อภิสิทธิ์ ชี้ กม.คุมสื่อทำสถานการณ์แย่ลง ไร้ความเชื่อใจ ขัดแย้งเพิ่มขึ้น...?

วันที่: 4 พ.ค. 60 เวลา: 13:56 น.

“อภิสิทธิ์” แนะ รัฐ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ปฏิเสธ กม.สื่อฯ ชี้ หากปล่อยผ่าน สังคม-สื่อฯ ไร้ความไว้วางใจ ทำสถานการณ์ความขัดแย้งแย่ลง

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ว่า ช่วงสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำกฎหมายเพื่อจะมาคุ้มครองวิชาชีพสื่อ โดยใช้หลักการการตรวจสอบสื่อจะต้องเกิดขึ้นโดยสื่อด้วยกันเอง และสังคม เพราะฉะนั้นกลไกที่เราใช้นั้นก็คือต้องไปเติมเขี้ยวเล็บ หรือว่ามีกฎหมายที่มารองรับการทำงานขององค์กรสื่อในการที่จะจัดการกันเอง เนื่องจากในปัจจุบันแม้จะมีองค์กรสื่อที่รวมตัวกันมากมาย แต่ความสามารถในการที่จะไปจัดการกับปัญหาของสื่อด้วยกันเองนั้นมีจำกัด เนื่องจากอาจจะไม่สามารถที่จะไปทำให้เกิดสภาพบังคับอะไรกันได้ แต่การปฏิรูปสื่อทุกฝ่ายในสังคมก็เห็นด้วย รวมทั้งสื่อด้วยกันเอง เพื่อที่จะทำให้สื่อนั้นสามารถที่จะส่งเสริมสื่อที่ดี มีคุณภาพ มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ แล้วก็ลดปัญหาที่อาจจะเกิดจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่เที่ยงตรง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าหลักการที่ถูกต้องก็คือต้องอาศัยสื่อกำกับดูแลกันเอง กับการใช้กลไกอื่นๆ ของสังคม สิ่งที่พึงระวังมากที่สุดก็คือการเอาอำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือเอารัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะรัฐคือผู้ที่สื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบมากที่สุด ไม่มีประเด็นเหตุผลอะไรที่จะต้องมีตัวแทนของรัฐอยู่ในสัดส่วนสภาวิชาชีพ และไม่ควรมาต่อรองระยะเวลาว่าจะอยู่ 5-6 ปี การที่รัฐเข้าไปแทรกแซง ครอบงำสื่อ โดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการมีกรรมการและมีตัวแทนจากรัฐเข้าไป รัฐคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ดีขึ้น หรือแย่ลง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะไม่มีความไว้วางใจในการเดินหน้าในกฎหมายฉบับนี้ต่อไป เพราะเหมือนกับว่าเริ่มต้นเรามาพูดกันถึงเรื่องการคุ้มครองวิชาชีพสื่อ ช่วยส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อ แต่โครงสร้างของกฎหมาย หลักคิดของคนที่ทำกฎหมายนี้ สะท้อนออกมาจากร่างฯ แรกๆ นี้มันคือการควบคุมอย่างปฏิเสธไม่ได้

“ความจริงผมฟังดู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่ได้แสดงท่าทีเห็นด้วยกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และพร้อมที่รับฟังสื่อ แต่ผมว่าอย่าไปรอให้มันมีร่างกฎหมายที่ออกมาแล้วมีปัญหาเลย เพราะเป็นการทำให้บรรยากาศของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันนั้นแย่ลง คือทำให้สถานการณ์มันแย่ลง ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะในที่สุดแล้วรัฐบาลจะต้องเป็นการเสนอ ผมสันนิษฐานว่ารัฐบาลจะต้องเป็นคนที่เสนอกฎหมายนี้เป็นหลักเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือจะเรียกว่าแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งผมนั้นเชื่อว่าไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ผมว่าตัดไฟเสียเลย รัฐบาลพูดให้ชัดเลยว่า อย่าเสนอมา ถ้าเป็นแบบนี้จะดีที่สุด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ที่มาข่าว
http://www.matichon.co.th/news/549820

เหตุเกิดเมื่อถั่วสุกไปแล้วงาไหม้ตาม สงสัยต้องให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุลและบรรดาคนวงการสื่อช่วยขยายความอีกทีว่าจะเอายังไง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่