"สามเศียร" ไม่ฟังเสียงผู้ชมเลยหรือคะ

กระทู้คำถาม
สำหรับคนที่มีอายุ 20+ ขึ้นไป หลายคนน่าจะเติบโตมาพร้อมกับการ์ตูนตอนเช้าและละครพื้นบ้าน ในเช้าวันเสาร์-อาทิตย์
ซึ่งหากใครเป็นแฟนละครพันธุ์แท้ ทุกวันนี้คงหงุดหงิดกับ ความงงงวยยืดยาดของบทละครพื้นบ้านในปัจจุบันนี้ ทั้งไดอะล็อกที่สับสน การเดินเรื่องที่ดูจะแปลกๆไม่สมเหตุสมผล เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ดูจะขาดความประณีตเหมือนแต่ก่อนไป การเลือกนักแสดงที่ไม่เหมาะสมกับบทที่รับ จนบางคนโดนแฟนละครโจมตียกใหญ่

    ประเด็นข้างต้นไม่ได้เพิ่งมี แต่เป็นสิ่งที่แฟนๆรวมถึงเจ้าของกระทู้เองก็รู้สึกขัดอกขัดใหญ่กันมานาน และแม้ว่าในสังคมโซเชี่ยลแฟนละครกลุ่มนี้จะออกมาแสดงความเห็นหรือให้คำแนะนำใดๆก็ตามแต่ กลับพบว่าทุกอย่างยังคงเป็นเช่นเดิม เรายังคงต้องดูละครที่มีเนื้อเรื่องยาวยืด และตอนจบที่รวบรัดตัดจบภายในตอนเดียวมานานนับสิบปี

   ในความเห็นของเจ้าของกระทู้ คิดว่าในส่วนของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จริงๆนั้นสำคัญมากเพราะนับเป็นสัญลักษณ์ของละครแนวนี้ แต่ที่สำคัญกว่าหากไม่สามารถปรับเครื่องแต่งกายได้ บทละครการดำเนินเรื่องควรมีความกระชับและสมเหตุสมผลมากกว่านี้ สำคัญยิ่งๆไปกว่านั้น สิ่งที่ขาดไปคือข้อคิดคำสอน ลืมไปรึเปล่าว่า ฐานผู้ชมส่วนใหญ่ นอกจากกจะเป็นผู้สูงวัยก็เด็กๆนี่แหละที่จะรับสารจากละครเหล่านี้มากกว่าละครหลังข่าวเสียอีก


  -- ยกตัวอย่าง เช่น
      1.ละครเรื่องล่าสุด "อุทัยเทวี" โดยนางเอก รับบทโดย "มีน  วรัญภรณ์ พัฒน์ช่วย" ที่โดนติงในเรื่องของสำเนียงการพูด บ้างว่าพูดจาแปลกๆ บ้างว่าไม่สวยพอจะเป็นนางเอก ถือว่าโดนโจมตีตั้งแต่อุทัยเทวียังไม่โตด้วยซ้ำ  คำถามคือ....ในจุดนี้เป้นความผิดของใคร มีน อาจจะเหมาะกับบทอื่นที่ไม่ใช่นางเอกก็ได้  ใน ขณะที่หลายคนต่างพูดกันว่า กุ๊กกิ๊ก ซึ่งรับบทแม่นั้น สวยกว่าลูกมากทีเดียว ทำไมถึงไม่ได้เป็นนางเอก สุดท้าย...กระแสโจมตี ผู้รับผลนี้ คือนักแสดง และแน่นอนเมื่อรู้สึกว่านักแสดงไม่เหมาะกับบทผู้ชมมักไม่รู้สึกกับละครอยู่แล้ว

     2.บทโทรทัศน์ นี่คือหัวใจสำคัญในการทำละครแต่ละเรื่อง และถือเป็นเครื่องตัดสินได้ว่าละครนั้นจะดังหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบทโทรทัศน์นี่แหละ แต่ทุกวันนี้ เราแทบไม่เห็นอะไรสอดแทรกในบทละครของละครพื้นบ้านในทุกวันนี้เลย ทั้งการใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่ถูกหลักประหนึ่งว่า ใช้ไปมั่วๆ ไม่สนไม่แคร์ การใช้ถ้อยคำหรือพฤติกรรมที่นอกจารีตไปสักหน่อย อย่าง บทของ เจ้าหญิงฉันทา ในอุทัยเทวี เช่นกัน รู้สึกสะดุดกับบทในตอนหนึ่งเอามากๆ ที่เจ้าหญิงฉันทา บอกว่า "อยากกินผู้ชาย" ทีมงานและผู้จัดลืมไปรึเปล่าว่ามีเด็กไม่น้อยที่ดูละครแบบนี้อยู่

    3.การเชื่อมโยงตัวละคร ที่ไม่มีความสมเหตุสมผลกันเลย ครุฑกับนาค นับว่าเป็นอริกันมาแต่ไหนแต่ไร แต่ในเรื่องพญาครุฑกลับทำทุกวิถีทางเพื่อจับนางนาคสมุทรมาลา มาเป็นเมีย ไม่เคยอ่านตำราเล่มไหนเล่าถึงความสัมผัสของครุฑนาคในทำนองนี้เลย ถึงแม้ว่าตอนหนึ่งจะเหมือนกลับมาฉุกคิดได้ จึงเพิ่มบทประมาณว่า จับนาคสมุทรมาลามาทำเมียเพื่อทำให้ท้าวนาคราชนั้นเจ็บใจ แต่เหตุก็ฟังไม่ขึ้นอยู่ดี คนลองได้เกลียดกันแล้ว แม้แต่หน้าคงยังไม่อยากจะมองด้วยซ้ำ  อุทัยเทวีก็เช่นกัน ชาติกำเนิดนั้นมาจากนาคกับเทวดา นางถือว่ามีชาติกำเนิดที่ค่อนข้างไม่ธรรมดาแต่ในเรื่องกลับไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากไม่มีแหวนที่แม่ทิ้งไว้ให้

        ทำลายทุกคติ ความเชื่อ ผู้เขียนบทไม่มีการศึกษาเรื่องราวคติความเชื่อ ก่อนนำมาเขียนบทละครเหรอคะ กระผู้กำกับไม่มีการแย้งในเรื่องของความไม่เหมาะสมของบทเลยใช่มั้ยคะ ล่าสุด ธิดาพญานาค กลัวงูยักษ์ เป็นไปได้อย่างไรที่ธิดาพญานาค ผู้เป็นใหญ่กว่างูทั้งปวงกลับหวาดกลัวงูยักแบบนี้ ไม่แปลกถ้าอุทัยเทวีจะง่อยกระจอกทำอะไรไม่ได้เลย  ตลกสิ้นดี ซ้ำสุดท้ายกลับเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าตนเองเป็นพญานาค

   4.ความยืดยาวของบท นับเป็นความน่ารำคาญของละครในปัจจุบัน เราดูละคร1เรื่อง ใช้เวลาเกือบปี มันช่างน่ารำคาญใจจริงๆ เหตุผลของการออกทะเลคืออะไร การทำให้ละครให้รวบรัดเข้าใจง่ายกลับกลายเป็นเรื่องยากไปแล้วหรือสำหรับทีมสร้างละครพื้นบ้านหนึ่งเดียวในประเทศ ที่ผลิตละครแนวนี้มาหลายสิบปี
    ผู้เขียนขอพูดในฐานะคนดูที่ติดตามมาตั้งแต่จำความได้ บอกตามตรงว่ารู้สึกผิดหวังจริงๆ ครั้งนึงเราเคยเป็นเด็ก ได้ข้อคิดหลายๆอย่างจากละครแนวนี้ แต่ทุกวันนี้เรามองในมุมของผู้ใหญ่ กลับรู้สึกว่าต้องคอยแนะนำเด็กๆเวลาดูละครไปด้วย บางครั้งแทบไม่อยากให้ดูด้วยซ้ำ เพราะมีการนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบที่ผิดเพี้ยนขึ้นทุกที ถ้าทางผู้จัดยังคงคิดว่าจะทำอะไรให้ดูก็ได้ เราก็คงทำอะไรไม่ได้ เพียงแค่รู้สึกผิดหวังก็เท่านั้นเอง
ขอบคุณค่ะ ^^
#ละครพื้นบ้าน #อุทัยเทวี #สามเศียร #ละครช่อง7 #ละครจักรๆวงศ์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่