“บิทคอยน์” อีกหนึ่งการลงทุนที่...คุณต้องรู้ ตอนจบ

หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์  
“บิทคอยน์”  อีกหนึ่งการลงทุนที่...คุณต้องรู้  ตอนจบ
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.CsiSociety.com
Add Line:  @CsiSociety

เมื่อวานนี้ เราได้คุยกันแล้วเกี่ยวกับบทความเรื่อง “บิทคอยน์” อีกหนึ่งการลงทุน ที่คุณ...ต้องรู้ ตอนที่ 1  จากงานสัมมนาภาพยนตร์เรื่อง “The Rise and rise of Bitcoin”  โดยชมรมนักลงทุนซีเอสไอ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีข้อสรุปประเด็นสำคัญๆของการสัมมนา คือ หนึ่ง  “บิทคอยน์” คืออะไร?  สอง  “บิทคอยน์” มีโอกาสที่จะตายจากไปไหม?  และสาม  “ราคาบิทคอยน์” ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?  วันนี้จะคุยกันต่ออีก 3 ประเด็นที่เหลือดังนี้ครับ

สี่  ความน่าเชื่อถือของ “บิทคอยน์”
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557  เกิดเหตุการณ์ที่บริษัท เมาท์ก๊อกซ์ (Mt.Gox) บริษัทในกรุงโตเกียวที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่รับแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศปิดเว็บไซต์และหยุดให้บริการแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ โดยมีปัญหามาจากเว็บไซต์ของ Mt.Gox  ถูกคนใช้คอมพิวเตอร์แฮ็คเข้าไปได้ และพบว่ามีบิทคอยน์ถูกขโมยไปสูงถึง 850,000 บิทคอยน์ คิดเป็นเงินสูงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาททีเดียว เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของบิทคอยน์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหลายต่อหลายคนก็ต่างพากันคิดว่า   งานนี้...เงินสกุลดิจิตอล “บิทคอยน์” ต้องตายแน่ๆ เพราะมันมีจุดอ่อนที่ทำให้บรรดาหัวขโมยสามารถใช้คอมพิวเตอร์แฮ็คเข้าไปและสามารถขโมยบิทคอยน์ไปได้
อันที่จริง “บิทคอยน์” เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน และยังไม่เคยถูกแฮ็คหรือฉ้อโกงไปจากระบบได้เลยนับตั้งแต่วันแรกที่มันปรากฏขึ้นมาบนโลกใบนี้ ทุกวันนี้คาดกันว่ามูลค่าการตลาดของบิทคอยน์ทั้งหมดน่าจะสูงกว่า 5 แสนล้านบาท ก็ยังไม่เคยเลยที่บิทคอยน์จะถูกแฮ็คและขโมยไปได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดที่บริษัท Mt.Gox นั้นพบว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทได้ถูกคนใช้คอมพิวเตอร์แฮ็คเข้าไปในระบบของบริษัทเอง และขโมยเงินบิทคอยน์ไปได้ และยังพบเพิ่มเติมอีกว่า เกิดการฉ้อโกงภายในบริษัทเองอีกด้วย ดังนั้นความน่าเชื่อถือของบิทคอยน์จึงยังมั่นคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 ศาลในเขตเซาธ์เทิร์นในมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินให้บิทคอยน์เป็นเงินที่สามารถใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการหรือทั้งสองอย่างได้จากการโอนเงินผ่านบัญชี ดังนั้นบิทคอยน์จึงได้ทำหน้าที่เป็นทรัพยากรทางการเงิน และสามารถใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนได้ และเป็นหนึ่งในวิธีการชำระเงิน
ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของ “บิทคอยน์” ในฐานะสกุลเงินดิจิตอลที่สามารถแลกเปลี่ยน ซื้อสินค้าและบริการได้ จึงยังคงยืนหยัดอยู่ได้

ห้า  “บิทคอยน์” ใช้ซื้ออะไรได้บ้าง?
ในปี 2556  มีห้างร้านหลายแห่งเริ่มรับเงินบิทคอยน์ในการชำระค่าสินค้า เริ่มจาก WordPress บริษัทที่ผลิตโปรแกรมที่ใช้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากนั้นมาก็เป็นบริษัทขายตั๋วเครื่องบินโรงแรม Expedia ในเดือนมิถุนายน 2557 และ Microsoft ในเดือนธันวาคม 2557  ตามมาด้วย Dell บริษัทคอมพิวเตอร์ชื่อดังก็เริ่มรับชำระเงินเป็นบิทคอยน์ และยังให้ส่วนลดสูงถึง 10% ในสินค้าบางประเภทอีกด้วย
หลังจากนั้น ในสหรัฐอเมริกาก็มีการออก Bitcoin Gift cards โดยมีการบรรจุเงินบิทคอยน์ลงในการ์ดเหมือนบัตรเดบิต และนำไปชำระสินค้า ซึ่งพบว่ามีร้านค้าจำนวนมากมายที่รับชำระด้วยบัตรประเภทนี้ อาทิเช่น Walmart, Amazon, Target และ Nike เป็นต้น  
เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันก็เกิดขึ้นประเทศอังกฤษ โดยบัตรกิฟท์การ์ดของบริษัท Gift Off ที่ใช้บิทคอยน์บรรจุลงไปในบัตรกิฟท์การ์ดเช่นเดียวกัน ก็นำไปชำระสินค้าได้ที่ Mark & Spencer, American Apparel, Ryan Air และ Amazon เป็นต้น
ในประเทศไทย ทุกวันนี้เราสามารถนำเงินบิทคอยน์ไปเติมเงินในบัตรเงินสดได้ เติมเงินโทรศัพท์มือถือ บัตรทางด่วน จ่ายค่าไฟฟ้า น้ำประปา ค่าโทรศัพท์ และซื้อกิฟท์การ์ดได้มากมาย เช่น iTunes, Google Play Store, Major Cineplex และอีกมากมาย  

หก “บิทคอยน์”  อีกหนึ่งการลงทุนที่...คุณต้องรู้
“บิทคอยน์ กับ แชร์แม่ชม้อย” เคยถูกนักวิชาการพากันกล่าวหาว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดการทุจริตคล้ายๆ “แชร์แม่ชม้อย” (Ponzi Scheme)  ศาสตราจารย์ทางกฎหมาย Eric Posner แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ก็เคยกล่าวหาบิทคอยน์ว่าเป็นแชร์แม่ชม้อยประเภทหนึ่ง แต่ทุกวันนี้เสียงกล่าวหาต่างๆก็ดูเหมือนจะเงียบหายไป
“บิทคอยน์...ตายแน่”  นิตยสารฟอร์บเคยบอกไว้ในเดือนมิถุนายน 2554 ว่า “คราวนี้ บิทคอยน์ต้องตายแน่”  ตามมาด้วยนิตยสาร Gizmodo ของออสเตรเลียในเดือนสิงหาคม 2554  และนิตยสาร Wired ในเดือนธันวาคม 2555 ก็กล่าวว่า “บิทคอยน์...หมดอายุแล้ว”  นอกจากนั้นยังมีอีกหลายสื่อมวลชนที่กล่าวหาบิทคอยน์ว่าไปไม่รอดแน่ ไม่ว่าจะเป็น Financial Times, USA Today และ The Telegraph เป็นต้น ปัจจุบันนี้ทุกคำกล่าวหาต่างๆก็เงียบหายไปเช่นกัน
ขณะที่เหตุการณ์ร้ายๆเริ่มผ่านไป ราคาของบิทคอยน์ก็เริ่มฉายแสงแสดงอิทธิฤทธิ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ราคาของบิทคอยน์จากระดับต่ำกว่า 400 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิทคอยน์เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา วิ่งทะลุผ่าน 900 ดอลลาร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  
คุณผู้อ่านพอจำได้ไหมครับว่า อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มแรกของบิทคอยน์เป็นเท่าไร? ที่ผมได้กล่าวถึงเมื่อวานนี้ ใช่แล้วครับ... 1,309 บิทคอยน์ต่อหนึ่งดอลลาร์ ทุกวันนี้อัตราแลกเปลี่ยนของบิทคอยน์คือ 1 บิทคอยน์แลกได้ประมาณ 900 ดอลลาร์ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนของบิทคอยน์ทุกวันนี้จึงได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,309x900 = 1,178,100 เท่า นับจากวันแรกๆที่มันเริ่มมีการแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลอื่น ซึ่งคงไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่า บิทคอยน์...เงินสกุลดิจิตอลที่ไร้สัญชาตินี้จะสามารถต่อสู้กับเงินสกุลอื่นๆบนโลกใบนี้ เพื่อยืนหยัดต่อไปได้อีกนานเท่าใด?

ทำให้นึกถึงคำพูดของ Paul Singer ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ชาวอเมริกันที่เคยพูดเกี่ยวกับบิทคอยน์ไว้ว่า “There is no more reason to believe that Bitcoin will stand the test of time than that governments will protect the value of government-created money, although Bitcoin is newer, and we always look at babies with hope.”  แปลตามความได้ว่า “ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะเชื่อได้ว่า บิทคอยน์จะสามารถยืนหยัดผ่านการทดสอบของเวลาได้นานกว่า เงินสกุลของแต่ละประเทศที่มีรัฐบาลของประเทศนั้นๆคอยปกป้องอยู่ ถึงแม้ว่าบิทคอยน์จะเป็นสิ่งใหม่ แต่เราก็จะเฝ้าคอยมองดูเด็กคนนี้ด้วยความหวัง”

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่