[SR] ตัวเล็กหมัดหนัก Laowa 12 mm. กับทริปถ่ายภาพที่สิงค์โปร์

สวัสดีครับ สมาชิกห้องกล้อง ppantip.com ทุกๆ ท่าน วันนี้ขออนุญาตเขียน Review แนะนำเลนส์ถ่ายภาพ Laowa 12 mm. ซึ่งมีโอกาสทดลองใช้งานมาในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาครับ _/\_ โดยในคราวนี้ มีโอกาสไปออกทริปที่สิงค์โปร์ และเก็บภาพมาฝากเล็กน้อย ซึ่งมีรายละเอียด ภาพประกอบ และเทคนิคการถ่ายภาพ ดังนี้ครับผม

...

สิงค์โปร์ อีกหนึ่งเมืองในฝันของเหล่า Cityscape ที่เคยเห็นภาพมากมายจากเพื่อนๆ มานาน จนเมื่อกลางเดือนมีนาที่ผ่านมา มีโอกาสแวะไปเที่ยวถ่ายภาพ นอกจากกล้องและเลนส์ของ Nikon ที่จัดเต็มเตรียมไปเก็บภาพแล้ว ยังรู้สึกว่าขาดเลนส์ช่วง Ultra-wide และมีเลนส์ในใจตัวหนึ่งที่เล็งมานาน และเห็นกิตติศัพท์เล่าลือถึงความเจ๋งของมัน Laowa 12 mm. f/2.8 ของค่าย Venus Optics ที่เคลมว่าเป็นเลนส์มุม(โครต)กว้างไร้ความบิดเบี้ยว (Zero Distortion หรือ Zero-D) โดยภาพที่ได้จะมีความบิดเบี้ยวคิดเป็น 0.2% เท่านั้น ในขณะที่เลนส์ถ่ายภาพตัวอื่นในระยะใกล้เคียงกันจะมีความบิดเบี้ยวของภาพประมาณ 2-5%  และภาพที่ปล่อยออกมาตามสื่อต่างๆ มันเยี่ยมจนคิดในใจ ราคาคุยหรือเปล่า? ยี่ห้อก็ไม่คุ้น ดีจริงหรือ? สบโอกาสก็ติดต่อ Laowa Thailand ขอยืมเลนส์ตัวนี้ไปทดสอบให้หายข้องใจ ... ตั๋วพร้อม กล้องและอุปกรณ์พร้อม ปะ ไปลุยกัน ... สิงค์โปร์

ภาพที่ 1: เล็ก สมาร์ท ใจกว้าง Laowa 12 mm. บน Nikon D810

วางทริปถ่ายภาพสิงค์โปร์
มีเวลาแค่ 5 วัน 4 คืน กับสถานที่ที่ไม่เคยไป แถมไม่มีเวลาเตรียมตัวอะไรเลย และที่ได้ยินมาว่าเดินเล่นชิลๆ 2-3 วันก็ทั่วหล่ะ ก็เลยไม่คิดมาก ตั้งใจหยิบแผนที่ในโรงแรมแล้วเดินลุย คิดแผนว่าเช้าสำรวจ รุ่งเช้า เย็นย่ำค่อยยิงภาพ มีเป้าหมายในใจไม่กี่ที่และปักหมุดในใจไว้ว่าต้องไปให้ได้ ลองไล่ๆ ส่วนมากเป็นจุดชมวิวรอบอ่าว Marina ทั้งนั้น เช่น สิงโตพ่นน้ำ (Merlion Park), ตึกทุเรียน (Esplanade theatres), ชิงช้าสวรรค์ (Singapore Flyer), สะพานเชื่อม Helix, อาคารดอกบัว (ArtScience Museum), ตึกเรือ (Marina Bay Sands) และโคตรต้นไม้ (Super Tree - Gardens by the Bay)  ส่วนจุดสำคัญอื่นๆ ที่ไกลออกไปสักหน่อย แต่ควรค่าแก่การแวะถ่ายภาพ ก็มีวัดพระเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic), สวน (Marina Barrage - คนนิยมนำว่าวหลากชนิดมาเล่นที่สวนด้านบนของตึกนี้) และน้ำพุแห่งโชคลาภ (Fountain of Wealth) ที่ตึก Suntec   ชื่อไทยที่พิมพ์มานี่ไม่ใช่ชื่อทางการนะ เอาแค่ให้เข้าใจตรงกัน 😀 หากเดินวนไปวนมาประกอบกับนั่งรถไฟ หรือแท๊กซี่ วันนึงน่าจะต้องเดินประมาณวันละ 8-12 กม. แล้วแต่ความขยัน  เหมือนไกลนะ แต่ด้วยวิวที่สวยมากๆ โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู และช่วงค่ำที่ตึกเริ่มเปิดไฟ ก็ถ่ายภาพกันเพลิน ลืมเหนื่อยไปเลยครับ ... หลังจากจบทริป ตอนแรกที่คิดว่าเวลาเหลือเฟือ แต่เอาเข้าจริง ไม่พอครับพี่น้อง ... พลาดไปหลายแห่ง ทั้งเก็บแสงไม่ทัน ยิงมาไม่ดี ฟ้าเน่า คนเยอะ ... สรุปคงต้องหาเวลาช่วงปลายปีมาเก็บภาพอีกรอบ สองรอบ ถึงได้ภาพดีๆ ตามที่ตั้งใจไว้

ความประทับใจ แรกแกะกล่อง Laowa 12 mm.
ทางบริษัทฯ ส่งเลนส์ตัวใหม่มาให้ทดสอบ เห็นรูปแบบกล่องก็นึกถึงกล่องโทรศัพท์ iPhone ที่เรียบหรูดูดี ซึ่งเมื่อแกะเข้าไปดูเลนส์ภายในก็พบว่า โดยรวมออกแบบบรรจุภัณฑ์มาได้น่าสนใจ ภายในบรรจุเลนส์ขนาดเล็ก กระทัดรัดสีดำ ดูภายนอกเหมือนเบาแต่พอหยิบขึ้นมามันหนักเต็มมือ ความรู้สึกเหมือนถือก้อนเหล็กหนัก 6 ขีด ทำให้นึกถึงเลนส์ที่มีตระกูล Carl Zeiss ของเยอรมันที่ให้ความรู้สึกนี้ จากสเปคฯ ที่ให้มานั้น เลนส์ Laowa 12 mm. นี้ ผลิตจากโครงสร้างเหล็กทั้งอัน (All-metal construction) ที่ Venus Optics ผู้ผลิตเลนส์สุดอินดี้หมายมั่นปั้นมือตั้งแต่ระดมทุนผ่าน Kickstarter ที่จะสร้างเลนส์มุมกว้างในฝันของเหล่าช่างภาพที่มีความแม่นยำ ทนทาน และให้ภาพบิดเบี้ยวน้อยที่สุด ผมลองจับเล่น หมุนไปหมุนมาสักพัก ได้ข้อสรุปว่าหากดูเฉพาะตัวเลนส์โดยไม่เห็นตรายี่ห้อ ต้องเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเลนส์ Carl Zeiss แน่นอน เสียดายที่หากตัวเลขบอกระยะโฟกัส และรูรับแสง แม้เป็นการสลักลงไปในเนื้อเลนส์และลงสีเพิ่มเติมดูสวยงาม แต่การสลักตื้นไปนิด หากสลักลึกลงไปมากหน่อยให้เหมือนเลนส์มือหมุนดีๆ คงจะทำให้ดูดีมีชาติตระกูลขึ้นอีกมาก แต่ด้วยราคา 3 หมื่นกลางๆ กับรูปลักษณ์ที่เห็นในตอนนี้ถือได้ว่า ออกแบบมาได้หล่อเกินราคาแล้วครับ

เมื่อได้ลองหมุนปรับโฟกัส หมุนซ้าย หมุนขวา หมุนยาวๆ หมุนสั้นๆ ... มันดีงามครับ วงหมุนหนืด แน่น ปรับละเอียดได้ดีมากๆ อีกทั้งระยะ Infinity ที่เราหมุนเลนส์ตามเข็มนาฬิกาจนสุด ก็เป็นการโฟกัสที่ Infinity แท้ๆ ยิงวิวไกลๆ หรือถ่ายดาวกลางคืน หมุนสุดเข้าเป๊ะ ไม่ต้องพึ่ง Live view เพื่อส่องหาโฟกัสเพิ่มเติมแต่อย่างใด นอกจากนี้ เจ้า Laowa 12 mm. ยังสามารถนำไปใช้กับกล้องฟิล์มได้ เนื่องจากมีชุดปรับรูรับแสง บนกระบอกเลนส์ ซึ่งถือว่า Venus Optics ทำการบ้านมาดีมาก และคิดเผื่อให้เลย ซื้อเลนส์ 1 ตัว ใช้ได้ทั้งกล้องดิจิตอลยุคใหม่ของ Nikon และยังนำไปประกบกับกล้องฟิล์มรุ่นเก่าๆ เช่น Nikon FM2n, F3HP ได้อีก แจ่มแมว! ... ลองปรับค่ารูรับแสงไล่จาก f/2.8 ไปจนสุดที่ f/22 หมุนกลับไปกลับมา ก็พบว่าคล่องมือดี  เสีย เสีย เสีย ... เสียอย่างเดียวที่ปรับค่ารูรับแสงได้ทีละ 1 stops มีลำดับการไล่ค่าดังนี้ 2.8 - 4 - 5.6 - 8 - 11 - 16 - 22 แหม่ .. จะแถมอีกหน่อยก็ไม่ได้ หากได้การปรับรูรับแสงทีละ 1/2 stops นี่ จะเทคะแนนให้หมดหน้าตักเลย

ภาพที่ 2: เลนส์มุมโครตกว้างแบบนี้ แต่ออกแบบมาให้ขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้ใช้ฟิลเตอร์แผ่นขนาด 100 mm. ของ Nisi Filter ได้ด้วย ... ดีงามมาก

ภาพที่ 3: หน้าเลนส์จะปูดขึ้นมานิดหน่อย เวลาใช้งานก็ต้องระวังกันหน่อยครับ

ความโหดของเจ้า Laowa 12 mm.
ข้อมูลทั่วไปของเลนส์นั้น ถูกออกแบบมาด้วยชิ้นเลนส์ 16 ชิ้น 10 กลุ่ม มี Aspherical lens 2 ชิ้น และ Extra-low Dispersion Glass 3 ชิ้น กลีบรูรับแสง 7 ใบ ระยะโฟกัสใกล้ที่สุดที่ 18 ซม. โฟกัสแบบมือหมุน (Manual) เท่านั้น และมีระยะโฟกัส Infinity ที่แท้จริง มีขายสำหรับกล้อง Fullframe เมาท์ Nikon AF, Canon EF, Pentax K และ Sony A และ E mount ด้วยการออกแบบนี้ จึงมั่นใจถึงคุณภาพของภาพถ่ายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อดูภาพรวมแล้ว ผมพบว่า Laowa 12 mm. มีความโหดซ่อนในรูปร่างขนาดกระทัดรัดของมันถึง 4 ข้อ ดังนี้:

1. มันถูกออกแบบมาให้ถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์ รวมถึงภาพสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาให้ภาพไม่มีความบิดเบี้ยว - Zero-D (ปล. ซึ่งเท่าที่ถ่ายภาพมาพบว่ามีเบี้ยวอยู่บ้าง แต่น้อยยยยยยมากครับ) ถ่ายตึก .. ตึกตรง (ต้องปรับระดับน้ำให้ตรงด้วยนะ) หากเอาเลนส์ไปถ่าย Landscape ถ่ายเส้นขอบฟ้า ก็ตรง ไม่โค้งไม่บวมจนต้องลำบากมาแก้ไข Distortion ทีหลัง อีกทั้งเลนส์ตัว 12 mm. ตัวนี้ ให้องศารับภาพที่กว้างโครตกว้างถึง 122 องศา ซึ่งเมื่อเทียบกับเลนส์ตัวโปรดของผมในฝั่ง Nikon คือ 14-24 mm. นั้นจะให้องศารับภาพ 114 - 84 องศา  ความคิดแว๊บแรกผุดขึ้นมา ระหว่าง 12 mm. และ 14 mm. มันคงไม่ต่างกันมากมั้งกับส่วนต่าง 2 mm. ที่เพิ่มขึ้นมา? บอกได้เลยว่า หากเป็นเลนส์ระยะ Normal - Tele นั้น 2 mm. ที่ต่างกันอาจไม่เห็นความแตกต่าง แต่กับเลนส์ Ultra wide นั้น 2 mm. ที่เพิ่มขึ้นมาถือว่ามีนัยสำคัญมากกก  เก็บภาพได้กว้างกว่าเดิมพอสมควรเลยครับ  บางมุมที่เข้าไปยิงภาพนั้น อาจพบว่าที่ระยะ 14 mm. มันจบไม่ลง แต่ด้วย 2 mm. ที่เพิ่มขึ้นมากดใบเดียวแล้วจบเลย ไม่ต้องพาโนเพิ่มเติมให้ยุ่งยาก ... ระหว่างทดสอบเลนส์ไป ก็คิดไปว่า เจ้า Laowa 12 mm. ตัวนี้มันเกิดมาเพื่อเติมเต็มให้กับระบบเลนส์ชุดโปรดของผม คือ Nikon 14-24 mm. + Nikon 24-120 mm. ได้เป็นอย่างดี มีแววเสียทรัพย์แน่นอน

2. ค่ารูรับแสงเริ่มต้นที่ 2.8 ที่เหมาะกับภาพที่มีแสงน้อย หรือการถ่ายภาพดวงดาว ทางช้างเผือก จุดนี้ถือเป็นจุดดีคือได้แสงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เรายังสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายด้วยมิติหน้าชัดหลังเบลอ (เล็กน้อย) จากเลนส์ Ultra-wide ที่ f/2.8 ได้อีกด้วย ... แต่เมื่อถ่ายภาพที่ f/2.8 ก็จะพบข้อเสียของ Laowa 12 mm. ตัวนี้ ซึ่งเมื่อหันเลนส์เข้าหาแหล่งกำเนิดแสง หรือมีแหล่งกำเนิดแสงในภาพ เช่น พระอาทิตย์ หรือไฟสปอตไลท์ อาจเกิดแสงแฟลร์เป็นวงขนาดใหญ่ อีกทั้งที่ f/2.8 จะให้รายละเอียดบริเวณขอบภาพไม่คมนัก และมีขอบมืดอยู่บ้าง (แต่สามารถแก้ไขได้ง่ายใน Post processing ครับ)

3. รักจะถ่ายภาพด้วยเลนส์ Ultra-wide ที่กว้างกว่า 16 mm. ต้องทำใจ เพราะอาจใช้ฟิลเตอร์ไม่ได้ หรือใช้ได้แต่ต้องพกฟิลเตอร์แผ่นใหญ่เท่าฝ่ามือ (เช่นฟิลเตอร์ขนาด 150 mm. - 180 mm.) แต่สำหรับ Laowa 12 mm. ตัวนี้ ได้ใจผมมากๆ เพราะถึงแม้หน้าเลนส์จะโค้งมน ปูดขึ้นมาเล็กน้อย แต่ด้วยขนาดของเลนส์ที่เล็ก จึงทำให้ใช้ฟิลเตอร์แบบแผ่นขนาดมาตรฐาน 100 mm. ได้เลย โดยใช้ร่วมกับ Adapter แบบพิเศษของ Nisi Filter ได้ตามสบาย คราวนี้จะจัด Nisi GND Reverse, ND1000 หรือแม้แต่ CPL ก็ได้ตามสะดวก ไม่ต้องลำบากพกเลนส์ Ultra-wide ร่วมกับฟิลเตอร์ขนาดเท่าฝ่ามืออีกต่อไป เบาตัวขึ้นมากมาย

4. เล็ก เบา พกพาสะดวก และแข็งแรงทนทาน  จุดนี้เป็นข้อดีเวลาเราออกทริปแบบเดินเขา หรือทริปในเมืองที่ต้องเดินเยอะๆ เช่นที่สิงค์โปร์ทริปนี้ ซึ่งวันแรกผมพกเลนส์เต็มกระเป๋าเลย จัดหนักมากกะว่ามาทั้งทีต้องเก็บให้ครบ แต่เอาเข้าจริง มุมส่วนใหญ่ในสิงค์โปร์ โดยเฉพาะรอบๆ อ่าว Marina นั้น เลนส์ที่ได้ใช้บ่อยที่สุดใน 3 วันแรกคือ Laowa 12 mm. ที่ใช้เก็บภาพกว้างๆ ทั้งบริเวณสิงโตพ่นน้ำ, ตึกทุเรียน, สะพานเชื่อม Helix หรือแม้แต่บนจุดชมวิวของตึกเรือ เลนส์ที่ใช้บ่อยรองลงมาคือ Nikon PC 19 mm. ที่ทดแทนบางมุมที่ Laowa 12 mm. ยิงไม่ได้เพราะได้ภาพที่กว้างเกินไป อีกตัวคือเลนส์ Carl Zeiss ระยะ 50 mm. ที่ใช้ยิงข้ามอ่าวเพื่อเก็บภาพ Panorama หรือยิงภาพเจาะเพื่อเน้นรูปทรงของตึก เป็นต้น

ภาพที่ 4-5: ด้วยเลนส์ที่กว้างกว่าเดิม (ปรกติที่ใช้ Nikon 14-24 mm. หรือ Nikon 16-35 mm. เป็นหลัก) และมีความบิดเบี้ยวแทบจะเป็นศูนย์ ทำให้เลนส์ Laowa 12 mm. f/2.8 Zero-D ตัวนี้ เป็นเลนส์ในฝันที่เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากอุปกรณ์ชุดเดิมๆ ด้วยน้ำหนักเพียง 6 ขีด แต่ประโยชน์จากมุมมองที่เพิ่มขึ้น ก็คุ้มค่าแบกแล้ว หลายๆ มุมที่เคยถ่ายแบบอึดอัด ก็ไม่อึดอัดอีกต่อไป หาก Laowa 12 mm. เก็บไม่หมด ก็คงไม่ต้องไปสรรหาเลนส์ Fish eye มาใช้แล้ว ซัด Panorama ไปเลยดีกว่าครับ ... ภาพด้านล่าง 2 ใบนี้ จบได้ด้วยมุมกว้างๆ แบบ 12 mm. ใช้เทคนิคการถ่ายภาพคร่อม +2/0/-2 รวม 3 ใบ จากนั้นไปรวมแสง แต่งสีใน Photoshop ครับ


ภาพที่ 6: Laowa 12 mm. สามารถโฟกัสได้ใกล้สุดที่ 18 ซม. ที่ f/2.8 น่าจะทำให้มีโอกาสถ่ายภาพในมุมมองที่แปลกตาออกไป ภาพถ้วยกาแฟด้านล่างนี้ ถ่ายที่ f/2.8 ที่ระยะโฟกัสใกล้ที่สุดของเลนส์

ไร้ความบิดเบี้ยว (Zero-D)?
ถือเป็นจุดขายสำคัญของ Laowa 12 mm. ที่ใช้ Code name : Zero Distortion จริงๆ แล้ว ความบิดเบี้ยวไม่ได้เป็น 0% มีบ้างเหมือนกัน แต่มันน้อยมาก อย่างที่บอกไปตอนต้น เลนส์ตัวนี้มีความบิดเบี้ยวคิดเป็น 0.2% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเลนส์ค่ายอื่นที่บิดเบี้ยวเฉลี่ย 2-5% ตลอด 5 วันที่สิงค์โปร์ ผมค่อนข้างมั่นใจในจุดขายนี้ หากเราปรับระดับน้ำตรงทั้งแกน X, Y ภาพที่ออกมาค่อนข้างตรง ทั้งเส้นขอบฟ้า และแนวตึก จะมีบิดเบี้ยวไปบ้างตามขอบภาพซึ่งแก้ไขได้ไม่ยากนักครับ
ชื่อสินค้า:   Laowa 12mm Zero-D (D-Dreamer 12mm F2.8)
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่