วิวัฒนาการโทษประหาร ในสังคมไทย

สมัยกรุงศรีอยุธยา

แม้กฎหมายเก่าในสมัยกรุงศรีจะสูญหายไปมาก แต่จากกฎหมายตราสามดวง
แสดงให้เห็นเค้าโครงการลงโทษในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ว่า

เป็นการลงโทษเพื่อแก้แค้น ตอบแทน และข่มขู่ยับยั้ง
เพราะมุ่งลงโทษที่ตัวผู้กระทำผิดอย่างเต็มที่


โดยเฉพาะโทษประหารชีวิตใน พระอัยการขบถศึก อันว่าด้วยโทษ ทวะดึงษ์กรรมกรณ์ 32 ประการ
ประกอบด้วย ทรมาน 11 วิธี และฆ่าให้ตาย 21 วิธี

วิธีการประหารชีวิต และทัณฑ์ทรมานสมัยอยุธยา พอสรุปได้ ดังนี้

1.การประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะด้วยดาบ  แต่ในกรณีกบฏได้มีบทบัญญัติในลักษณะที่โหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง
เข้าใจว่ามุ่งหมายข่มขู่ให้เกรงกลัว และในกรณีลงโทษพระญาติพระวงศ์ ใช้วิธีประหารชีวิตแตกต่างจากไพร่สามัญ

ในการแปรพระราชฐาน เสด็จไปคล้องช้าง มีกฎหมายกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้อง หนีความตายไม่พ้น คือ
ถ้าปฏิบัติก็ตาย ไม่ปฏิบัติก็ตาย เพียงแต่ถ้าปฏิบัติ อาจตายคนเดียว ถ้าไม่ปฏิบัติตายทั้งโคตร

ปรากฏในมณเฑียรบาลว่า เสด็จคล้องช้าง ถ้าช้างพระที่นั่งต่ำตา ทรงเรียกบ่วงบาศ อย่ายื่น
หากทรงฟันต้องยอมตาย ถ้ายื่นให้และช้างพระที่นั่งเป็นอันตราย ฆ่าทั้งโคตร

เรือพระประเทียบล่ม ให้ทุกคนว่ายน้ำหนี อย่าอยู่กับเรือ ถ้าผู้ใดไม่เชื่อ โทษมันถึงตาย

ท่อนจันทน์สำเร็จโทษ
กรณีเป็นเชื้อพระวงศ์หรือกษัตริย์ มีวิธีประหารเฉพาะ คือ การทุบด้วยท่อนจันทน์
วิธีการ คือ นำผู้ถูกประหารมาสวมด้วยถุงแดงแล้วรัดถุงให้แน่น
เพื่อไม่ให้ใครแตะต้องพระวรกาย และไม่ให้ใครเห็นพระศพด้วย แม้แต่เพชฌฆาต

โดยเพชฌฆาต เฉพาะนามว่า "หมื่นทะลวงฟัน"
ลักษณะท่อนจันทน์ เป็นไม้ค้อนขนาดใหญ่ มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง
รูปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม หลังเสร็จพิธีประหาร จักใส่ไปในหลุมศพด้วย
โดยตำลงไปสุดแรงบริเวณพระเศียร หรือพระนาภี คล้ายท่าตำข้าว
เสร็จแล้วนำไปฝังในหลุม 7 คืนเพื่อให้มั่นใจว่าสิ้นพระชนม์ หรือ ป้องกันการชิงพระศพ
ก่อนขุดขึ้นมาประกอบพิธีต่อไป

เหตุใดไม่ใช้วิธีเปิดผ้าตรวจดูว่าสิ้นชีพแล้วหรือไม่ หลังจากนำนักโทษใส่ถุงแดงแล้วตามธรรมเนียม

เพื่อไม่ให้เลือดตกถึงพื้นดิน เป็นอุบาทว์แก่บ้านเมือง
จึงห้ามเปิดให้ใครเห็น หรือแตะต้องพระวรกายโดยตรงได้เป็นอันขาด


การทุบด้วยท่อนจันทน์ถือเป็นการให้เกียรติ เพราะเป็นไม้หอมหายากราคาแพง
ตามธรรมเนียมราชสำนักจีน ถือว่าการประหารโดยการตัดศีรษะ ทำให้เสื่อมเกียรติกว่าการประหารแบบอื่น
บรรดาขุนนาง หรือเจ้านายของจีน ถือว่า ผ้าแพร สุรา กั้นหยั่น กระดุมทอง พระราชทาน
ที่ฮ่องเต้ส่งมาให้ปลิดชีพตนเองนั้น ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

ในสมัยกุบไลข่าน ลุงที่ก่อกบฏท่านข่าน ถูกจับมัดตัวแล้วห่อด้วยพรม
ท่านข่านให้พวกทหารโยนไปโยนมาจนลุงช้ำในตาย
การที่กุบไลข่านต้องทำเช่นนั้นเพราะไม่ต้องการให้เลือดพระญาติต้องตกลงถูกพื้นดินนั่นเอง


2.การลงทัณฑ์ต่อร่างกายให้เจ็บปวดทรมาน โดยปกติใช้เฆี่ยนด้วยหวาย หรือทวนด้วยลวดหนัง
จองจำหรือพันธนาการด้วย ขื่อคาน พวงคอ ล่ามโซ่ ตรวน ขึ้นขาหยั่ง
บั่น ทอนอวัยวะด้วยการ ตัดมือ ตัดเท้า ตอกเล็บ ควักนัยน์ตา แหวะปาก ตัดลิ้น


3.ประจาน ได้แก่ สักหน้าหรือตัว แหวะหน้าผากหรือแก้ม พร้อมทั้งจำเครื่องพันธนาการ
มีคนตีฆ้องร้องประกาศความชั่วตระเวนน้ำ ตระเวนบกไปรอบเมือง


4.ปรับโทษตามลักษณะความร้ายแรงของความผิดของคดี ตามฐานันดร และศักดินา  
โทษบางอย่าง ถ้าพิจารณากันฐานะคนธรรมดา จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
แต่เรื่องเดียวกันถ้าไปเกิดกับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้กระทำอาจได้รับโทษร้ายแรง เช่น

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระบรมราชโองการประการใด อย่าให้ขัด
ผู้ใดมิฟังพระราชโองการ มิได้ทำตาม โปรดให้ลงโทษได้ 8 สถาน สถานหนึ่ง ให้ตัดหู ตัดปาก ตัดมือ ตัดตีนเสีย

ตามพระอัยการอาญาหลวง ผู้ถือศักดินาหมื่นถึงแปดร้อย ถ้าขัดต่อพระโอษฐ์(โต้เถียง)
โทษแหวะปาก ขัดดำเนินพระราชโองการให้ฆ่าเสีย

(แต่บางกรณี มีกฎหมายบังคับให้ขัด ถ้ากระทำตามพระราชโองการมีโทษถึงตาย เช่น
ถ้าทรงไม่พอพระทัยจนถึงขั้นพิโรธสุดขีด ตรัสเรียกพระแสง
ผู้เป็นพนักงานต้องขัดไว้ อย่ายื่นพระแสงให้ ถ้ายื่นตามรับสั่ง ตนจะต้องมีโทษถึงตาย

เกี่ยวกับการพิพากษาอรรถคดี ถ้าเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวดำรัสคดี ถ้อยความไม่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย
อาจเพ็ดทูลทัดทานไว้ได้สามครั้ง ถ้าไม่ทรงฟังอีก ต้องกระทำตาม)


ข้าราชการนาหมื่นถึงนาพันหกร้อย พูดกันในที่สงัด หรือกระซิบกันในศาลาลูกขุน เจ้าเมืองที่ครองอยู่ต่างเมือง
ไปมาหาสู่หรือพูดจากับทูตต่างเมืองโดยมิใช่หน้าที่ มีโทษถึงตายทั้งสิ้น เพราะต้องสันนิษฐานว่า กระทำอย่างนั้นเป็นการกบฏ

พระสนมที่พระราชทานให้ผู้ใดก็ตาม เนื่องจากทำความดีความชอบ
ผู้เป็นสามีจะตบตีได้ก็แต่พอหลาบจำเท่านั้น คือต้องไม่ให้ถึงกับเสียโฉมหรือรูป
ถ้าพระสนมที่พระราชทานไปนั้น ทำความผิดโทษถึงตาย ทางการต้องนำความกราบบังคมทูลก่อน
เมื่อมีพระบรมราชานุญาตให้ลงโทษ จึงลงโทษได้
ผู้ใดละเมิดการดังกล่าว โทษถึงตาย

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และชั้นกลาง ศักดินาระหว่างหมื่นถึงแปดร้อย ไปมาหาสู่พระราชบุตร พระราชนัดดา
โดยปราศจากเหตุผล และหลักฐานพอสมควร มีโทษถึงตาย

พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งพระแสงให้เจ้าต่างกรม ห้ามมิให้รับ ต้องให้มหาดเล็กรับแทน ถ้าเจ้าต่างกรมไปรับเอง ถือว่ามีโทษ

การเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ข้าราชการชั้นนาหมื่นถึงแปดร้อยต้องมาเฝ้า นอกนั้นไม่บังคับ
การเอะอะวุ่นวายต่อพระที่นั่ง  หรือทำการอึกทึกครึกโครมเอ็ดอึงในพระราชวัง
ผู้มีศักดินาหมื่นถึงสามพัน โทษอย่างสูงเพียงห้ามเฝ้า
ศักดินาสามพันลงมาถึงสามร้อย มีโทษให้คว่ำเฆี่ยนสามสิบที

ศักดินาสองร้อยลงไปถูกเฆี่ยนแล้ว ผู้บังคับบัญชายังถูกเจาะปากอีกด้วย
ศักดินาหมื่นถึงแปดร้อย เกิดวิวาทชกต่อยทุบตีกันต่อหน้า พระที่นั่ง ให้ปรับ
ศักดินาต่ำกว่านั้นให้เฆี่ยน

5.ริบทรัพย์ มักคู่กับโทษประหารชีวิต เรียกว่า ริบราชบาตร หรือ ฟันคอริบเรือน
โดยถูกริบทั้งทรัพย์สินเงินทอง ไร่นาสาโท รวมทั้งลูกเมีย

การพูดจาติเตียน หรือพูดถึงพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยถ้อยคำอันหยาบช้า โทษถึงฟันคอ ริบเรือนสิ้น

              
6.โทษจำคุก ไม่มีกำหนดยาวนานเท่าใด แล้วแต่พระเจ้าอยู่หัวจะโปรดพระราชทานอภัยโทษ
หรือมีพระบรมราชโองการสั่งให้เป็นอย่างใด


สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

หลักการและแนวความคิดในการลงโทษไม่แตกต่างกับสมัยอยุธยามากนัก
เรือนจำในกรุงเทพฯมี 2 อย่าง คือ

คุก เป็นสถานที่จำขัง ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษสูง 6 เดือนขึ้นไป

ตะราง เป็นสถานที่จำขัง ผู้ต้องขังที่มีการกำหนดโทษตั้งแต่ 6 เดือนลงมา
ซึ่งมีอยู่หลายตะรางด้วยกัน สังกัด กระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับบัญชากิจการนั้นๆ

ส่วนการเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการเมือง มีสถานที่คุมผู้ต้องโทษ
เรียกว่า ตะรางประจำเมือง ถ้าเป็นกรณี ความผิดฉกรรจ์มหันตโทษ ผู้ว่าราชการเมืองต้องส่งตัวผู้กระทำผิด
มายังกระทรวงเจ้าสังกัด

การคุมขังนักโทษในสมัยนั้นมิได้มีกฎข้อบังคับไว้โดยเฉพาะ
แล้วแต่ผู้ว่าราชการเมืองจะกำหนดขึ้นใช้เอง ตามแต่จะเห็นควร


โทษทางวินัยของเสนาข้าราชการโบราณ ไม่ใช่แค่ไล่ออกเท่านั้น ยังมีโทษถึงตายเกือบร้อยละเก้าสิบ
นอกนั้นเป็นโทษปรับริบราชบาตร ถอดลงเป็นไพร่ เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง
ได้รับโทษอับอายขายหน้าชั่วลูกชั่วหลาน บางคนถูกถอดยศศักดิ์แล้ว ยังถูกจับขังไว้จนตาย


ยุคแห่งการปรับปรุงสมัยรัชกาลที่ 5

ในกรุงสยาม นี้มีมากนักโทษต้องจำขังอยู่โดยยังไม่ได้ตัดสิน และผู้ที่ต้องขังอยู่ก็ยังไม่รู้สึกตัวว่ามีกำหนดโทษเพียงไร
และมีความกระวนกระวายสงสัย เป็นเครื่องทรมานหัวใจอยู่เสมอ จะดูสิ่งอื่นให้เป็นที่สังเวชยิ่งกว่า
จะเห็นคนที่ต้องติดขังคุกอยู่นานๆ และร่างกายก็ทรุดโทรมไปแลปล่อยเป็นโรคต่างๆ โดยความที่ต้องมาติดขังอยู่นานๆ  
แลกว่าจะได้รู้ว่าเดิมจะต้องโทษอย่างไร และบัดนี้จะต้องถูกเฆี่ยนอีกเท่าไรนั้น  ต่อไปไม่มีอีกแล้ว
เมื่อวันหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้รักษานักโทษคนหนึ่งที่ต้องติดคุกอยู่ 28 ปี แล้ว
เพราะโทษเล็กน้อยแต่ยังไม่รู้โทษของตัวว่ามีโทษสักเท่าไร


บันทึกจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร. 5  เล่ม 1
หมอวิลเลี่ยม ลิลลิ กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  28 พย. 2434 หน้า  622

ในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานใช้จารีตนครบาลอย่างไม่เหมาะสม ทําให้ภาพลักษณ์ของ
การสอบสวนคดีดูป่าเถื่อนโหดร้าย ภายหลัง กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงปรารภว่า

ในครั้งนั้นผู้ใดต้องหาเปนความอาญาแล้ว ได้รับความเดือดร้อนอย่างที่สุด
เพราะในชั้นต้นถูกจับขังก่อนเสมอ กว่าจะได้มีใครได้พิจารณาก็นานมากกว่าทุกวันนี้
และในเวลาพิจารณานั้น ถือกันว่าใครต้องหาแล้ว ต้องเป็นผู้ร้ายอยู่แล้ว ตบตีเฆี่ยนจะเอาหลักถานให้ได้

จากตัวคนที่ต้องหานั้นเอง ถ้าคน ๆ นั้นนําพยานมาสืบความบริสุทธิ์ของตนได้ก็รอดไป คือ
ผู้ต้องหาต้องเป็นผู้สืบ ผิดกันกับเดี๋ยวนี้ ที่สันนิถานเสียว่าผู้ต้องหาเปนคนบริสุทธิ์ กว่าโจทกย์จะ
นําสืบให้เหนว่าพิรุธ สองวิธีนี้ผิดกันมาก อย่างเก่ากระทําให้ตระลาการมีโอกาสกระทําการอันมิชอบได้มาก
และกระทําให้ราษฎรสิ้นความนับถือเพราะเหนเปนยักษ์เปนมาร และขันมากที่ว่า
ตระลาการครั้งนั้นไม่ได้ลดหย่อนการเขี้ยวเข็นให้ราษฎรบ้างเลย


โทษอาญาแผ่นดินที่กล่าวมาในข้างต้นเหล่านั้น หลังจากร.5
ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินแล้วโปรดให้ยกเลิกทั้งหมด

ทรงจัดระเบียบการคุกตะรางใหม่ เมื่อ ร.ศ.110 โดยได้มีการยกเลิกจารีตนครบาลอันโหดร้าย
และประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ ร.ศ. 120 เพื่อใช้บังคับกิจการเรือนจำ เป็นการเฉพาะ
ทรงวางระเบียบข้อบังคับเรือนจำ ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ด้วยกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127
ซึ่งมีหลักการและวิธีการ ลงโทษที่ได้ผ่อนคลายความทารุณโหดร้ายลงไปมาก
และได้บัญญัติวิธีการลงโทษผู้กระทำผิดอาญาแผ่นดิน ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ อัยการ ศาล และเรือนจำ

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้ประกาศตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2458
โดยรวมกิจการเรือนจำ ทั่วราชอาณาจักรไว้ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงนครบาล
การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตาม ระเบียบกฎข้อบังคับอันเดียวกัน นับว่าการราชทัณฑ์ไทยได้พัฒนาไปสู่แนวทางที่มีเหตุผลยิ่งขึ้น


ยุคปัจจุบัน

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 การราชทัณฑ์ไทยได้วิวัฒนาการการเข้าสู่ยุคปัจจุบัน
เริ่มจากการสร้างเรือนจำกลางบางขวางให้เป็นเรือนจำที่ทันสมัยในปี พ.ศ.2477
แก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีประหารจากการประหารชีวิตด้วยดาบ มาเป็นการประหารชีวิตโดยใช้ปืน

มีการกำหนดนโยบายอาญาและหลักทัณฑ์ปฏิบัติให้สอดคล้อง กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
และตามหลักการของอารยะประเทศยิ่งขึ้น ประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช 2479
กำหนดหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ
และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และมุ่งในเรื่องการฟื้นฟูอบรมแก้ไขผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป

จนเมื่อปี 2546 ได้เปลี่ยนแปลงจากการประหารชีวิต ด้วยวิธียิงด้วยปืน มาเป็นการฉีดสารพิษเข้าร่างกาย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่