ทำไมเฟรเดอริก มหาราชหาเงินมาจัดตั้งทหารอาชีพได้ แล้วประเทศอื่นๆ ในยุคนั้นไม่จัดบ้างรึครับ?

เห็นใน กระทู้ ซีรี่ย์ประวัติศาสตร์ ชุด ปรัสเซียผู้รวมชาติ ตอนที่ 3 [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ : เฟรเดอริกมหาราช เห็นว่าพระองค์ปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้ปรัสเซียมีเงินมากมายหลายร้อยล้านทาเลอร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ประเทศอื่นไม่อาจจ่ายให้ได้ แล้วเขาปฏิรูปยังไงถึงได้มากพอจะตั้งกองทัพทหารอาชีพได้ แต่ก็น่าแปลกที่บางศึกเขาก็แพ้นะ ทั้งๆ ที่ได้ทหารที่ได้รับการฝึกมาดี แล้วในช่วงนั้น หรือยุคไหนถึงมีการเงินมากพอที่จัดตั้งทหารอาชีพเหมือนกับเฟรเดอริกมหาราชครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ทหารอาชีพ (standing army) ในยุโรปตะวันตก เริ่มโผล่มาครั้งแรกช่วงราว ๆ สงครามร้อยปี

ฝรั่งเศสเจอปัญหาที่ว่า
สงครามมันจะมีช่วงสู้รบ กับ ช่วงสงบศึก

ในยุคนั้นระบบเศรษฐกิจยังเป็นระบบแมเนอร์ ตามสไตล์ฟิวดัลอยู่ (โดยรวมเลยยากจน)
กองทัพจึงมีขนาดไม่ใหญ่มาก สู้ก็สู้ไม่ได้นาน ต้องมีช่วงสงบศึกพักกันบ้าง
เวลาเกิดสงคราม
กษัตริย์ก็จะเรียกขุนนางให้ระดมไพร่มาสุม ๆ กัน ติดอาวุธตามยถากรรม
ส่วนขุนนางก็มีอัศวินในสังกัด ที่มีอาวุธ กับ เกราะ แล้วก็ม้าที่ดีหน่อย
ขุนนางก็พาทหารม้าอัศวิน และไพร่พล ไปรวมแก๊งค์กับกองทหารของขุนนางคนอื่น ๆ เพื่อรอทำศึกกัน
ทีนี้ก็ต้องมีทหารเพิ่มเติม นั่นก็คือ การไปจ้างทหารรับจ้างคนชาติเดียวกัน/คนต่างชาติ
(ทั้งพวกที่พึ่งกลับมาจากสงครามครูเสด ทั้งพวกที่ตั้งใจทำกันเป็นธุรกิจทหารรับจ้างแบบจริง ๆ จัง ๆ ฯลฯ)

ปัญหาคือ ทหารรับจ้าง อยู่ได้ด้วยเงิน
ตอนสงคราม ก็สู้ ๆ ไป
แล้วตอนสงบศึกชั่วคราว พวกทหารรับจ้างที่ตกค้างอยู่ในดินแดนของเรานั้น จะไปทำไรกิน?

คำตอบคือ ปล้น ฆ่า ข่มขืน คนท้องถิ่นแถว ๆ นั้นแหละ!
(แถมผลประโยชน์ส่วนตนของทหารรับจ้างคือ สู้ให้น้อยที่สุด และรับเงินให้ได้มากที่สุด ถ้านายจ้างอ่อนแอ พวกนี้จะคอยรีดไถนายจ้างอีกด้วย มาเกียเวลลีด่าระบบทหารรับจ้างนี้ไว้เยอะ)

ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป แต่ละแห่งจึงแก้ปัญหาที่ร้ายแรงแบบนี้ โดยกัดฟัน ตั้งกองทหารประจำการขึ้นมา (ยุคกลางตอนปลาย)
โดยมีการจ้างงานต่อเนื่อง ให้คนมาประกอบอาชีพทหารเพียงอาชีพเดียว
ตอนสันติ ว่าง ๆ ก็ซ้อมรบไป
ส่วนตอนสู้รบ ถ้าสู้แล้วรอดมาได้ ก็จะกลายเป็นทหารผ่านศึก ที่มีประสบการณ์และพัฒนากลยุทธ์การสู้รบใหม่ ๆ ได้ เกิดพลวัติใหม่ ๆ
แต่การทำเช่นนี้ มันมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าในยุคโบราณที่ทำ ๆ กันมา
(แต่อะไรที่มันดี มันจะถูกประเทศอื่น ๆ ทำตามกันอย่างรวดเร็ว กองทหารประจำการก็เช่นกัน ไม่นานเท่าไรนักระบบกองทัพแบบนี้ก็แพร่ไปทั่วยุโรป ที่ดัง ๆ ในเวลาต่อมาก็ของสเปน ดัชต์ สวีเดน ตามมาด้วยปรัสเซีย)

ทีนี้ มันมีผลที่ไม่ได้คาดคิดอย่างหนึ่ง ที่ตามมาจากการทำสงครามร้อยปี นั่นก็คือ "ระบบการเก็บภาษี" มันก็ถูกพัฒนาให้มีการเก็บมากขึ้นเรื่อย
ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงการทำสงครามที่ยืดเยื้อ ซึ่งในอดีตยุคก่อนสงครามร้อยปี ภายในหนึ่งปี มีการเก็บภาษีอยู่แค่ 2 ครั้ง แต่พอสงครามร้อยปีเริ่มขึ้น เงินในคลังก็เริ่มหมด แต่ละฝ่าย (อังกฤษ, ฝรั่งเศส) ต่างก็เริ่มมีการเก็บภาษีถี่ขึ้นรัว ๆ แล้วก็เริ่มทำมึน (ชาวบ้านก็มึนไปด้วย) กลายเป็นภาษีที่มีการเรียกเก็บประจำ พอทุกคนเริ่มมึน ภาษีที่นาน ๆ เรียกเก็บทีก็ได้กลายเป็นภาษีมาตรฐานที่ทุกคนต้องจ่ายกันอย่างสม่ำเสมอ แบบที่พวกเราเจอกันอยู่ในปัจจุบันนี้!
พอสงครามร้อยปีสิ้นสุดลง ฐานในการเก็บภาษีมันก็ไม่ได้หายไปไหน
และมันก็เริ่มกลายมาเป็นแหล่งทรัพยากร ในการหล่อเลี้ยงกองทัพสมัยใหม่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกพัฒนาการหนึ่งคือ พวกทหารราบ ในสถานที่ต่าง ๆ ก็เริ่มไปลอกวิธีการมาจาก พวกทหารราบที่อยู่ตามภูเขา อย่าง วิธีการของพวกสกอตแลนด์, พวกสวิสเซอร์แลนด์
นั่นก็คือ การรวมกลุ่มกันเป็นก้อน ถือหอกยาว (pike) หรือไม่ก็ใช้หอกขวาน (halberd) ที่สามารถแทง, เกี่ยว ลากทหารม้าอัศวินลงมาสับบะช่อได้
ทหารราบแบบนี้จะมีการยืนเรียงกันแบบกองทัพกรีกโบราณ เพื่อมาสู้กับทหารม้าอัศวินผู้ถือหอกยักษ์ (Lance) ที่น่าเกรงขาม ผู้ซึ่งต่อสู้ด้วยการรวมกลุ่มกับอัศวินคนอื่น ๆ แล้วพุ่งเข้าชน (charge) กองทัพฝ่ายตรงข้าม
ผลคือ กองทัพทหารราบชนะได้อย่างง่ายดาย

แถมพลธนูยาวของอังกฤษยังสามารถชนะกองทหารม้าอัศวินของฝรั่งเศสได้แบบราบคาบในสงครามร้อยปีอีกด้วย
(ทหารม้าอัศวินเริ่มหมดความน่ากลัวลงไปเรื่อย ๆ แล้ว ชนชั้นนักรบผู้มีเกียรติ กลับแพ้ ชาวบ้านธรรมดา ๆ เฉยเลย)

ต่อมา อาวุธปืนใหญ่ (สำคัญมาก) และปืน ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสงครามมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาวุธสมัยใหม่มันแพงมาก ยิงแล้ว ดินปืนก็หายไปเลย ไม่เหมือนกับหอกกับธนู ที่พอยิงออกไปแล้ว หลังสู้รบเสร็จ ฝ่ายที่ชนะก็แค่เดินออกไปตามท้องทุ่ง เก็บหอกกับลูกธนูที่ปักอยู่ตามพื้นดิน เพื่อนำกลับมารีไซเคิลได้
แต่ข้อดีคือ เวลาไปเกณฑ์ชาวบ้านมาเป็นทหาร มันใช้เวลาฝึกน้อยมาก (ต่างกับธนู และดาบ ที่กว่าจะชำนาญต้องฝึกกันนาน)

จากพัฒนาการที่เขียน ๆ มาก่อนหน้านี้
เราจะเห็นได้ว่า อัศวิน (นักรบบนหลังม้า) ตกงานก็คราวนี้แหละ;
ส่วนขุนนางเองก็ลำบากเช่นกัน
จากที่ในอดีตยุคกลางตอนต้น (ยุคมืด) ขุนนางคือยอดขุนศึก
พอเข้ายุคกลางตอนกลาง ก็พัฒนาไปเป็น ขุนนางที่สืบทอดตำแหน่งตามสายเลือด มีที่ดินจำนวนมากในครอบครอง มีอัศวินในสังกัดอยู่หลายคน มีไพร่คอยทำงานให้
แต่พอเริ่มเข้ายุคกลางตอนปลาย กษัตริย์เองก็มีรายได้จากภาษีที่มากขึ้น จ้างกองทหารประจำการได้เอง มีอาวุธปืนใหญ่ อาวุธปืนเข้ามา ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งกำลังทหารจากขุนนางอีกต่อไปแล้ว
กองทหารราบทั่ว ๆ ไปที่เกณฑ์มาจากชาวบ้าน เป็นการนำสองสิ่งมารวมกัน 1.กองทหารหอกยาวหรือหอกขวานที่เรียงกันอัดแน่นแบบกรีกโบราณ + 2.กองทหารปืนที่อำนาจทำลายสูงแต่ยิงช้า ผลลัพธ์ = คนหนึ่งถือปืนอีกคนถือหอกยาว อีกคนถือปืน แล้วเรียงกันเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ทำให้อัศวินเข้าพุ่งชนไม่ได้ แถมโดนยิงตายเอาดื้อ ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งแม้ว่าในช่วงยุคกลางตอนปลาย อัศวินจะอัพเกรดชุดเกราะ ให้มันหนาตึ้บ และมีความโค้งกว่าในยุคก่อนหน้านี้เป็นอย่างมากจนเหมือนที่เรามักจะเห็น ๆ กันในภาพยนตร์ (ที่ดูแล้วเหมือนกระดองปูเดินได้นั่นแหละ) แต่มันก็ไม่ได้ช่วยป้องกันลูกปืนได้เท่าไรนัก
แถมขุนนางยังเจอปัญหาซ้ำเติมอีก จากการที่ขาดแรงงานจากเหตุการณ์ Black Death จนเกิดกบฎชาวนาไปทั่ว
(เศรษฐกิจก็เริ่มเปลี่ยนรูปจากเศรษฐกิจที่อิงผลผลิตจากผืนดินเป็นหลัก กลายมาเป็น เศรษฐกิจแบบเงินตรา)
อำนาจต่อรองของขุนนางทั้งในแง่อำนาจ ในการต่อรองกับกษัติรย์ก็ลดลง
ส่วนอำนาจต่อรองของขุนนาง ในการต่อรองกับไพร่ก็ลดลงด้วยเช่นกัน
ทำให้ขุนนางตกที่นั่งลำบาก
ขุนนางกลุ่มที่ปรับตัวได้ก็กลายสภาพไปเป็นข้าราชสำนักที่วิ่งไปวิ่งมาอยู่ในวัง กินเงินเดือนเป็นหลัก (นึกถึงสารคดีพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีขุนนางรายล้อมอยู่ แล้วคอยวิ่งตามกษัตริย์ แนว ๆ นั้นแหละ) ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากระบบ)

อำนาจทางการเมือง จากที่เป็นระบบเจ้าพ่อท้องถิ่น ที่ขุนนางมีอำนาจเยอะมาก ส่วนกษัตริย์ไม่ค่อยมีอำนาจ ก็ค่อย ๆ กลายมาเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ ที่กษัตริย์มีอำนาจมาก
จากกองทัพสไตล์ไล่ทุ่ง ก็พัฒนากลายมาเป็นกองทัพแบบกองทหารประจำการ (ก่อนหน้านี้ยุโรปเคยมีกองทหารประจำการ ในยุคของโรมัน แล้วหลังจากที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย กองทหารประจำการในลักษณะนี้ก็หายไปอย่างยาวนานมาก)
แถมกองทหารประจำการสมัยใหม่ ก็มีประสิทธิภาพทำลายล้างดีขึ้นกว่าเดิมมาก (ส่วนกองทัพที่ยังใช้รูปแบบโบราณอยู่ก็พ่ายแพ้หมดรูปอย่างรวดเร็วมากในยุคนี้) ปรัชญาการทำสงครามก็เปลี่ยนแปลงในอัตราเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่สงครามสมัยใหม่ มันก็ต้องใช้ทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงมากกว่ากองทัพสไตล์ไล่ทุ่งแบบเดิมเป็นอย่างมาก ๆๆๆๆๆๆ
(ปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างกัน ลองสังเกตดูดี ๆ อย่างกองทัพสหรัฐ ที่มีทหารประจำการที่มีสถานะ active อยู่ จะต้องเสียค่าเงินเดือนมากขนาดไหน แล่นเรือบรรทุกเครื่องบินออกไปทำหน้าที่ หรือ ซ้อมรบที ค่าใช้จ่ายต่อวันมากขนาดไหน ค่าอาวุธสมัยใหม่ต่าง ๆ แพงมากขนาดไหน
ประสิทธิภาพสงครามที่สูงนั้น มี "ราคา" ที่ต้องจ่ายเช่นกัน)

นอกจากนี้ การต่อสู้ในสงครามสมัยใหม่ยังมีลักษณะที่เปลี่ยนไปก็คือ มันก็มีลักษณะที่ยืดเยื้อขึ้นเรื่อย ๆ ลากกันไปยาว ๆ เป็นหลักหลาย ๆ ปี ที่กินทรัพยากรของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างมาก
(ต่างกับสมัยก่อนในยุคกลางตอนต้น, ยุคกลางตอนกลาง ที่สู้กันได้ไม่นาน ต่างฝ่ายต่างก็กรอบแล้ว ซึ่งกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในยุคกลางตอนกลางคือ การเข้าไปหลบในปราสาทแล้วนอนเกาพุง เรียกให้กำลังเสริมจากปราสาทอื่นมาช่วย จากนั้น รอให้ศัตรูทรัพยากรหมดไปเอง
ถ้าศัตรูดื้อดึง ไม่ยอมไปเสียที พอกองกำลังเสริมมาแล้ว เราก็จัดการศัตรูแบบประกบแซนวิช (เราจึงเห็นได้ว่า ทั่วยุโรปจึงมีปราสาททรงสูงเต็มไปหมด)
-----

ถ้ามองแบบเสรีนิยม (อดัม สมิธ)
สงครามสมัยใหม่ มันเลยวัดกันที่พลังเศรษฐกิจแบบตลาด ที่มีการแข่งขันเป็นตัวขับเคลื่อน
ประเทศไหนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ๆ (ความมั่งคั่งขยายตัวได้ด้วยแรงกาย แรงสมองของมนุษย์ ผสมเข้าไปกับทรัพยากรธรรมชาติ) ปั๊มคน ปั๊มสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อนำไปแลกกับอาวุธ ปัจจัยในการทำสงคราม และอาหารได้เยอะกว่า
ประเทศนั้นก็มีแนวโน้มที่จะชนะสงครามยืดเยื้อได้มากกว่า
ใครสู้ ๆ ไป ทรัพยากรหมด ก็จอดกลางทางเลย

(ส่วนระบบเศรษฐกิจการเมืองที่พระเจ้าเฟรเดอริกฯ ใช้อยู่ ก็ใช้แนวคิดยอดนิยมในยุคนั้น นั่นคือ พาณิชย์นิยม (Mercantilism) (ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจแบบพาณิชย์นิยม กับ แนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมแบบอดัม สมิธ) (สิ่งที่ตลกร้ายเกี่ยวกับแนวคิดแบบพาณิชย์นิยม มันมักจะขัดแข้งขัดขากันไปกันมาระหว่างหลายประเทศ จนเหนี่ยวนำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศขึ้นมาถี่มาก)
แนวคิดแบบพาณิชย์นิยม มองว่า ความมั่งคั่งอยู่ในตัวโลหะมีค่า (ความมั่งคั่งในโลกมีอยู่อย่างจำกัด ขยายตัวไม่ได้ ต้องคอยแย่งกัน) ดังนั้น เราต้องกักขังเงินตราให้อยู่ในประเทศด้วยดุลการค้า ส่งออกเยอะ ๆ นำเข้าน้อย ๆ เตะขัดขาประเทศอริ รัฐแอบให้ท้าย ให้การอุดหนุนแก่บางธุรกิจที่ตนเองชอบ
จากนั้น นำโลหะมีค่า ไปจ่ายเป็นค่าจ้างทหาร ไปซื้ออาวุธ

ถ้าเทียบตามมาตรฐานในยุคนั้นแล้ว พระองค์ถือว่าหารายได้เก่ง และใช้จ่ายประหยัดมาก มีเงินในคลังเยอะมาก ถ้าเทียบกับกษัตริย์ประเทศอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน (ถือเป็นกรณีที่แปลกประหลาดกว่าเพื่อน)
ขนาดพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ยังกรอบ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใช้เงินเก่งมาก และทำสงครามบ่อย เลยมีก้อนหนี้ก้อนโตไว้เป็นมรดก) ถึงขั้นที่ต้องนำเครื่องเงินที่มีอยู่ในวัง ไปหลอมเพื่อทำเป็นเหรียญกษาปณ์เลย

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ จุดเด่นของกองทัพปรัสเซียในยุคนั้น ที่มีระเบียบวินัยของทหารราบที่เข้มงวด การลงโทษทหารแบบเป๊ะ ๆ (น้อยชายแท้ ๆ ของพระเจ้าเฟรเดอริกทำผิด ยังโดนลงโทษเลย) และระบบสายบังคับบัญชาที่มีการเคารพตามลำดับยศอย่างเคร่งครัด (แบบที่เราเห็น ๆ กันอยู่ในปัจจุบัน)
มีการปรับปรุงปรัชญาการทำสงครามหลายจุด (แต่ตรงนี้เราขอข้าม เพราะมันมีรายละเอียดเยอะ) ที่ทำให้กองทัพปรัสเซียมีชื่อเสียงในเรื่องของความแข็งแกร่งมาก)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่