รีวิว Spider-Man: Homecoming: วิชาทฤษฏีฮีโร่ 101 (ภาคปฏิบัติ) ของไอ้แมงมุม (วัยเห่อ...)


By มาร์ตี้ แม็คฟราย

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

หลังจากที่ปรากฏตัวใน Captain America: Civil War จนเหล่าสาวกมาร์เวลกรี๊ดแตกในการที่ตัวละครนี้หวนกลับสู่อ้อมอกมาร์เวล สตูดิโอกันไปแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาของการคืนสู่เหย้า (Homecoming) ของตัวละครนี้แบบหนังเดี่ยวของตัวเองภายใต้อ้อมอกมาร์เวลกันเสียที

ไอ้เด็กเห่อ .. ที่มีพลังอันยิ่งใหญ่ (ที่ต้องการมีความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง)

สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับการคืนสู่เหย้าของไอ้แมงมุมในครั้งนี้ คือการที่มาร์เวลตั้งจำพาตัวละครนี้ย้อนกลับสู่ความดั้งเดิมของตัวละครอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอายุ ช่วงวัย ลักษณะนิสัยใจคอ และคาแรกเตอร์ที่พยายามใกล้เคียงกับคอมมิคที่สุด ซึ่งส่วนสำคัญคือประเด็นในเรื่องช่วงอายุของตัวละคร ที่ในคอมมิคก็เป็นเพียงเด็กวัยรุ่นไฮสคูลที่มีความเนิร์ด กวนเท้า และพูดมากอยู่ไม่น้อย

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคาดเดามาตลอดตั้งแต่ได้รู้ข่าวการสร้างหนังเรื่องนี้ และเห็นจากที่เห็นในตัวอย่างหนัง คือหนังเรื่องนี้น่าจะหยิบประเด็นเรื่อง ความเป็นเด็กที่ยังไม่ประสีประสา ความเป็นวัยรุ่นที่ยังไม่มีประสบการณ์ และความคะนองที่เชื่อว่าตัวเองนั้นพร้อมจะรับผิดชอบหรือจัดการอะไรที่ใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งก็ไม่ผิดคาดแต่อย่างใดที่หนังเลือกจะหยิบประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นหลักจริง ๆ เสียด้วย

เพราะสิ่งที่เราจะได้เห็นตัวละครนี้ ต่างเป็นเหตุการณ์ที่เราได้เห็นแล้วต้องส่ายหัว กับพฤติกรรมและการตัดสินใจที่มีความคะนองของเด็กที่เป็นที่ตั้ง ในทางหนึ่งเราก็เข้าใจได้ว่าเพราะตัวละครเป็นเด็ก จึงตัดสินใจทำอะไรแบบเด็ก ๆ แต่ก็จะเห็นว่ามีหลายคราเหลือเกินในการปราบปรามเหล่าร้าย ที่เพราะความติดเล่นและความไม่รอบคอบ ทำให้ฮีโร่วัยหัดเรียนควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่จนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านไปทั่ว ฉะนั้น ในหนังเรื่องนี้ จึงชัดเจนว่า เรามาดูการเติบโตของตัวละครแน่นอน เพราะคุณสมบัติในปัจจุบันไอ้แมงมุมตัวนี้ยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมกลุ่มอเวนเจอร์สจริง ๆ ซึ่งคนที่เห็นและคอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ คือ โทนี่ สตาร์ค หรือ ไอรอนแมน

ในตอนแรก แอบคิดเหมือนกันว่าตัวละครโทนี่ถูกใส่เข้ามาด้วยเหตุผลทางการตลาด และยิ่งบรรดาโปสเตอร์หนังหลายตัวที่ออกมาก่อนเข้าฉาย ปรากฏตัวละครไอรอนแมนอยู่เคียงข้างไอ้แมงมุมเกือบทุกครั้งยิ่งกว่าวิญญาณตามติดในหนังผีของ เจมส์ วาน (จนชวนคิดว่านี่มันหนังไอ้แมงมุมจริงหรือ ..)

แต่พอดูจริง ๆ แล้ว การใส่ตัวละครโทนี่เข้ามานับว่าถูกต้องแล้วสำหรับการเป็นพี่เลี้ยงของปีเตอร์ เพราะหากว่าเราติดตามหนัง Iron Man มาตลอด ก็จะเห็นว่าในอดีตโทนี่ก็ไม่ต่างอะไรกับปีเตอร์ ในเรื่องความคิด ความคะนอง ความไม่รอบคอบ และวิธีคิดในเรื่องความเก่งกาจขึ้นอยู่กับชุดที่สวมใส่ โทนี่เคยเป็นแบบนั้น ที่สุดแล้วเขาได้รับคือความหายนะหลายต่อหลายครั้งที่เขาเองเกือบเอาชีวิตไม่รอดจนได้เรียนรู้บทเรียนที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นเขาในปัจจุบัน

เขามองเห็นปีเตอร์และรู้ว่านี่คือตัวเขาเองเมื่อก่อน สิ่งที่โทนี่ทำคือการปกป้องและคอยเฝ้าระวังสิ่งที่ปีเตอร์ทำ แต่ก็นั้นแหละ เด็กจะได้บทเรียนเมื่อตัวเองได้พบเจอบทเรียนนั้นเอง  

ตัวร้ายและฉากแอ็คชั่น

ได้อ่านจากหลายคนที่มารีวิว ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าฉากแอ็คชั่นของหนังนั้นทำได้ดี แต่เอาจริง ๆ โดยส่วนตัวแล้วกลับรู้สึกว่าดูธรรมดาไปเสียหน่อย โดยอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าขาดอะไรไป เพียงแต่อดเปรียบเทียบกับเวอร์ชั่นของ แซม ไรมี ไม่ได้จริง ๆ เพราะฉากแอ็คชั่นใน Spider-Man และ Spider-Man 2 นั้นดูสนุกและตื่นตาดีเหลือเกิน

แต่ในอีกแง่หนึ่งเข้าใจได้ว่าเพราะความเป็นเด็กของสไปดี้ ที่อาจจะยังไม่โตพอที่จะมีความสามารถการต่อสู้ที่ออกลวดลายความเก่งกาจในการต่อสู้ระยะประชิดหรือโหนโจนทะยานไปไหนต่อไหนได้คล่องเหมือนไอ้แมงมุมเวอร์ชั่นวัยทำงานของ โทบี แม็คไกวร์ ฉากแอ็คชั่นในเรื่องนี้จึงไม่สามารถทำให้ดูสนุกแบบสู้กันอย่างสูสีได้ เพราะปีเตอร์ก็มักจะไม่รอบคอบจนเสียท่าตัวร้ายทุกทีไปนั่นเอง

ส่วนในเรื่องของตัวร้าย เป็นอีกครั้งที่ต้องชมมาร์เวลที่คราวนี้สามารถตัวร้ายที่น่าจดจำพอสมควร อาจจะไม่ได้ดีเลิศแบบ บารอน ซิมโม ใน Captain America: Civil War อเล็กซานเดอร์ เพียรซ์ ใน Captain America: The Winter Soldier หรือ โลกิ ใน Thor แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่แบบน่าส่ายหัวและถูกลืมทันทีที่ออกจากโรงแบบ อัลตรอน ใน Avengers: Age of Ultron หรือที่อาการหนักสุดคือ เคซิเลียส และ ดอร์มามู ใน Doctor Strange

อีกทั้งยังสามารถคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของความเป็น Spider-Man ที่วายร้ายส่วนใหญ่ มักจะเป็นคนใกล้ตัว หรือคนที่เกี่ยวข้องกับปีเตอร์ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งวายร้ายหลักในคราวนี้ก็ไม่เว้น อีกทั้งจุดที่น่าชื่นชมหรือหนังสามารถปกปิดสถานะของตัวร้ายไว้อย่างแนบเนียนจนเมื่อถึงเวลาเปิดเผยความจริง ก็ทำให้ทั้งปีเตอร์และคนดู ”เงิบ” ไปพร้อม ๆ กับอุทานในใจว่า “อ้าวเฮ้ย เอาแบบนี้เลยเหรอ” ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง

และเมื่อได้เรียนรู้เหตุและผลของการกระทำของตัวร้าย ก็ทำให้เราเข้าใจถึงการกระทำมากพอให้เราอินกับเรื่องราวมากกว่าจะเอาใจช่วยให้พระเอกจัดการตัวร้ายให้จบ ๆ ไปเสียที

หากกล่าวโดยสรุปแล้ว Spider-Man: Homecoming ก็เป็นหนังที่ดูสนุกตามมาตรฐานของมาร์เวล มีประเด็นที่ดี และการเล่าเรื่องที่เพลิดเพลินตามแบบที่ตัวเองถนัด และยังแอบเห็นความกล้าเสี่ยงและความเก่งกาจในเรื่องการเซอร์ไพรส์แฟน ๆ เช่นเดิม หากแต่ยังไม่เหนือชั้นถึงขนาด Guardians of the Galaxy, Captain America: The Winter Soldier, Iron Man แต่ก็ไม่ชวนส่ายหัวแบบ Doctor Strange, Thor: The Dark World
  
เซอร์วิสแฟน Marvel สุด ๆ

พอกลายเป็นหนังในจักรวาล MCU (Marvel Cinematic Universe) อย่างเต็มตัวแล้ว มาร์เวลจึงใส่ Easter Eggs ให้เหล่าแฟนมาร์เวลคอยสังเกตอยู่เต็มไปหมด ทั้งการระลึกถึงหนังก่อนหน้านี้ใน MCU หรือปมปริศนาและตัวละครบางตัวที่คาดการณ์ไปถึงตัวละครในภาคต่อไปได้ เช่น Sinister Six (ที่คราวนี้ปูมาแบบเนียน ๆ ไม่ดูเวอร์และยัดเยียดแบบ The Amazing Spider-Man 2) ตัวละครลับที่มาเปิดเผยเอาช่วงท้ายเรื่อง ที่มาพร้อมชื่อย่อ (มุกนี้อีกแล้วครับท่าน) ที่หลายคนที่ดูแล้วน่าจะรู้ดีว่าเป็นใคร

นอกจากนั้นยังมีการปรากฏตัวสุดเซอร์ไพรส์ของนักแสดงคนหนึ่งที่ชวนให้อมยิ้มและคลายปมความรักที่ยังค้างคา ว่าทั้งสองยังรักกันดีนะ

ในเมื่อหนังภาคนี้เป็นการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ของปีเตอร์ที่เขาได้บทเรียนต่าง ๆ เพื่อเติบโตได้แล้ว ผลงานหลังจากนี้เองที่มาร์เวลสามารถใส่อะไรเพิ่มเติมมาได้เพียบ และจะเป็นการเข้าโหมดฮีโร่ที่มีพลังอันยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่งจริง ๆ เสียที

ขอบคุณรูปภาพจาก Fanpage FB : Sony Pictures

หากอ่านแล้วชอบ ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่