+++ มามะๆ จะพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์รถไฟที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น 3 แห่ง (Saitama+Kyoto+Nagoya) +++



เนื่องจากเด็กบ้านนี้ชอบรถไฟ ถึงขั้นคลั่งไคล้  แล้วญี่ปุ่นก็เป็นเมืองมหาอำนาจแห่งรถไฟ

เมื่อเราไปญี่ปุ่น แม่จึงไม่พลาดที่จะพาเด็กไปดูพิพิธภัณฑ์รถไฟ

จากการหาข้อมูล พิพิธภัณฑ์รถไฟมีหลายที่ แต่ที่เป็น Main Museum  ตามที่เว็บlส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น  JNTO บอกไว้ มี 3 ที่ คือ

1. Railway Museum ที่เมืองไซตามะ ใกล้ๆ โตเกียว

2. SCMaglev and railway park เมืองนาโกย่า

3. Kyoto Railway Museum ที่เมืองเกียวโต

ปีที่แล้ว เราไปเที่ยวโตเกียวกัน เลยได้ไปพิพิธภัณฑ์แรกมาแล้ว

ทั้งลูก ทั้งพ่อแม่ รู้สึกประทับใจมากๆ

พอปีนี้เรามีโปรแกรมไปโอซาก้า เกียวโต เราเลยตั้งเป้าหมายว่าเราจะเก็บ museum อีก 2 แห่งที่เหลือให้ครบ

ข้อมูลตรงไหนไม่ถูก ผิดพลาด ก็ขออภัยด้วยนะคะ ถือซะว่าเล่าให้กันฟังเล่น แม่ก็รู้แค่งูๆ ปลาๆ ไว้ตอบเด็กบ้ารถไฟเท่านั้นเองค่ะ

เริ่มจากที่แรกเลยค่ะ  ที่ที่เด็กชายชอบที่สุด เพราะมีรถจักรไอน้ำสุดเลิฟเยอะที่สุด และเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟที่ใหม่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วย

Kyoto Railway Museum


(รถไฟไอน้ำ โมเดล 230-233 เป็นรถไฟที่เก่าที่สุดที่ผลิตในญี่ปุ่น  in the English style )

พิพิธภัณฑ์นี้ เพิ่งเปิดแสดงเมื่อ วันที่ 29 เมษายน 2016  ตอนเราไป เค้ากำลังฉลองครบรอบ 1 ปี อยู่เลย
จริงๆ แล้ว ที่นี่เป็นการรวม 2 พิพิธภัณฑ์ คือ  The Umekoji Steam Locomotive Museum เมืองเกียวโต กับ Modern Transportation Museum เมืองโอซาก้า เข้าด้วยกัน  
และที่สำคัญเป็นไฮไลท์ของที่นี่เลย คือวงเวียนกลับรถไฟของจริง อันขนาดใหญ่ ที่ใช้งานได้จริงๆ ด้วยค่ะ

โดย Kyoto Railway Museum จะแบ่งออกเป็น 4 อาคาร ซึ่งจะมีการจัดแสดงรถไฟและมีกิจกรรมให้ทำต่างกันออกไป เช่น การจำลองการขับรถไฟ เที่ยวชมรถไฟรุ่นต่างๆ โซนร้านอาหาร ดาดฟ้าชมวิวสถานีเกียวโต โรงจอดรถไฟ SL ที่เป็นรูปพัด จุดหมุนรถไฟ หรือการนั่งรถไฟ SL

พิพิธภัณฑ์รถไฟเกียวโต 京都鉄道博物館 จะมีการจัดแสดงรถไฟทั้งหมด 53 คัน ซึ่งในนี้มีรถไฟหัวจักรไอน้ำ จำนวน 20 คัน และยังจะได้พบกับชินคันเซ็น รุ่น 0 ขบวนหมายเลข 1 ที่วิ่งด้วยสปีด 300 กิโลเมตร และยังมีชินคันเซ็น รุ่น 500 ที่ได้รับการบันทึกสถิติลงในกินเนสบุ๊คอีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชั่นรถไฟขบวนประวัติศาสตร์ที่นำมาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีมุมที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ ห้องจำลองการขับเคลื่อนรถไฟหัวจักรไอน้ำ และเรียนรู้การทำงานภายในสถานี ได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย


ค่าเข้า (ใครมีบัตร one day pass for bus ได้ส่วนลดนิดหน่อยด้วยค่ะ)
•ผู้ใหญ่(อายุมากกว่า 18 ปี) ราคา 1,200 เยน
•นักเรียน/นักศึกษา ราคา 1,000 เยน
•นักเรียนชั้นประถม-มัธยม ราคา 500 เยน
•เด็ก อายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้สูงอายุ ราคา 200 เยน

การเดินทาง
เรานั่งบัสมาจากสถานีรถไฟเกียวโตค่ะ ไม่นาน สัก 10 นาทีก็ถึงแล้ว เดินไปตามป้ายเลยค่ะ
ป้ายรถเมลล์หน้าพิพิธภัณฑ์นะคะ

พอเข้ามาก็จะเจอรถไฟรอรับเราอยู่ 3 ขบวน  


ขบวนนี้ เด็กชายชอบมากค่ะ C62 หมายเลข 26  C 62 เป็นรถจักรไอน้ำโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุน ให้บริการครั้งแรกปี 1948  โดยวิ่งระหว่าง Tokyo กับ Osaka และให้บริการครั้งสุดท้ายปี 1972 มีรูปแบบการวางล้อเป็น 4-6-4 (ล้อนำ 4 ล้อกำลัง 6 ล้อตาม 4) ค่ะ  


รถจักรไอน้ำ รุ่น C62 เปิดตัวครั้งแรกในปี 1948 เป็นรถจักรไอน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น หน้าที่หลักของมันคือการลากจูงขบวนรถด่วนพิเศษ เส้นทางวิ่งประจำคือโตไกโด และซันโย (ซึ่งก็คือเส้นทางโตเกียว-โอซาก้า และโอซาก้า-ฟุกุโอกะในปัจจุบัน) ในปีถัดมาได้นำไปให้บริการที่เกาะฮอกไกโดและได้รับความนิยมอย่างมากจะผู้โดยสารทั่วไปและขารถไฟญี่ปุ่น รถด่วนพิเศษที่หัวรถจักรรุ่นนี้ทำการลากจูงขบวนโดยสารที่เป็นขบวนประจำเส้นทางได้แก่ขบวน ซึบาเมะ ฮะโตะ หรือแม้กระทั้งเวลาหัวรถจักรขาดช่วงหมุนเวียน รถจักรรุ่น 62 นี้ก็ยังเคยรับหน้าที่ลากบลูเทรนรุ่น 20 มาแล้วหลายต่อหลายครั้งเช่นเดียวกัน และจะเปลี่ยนเป็นรถด่วนในเส้นทางที่เป็นทางเดี่ยว อาจกล่าวได้ว่า เจ้ารถจักรไอน้ำนี้ถือเป็นพี่ใหญ่สุด ในยุคบุกเบิกของวงการรถไฟญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้  (ข้อมูลจาก http://www.thetouristdiary.com/travel/japan/scmaglev-and-railway-park)


การวางล้อสามารถใช้เป็นชื่อเรียกรุ่นรถไฟด้วยนะคะ อย่างรุ่น"มิกาโด" เป็นชื่อเรียกของรุ่น รถจักรไอน้ำ ที่มีการวางล้อ  2-8-2  หมายถึงมีล้อลำเลียง (Leading Wheel) หน้า 2 ล้อ ตามด้วยล้อกำลัง (Driver) 8 ล้อ และล้อตามหรือล้อหลัง (Trailing Wheel)  2ล้อ  เป็นรถที่มีกำลังมาก  ส่วนมากใช้ทำการลากจูงขบวนรถสินค้าหนักทั้งในทางราบและทางภูเขา รถรวมในทางภูเขา และรถรวมขนาดหนักทั้งในทางราบและภูเขา เพราะมีล้อกำลังขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ทำให้มีแรงฉุดสูง

ใครสนใจรถรุ่นนี้มีให้ดูที่หน้าพิพิธภัณฑ์บางกอกน้อย ข้างๆ รพ.ศิริราชค่ะ ตั้งโชว์ไว้ด้านหน้า ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเลย


ส่วนรุ่น แปซิฟิก (4-6-2) คือมีล้อลำเลียง หน้า 4 ล้อ ตามด้วยล้อกำลัง 6 ล้อ และล้อตาม 2 ล้อ  ใช้ทำการลากจูงขบวนรถโดยสารทั้งด่วนและเร็ว รถรวมขนาดเบาในทางราบ เพราะมีล้อกำลังขนาดโต และมีจำนวนน้อยกว่า ทำให้สามารถลากจูงขบวนรถได้เร็ว  (ขอบคุณข้อมูลจากเว็ยรถไฟไทย.comค่ะ)  ที่บ้านเรายังมีรถจักรรุ่นที่ใช้งานได้  และนำมาวิ่งเป็นขบวนพิเศษนำเที่ยวในวันพ่อ วันแม่ และวันสถาปนาการรถไฟค่ะ

เด็กชายสนิทสนมกับคันนี้เพราะขึ้นมาหลายรอบแล้ว อิอิ


สาเหตุที่เด็กชายโปรดปรานรุ่น C62 เป็นพิเศษ เพราะรถไฟรุ่นนี้เป็นต้นแบบของการ์ตูน รถไฟ 999 ค่ะ  


พอซันนี่เห็นปุ๊บวิ่งเข้าไปหา แล้วบอกเลยว่านี่ล่ะ รถไฟ 999 ของแท้  กรี๊ดลั่นเลย ชอบจริง อะไรจริง
เอาเข้าจริงๆ เด็กน้อยยังไม่เคยดูการ์ตูนเรื่องนี้นะคะ เพราะพ่อแม่ไม่มีปัญญาไปหามาให้ เนื่องจากมันเก่ามาก เลยได้แต่เปิดแค่เพลงรถไฟ 999 ทั้งเวอร์ชั่นญี่ปุ่น อังกฤษ ไทย เปิดบ่อยจนร้องตามได้ทั้งเพลง 555

ปัจจุบันมีรถไฟรุ่นนี้ จัดแสดงทั่วญึ่ปุ่น ตามนี้ค่ะ
•C62 1: จัดแสดงที่ Kyoto railway museum (ที่นี่ค่ะ)  
•C62 2: จัดแสดงที่ Kyoto railway museum ขบวนนี้ถูกซ่อมและนำมาวิ่งโชว์ที่นี่ด้วยค่ะ
•C62 3: จัดแสดงที่ JR Hokkaido's Naebo Works in Sapporo, Hokkaido
•C62 17: จัดแสดงที่ SCMaglev and Railway Park ในเมืองนาโกย่า ที่เรากำลังจะไปดูค่ะ
•C62 26: เดิมจัดแสดงที่ Modern Transportation Museum  Osaka แล้วถูกยกมาไว้รวมกันทีนี่ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่