ตลาดเงิน ๑๔ ก.ค.๖๐

เรื่องธรรมดาของคนธรรมดา

ตลาดเงิน

" เพทาย "

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการได้ผลิตธนบัตร เป็นที่ระลึกในวาระอันสำคัญ เป็นกรณีพิเศษหลายครั้ง อย่างเช่นธนบัตรใบละ ๖๐ บาท เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือธนบัตรราคา ๕๐ บาท เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ที่ระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้น

ธนบัตรประเภทนี้ ไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ตามราคาเดิม เพราะเป็นของหายาก และมีค่าสูงกว่าเดิมมากน้อยตามแต่ความต้องการ และจำนวนที่พิมพ์ขึ้น โดยมากเมื่อผลิตออกมาให้แลกใหม่ จะมีผู้คนไปเข้าคิวคอยแลก แล้วเอาออกมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาเดิมเสมอ แล้วก็ค่อย ๆ ซาลงไป แต่จะมีราคามากขึ้นอีก เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลาย ๆ ปี เป็นธนบัตรเก่าที่หายากขึ้นแล้ว แม้แต่ธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้เลิกใช้หรือยุติการผลิตไปแล้ว จะกลายเป็นของหายาก และมีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

เมื่อสมัยที่ทางเทศกิจยังไม่เข้มงวดกวดขัน การตั้งแผงลอยริมถนน ทั้งสองฟากฝั่งของถนนพระจันทร์ สายที่มุ่งจากสนามหลวง ไปท่าพระจันทร์ และถนนมหาราช จากท่าพระจันทร์ไปท่าช้างวังหลวงนั้น เต็มไปด้วยสินค้ามากมายหลายชนิด แต่สินค้าที่มีมากที่สุด และเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะกลายมาเป็นสินค้า ในเมืองพุทธศาสนา อย่างกรุงเทพมหานครได้เลย สิ่งนั้นก็คือพระพุทธรูป แบบต่าง ๆ ปางต่าง ๆ สมัยต่าง ๆ รุ่นต่าง ๆ และขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่เล็กจิ๋วเท่าใบมะขาม จนถึงกว้างคืบยาวศอก ทั้งที่ทำด้วยผงอิฐหินปูนทราย และโลหะ หรือวัตถุอื่น ๆ

ผมไม่มีความรู้เรื่องพระเครื่อง พระบูชา จึงไม่สามารถทราบได้ว่า องค์ไหนเป็นแบบไหนรุ่นไหน ได้แต่เดินมองผ่าน ๆ ไป ดูเขาซื้อเขาขาย เขาต่อรองราคากันอย่างน่าสนุก แผงไหนมีการต่อรองกันยืดเยื้อ ก็จะมีผู้คนสนใจเข้ามามุงดูกันเป็นกลุ่ม ช่วยลุ้นทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ขาย ความจริงเขาไม่เรียกว่าซื้อขาย ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่าเช่า ที่น่าแปลกก็คืออาจมีผู้ใช้กล้องขยายส่องดูพระทั้งด้านหน้าด้านข้างด้านหลัง พลิกไปพลิกมา ดูแล้วดูเล่าอย่างละเอียดละออ แต่แล้วก็ไม่ได้ซื้อหรือเช่าจนแล้วจนรอด เพราะผู้เสนอบอกราคาเป็นร้อยเป็นพัน ยังงี้ก็มี

หรือบางแผงมีพระขนาดเดียวกัน แบบเดียวกัน เนื้อเดียวกัน เหมือนกันนับเป็น ร้อย ๆ องค์ แล้วก็แจ้งมูลค่าไว้เพียงองค์ละ ๒ บาท แต่ไม่ยักมีใครสนใจจะแวะดูเลยก็ยังมี และที่มีมากที่สุดมีเหมือนกันทุกแผง ก็คือเหรียญโลหะเป็นรูปหลวงพ่อบ้าง หลวงปู่บ้างวางกองโต ๆ แทบทุกเจ้า บางรายก็ดูใหม่เอี่ยม แต่บางรายก็ดูคร่ำคร่า ผมแวะเข้าไปที่เจ้าหนึ่งกำลังจูงใจลูกค้าว่า เหรียญที่เขาคัดแยกออกมาต่างหากสี่เหรียญนั้น มูลค่าเหรียญละห้าสิบบาท ก็เข้าไปสองร้อยบาทแล้ว แต่เขาจะแถมให้อีกสองกำมือ และคิดเพียงสามร้อยบาทเท่านั้นเอง หาได้ที่ไหน ผมขี้เกียจรอดูผลจึงเดินเลยไป

เมื่อผ่านมาได้สักครึ่งถนน จึงมีสินค้าประเภทอื่นแทรกแซมเข้ามาบ้างประปราย เป็นพวกแก้วแหวนเงินทอง ชนิดสุกใสแวววาวก็มี หรือชนิดที่เขรอะคร่ำก็มี แล้วก็มาถึงตลาดเงิน ซึ่งรับแลกเปลี่ยนซื้อขายเหรียญเงินตรา ราคาต่าง ๆ รวมทั้งธนบัตรต่างชนิดต่างราคา ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นกลางด้วย

ผมมาหยุดอยู่ที่หน้าแผงรับซื้อขายธนบัตรเจ้าหนึ่ง เมื่อเห็นเด็กหนุ่มในเครื่องแบบนักเรียนกางเกงขาสั้นสีดำ กำลังสอบถามราคาธนบัตรใบละสิบบาท ที่เขาถืออยู่ในมือ จากเจ้าของแผง เป็นธนบัตรใบละสิบบาทสีน้ำตาล ขนาดใหญ่ ใหม่เอี่ยม รูปรัชกาลที่เก้า ด้านหน้าเป็นภาพป้อมมหากาฬที่ผ่านฟ้า ด้านหสังเป็นภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม รุ่นที่ผลิตโดยบริษัท โทมัส เดอ ลารู อายุคงจะหลายสิบปีมาแล้ว หนุ่มวัยรุ่นมีสีหน้าผิดหวังอย่างมาก เมื่อเจ้าของแผงให้ราคาเพียงใบละยี่สิบบาท เขานิ่งอึ้ง คงกำลังคิดตัดสินใจอะไรอยู่

เจ้าของแผง ทำท่าไม่สนใจใยดีกับหนุ่มน้อยเท่าใดนัก ชี้ให้ดูธนบัตร แบบเดียวกัน ที่เขามีอยู่บนแผงฉบับหนึ่ง บอกว่า

" ของผมนี่ ขายเพียงยี่สิบห้าบาทเท่านั้น บางทียี่สิบสามก็ขาย ไม่มีแพงไปกว่านี้หรอก ไม่เชื่อถามเจ้าอื่นดูก็ได้ "

" ยี่สิบเท่านั้นเองหรือ ผมมีหลายใบนะ "

" แบ็งค์ใหม่ทั้งหมดหรือ มีกี่ใบ "

" ตั้งปึกเลย "

เด็กหนุ่มยืนยัน แต่ยังไม่ควักออกมา

" ให้ซักยี่สิบสามบาทซี "

แสดงว่าเขาเชื่อแล้วว่าผู้ขายได้ขายตามราคาที่บอกจริง และยัง
ไม่ทันที่เจ้าของแผงจะว่าอย่างไร เขาก็รีบลดราคาลงอีก

" ยี่สิบสองเป็นไง "

ผมนึกอะไรแว่บขึ้นในใจ จึงรีบสาวเท้าเดินต่อไป ห่างไม่ถึงเสาไฟฟ้า ก็พบแผงรับแลกซื้อธนบัตรประเภทเดียวกัน ผมเจอธนบัตรใบละสิบบาทแบบเดียวกับของเด็กหนุ่มผู้นั้น ใส่ซองพลาสติกเรียบร้อย แต่เลขบนธนบัตรใบนั้น เป็นเลขเก้าล้วน ๆ ผมรีบถามราคา เจ้านี้บอกห้วน ๆ ว่า

" ใบนี้ห้าร้อย "

ผมหันขวับไปมองหาเด็กนักเรียนขาสั้นคนนั้น เขายังคงต่อรองกันอยู่ ผมถอยออกมาจากแผงที่ถามราคา เขาเอาธนบัตรเหล่านั้นมาจากไหน ผมคิดอยู่ในใจ เขาเก็บไว้เองนั้นคงจะไม่ใช่แน่ เพราะอายุยังไม่มากพอ หรือของบิดาเขา และเขาจะต้องการเงินที่ขายได้ไปทำอะไร เอาไปใช้เอง หรือเอาไปช่วยเหลือครอบครัวของเขา ราคาของเงินปึกนั้น มันน่าจะมากกว่าที่ผู้รับซื้อบอก ใจหนึ่งอยากจะเข้าไปสะกิดห้ามเขา อย่าให้ขายในราคาถูกมากเช่นนั้น อีกใจหนึ่งก็คิดว่ามันไม่ใช่เรื่อง ที่ผมจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว หมูเขาจะหามอย่าเอาคานเข้าไปสอด

ผมคิดกลับไปกลับมา ในเวลาอันสั้นนั้น จนเดินถึงแผงที่ว่า ก็เห็นแต่เพียงหลังของเด็กหนุ่มผู้น่าสงสาร กำลังเดินข้ามถนนไปฟากโน้นอยู่ไว ๆ เขารีบเดินไปเร็วมาก เหมือนกลัวว่าคนซื้อจะเปลี่ยนใจ

แต่สิ่งที่ผมเห็นนั้นตรงกันข้าม ในมือของชายเจ้าของแผง มีถุงพลาสติกใส่ธนบัตรใบละสิบบาทสีน้ำตาลปึกหนึ่ง ประมาณยี่สิบสามสิบฉบับ เขากำลังหัวเราะอย่างมีความสุขอยู่กับ เจ้าของแผงให้เช่าพระเครื่อง ที่ตั้งอยู่ติดกัน

ผมรู้สึกหูอื้อนัยตาพร่ามัว...ผมควรจะช่วยเขาได้... เสียงของผมดังกึกก้องกังวาลอยู่ในโสตประสาท ผมคงจะช่วยเด็กน้อย ในเครื่องแบบนักเรียนคนนั้นได้ ถ้าผมเดินกลับมาทันเวลา และถ้าผมมีเงินพอ

ถ้าผมมีเงินพอกับความต้องการของเขา

ไม่ใช่มีแค่เหรียญห้าบาทเพียงอันเดียว

ที่ผมกำไว้แน่นอยู่ในกระเป๋ากางเกง อย่างเดี๋ยวนี้.

##########

จาก นิตยสารโล่เงิน
ตุลาคม ๒๕๔๑
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่