บทความ…"สังเกตบอลสั้นไทยกันบ้างไหมว่ามีอะไรเกิดขึ้น"

"หลังจากที่นั่งดูทีมวอลเลย์บอลไทยลงสนามทำการแข่งขันในรายการมงเทรอซ์มาสเตอร์ผ่านมา 3 นัด มีหลายอย่างที่ได้เห็นแล้วรู้สึกว่าทีมไทยมีอะไรที่ดีขึ้นจากที่ผ่านมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบการเล่น หรือ พัฒนาการของกลุ่มดาวรุ่ง และ นักกีฬาที่กำลังจะขยับมาเป็นตัวหลักที่จะพาทีมแข่งในช่วง 4-5 ปีต่อจากนี้

แต่สิ่งที่ทำให้อยากลุกขึ้นมาเขียนกลับกลายเป็นเรื่องของตำแหน่งบอลสั้นของทีมไทย

ปลื้มจิตร์ ถินขาว คือนักกีฬาที่ไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่าเธอคือที่สุดของตำแหน่งนี้ และ ยังเป็นขุมพลังกำลังใจให้กับทีมได้ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ถ้าเอาเรื่องของอายุเข้ามาเป็นตัวแปร ตัวเลข 33 อาจจะทำให้คนจำนวนมากมองถึงบันไดขาลงของนักกีฬา

แต่ในทางกลับกัน ปลื้มจิตร์ ยังคงเป็นผู้เล่นที่ยังรักษาสภาพร่างกายของตัวเองได้เป็นอย่างดี จนบางทีการเล่นของเธอทำให้ลืมไปเลยว่านี่คือสภาพของคนวัย 33 ขวบ

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักตบชาวอ่างทองคนนี้ยังซ่าได้ทุกหยดเหงื่อ

ปลื้มจิตร์อยู่ในกลุ่มนักกีฬาที่ถูกฝึกหนักชนิดเกือบปางตายในยุคต้นของวงการวอลเลย์บอลที่โค้ชอ๊อตหอบไปอยู่ด้วยที่จังหวัดยะลา
การซ้อมในยุคนั้นใช้เรื่องพลังกำลังเป็นตัวนำ เพราะด้วยความสูงที่ต้องไปสู้กับต่างชาติ โค้ชจึงเน้นตรงนี้เป็นหลัก

ด้วยความเคยชินที่ต้องตื่นเช้ามาออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก ทำให้มันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของเธอไปแล้ว

ไม่ว่าทีมชาติจะมีแข่งหรือไม่ วอลเลย์บอลอาชีพจะหยุดไปกี่สัปดาห์ เธอก็จะต้องเข้าเวท หรือ ไปวิ่งเพื่อคงความสภาพของตัวเองไว้อยู่ตลอด

ถ้าให้นักกีฬามาวิ่งจับเวลา หรือ ทดสอบร่างกาย ความอึดของ ปลื้มจิตร์ คือสถิติที่ยากจะหาคนมาทำลายลงได้ เพราะเมื่อไรที่วิ่งระยะไกล เธอจะน็อครอบเพื่อนร่วมทีมโดยไม่แสดงออกถึงความเหนื่อยให้เห็น

การฝึกซ้อมของ ปลื้มจิตร์ จะเต็มไปด้วยความจริงจัง ตีจริง วิ่งหลอกจริง เหมือนที่เห็นในตอนแข่ง ซ้อมกับแข่งแทบไม่มีความต่าง

นอกจากนี้เรื่องของทัศนคติคืออีก 1 สิ่งที่ทำให้เธอดำรงชีวิตมาในทิศทางที่ดี นิ้งหน่อง เป็นคนอารมณ์ดี คิดบวก และ แบ่งเวลาได้ดีเยี่ยม อีกอย่างเลยการพักผ่อนค่อนข้างสำคัญกับเธอ

ทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้เธอยังเล่นได้มาถึงตอนนี้ และ ดูแล้วปลื้มจิตร์น่าจะยังอยู่ประคองทีมได้อีกระยะใหญ่

พูดถึงการประคองทีมแล้ว หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมไม่ให้โอกาสเด็กเลย ถ้าเล่นอยู่แบบนี้จะได้เห็นคนอื่นบ้างไหม ???

เรื่องนี้มองแค่ในสนามคงไม่ได้คำตอบมากนัก ดังนั้นจึงขอแบ่งเป็นมุมมองให้กับพี่ๆน้องๆได้อ่าน หากผิดหรือไม่ตรงกันทางความคิดต้องขออภัย

เมื่อหลายปีก่อนตำแหน่งบอลสั้นของไทยจะมีตัวหลักๆอยู่ 2 คน คือ ปลื้มจิตร์ ถินขาว กับ อำพร หญ้าผา ซึ่งทั้งสองเป็นผู้เล่นที่มีข้อดีแตกต่างกันออกไปในรูปแบบการเข้าทำ จนเกิดเป็นคำถามว่าถ้าไม่มี 2 คนนี้ทีมไทยจะเป็นอย่างไร

ต้นปี 2014 "แจ็คกี้" อำพร หญ้าผา ได้รีไทร์ตัวเองออกจากทีมชาติ หลังจากที่อยู่ช่วยเหลือมาตลอดระยะเวลาหลายปี และ ได้ช่วยสร้างผลงานให้กับทีมได้อย่างมากมาย

ซึ่งตอนนั้นตำแหน่งบอลสั้นในประเทศไทยมีเพียงความหวังเดียวคือ "ทัดดาว นึกแจ้ง" ผุ้เล่นที่เพิ่งถูกขยับมาจากทีมระดับเยาวชน

ถามว่า "แนน" พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาได้แล้วหรือยัง

คำตอบต้องบอกว่า"ยัง" เพราะสาวขายาวจากเมืองร้อยเอ็ดยังมีหลายสิ่งที่ต้องปรับปรุง และ พัฒนา

ในขวบปี 2013-2014 ทัดดาว ค่อยๆอัพเกรดตัวเองขึ้นมาจนในที่สุดก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเธอไปพร้อมๆกับการเล่นที่พัฒนาได้อย่างชัดเจน

จนทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง หน่อง-แนน คือผู้เล่นบอลสั้นที่ดีที่สุด!!!!!

แต่....ตำแหน่งบอลสั้นของไทยจะมีบททดสอบอยู่เป็นประจำ

2014 เวิลด์กรังด์ปรีซ์ที่ฮ่องกง ปลื้มจิตร์ ข้อเท้าพลิก!!!!!! และต้องพักจากการแข่งขัน ทำให้อีก 1 นักกีฬาที่ร่วมซ้อมกับทีมมาตลอดอย่าง หัตถยา บำรุงสุข ได้โอกาสลงสนาม แต่ทุกอย่างมันไม่สวยหรูเมื่อ "เตย" ทำได้ไม่ดีพอ

2015 คราวนี้เป็น ทัดดาว นึกแจ้ง ที่ต้องมาเจอกับอาการบาดเจ็บที่กระดูกหน้าแข้ง จนต้องเข้ารับการผ่าตัด และ ไม่สามารถลงสนามทำการแข่งขันได้หลายรายการในนามทีมชาติไทย ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่หนักใจของทีมงานสต๊าฟฟ์โค้ช และ เหล่ากองเชียร์ลูกยางไทย

แต่.... "เตย" หัตถยา บำรุงสุข คนที่เคยอยู่ในจุดแย่ของการเล่นกลับมาท๊อปฟอร์มได้อย่างน่าประหลาดใจ การแข่งขัน U-23 ชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นรายการที่ทำให้ทุกคนต้องร้อง"ว้าว" เมื่อ หัตถยา โชว์ฟอร์มได้อย่างดีเยี่ยม สร้างความมั่นใจให้กับทีม และ สร้างความมั่นใจให้กับตนเองเป็นอย่างมาก

แน่นอน... หัตถยา เข้ามาแทนการหายไปของ ทัดดาว ได้ทันเวลา

2016 ด้วยฟอร์มที่กำลังขึ้นของ "หัตถยา" สาวสวยชาวชัยภูมิ ต้องถูกเบรกด้วยอาการบาดเจ็บที่กระดูกข้อศอก และ ต้องพักรักษาตัวนานพอสมควร ซึ่งมันไปประจวบเหมาะกับอาการที่ดีขึ้นของ ทัดดาว ทำให้ทีมไทยยังเดินหน้าต่อไปได้

2017-  ณ ตอนนี้  ทัดดาว มีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน หัตถยา ร่างกายยังไม่เต็มร้อย แต่..... จรัสพร บรรดาศักดิ์ ได้มีโอกาสลงสนามไปพิสูจน์ตัวเอง และ สามารถทำให้ได้เห็นว่าเธอพัฒนามามากขึ้นแค่ไหนจากที่ผ่านมา บอลตีที่เคยเบาบาง กลายเป็นไหลหลังที่หนักขึ้น จังหวะวิ่งหลอกที่ดูไม่เนียน เธอเริ่มขยับดึงบล็อคคู่ต่อสู้ไปได้บ้าง

2013 ทัดดาว ถูกซ่อนไว้
2014 หัตถยา ถูกซ่อนไว้
2015 จรัสพร ถูกซ่อนไว้

จนถึงตอนนี้ทั้ง 3 มีการพัฒนาที่ดีขึ้นแตกต่างกันออกไป และ ข้อดีทุกคนมีอายุเพียงแค่ 20 ต้นๆเท่านั้น ถ้าหากมองไปข้างหน้าอีก 3-4 ปี ตำแหน่งนี่คงตกผลึกถึงความสามารถได้มากขึ้นกว่าเดิม และ อาจจะทำให้ "ปลื้มจิตร์" ภาคภูมิใจกับสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ในตอนนี้

นี่ละ...เวลาที่คนถามว่าทำไมต้องได้ยินคำว่าไป"เก็บประสบการณ์" เวลาโค้ช-นักกีฬาให้สัมภาษณ์ สิ่งนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ดีให้กับทุกคนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

เอก ประวิตร"

…ขอบคุณพี่เอก ประวิตรมากเลยนะคะที่เขียนบทความดีๆให้อ่าน…

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่