เรียนนิติศาสตร์ที่ไหนดีคะ มสธหรือราม

อยากได้ปริญญาอีกใบสนใจวิชาด้านนิติศาสตร์ จะลงเรียนที่ไหนดี มสธ หรือ ราม
เราเป็นหมอPart time ทำงาน3วันต่อสัปดาห์ ตอนนี้ลูกคนโตกำลังเข้าโรงเรียนเราจะเริ่มว่าง เลยอยากหาเวลาเรียนเพิ่มเติมเพราะอยากให้ที่บ้านมีบรรยากาศการเรียนการอ่าน ลูกจะได้รักการอ่านด้วย
การเรียนที่ไหนดีกว่าหรือเหมาะกับเรากว่ากัน เราอยู่ต่างจังหวัดห่างจากกทม2ชม ไม่สะดวกเข้าเรียน อยากเรียนผ่านสื่อเช่นวิดิโอการเรียนการสอน ท่องตำราเอง สามารถไปสอบได้ทั้งวันธรรมดาและเสาร์อาทิตย์ อยรกเรียนไม่เกิน3ปี
แนะนำหน่อยค่ะ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 6
แนะแนวทางเบื้องต้น ในการเรียน ป.ตรี นิติศาสตร์ เป็น ป.ตรี ใบที่ 2
**ปัจจุบันระเบียบการศึกษา ม.ราม มีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลตัวเอียงขีดเส้นใต้ยังไม่ได้อัพเดทนะครับ
    โดยปัจจุบัน จะลงทะเบียนเทอมต้นและเทอมปลายได้ไม่เกิน 22 หน่วยกิต และเทอมซัมเมอร์ไม่เกิน 9 หน่วยกิต

นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต
คือ การเรียน ป.ตรี นิติศาสตร์ รูปแบบหนึ่ง
ซึ่ง นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต จะรับเฉพาะผู้ที่จบ ป.ตรี (สาขาอื่นที่ไม่ใช่นิติศาสตร์) มาแล้วเท่านั้น
โดยผู้เรียนจะได้รับการยกเว้นการลงทะเบียนเรียนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ราวๆ 30 กว่าหน่วยกิต
และข้ามไปเริ่มเรียนวิชากฎหมายเลย โดยการเรียนจะเรียนนอกเวลาราชการครับ
ค่าใช้จ่ายสูงพอๆ กับเรียน ป.โท (ตลอดหลักสูตรราวๆ 130,000 บาท บวกลบ)
นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต จะเป็นการเรียนแบบบล็อคคอร์ส ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี
ไม่สามารถเร่งอัดลงทะเบียนเรียน เพื่อให้จบการศึกษาก่อน 3 ปีได้ครับ ต้องลงเรียนตามลำดับที่หลักสูตรวางไว้
ป.ตรี นิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ใน กทม. เท่าที่รู้ ก็มี
- นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
- นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ต่างจังหวัด
- นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- นิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

-------------------------------------------------

ป.ตรี นิติศาสตร์ (ภาคปกติ) ที่ ม.ราม
คือการเรียน ป.ตรี นิติศาสตร์ ทั่วๆไป ที่รับวุฒิ ม.6, ปวช., ปวท., ปวส., ป.ตรี ได้ทั้งนั้น
โดยวุฒิที่สูงกว่า ม.6 จะสามารถทำการเทียบโอนรายวิชาศึกษาทั่วไปและวิชาเลือกเสรีจำนวน 37 หน่วยกิต
เพื่อยกเว้นการลงทะเบียนเรียนได้ โดยข้ามไปเรียนวิชากฎหมายเลย
การเรียน ป.ตรี ภาคปกติ ที่ ม.ราม ค่าใช้จ่ายจะถูกมาก
กรณีเรียน ป.ตรี นิติศาสตร์ (เทียบโอน) ที่ ม.ราม
โดยเทียบโอนรายวิชาจาก ป.ตรี ใบแรก (ต้องจบ ป.ตรี หรือ วุฒิอื่น มาก่อนแล้ว)
สามารถเรียนจบได้ภายใน 2 ปี ครับ เพราะ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ม.ราม มี 140 หน่วยกิต
ป.ตรี เทียบโอน สามารถโอนได้ 37 หน่วยกิต เหลือที่ต้องเรียนอีก 103 หน่วยกิต (ซึ่งเป็นวิชากฎหมายล้วนๆ)
เรียนอัดเทอมละ 24 หน่วยกิต + ซัมเมอร์ 12 หน่วยกิต แล้วสอบให้ผ่านให้หมด
1 ปีการศึกษา (2 เทอม + ซัมเมอร์ 1 เทอม จะได้ 60 หน่วยกิต)
2 ปีการศึกษา เก็บได้ 120 หน่วยกิต ก็เกิน 103 หน่วยกิตแล้ว ครับ
ถ้าทำได้จริง 2 ปี ก็เรียนจบได้ครับ
กรณีเทียบโอน ค่าใช้จ่าย หนักๆก็จะเป็นค่าเทียบโอนครับ หน่วยกิตละ 100
เทียบโอน 37 หน่วยกิต ก็ 3,700 บาท
ค่าแรกเข้า + ค่าเทอมเทอมแรก ประมาณ 3,000 กว่าบาท
เทอมต่อไปลงเต็ม 24 หน่วย ก็ 1,200 บาท (หน่วยกิตละ 25 บาท + ค่าธรรมเนียมอื่นๆ)

ลองคำนวนดูครับ คร่าวๆ หมื่นหน่อยๆ (ไม่รวมค่าหนังสือ)

-------------------------------------------------

ป.ตรี นิติศาสตร์ (ภาคพิเศษ) ที่ ม.ราม
สามารถเทียบโอนรายวิชาจาก ป.ตรี ใบแรกได้เหมือน ภาคปกติ
ระบบการเรียนเป็นแบบบล็อคคอร์ส แต่จะเรียนครั้งละเพียง 1 วิชา
เมื่อเรียนจบวิชานั้นแล้ว จึงทำการสอบเป็นรายวิชานั้นๆไป
แต่ค่าเทียบโอนหน่วยกิตมหาโหด ส่วนค่าเทอมก็พอๆกับเรียน ป.โท
ศึกษารายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติม ได้ตามลิงค์
https://drive.google.com/file/d/0ByG1nspwHAStSTZTNmtNWEd3M2M/view?pli=1
http://joomlas.ru.ac.th/lawfaculty/index.php/23-3

-------------------------------------------------

ป.ตรี นิติศาสตร์ (ภาคปกติ) มสธ.
ค่าเทอมประมาณ 3,XXX - 4,XXX บวกลบ
สามารถเร่งให้จบเร็วที่สุดได้ 2 ปี โดยการลงสัมฤทธิบัตร ควบด้วย
(สัมฤทธิบัตร เป็นการเรียนเก็บหน่วยกิตเป็นรายวิชา และสามารถเทียบโอนได้)
ถ้าใช้วุฒิ ป.ตรี สมัครเรียน จะเหลือวิชาเรียน 18 ชุดวิชา (108 หน่วยกิต)
(จากเดิมถ้าใช้วุฒิ ม.6 สมัคร จะต้องเรียน 24 ชุดวิชา 144 หน่วยกิต)
http://www.stou.ac.th/Courses/bachelor_59/law.asp
http://www.stou.ac.th/Courses/bachelor_59/program/law.pdf

-------------------------------------------------

ทั้งนี้ "ป.ตรี นิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ของ ม.อื่นๆ" ไม่ใช่ ป.ตรี ภาคพิเศษ (ทั่วๆไป) นะครับ
ป.ตรี ภาคพิเศษ ถึงจะเรียนนอกเวลาราชการเหมือน นิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ก็จริง
แต่จะรับเฉพาะ วุฒิ ม.6 (หรือเทียบเท่า) เข้าศึกษาต่อเท่านั้น
ไม่มีการรับวุฒิ ป.ตรี มาเทียบโอนรายวิชาแต่อย่างใด
ต้องเรียนใหม่หมดตั้งแต่หมวดวิชาศึกษาทั่วไป จนถึงวิชากฎหมาย แม้จะจบ ป.ตรี มาแล้วก็ตาม
ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี เต็ม ครับ

-------------------------------------------------

หากอยากจบเร็ว และประหยัด แนะนำให้เรียน ม.ราม ภาคปกติ เทียบโอน
แต่จะมีข้อเสียคือ ม.ราม ไม่บังคับเข้าเรียน ต้องศึกษาหาความรู้เอง
แต่ก็จะมีวีดีโอคำบรรยายให้ดูย้อนหลังได้ที่ http://www.m-learning.ru.ac.th/
ทั้งนี้จะเข้าเรียนก็ได้ครับ ไม่ได้ห้าม แต่เวลาเรียนก็จะใช้เวลาราชการครับ
ข้อเสียอีกอย่างหนึ่ง ของภาคปกติ ม.ราม คือ มีวันสอบตรงกับวันทำงานด้วยครับ
มีสอบได้ทุกวันตั้งแต่ จันทร์ - อาทิตย์ เลย แล้วแต่วิชาที่ลงทะเบียน
และในกรณีที่อ่านหนังสือสอบเอง ก็จะหาที่ปรึกษายากครับ เพราะไม่ค่อยรู้จักใครในชั้นเรียน
การผ่าน วัดกันที่คะแนนสอบ 100% ไม่มีคะแนนช่วย เช่นพวก รายงาน, การเข้าชั้นเรียน
หากขี้เกียจ ก็คงเป็นอุปสรรค์ต่อการเรียนครับ
ข้อดีสุดๆคือ ค่าใช้จ่ายถูก และ สามารถเร่งเรียนจบได้เร็วสุด 2 ปี (กรณีเทียบโอน) และ 2 ปีครึ่ง กรณีไม่เทียบโอน

แนวทางการเรียน นิติศาสตร์ ม.ราม ให้จบ โดยใช้เวลาน้อยที่สุด
  - ก็คือเรียนอัดเทอมละ 24 หน่วยกิต + ซัมเมอร์ 12 หน่วยกิต แล้วสอบให้ผ่านให้หมด
     ถ้าทำได้จริง 2 ปีครึ่ง ก็เรียนจบได้ครับ
     1 ปีการศึกษา (2 เทอม + ซัมเมอร์ 1 เทอม จะได้ 60 หน่วยกิต)
     2 ปีการศึกษา เก็บได้ 120 หน่วยกิต
     ปี 3 เทอม 1 ลงเต็ม 24 หน่วยกิต ก็เกิน 140 หน่วยกิตตามหลักสูตรแล้ว
     ถ้าทำได้ก็จบ 2 ปีครึ่งครับ ไม่ต้องรอถึง 3 - 4 ปี


ลำดับการลงวิชาเรียน
ลองดูแผนการเรียนของหลักสูตรครับ ตามลิงค์นี้
http://www.ru.ac.th/th/center_study_plan/9/1390792376_Law_1_57.pdf
จะเห็นว่ามีแผนการลงวิชาเรียนไว้แล้ว ในหน้าที่ 2 - 3 ของไฟล์ ก็ลงไปตามนั้นก็ได้เลยครับ
แต่ถ้าอยากจบเร็วหน่อย ก็เอาวิชาของเทอมถัดๆไป
มาลงในเทอมที่เรียน ให้เต็ม 24 หน่วยกิตสำหรับเทอมปกติ (เทอม 1, เทอม 2)
และลงได้ 12 หน่วยกิต สำหรับซัมเมอร์
หรือเฉพาะเทอมสุดท้ายที่ขอจบจะลงได้เต็มที่ 30 หน่วยกิตครับ
(เทอมปกติ คือ เทอมต้น กับ เทอมปลาย จะลงได้มากสุด 24 หน่วยกิต
เทอมซัมเมอร์ปกติจะลงได้มากสุด 12 หน่วยกิตครับ


สำหรับวิชาพื้นฐาน (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทย์ ฯลฯ) ก็ลงไล่ไปตามแผนการเรียนก็ได้
สำหรับวิชากฎหมาย (LAW ต่างๆ) แนะนำว่าควรลงตามรหัสวิชาไปครับ จากน้อยไปมาก
เช่น LAW1001 > LAW1002 > LAW1003 .... ไปจนครบหน่วยกิตในแต่ละเทอมครับ
เพราะมหาวิทยาลัย จะเรียงลำดับรหัสตามเนื้อหามาอยู่แล้ว จะได้เรียนต่อเนื่องกันไปครับ

แต่เคล็ดลับคือ เวลาเลือกรายวิชาลงทะเบียน
ต้องดูวันสอบเป็นหลักครับ อย่าให้วันสอบติดกันมาก
ม.ราม จะประกาศวันสอบออกมาก่อนวันลงทะเบียนครับ
วิธีคือ เราเอารายวิชาที่ควรจะลงในเทอมนั้นๆ มาลงรายการไว้
แล้วมาลงรายละเอียดของวันสอบในรายวิชาที่ควรจะลงนั้น
จากนั้นเอามาจัดตารางที่จะลงทะเบียน โดยอิงวันสอบเป็นหลัก
(วันเรียนไม่ต้องไปดูเลยครับ เพราะเราจะเข้าเรียนหรือไม่เรียนก็ได้)
เช่น วิชา  LAW1001 สอบวันที่ 1/6/58
             LAW1002 สอบวันที่ 2/6/58
             LAW1003 สอบวันที่ 3/6/58
             LAW1004 สอบวันที่ 4/6/58
             LAW1005 สอบวันที่ 5/6/58
อาจจะเลือกลงแค่ LAW1001, LAW1002, LAW1004, LAW1005 ก็ได้
ข้ามวิชา LAW1003 เก็บไว้ไปลงเทอมถัดๆไปก็ได้ เพราะเทอมนี้สอบติดกันเกิน จะทบทวนไม่ทัน เป็นต้น

เคล็ดอีกอย่างนึงคือ ลงไปให้เต็ม 24 หน่วยกิตเลยครับ ไม่ต้องกลัวจะหนักเกินไป
เพราะ ม.ราม มีสอบซ่อมได้ คือถ้าเราสอบตก หรือขาดสอบ
สามารถลงทะเบียนวิชาที่สอบตกหรือขาดสอบนั้นได้อีกทีในรอบสอบซ่อมของเทอมนั้นๆ
ถ้าสอบผ่านก็ได้เกรดตามที่เราผ่าน เกรดไปรวมกับเทอมปกติเลย
ถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่ติด F จะถือว่าเราไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชานั้นเลยครับ เกรดรวมไม่เสีย
สมมุติว่าลง 10 วิชา เราก็แบ่งเลยว่า สอบแบบปกติ 5 วิชา ไปสอบซ่อม 5 วิชา
ถ้าแบบนี้ก็จะสอบไม่หนักมากครับ มีเวลาทบทวนเยอะ
แต่อย่าลืมว่าถ้าเราไปพลาดวิชาที่เราสอบซ่อม จะไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว ต้องลงใหม่นะ
เพราะฉะนั้นควรสอบในช่วงปกติไปก่อน หากไม่ไหวจริงๆค่อยลงสอบซ่อมครับ
เพราะว่าถ้าเกิดวันสอบซ่อมติดธุระอะไรทำให้สอบไม่ได้ หรือไม่ได้ทบทวนอ่านหนังสือ
แล้วเราจะเสียโอกาสเก็บรายวิชานั้นไปเลย ต้องไปลงเทอมถัดๆไป
จึงควรพยายามสอบแบบปกติให้ได้ก่อน ถ้าจำเป็นถึงต้องขาดสอบแล้วค่อยไปสอบซ่อมเอา

ที่สำคัญจริงๆนอกจากวิธีการลงทะเบียนเรียนแล้ว
คือการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบครับ
เพราะแม้จะลงตามแผนที่ว่าจริงๆ คืออัดเต็มที่เลย
แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน การลงทะเบียนก็ไม่มีความหมายครับ

-------------------------------------------------

ส่วน ป.ตรี นิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต และ ภาคพิเศษ จะบังคับเข้าเรียน
ซึ่งเป็นข้อดี เพราะจะเป็นการบังคับให้เข้าเรียนฟังคำบรรยาย
สามารถซักถาม อาจารย์ได้โดยตรงเมื่อมีข้อสงสัย
และมีกลุ่มเพื่อนๆ ที่สามารถปรึกษาหารือในการเรียนได้
การผ่าน มีคะแนนช่วยอื่นๆ นอกจากคะแนนสอบ เช่นพวกรายงาน
ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูง และไม่สามารถเร่งเรียนให้จบได้ก่อน 3 ปี

-------------------------------------------------

http://www.law.chula.ac.th/home/page.aspx?id=71
http://law.tu.ac.th/files/01re%281%29.pdf
http://www.polsci-law.buu.ac.th/curriculum.php?curriculum_id=26
http://joomlas.ru.ac.th/lawfaculty/images/law57/bachelor.pdf
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่