แจ้งปิดเพจไม่ได้ ฟ้องเฟซบุ๊กแทนซะดีไหม? "คุณชายอดัม" เดือด! พิษลิขสิทธิ์ "นเรศวร"


        คุณชายอดัม เหลืออด! เมื่อแฟนเพจ หนังออนไลน์ ดูฟรี HD นำเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาไลฟ์และแชร์ โดยเจ้าตัวได้รายงานถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งนี้ต่อเฟซบุ๊ก แต่กลับได้รับข้อความตอบกลับแบบอัตโนมัติว่า แค่ให้ “Unfollow” หรือ “unfriend” แฟนเพจนั้นซะ! เรื่องนี้จึงต้องขยาย ทางผู้จัดการ Live จึงสายตรงถึงคุณชาย เพื่อเปิดใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

        จ่อฟ้องเฟซบุ๊กสมรู้ร่วมคิดพวกละเมิดลิขสิทธิ์ !?
       
       เมื่อเข้าถึงยุคโหลดง่าย แชร์สะดวก ใครหัวใสจะเปิดเพจแชร์ภาพยนตร์ก็ทำได้ง่ายแสนง่าย แถมสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ มาป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น ทำให้คนเบื้องหลังภาพยนตร์ถึงกับท้อ

       ล่าสุดเฟซบุ๊ก เฉลิมชาตรี ยุคล ของคุณชายอดัม หม่อมเจ้าเฉลิมชาตรี ยุคล ได้โพสข้อความ “พวกละเมิดลิขสิทธิ์ครับ... Report โลดครับ ฮาๆๆ” พร้อมกับโพสภาพเจ้าตัวได้ไปคอมเม้นต์ใต้ข้อความของแฟนเพจ หนังออนไลค์ดูฟรี HD ที่กำลังแชร์ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4
       
       หลังจากนั้น คุณชายอดัมได้โพสข้อความใหม่อีกครั้ง หลังจากได้รายงานปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของแฟนเพจดังกล่าวให้แก่ทางเฟซบุ๊ค แต่ข้อความใหม่ของคุณชายกลับเป็นความต้องการฟ้องเฟซบุ๊กแทน
       
       “ท้ายสุดที่ Report ไป … บอกว่าใช้ทรัพย์สินทางปัญญาผม... สรุปแล้ว Facebook ก็ไม่ลบครับ บอกว่าไม่ผิดกฎเขา แปลว่า เราก็ฟ้อง Facebook ได้สิครับนั่น? พร้อมกับแชร์ภาพของระบบตอบกลับอัตโนมัติของเฟซบุ๊กที่แนะนำให้บล็อกและเลิกติดตามแฟนเพจนี้เท่านั้น”
       
       เจ้าตัวเผยว่า ขณะนี้กำลังเดินทางอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และหากกลับมาถึงเมืองไทยจะทำการรายงานถึงเฟซบุ๊กให้ละเอียดอีกครั้ง และต้องจัดการให้ถึงที่สุด
       
       “ระบบเฟซบุ๊กในบ้านเรายังไม่ได้เอื้อประโยชน์ด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเท่าที่ควร โดยเฉพาะกับผลงานของคนตัวเล็กๆ เช่น ผู้กำกับตัวเล็กๆ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีกฎหมายพ.ร.บ. เอื้อให้เราฟ้องร้องคนทำผิดได้ แต่เฟซบุ๊กกลับไม่ได้ผิดด้วย เพราะเป็นแค่ช่องทางการเผยแพร่ ผมจึงอยากเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่จะกดดันให้เฟซบุ๊กมีระบบป้องกันที่แข็งแกร่งกว่านี้”
        
       ทั้งนี้เจ้าตัวได้ยกตัวอย่างของเว็บไซต์ youtube ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์เหมือนกัน แต่ด้วยระบบที่ไม่ซ้ำซ้อนมาก ผู้โพสต์และผู้ฟ้องร้องสามารถติดตามการละเมิดสิทธิ์นั้นได้ไม่ยากเหมือนกับเฟซบุ๊ก
       
       “ผมเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บนยูทูป ทั้งที่กรณีตัวเองเป็นคนโดนแบน และเป็นคนแบนเขา เช่นกรณีของสหมงคล ที่ผมเคยทำภาพยนตร์ให้เขา พอตัวมิวสิควิดีโอของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ผมก็เอามาโพสต์ทางยูทูป แต่ก็ได้รับแจ้งว่า วิดีโอนี้เป็นของสหมงคล และเราก็ถูกแบน แต่ผมก็ได้ยื่นเอกสารไปว่า ไม่ใช่นะ ผมก็เป็นผู้ผลิตเหมือนกัน เขาก็อนุญาต เราก็สามารถโพสต์ต่อได้เลย ซึ่งมันเป็นกระบวนการง่ายๆ ที่เราสามารถจัดการได้ทางหน้าเว็บเลย แต่ทางเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราจะทำอย่างไร แจ้งได้ที่ไหน ใครจะมาช่วยเหลือได้ อย่างกรณีของผมครั้งนี้ ก็ต้องขอบคุณหลายคอมเม้นต์ที่แนะนำมาว่าต้องจัดการอย่างไร ซึ่งผมค่อยไปจัดการตอนที่กลับมาถึงเมืองไทย”
       
       “หากไม่มีใครมาช่วยแนะนำผม ผมก็คงทำได้แต่รีพอร์ตไป แล้วเพจนั้นก็เผยแพร่หนังของผมไปเรื่อยๆ ผ่านไปสิบห้าวัน สามสิบวัน เป็นเดือน เมื่อมีคนรายงานไปเรื่อยๆ แต่เฟซบุ๊กยังนิ่งเฉย ปล่อยให้เขาเผยแพร่ไป ถือว่าคุณเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือเปล่า!?! นี่คือคำถามที่ผมอยากรู้?”

        รอรับเฟซบุ๊กไทย มีระบบคอนเทนต์ ไอดี
       
       คุณชายอดัม เผยถึงวิธีแก้ปัญหา การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของวงการภาพยนตร์ในต่างประเทศ นั่นคือการมีคอนเทนต์ ไ อดี ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยยังไม่มีใครรู้ แม้แต่ตัวคุณชายเองก็ยังไม่รู้เลยว่าต้องไปติดต่อขอจากทางไหน ซึ่งส่วนใหญ่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จะมีผู้ที่ช่วยทำระบบให้อยู่แล้ว โดยคอนเท้นต์ ไอดีนั้น จะเป็นการปกป้องวิดีโอของตัวเอง โดยโปรแกรมดังกล่าวจะป้องกันผู้อื่นนำวิดีโอไปใช้ หรือถ้าจะนำไปใช้ก็ต้องจ่ายเงิน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันคนก๊อปปี้วิดีโอไปเผยแพร่ได้เป็นอย่างดี
       
       “ระบบนี้มันฉลาดมากครับ มันจะจำอัตลักษณ์ของผลงานแต่ละชิ้นไว้ ถ้าคุณลองไลฟ์บนเฟซบุ๊กแล้วเดินผ่านเพลงสากลที่มีระบบคอนเทนต์ ไอดี ไลฟ์ของคุณจะโดนตัดเลยนะครับ แต่ระบบนี้บ้านเรายังไม่แพร่หลาย นั่นจึงทำให้เกิดปัญหา คุณลองหาซื้อแผ่นหนังฝรั่งเรื่องใหม่ๆ มาโหลดและแชร์ดู ระบบของหนังฝรั่งจะบล็อกเลย นั่นคือเป็นที่มาว่า ทำไมเพจที่โพสด้วยความคึกคะนองของแฟนเพจเหล่านั้น จะโพสและแชร์ได้เฉพาะหนังไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทางอเมริกา เขามีการปกป้องผลงานของเขาที่ชัดเจนและแม่นยำ แต่ของบ้านเรานี่ ส่วนตัวผมเองยังไม่ทราบเลยว่าต้องทำที่ไหน อย่างไร”
       
       เมื่อการแก้ปัญหาด้วยระบบคอนเทนต์ไอดียังไม่แพร่หลาย และระบบเฟซบุ๊กในเมืองไทยก็เข้าถึงยาก ปัญหาที่คุณชายอดัมและกลุ่มผู้กำกับหนังตัวเล็กๆ ก็คงต้องทนรับปัญหานี้ต่อไป
        
        ไม่ใช่เรื่องใหม่! แต่กฎหมายอ่อนแอ
       
       เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา ทางคุณชายอดัมเผยว่า “เราต่อสู้กันมาพักใหญ่แล้ว และผมก็เจอประจำ โดยเฉพาะเรื่องสมเด็จพระนเรศวร ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่นิยมนำมาโพสและแชร์กันเองในโลกออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ดำเนินการตามกฎหมาย คือมีการฟ้องร้องกันไป แต่สุดท้ายมันก็ไม่คุ้มกันครับ เพราะคดีแบบนี้มันไม่จบ”
       
       “คุณลองเช็คกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เลยว่า จำนวนคดีฟ้องร้องเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในแนวนี้สิ้นสุดลงกี่คดีแล้ว คำตอบคือ มันน้อยมาก เช่น เหตุเกิดบนเฟซบุ๊ก มีคนแชร์ไลฟ์ผลงานของคุณ โดยคุณไม่รู้ว่าตัวจริงของคนที่แชร์คือใคร คุณก็ต้องมีหมายศาลแล้วนำหมายศาลนั้นไปยื่นให้เฟซบุ๊ก เพื่อขอให้เขาเปิดเผยข้อมูล แต่ที่สำคัญคือ คุณก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จากเฟซบุ๊กนั้นเป็นข้อมูลจริงหรือเปล่า คุณก็ต้องนำหมายศาลไปหาไอพีของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตนั้นอีก ซึ่งขั้นตอนมันยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมากมาย เพียงเพื่อจับคนที่คึกคะนองเอาหนังเราไปปล่อย มันไม่คุ้มค่าครับ”
       
       เพราะกฎหมายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้สิ้นสุดง่ายๆ เหมือนคดีอาญา “เราเป็นผู้เสียเปรียบตลอด เรื่องก็คาราคาซังอยู่แบบนั้น แค่เราสร้างผลงานสู้ต่างประเทศให้ได้ก็ซับซ้อนพอแล้ว แค่หาเงินมาลงทุนก็ยากแล้ว แต่เรายังต้องเสียเวลามาหาวิธีปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของเราอีก มันเหนื่อยมากๆ ครับ”

        ถามว่าท้อไหม? ไม่ท้อครับ!
       
       แม้ที่ผ่านมาจะมีการรวมตัวในวงการผู้กำกับ เพื่อยกระดับผลงานภาพยนตร์ไทยให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่คุณชายยังออกตัวว่า “เรายังถูกมองว่า ผลงานเราไม่ใช่ทรัพย์สิน ทั้งๆ ที่ทุกคนหากินกับผลงานของเรา บางทีเราก็โดนดูถูกดูแคลน ถามว่าน้อยใจไหม ไม่นะ เพราะเราทำงานทุกวัน ไม่ได้โทษใครนะครับ แต่อยากให้ลองถามกับตัวเองดีกว่าไหมว่า เรามองทรัพย์สินทางปัญญาในเมืองไทยเป็นอย่างไร ในเมื่อมันถูกละเมิด ผมก็ทำตามขั้นตอนตามกฎระเบียบของเขา แต่มันไม่ได้เป็นไปตามนั้น ไม่เชื่อคุณลองไปเปิดเพจนี้ดูสิ ตอนนี้คุณก็ยังดูภาพยนตร์ของผมแบบผิดกฎหมายได้อยู่เลย”
       
       คุณชายอยากเรียกร้องผ่านไปถึงต้นทางเชิงนโยบาย นั่นคือรัฐบาล ให้ออกมาตรการเข้มงวดกับการป้องกัน และบทลงโทษผู้ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ ฝากถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งคงผลักดันเรื่องเหล่านี้อยู่ ให้ความรู้กับคนทั่วไปในการป้องกันการละเมิดฯ
       
       “รวมถึงตัวผมเอง ก็คงต้องศึกษาเรื่องระบบป้องกันเหล่านี้ให้มากขึ้น”....





ข่าวจาก : MGR Online
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000058615
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่