มีมากมายในบริเวณวัด ไม้นั้นชิ้นจะโตเกินกว่าที่ชาวบ้านหรือพระเณรจะใช้ประกอบการจุดเตาหุงหาอาหารในงานบุญ ไม้ฟืนที่ใช้ในการหุงหาทำอาหารจะอยู่ในโรงไม้ใกล้ศาลาเก่าโยกเยกที่แยกจากกันทั้งขนาดและที่ตั้งชัดเจน

พื้นที่เชิงตะกอนที่น่าหวาดหวั่นยามเผาศพ บางครั้งสัปเหร่อจะตัดทางมะพร้าวมาพรางภาพอุจาด หรือ กั้นเขตไม่ให้คนที่ไม่ใช่ญาติผู้ตายเข้ามุงดูภาพที่ร่างกายมนุษย์ถูกไฟผลาญไปจนหมดทั้งเนื้อหนัง น้ำเหลือง กระดูก แล้วเอาไปพูดถึงในทางที่ไม่เป็นมงคล ส่วนพระ เณรจะได้ปลงอสุภะ ในที่ห่างความร้อนจากกองฟอนมาประมาณหนึ่ง นำโดยหลวงพ่อและพระลูกวัด ฉันได้ติดตามหลวงน้าไปดูด้วย ภาพนั้นยังจำติดตาไม่ลืม

หลวงพ่อบอกกับฉันว่า ดูไว้ วันหนึ่งเอ็งก็ต้องตาย หลวงพ่อก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้น ฉันยังว่า หลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสแท้ๆ ทำไมมาพูดแบบนี้กับเด็กอายุสิบขวบอย่างฉัน ความตายไม่เป็นมงคลเอาเสียเลย

แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หลวงพ่อไม่ตื่นมาทำวัตรเช้าในอีกสามวันจากนั้นท่านมรณภาพด้วยโรคชรา หลวงพ่อตายแล้วเป็นเรื่องใหญ่มากในความคิดของฉัน ชาวบ้านและเหล่าพระสงฆ์ลงความเห็นว่าวัดต้องไปยืมเมรุลอยจากวัดต่างอำเภอมาใช้ในงานศพของหลวงพ่อ ไม่อยากให้ไปเผากองฟอนท้ายวัด ทุกคนอยากทำงานศพถวายท่านให้สมเกียรติที่ท่านเป็นพระนักพัฒนา สมถะ เป็นที่พึ่งทางจิตใจชาวบ้านมานาน หลวงน้ารับหน้าที่เป็นผู้ติดต่อและไปรับเมรุลอย ฉันไม่รู้จักเมรุลอยมาก่อน จนกระทั่งหลวงน้าเล่าให้ฟังในคืนที่สวดศพหลวงพ่อคืนแรก เมรุลอยนั้นใช้เรียกที่ใช้เผาศพชั่วคราว ที่ใช้เสร็จแล้วก็รื้อถอนได้มีความสวยงามวิจิตร ฉันว่าลอยคือไม่ถาวรใช่ไหม หลวงน้าพยักหน้า แล้วเมรุแปลว่าอะไร หลวงน้าเปิดหนังสือแล้วเล่าว่า เมรุเป็นชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์อาศัยอยู่ เราขอนำมาแปลงใช้ทำที่เผาศพโดยประกอบหลังคาขึ้นเหนือที่ตั้งศพให้เกียรติผู้เสียชีวิต มันคงจะสวยมากหากเป็นบ้านของพระอินทร์ ฉันว่า หลวงน้าบอกว่ามันสวยมากแล้วยิ้ม จนฉันแทบจะหลับฝันถึงเมรุลอย ซึ่งคงไม่มีใครประหลาดที่จะฝันถึงที่เผาศพอย่างฉันเป็นแน่

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ฉันไปกับหลวงน้าและชาวบ้านผู้ชายอีกเกือบสิบคน พวกเราออกเดินทางไปแต่เช้าด้วยรถสิบล้อคันใหญ่ เมื่อไปถึงวัดต่างอำเภอ พวกเราก็เห็นเมรุลอยนั้นตระหง่านเป็นสง่าอยู่กลางวัด ฉันมองว่าเหมือนหอระฆังขนาดย่อมสามหอตั้งเรียงกัน สวยงามเกินกว่าจะเป็นที่ตั้งเผาศพ หยวกสลักลายที่เป็นฝีมือช่างแทงหยวกเริ่มเป็นสีน้ำตาลเพราะความร้อนจาการการเผาศพมาแล้วสามวัน ฉันเข้าไปดูใกล้ ๆ ขณะหลวงน้าเขียนภาพขั้นตอนการประกอบทุกชิ้นงานเข้าด้วยกัน รวมถึงเขียนภาพลายไทยของหยวกทุกๆชิ้นด้วย พวกเราแบ่งงานกันถอดเมรุ ใครถอดฐานก็ไปประกอบฐาน ใครถอดเสาไปประกอบเสา ใครถอดส่วนหลังคาก็ทำไป งานถอดนั้นต้องระมัดระวัง โดยเฉาะฉากประกอบนั้นมีความละเอียดอ่อนมากอยู่ แม้หยวกจะฉีกขาด เฉาหมองอย่างไร หลวงน้าก็เก็บมาทุกชิ้น การไปขนย้ายเมรุลอยจากวัดต่างอำเภอนั้นไม่ใช้เรื่องง่ายเลย เพราะเมรุลอยมีส่วนประกอบหลักหลายชิ้น และเครื่องประกอบย่อยมากมาย นี่ขนาดเป็นเมรุลอยทรงมณฑปสองชั้นเท่านั้น ฉันได้ยินหลวงน้าพูดคำว่าเท่านั้น ฉันนึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้า ยิ่งใหญ่ สวยงามกว่าเท่านั้น บ้านของพระอินทร์จะสวยงามเพียงไหน

พวกเรากลับมาถึงวัดเย็นมาก แต่ก็ร่วมใจกันประกอบเมรุลอยจนสำเร็จ หน้ากุฏิหลวงน้ามีต้นกล้วยกองอยู่เป็นพะเนิน นั่นหมายถึงว่างานของหลวงน้ายังไม่เสร็จ ฉันตัดกาบกล้วยออกมาเป็นชิ้นตามที่หลวงน้าบอก และหลวงน้าก็ใช้เวลาหนึ่งคืนกับอีกหนึ่งวัน แทงหยวกประกอบขึ้นเป็นชิ้นงานประกบช่องกระจก ช่องประตูและราวบันได้ของเมรุลอยจนเสร็จ เช้าก่อนวันปลงศพเจ้าอาวาส หยวกลายไทยที่อ่อนช้อยเหล่านั้นก็ถูกประดับในที่สมควร พร้อมประดับผ้าขาวใต้มณฑป เป็นเมรุลอยที่สวยที่สุดในชีวิตที่ฉันเคยเห็น

รถทัวร์จากมหาวิทยาลัยใหญ่ภาคเหนือเข้ามาเทียบข้างโบสถ์ พวกเขาทยอยกันมาถ่ายรูปโบสถ์ และเมรุขนาดย่อมที่ทันสมัย สักพักใหญ่ๆ รองเจ้าอาวาสก็พาคณะนักศึกษาเข้ามาที่ศาลาที่ฉันนั่งอยู่ หลวงพี่แนะนำฉันให้เด็กๆ ได้รู้จัก
ฉันพาพวกเขาเดินชม สิ่งสำคัญประจำวัดที่เก็บสะสมไว้ บรรดาเสนาสนะ ข้าวของเครื่องใช้มากมายที่แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชนแห่งนี้ จนเดินมาถึงตู้ขนาดใหญ่เก็บเมรุลอย ฉันบอกเด็กๆไปเหมือนกับที่หลวงน้าเคยบอกฉันว่าเมรุลอยนี้สร้างไว้ให้ชาวบ้านได้ใช้ วัดใกล้เคียงได้ใช้ มันทำขึ้นจากไม้แปรรูปที่ชาวบ้านนำมาถวาย บอกถึงความร่วมมือร่วมใจในเชิงช่างของพระกับฆราวาส และสุดท้ายบอกถึงความเป็นและความตายที่อยู่ใกล้กันจนแทบจะแยกไม่ออก

เด็กๆ ถามว่าทำไม คุณตารู้ละเอียดเหลือเกิน ฉันจึงบอกไปว่าฉันมีศักดิ์เป็นหลานของอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ที่เป็นพระช่างที่สร้างเมรุลอยหลังนี้ไว้ เด็กทำตาโต ฉันไม่ได้บอกหรอกนะ ว่าในชิ้นงานตรงหน้ามีแรงกายและฝีมือฉันในวัยสิบกว่าขวบปนอยู่ด้วย แต่ในอีกชั่วโมงหนึ่งตรงหน้า ฉันจะบอกพวกเขาผ่านการแทงหยวกด้วยลวดลายไทยในความรู้ที่ฉันได้รับการฝึกฝนมา เผื่อพวกเขาจะสืบสานมัน หวงแหน อยากทำเป็น รึอย่างน้อยอยากให้เขารู้สึกประทับใจผ่านน้ำมือของพวกเขาเอง เผื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำที่ยังคงมีลมหายใจอยู่เหมือนพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่