ผมว่าตอนจบของหนัง ฉลาดเกมส์โกง มันทำออกมาไม่ดีอะ [ตีความ/วิจารณ์]

ผมอยากจะให้ลองสังเกตที่ตอนจบกันให้ดีๆครับ
(โดยเฉพาะคนที่กำลังจะไปดูหนังเรื่องนี้)

คืองี้ตอนจบของหนังเนี่ย มันเกิดสถานการณ์บางอย่างขึ้น เป็นเรื่องของการ “#หักมุม”
(ซึ่งก็เป็นจุดเด่นของค่าย GDH อยู่แล้วที่มักจะหาจุดอะไรมาให้เล่นหักมุมในตอนท้ายเรื่องเสมอๆ และก็เดากันได้ไม่ยาก)

สถานการณ์ดังกล่าวที่ว่านี้ ได้ทำให้โลกและจักรวาลภายในหนังนั้น
ถูกตัดแบ่งให้ออกมาเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

1.) ทีมแบงค์ (พระเอก) ที่ตั้งใจจะใช้ช่องว่างของความเน่าเฟะในระบบการศึกษาไทย เป็นช่องทางในการทำมาหากิน หรือ เรียกว่าแนวๆฝ่าย Anti-Hero

2.) ทีมลิน (นางเอก) ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนไปยึดถือมุมมองโลกสวย แล้วตัดสินใจยอม comply ประนีประนอมเข้ากับระบบความเน่าเฟะ แล้วพยายาม "เปลี่ยน" มันจาก "ภายใน"

แต่สิ่งที่ขาดไป หรือ ส่วนผสมที่หายไปสำหรับการทำให้หนังเรื่องนี้จบแบบ “ทิ้งปม” อย่างสวยงาม (ในแบบฝรั่ง) ก็คือ การขาดทีมที่ 3

3.) “ทีม ???” ที่ควรจะเป็นฝ่ายที่ตั้งใจจะเดินหน้าออก "ทำลาย" หรือ ต่อสู้/ปฏิวัติ ระบบความเฟะเหล่านั้น ให้พังทลายลง “ในทางตรง” ไปเลย (แต่หนังกลับเลือกที่จะละเว้นช่องว่าง โดยเลือกจะไม่ฉายไปถึงความเป็นไปได้ของทีมนี้)

จริงๆตอนแรกแบงค์ และ ลินเองน่าจะเข้าข่ายทีมที่ 3 มากที่สุด แต่ไปๆมาๆกลับเปลี่ยนอุดมการณ์และแตกฝ่ายออกเป็นอีก 2 ฝ่าย
แล้วทิ้งให้ทีมที่ 3 ต้องกลายเป็นสุญญากาศไปอย่างน่าเสียดาย

เราจะอธิบายสถานการณ์ความเฟะของระบบการศึกษาไทยได้อย่างไร ถ้าไม่มี Character แบบ วิน ใน Hormones หรือ Character แบบลิน และ แบงค์ (ในส่วนครึ่งแรกของหนัง) ที่มีความเถรตรง มุ่งมั่น กล้าประกาศตัวจะตั้งคำถาม โต้แย้งต่อความไม่เป็นธรรมในสังคม หนังได้ทิ้งโอกาสที่จะสร้างและชุบเลี้ยงตัวละครที่มีลักษณะเป็น “นักปฏิวัติ” (revolutionary) ไปโดยปริยาย

จริงๆผมเองก็แอบไปอ่านรีวิวหนังเรื่องนี้ของ “บางคน” มา ที่ให้คะแนนหนังเรื่องนี้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และยังตีความหนังไปในทำนองว่า “นางเอก ก้มหน้า(ยอม)รับ และตัดสินร่วมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบความเน่าเฟะนั้น” จากฉากการสอบสัมภาษณ์เข้าคณะครุศาสตร์ของนางเอกในตอนท้าย

ผมมองว่าประเด็นนี้มันยังต้องตีความซ้อนนะ และอยากจะขอโต้แย้ง เพราะเอาเข้าจริงๆ ที่เรื่องราวมันออกมาเป็นแบบนั้น ไม่ได้แปลว่านางเอกตัดสินใจจะยอมทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง แล้วเข้าไปร่วมซุกหัวเป็นทาสของวงจรอุบาทว์เหล่านั้น แต่นางเอกอาจตั้งใจที่จะยึดถือมุมมองแบบโลกสวย utopianism ในการ “แก้ปัญหา”

กล่าวคือ เป็นการเลือกตัดสินใจเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบจากภายใน

ส่วนที่อาจจะมีบางคนตีความ “แบงค์” ว่า เสียคน หรือ ต้องพบกับจุดจบโดยการเสียอนาคต แล้วทำให้สูญเสียตัวตนของความเป็นคนดีไปโดยปริยาย (แบบ Darth Vader เข้าสู่ด้านมืดนั้น) อันนี้ผมอยากจะเสนอในมุมกลับ ว่า แบงค์ อาจจะไม่ได้เสียคน หรือ กลายเป็นคนเลว เพราะจุดหักเหเหล่านั้นก็ได้

เพราะว่า ในจุดนี้ เราอาจมองได้อีกอย่างว่า แบงค์ ได้มองเห็นโครงสร้างที่เน่าเฟะเหล่านั้นแล้ว และตัดสินใจที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อ “ตอบสนอง” หรือ "เสาะหาประโยชน์"กับระบบความเน่าเฟะเหล่านั้น ด้วยการเลือกไปเป็นคนเลว(ในระบบที่เลว) เพื่อสะท้อนให้สังคมเห็นถึงช่องว่างเหล่านั้นก็เป็นได้

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ มันผิดมาตั้งแต่ระบบใหญ่แล้ว ระบบใหญ่นั่นแหละที่เลว ถ้ามองในระบบคู่ตรงข้ามก็คือ แบงค์ “ทำเลว” ต่อ “ระบบที่เลว” เพื่อทำให้ระบบที่เลวนั้นมันค่อยๆพังทลายลงไปเอง และเสิร์ฟให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในภายหลัง (ซึ่งแม้ว่าอาจจะจำเป็นต้องใช้เวลาบั่นทอน กัดกร่อนอีกนาน แต่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาในอีกทางหนึ่ง) ก็คือ พยายามเข้าไปรื้อให้พังแล้วสร้างใหม่คืนทีหลังนั่นเอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่