\_ Oops! _/ ปฏิรูปตำรวจ : ยังเป็นความฝันต่อไปอย่างเคย : โดย วสิษฐ เดชกุญชร


  เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคมที่ผ่านไปนี้ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในการเข้าพบกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในวันศุกร์ที่ 17 เดือนเดียวกันนี้ จะเสนอความคิดเห็นหลายข้อต่อคณะอนุกรรมการ

ข้อหนึ่งเป็นความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม เพื่อแก้ปัญหาป้องกันและปราบปรามการทุจริต

  แรกเริ่มเดิมทีผมรู้จักคุณสุเทพในฐานะที่เป็นนักการเมือง และโดยส่วนตัวไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกันเลย แต่ในปี 2553 เมื่อ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีและคุณสุเทพเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย และคุณอภิสิทธิ์แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ คุณสุเทพกับผมจึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดกันเป็นครั้งแรก เมื่อคุณสุเทพลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2556 เพื่อไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำประชาชนชุมนุมเพื่อคัดค้านระบอบทักษิณ ผมก็ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมด้วย และเริ่มสนิทสนมกับคุณสุเทพตั้งแต่นั้นมา

คุณสุเทพมีความเห็นว่าโครงสร้างของราชการตำรวจ ซึ่งในปัจจุบันเป็นแบบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ควรตัดเอาไปให้ส่วนภูมิภาค และให้ยุบตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภาค เหลือแต่ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจเป็นตำแหน่งสูงสุดของแต่ละจังหวัด ข้าราชการตำรวจได้รับการแต่งตั้งในจังหวัดไหนก็ให้เติบโตขึ้นในจังหวัดนั้น เพื่อแก้ปัญหาการวิ่งเต้นโยกย้ายข้ามจังหวัดข้ามภาค ซึ่งทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์แทนที่จะเป็นระบบคุณธรรม

  ความเห็นของคุณสุเทพสอดคล้องกับของ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ คุณประทินเห็นว่าควรยุบสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหลือแต่ตำรวจท้องถิ่นเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่นอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คุณประทินเห็นว่างานตำรวจนั้นจบลงแค่สถานีตำรวจ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีแม้แต่กองบัญชาการภาค รูปโครงสร้างของตำรวจในปัจจุบันทำให้สายการบังคับบัญชายาว และมีตำแหน่งสูงระดับนายพลมากโดยไม่จำเป็น ส่วนตำแหน่งระดับล่างซึ่งเป็นผู้เผชิญปัญหาอย่างแท้จริง กลับขาดแคลน อันที่จริงทรรศนะทั้งของคุณสุเทพและคุณประทินนั้นไม่ใช่ของใหม่ คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์
จุลานนท์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยผมเป็นประธานได้เคยศึกษาวิจัยเอาไว้โดยพิสดารแล้ว รัฐบาลลงทุนให้คณะกรรมการทำการศึกษาและวิจัยและพิมพ์เป็นเอกสารแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ใช้งบประมาณไปกว่า 10 ล้านบาท ยิ่งกว่านั้นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ยังได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย แต่ปรากฏว่าผู้ไม่เห็นด้วยได้รวมหัวกันคัดค้านและถ่วงเวลา จนกระทั่งหมดอายุของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การปฏิรูปตำรวจจึงค้างเติ่ง เป็นแต่ความฝันมาจนถึงบัดนี้

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยังไม่ได้ประกาศใช้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจอยู่ในมาตรา 268 แต่ก็เป็นการปฏิรูปในด้านบุคลากร เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ไม่อยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และให้การแต่งตั้งโยกย้าย และพิจารณาบำเหน็จความชอบเป็นไปโดยชอบธรรม และไม่ปรากฏว่าในมาตรา 268 นั้นได้กล่าวถึงการปรับปรุงโครงสร้างแต่อย่างใด

ถ้าไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อทอนอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงและกระจายอำนาจลงไปยังส่วนภูมิภาค เราก็จะยังเห็นผู้บัญชา การตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติวิ่งลงไป “กำกับ” การสืบสวนและสอบสวนคดีอุกฉกรรจ์สำคัญทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่คนทำงานที่แท้จริงด้วยความเหนื่อยยากและขาดแคลนเครื่องมือเครื่องใช้คือตำรวจท้องที่ระดับตั้งแต่ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดลงไป


คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ คงต้องฝันต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนด

วสิษฐ เดชกุญชร

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่