3 สิงหาคม 2548 18:04 น.
เมื่อครั้งที่นิยายเรื่อง “อยู่กับก๋ง” ของ หยก บูรพา (นามแฝง) กำลังดังเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนนั้น ผมไม่ได้อ่าน และพอมีการนำมาสร้างเป็นหนังผมก็ไม่ได้ดู จนในปีนี้ (2548) ก็ได้มีการนำนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ให้ได้ดูกัน ผมจึงได้มีโอกาสสัมผัสนิยายเรื่องนี้ในรูปแบบที่ว่า
แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ผมก็ไม่ได้ติดตามทุกตอน จึงไม่รู้ว่า ละครที่นำมาสร้างกันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากนิยายมากน้อยแค่ไหน? ฉะนั้น ที่ผมจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้จะกล่าวเฉพาะที่ได้ดูจากในละครโทรทัศน์เท่านั้น
เรื่อง “อยู่กับก๋ง” นี้มีตัวละครหลักอยู่ 2 ตัว คือตัวของก๋งคนหนึ่ง และตัวของ หยก ซึ่งเป็นหลานอีกคนหนึ่ง ตัวละครทั้งสองนี้จะถูกแวดล้อมด้วยตัวละครอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากหน้าหลายตา โดยทั้งก๋ง หยก และตัวละครเหล่านี้ต่างล้วนเป็นสมาชิกของชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แน่นอน ซึ่งก็คือ ชุมชนในเมืองไทยเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน
จากการวางบทเช่นนั้น เราจึงได้พบเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของก๋งและ หยก เรื่องแล้วเรื่องเล่าด้วยแง่มุมที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละเรื่องก็ได้ให้ข้อคิดที่ต่างกันไปด้วย ที่ผมสนใจก็คือ ในบรรดาข้อคิดที่ว่านั้นต่างได้วนเวียนรวมศูนย์อยู่ในประเด็นหนึ่ง ซึ่งจะว่าเป็นหัวใจของเรื่องก็คงไม่ผิดนัก
นั่นคือ ประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและจีนที่แตกต่างกัน แต่ต้องมาอยู่ร่วมกันในชุมชนเดียวกัน และเมื่อเรื่องราวต่างๆ ได้เกิดขึ้น ศูนย์รวมจากประเด็นที่ว่าก็จะถูกสรุปโดยก๋ง ซึ่งในความคิดของก๋งแล้ว คิดว่า แม้คนไทยกับคนจีนจะมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่ก๋งก็เห็นว่า ความต่างนั้นไม่ควรจะเป็นอุปสรรคในการที่จะอยู่ร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ ก๋งจึงมีความใจกว้างที่จะเข้าใจวัฒนธรรมไทย และมีความคิดและความรู้สึกที่ดีต่อคนไทย ถึงแม้บางครั้งจะต้องพบเจอกับเรื่องราวที่ตนรู้สึกไม่เป็นธรรมอยู่บ้างก็ตาม ที่สำคัญก็คือว่า ก๋งไม่เคยคิดที่จะกลับเมืองจีน ซ้ำยังมีความคิดที่อยากจะแปลงสัญชาติมาเป็นไทย แทนที่จะถือ “ใบต่างด้าว” ที่ไม่ได้บ่งบอกความเป็นไทยอันใด ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ก๋งจะตั้งใจปักหลักอยู่ในเมืองไทยไปจนตาย
ผมออกจะรู้สึกประหลาดใจกับความคิดของก๋งอยู่ไม่น้อย เพราะจากประสบการณ์ก็ดี หรือจากการศึกษาค้นคว้าก็ดี ผมกลับพบเห็นคนจีนที่คิดอย่างก๋งน้อยมาก
จะว่าไปแล้ว คนจีนมีความระมัดระวังต่อวัฒนธรรมไทยอยู่ไม่น้อย นั่นคือ รู้ทั้งรู้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ต่างไปจากตน แต่ก็ไม่นำตนเข้าไป “ร่วม” กับวัฒนธรรมไทยอย่างเต็มตัว และพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมเดิมของตัวเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ด้วยท่าทีต่อวัฒนธรรมไทยและการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมจีนดังกล่าว คนจีนจึงมีโลกที่เป็นของตนเอง และโลกใบนั้นก็ไม่มีวี่แววที่จะทำให้คนจีนเข้าใจในวัฒนธรรมไทยภายในเวลาอันรวดเร็ว
ฉะนั้น คนที่จะเข้าใจวัฒนธรรมไทยและคนไทยได้ดีอย่างก๋งแล้ว จึงต้องเป็นคนจีนที่อยู่ในเมืองไทยมานานนับสิบปี และเมืองไทยที่ตนอยู่นี้จะต้องเป็น “เมืองไทย” ที่มีคนไทยอยู่ร่วมชุมชนเดียวกันด้วย ไม่ใช่อยู่กันเฉพาะกลุ่มเฉพาะย่าน ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
ประเด็นหลังนี้เคยพบว่า คนจีนที่อยู่ตามชนบทที่ห่างไกลและมีอาชีพเป็นชาวสวนชาวไร่นั้น จำนวนมากพูดไทยแทบไม่ได้ หรือพูดได้แต่ก็ไม่ชัด ที่ว่ามานี้รวมทั้งเด็กๆ ซึ่งด้วยวัยแล้วควรที่จะพูดไทยได้ดีกว่าพ่อแม่ของตัว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น สาเหตุทั้งหมดก็มาจากการที่คนจีนเหล่านี้อยู่กระจุกตัวแต่กลุ่มคนจีนด้วยกันนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่แปลกใจที่คนอย่างก๋งจะคิดเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเมื่อลองคิดดูจากเหตุการณ์ในเรื่องซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน แล้วนำมาเทียบกับอายุของก๋งในขณะนั้นแล้ว แสดงว่าก๋งต้องอยู่ในเมืองไทยมาไม่น้อยกว่า 30-40 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่า ก๋งอาจจะเข้ามาอยู่ในเมืองไทยก่อนการปฏิวัติสยาม 2475 หรือไม่ก็ก่อนที่รัฐไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีนโยบายที่ตั้งข้อรังเกียจคนจีน (และความเป็นไทย) ดังที่เรารู้ๆ กันอยู่
ในทางตรงข้าม คนจีนที่เข้ามาไทยระหว่างนั้นหรือหลังจากนั้นก็ย่อมไม่พอใจ “ความเป็นไทย” ในแบบฉบับของ จอมพล ป. ไปด้วยเป็นธรรมดา และความไม่พอใจนี้เองที่ถูกขยายไปสู่ความไม่พอใจอะไรอีกหลายๆ อย่างในขณะนั้น ซึ่งอาจจะรวมทั้งคนไทยไปด้วยสำหรับคนจีนบางคน
นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว คนจีนอย่างก๋งยังหาได้น้อยในอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ความตั้งใจที่จะปักหลักอยู่ในเมืองไทยไปจนตาย โดยไม่ยอมกลับไปเมืองจีน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมหมายถึงเจตนาของคนจีนที่เข้ามาเมืองไทยในขณะนั้น ซึ่งแทบทั้งหมดก็ว่าได้ที่เข้ามาเพื่อทำมาหากินแล้วเก็บหอมรอมริบ จากนั้นก็กลับเมืองจีนเพื่อไปตายที่เมืองจีนบ้านเกิดของตน แต่เจตนาก็คือเจตนา ไม่เกี่ยวกับความเป็นจริงที่คนจีนต้องเผชิญในอีกด้านหนึ่ง
ความจริงที่ว่านี้มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น มาเมืองไทยแล้วยังเก็บเงินได้ไม่มากพอที่จะกลับไปเมืองจีน หรือมาแล้วเกิดต้องมาตายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแบบไม่คาดคิดมาก่อน เป็นต้น
แต่ความจริงแบบนี้ยังไม่รุนแรงเท่ากับความจริงทางด้านการเมืองในเมืองจีน ซึ่งนับแต่ที่จีนปฏิวัติสาธารณรัฐในปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) เป็นต้นมา แผ่นดินจีนก็เต็มไปด้วยความยุ่งยากวุ่นวายเรื่อยมาอีกกว่า 30 ปี เจตนาที่จะกลับไปเมืองจีนจึงมีแรงจูงใจน้อยลง แต่กระนั้นก็ยังไม่เปลี่ยน
ผมเข้าใจว่า เจตนาดังกล่าวของคนจีนถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงก็ต่อเมื่อจีนเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) ไปแล้ว แต่กระนั้นก็ยังกล่าวได้ว่า เจตนาที่ว่าก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ดี เพียงแต่มันริบหรี่ลงเรื่อยๆ จนไม่เห็นความหวังอันใดอีก
ถึงตอนนั้น ต่อให้คนจีนไม่คิดที่จะตายในเมืองไทยก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว และตอนนี้เองที่คนจีนถึงได้คิดอย่างก๋งขึ้นมา คือปักหลักอยู่ในเมืองไทยและตายในเมืองไทย
ที่ผมว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน และว่ากันตามท้องเรื่อง “อยู่กับก๋ง” ที่ผมเห็นว่าเป็นกรณีพิเศษที่จะมีคนจีนคิดหรือเข้าใจอย่างก๋ง ซึ่งออกจะสวนทางกับความเป็นจริงของคนจีนหมู่มากในขณะนั้น แต่ถ้าว่ากันจนถึงขณะนี้ที่เหตุการณ์บ้านเมืองทั้งจีนและไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้วนี้ คนจีนรุ่นปัจจุบันได้กลายเป็นอย่างก๋งและคิดอย่างก๋งไปหมดแล้ว
แต่ถ้าถามว่า ที่จะคิดอย่างเดิม (คือต่างกับก๋ง) ยังมีอยู่อีกไหม? ตอบว่า ก็ยังมีอยู่และมีอยู่เฉพาะคนจีนรุ่นเก่าที่มีอายุอานามสักหกสิบปีขึ้นไป แต่ถึงมีอยู่ ก็มีแบบไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป นั่นคือ กับเมืองจีนนั้นยังคงรักและผูกพัน เพราะยังไงเสียก็เป็นบ้านเกิดแท้ๆ ของตน ที่จะให้ตัดขาดจนไม่เหลือเยื่อใยนั้น ก็ไม่อยู่ในวิสัยของคนจีนที่ถูกสอนให้มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน
แต่ถ้าให้กลับไปอยู่และไปตายที่เมืองจีนแล้วละก็ เห็นว่าไม่มีใครคิดเช่นนั้นอีกแล้ว
ขอบคุณที่มาบทความ
“ก๋ง” ในประสบการณ์ เผยแพร่ 3 สิงหาคม 2548 18:04 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000104123
ถึงตอนนี้พวกคน"เชื้อสาย"จีนนี่เค้ายังอยากกลับไปอยู่ที่จีนไหมครับเห็นว่าที่โน่นก็มีการพัฒนาที่มากขึ้นแล้วบางอย่างก็เจริญมากกว่าไทยอีก บทความนี้ก็ตีพิมพ์มาได้ราวๆ 11 ปีกว่าๆแล้วบางทีความคิดหลายๆคนอาจจะเปลี่ยนก็เป็นได้นะครับ
“ก๋ง” ในประสบการณ์ โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เมื่อครั้งที่นิยายเรื่อง “อยู่กับก๋ง” ของ หยก บูรพา (นามแฝง) กำลังดังเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนนั้น ผมไม่ได้อ่าน และพอมีการนำมาสร้างเป็นหนังผมก็ไม่ได้ดู จนในปีนี้ (2548) ก็ได้มีการนำนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ให้ได้ดูกัน ผมจึงได้มีโอกาสสัมผัสนิยายเรื่องนี้ในรูปแบบที่ว่า
แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ผมก็ไม่ได้ติดตามทุกตอน จึงไม่รู้ว่า ละครที่นำมาสร้างกันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากนิยายมากน้อยแค่ไหน? ฉะนั้น ที่ผมจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้จะกล่าวเฉพาะที่ได้ดูจากในละครโทรทัศน์เท่านั้น
เรื่อง “อยู่กับก๋ง” นี้มีตัวละครหลักอยู่ 2 ตัว คือตัวของก๋งคนหนึ่ง และตัวของ หยก ซึ่งเป็นหลานอีกคนหนึ่ง ตัวละครทั้งสองนี้จะถูกแวดล้อมด้วยตัวละครอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากหน้าหลายตา โดยทั้งก๋ง หยก และตัวละครเหล่านี้ต่างล้วนเป็นสมาชิกของชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แน่นอน ซึ่งก็คือ ชุมชนในเมืองไทยเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน
จากการวางบทเช่นนั้น เราจึงได้พบเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของก๋งและ หยก เรื่องแล้วเรื่องเล่าด้วยแง่มุมที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละเรื่องก็ได้ให้ข้อคิดที่ต่างกันไปด้วย ที่ผมสนใจก็คือ ในบรรดาข้อคิดที่ว่านั้นต่างได้วนเวียนรวมศูนย์อยู่ในประเด็นหนึ่ง ซึ่งจะว่าเป็นหัวใจของเรื่องก็คงไม่ผิดนัก
นั่นคือ ประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและจีนที่แตกต่างกัน แต่ต้องมาอยู่ร่วมกันในชุมชนเดียวกัน และเมื่อเรื่องราวต่างๆ ได้เกิดขึ้น ศูนย์รวมจากประเด็นที่ว่าก็จะถูกสรุปโดยก๋ง ซึ่งในความคิดของก๋งแล้ว คิดว่า แม้คนไทยกับคนจีนจะมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่ก๋งก็เห็นว่า ความต่างนั้นไม่ควรจะเป็นอุปสรรคในการที่จะอยู่ร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ ก๋งจึงมีความใจกว้างที่จะเข้าใจวัฒนธรรมไทย และมีความคิดและความรู้สึกที่ดีต่อคนไทย ถึงแม้บางครั้งจะต้องพบเจอกับเรื่องราวที่ตนรู้สึกไม่เป็นธรรมอยู่บ้างก็ตาม ที่สำคัญก็คือว่า ก๋งไม่เคยคิดที่จะกลับเมืองจีน ซ้ำยังมีความคิดที่อยากจะแปลงสัญชาติมาเป็นไทย แทนที่จะถือ “ใบต่างด้าว” ที่ไม่ได้บ่งบอกความเป็นไทยอันใด ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ก๋งจะตั้งใจปักหลักอยู่ในเมืองไทยไปจนตาย
ผมออกจะรู้สึกประหลาดใจกับความคิดของก๋งอยู่ไม่น้อย เพราะจากประสบการณ์ก็ดี หรือจากการศึกษาค้นคว้าก็ดี ผมกลับพบเห็นคนจีนที่คิดอย่างก๋งน้อยมาก
จะว่าไปแล้ว คนจีนมีความระมัดระวังต่อวัฒนธรรมไทยอยู่ไม่น้อย นั่นคือ รู้ทั้งรู้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ต่างไปจากตน แต่ก็ไม่นำตนเข้าไป “ร่วม” กับวัฒนธรรมไทยอย่างเต็มตัว และพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมเดิมของตัวเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ด้วยท่าทีต่อวัฒนธรรมไทยและการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมจีนดังกล่าว คนจีนจึงมีโลกที่เป็นของตนเอง และโลกใบนั้นก็ไม่มีวี่แววที่จะทำให้คนจีนเข้าใจในวัฒนธรรมไทยภายในเวลาอันรวดเร็ว
ฉะนั้น คนที่จะเข้าใจวัฒนธรรมไทยและคนไทยได้ดีอย่างก๋งแล้ว จึงต้องเป็นคนจีนที่อยู่ในเมืองไทยมานานนับสิบปี และเมืองไทยที่ตนอยู่นี้จะต้องเป็น “เมืองไทย” ที่มีคนไทยอยู่ร่วมชุมชนเดียวกันด้วย ไม่ใช่อยู่กันเฉพาะกลุ่มเฉพาะย่าน ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
ประเด็นหลังนี้เคยพบว่า คนจีนที่อยู่ตามชนบทที่ห่างไกลและมีอาชีพเป็นชาวสวนชาวไร่นั้น จำนวนมากพูดไทยแทบไม่ได้ หรือพูดได้แต่ก็ไม่ชัด ที่ว่ามานี้รวมทั้งเด็กๆ ซึ่งด้วยวัยแล้วควรที่จะพูดไทยได้ดีกว่าพ่อแม่ของตัว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น สาเหตุทั้งหมดก็มาจากการที่คนจีนเหล่านี้อยู่กระจุกตัวแต่กลุ่มคนจีนด้วยกันนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่แปลกใจที่คนอย่างก๋งจะคิดเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเมื่อลองคิดดูจากเหตุการณ์ในเรื่องซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน แล้วนำมาเทียบกับอายุของก๋งในขณะนั้นแล้ว แสดงว่าก๋งต้องอยู่ในเมืองไทยมาไม่น้อยกว่า 30-40 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่า ก๋งอาจจะเข้ามาอยู่ในเมืองไทยก่อนการปฏิวัติสยาม 2475 หรือไม่ก็ก่อนที่รัฐไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีนโยบายที่ตั้งข้อรังเกียจคนจีน (และความเป็นไทย) ดังที่เรารู้ๆ กันอยู่
ในทางตรงข้าม คนจีนที่เข้ามาไทยระหว่างนั้นหรือหลังจากนั้นก็ย่อมไม่พอใจ “ความเป็นไทย” ในแบบฉบับของ จอมพล ป. ไปด้วยเป็นธรรมดา และความไม่พอใจนี้เองที่ถูกขยายไปสู่ความไม่พอใจอะไรอีกหลายๆ อย่างในขณะนั้น ซึ่งอาจจะรวมทั้งคนไทยไปด้วยสำหรับคนจีนบางคน
นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว คนจีนอย่างก๋งยังหาได้น้อยในอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ความตั้งใจที่จะปักหลักอยู่ในเมืองไทยไปจนตาย โดยไม่ยอมกลับไปเมืองจีน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมหมายถึงเจตนาของคนจีนที่เข้ามาเมืองไทยในขณะนั้น ซึ่งแทบทั้งหมดก็ว่าได้ที่เข้ามาเพื่อทำมาหากินแล้วเก็บหอมรอมริบ จากนั้นก็กลับเมืองจีนเพื่อไปตายที่เมืองจีนบ้านเกิดของตน แต่เจตนาก็คือเจตนา ไม่เกี่ยวกับความเป็นจริงที่คนจีนต้องเผชิญในอีกด้านหนึ่ง
ความจริงที่ว่านี้มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น มาเมืองไทยแล้วยังเก็บเงินได้ไม่มากพอที่จะกลับไปเมืองจีน หรือมาแล้วเกิดต้องมาตายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแบบไม่คาดคิดมาก่อน เป็นต้น
แต่ความจริงแบบนี้ยังไม่รุนแรงเท่ากับความจริงทางด้านการเมืองในเมืองจีน ซึ่งนับแต่ที่จีนปฏิวัติสาธารณรัฐในปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) เป็นต้นมา แผ่นดินจีนก็เต็มไปด้วยความยุ่งยากวุ่นวายเรื่อยมาอีกกว่า 30 ปี เจตนาที่จะกลับไปเมืองจีนจึงมีแรงจูงใจน้อยลง แต่กระนั้นก็ยังไม่เปลี่ยน
ผมเข้าใจว่า เจตนาดังกล่าวของคนจีนถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงก็ต่อเมื่อจีนเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) ไปแล้ว แต่กระนั้นก็ยังกล่าวได้ว่า เจตนาที่ว่าก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ดี เพียงแต่มันริบหรี่ลงเรื่อยๆ จนไม่เห็นความหวังอันใดอีก
ถึงตอนนั้น ต่อให้คนจีนไม่คิดที่จะตายในเมืองไทยก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว และตอนนี้เองที่คนจีนถึงได้คิดอย่างก๋งขึ้นมา คือปักหลักอยู่ในเมืองไทยและตายในเมืองไทย
ที่ผมว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน และว่ากันตามท้องเรื่อง “อยู่กับก๋ง” ที่ผมเห็นว่าเป็นกรณีพิเศษที่จะมีคนจีนคิดหรือเข้าใจอย่างก๋ง ซึ่งออกจะสวนทางกับความเป็นจริงของคนจีนหมู่มากในขณะนั้น แต่ถ้าว่ากันจนถึงขณะนี้ที่เหตุการณ์บ้านเมืองทั้งจีนและไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้วนี้ คนจีนรุ่นปัจจุบันได้กลายเป็นอย่างก๋งและคิดอย่างก๋งไปหมดแล้ว
แต่ถ้าถามว่า ที่จะคิดอย่างเดิม (คือต่างกับก๋ง) ยังมีอยู่อีกไหม? ตอบว่า ก็ยังมีอยู่และมีอยู่เฉพาะคนจีนรุ่นเก่าที่มีอายุอานามสักหกสิบปีขึ้นไป แต่ถึงมีอยู่ ก็มีแบบไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป นั่นคือ กับเมืองจีนนั้นยังคงรักและผูกพัน เพราะยังไงเสียก็เป็นบ้านเกิดแท้ๆ ของตน ที่จะให้ตัดขาดจนไม่เหลือเยื่อใยนั้น ก็ไม่อยู่ในวิสัยของคนจีนที่ถูกสอนให้มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน
แต่ถ้าให้กลับไปอยู่และไปตายที่เมืองจีนแล้วละก็ เห็นว่าไม่มีใครคิดเช่นนั้นอีกแล้ว
ขอบคุณที่มาบทความ
“ก๋ง” ในประสบการณ์ เผยแพร่ 3 สิงหาคม 2548 18:04 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000104123
ถึงตอนนี้พวกคน"เชื้อสาย"จีนนี่เค้ายังอยากกลับไปอยู่ที่จีนไหมครับเห็นว่าที่โน่นก็มีการพัฒนาที่มากขึ้นแล้วบางอย่างก็เจริญมากกว่าไทยอีก บทความนี้ก็ตีพิมพ์มาได้ราวๆ 11 ปีกว่าๆแล้วบางทีความคิดหลายๆคนอาจจะเปลี่ยนก็เป็นได้นะครับ