เรื่องเล่าจากอดีต
เมื่อทหารสื่อสารเป็นนายกรัฐมนตรี
พ.สมานคุรุกรรม
ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้อ่านในต่วยตูนมาแล้ว ว่ามีนายทหารบกหลายเหล่าเช่นทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารราบ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาในอดีต คราวนี้จึงอยากจะให้ท่านได้รู้จักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารสื่อสารกันบ้าง
นายทหารสื่อสารผู้ซึ่งได้เป็น นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ถึงสี่สมัยนี้ ได้เล่าเรื่องของการสื่อสารในกองทัพบกไว้ใน ต่วยตูน ฉบับ ธันวาคม ๒๕๔๐ ปักษ์แรก ซึ่งต้องขออนุญาตท่าน บก.สส.คัดลอกมาเตือนความจำท่านผู้อ่านอีกครั้ง ดังนี้
“…….ผมขอพูดถึงเรื่องเครื่องสื่อสารของทหารในสมัยนั้นสักหน่อย ความจริงเครื่องสื่อสารของทหาร ระหว่างสงครามอินโดจีนนั้น ใช้ไม่สะดวกเลย และเกิดขลุกขลักกันใหญ่ ต้องใช้เครื่องสื่อสารของกรมไปรษณีย์ ถึงแม้เราจัดเครื่องของกรมไปรษณีย์ส่งไปให้แล้ว แต่ก็ยังไม่พอใช้ และมีขลุกขลักในเรื่องอื่น ๆ อีกมาก หลวงพิบูล ฯ เวลานั้นยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เรียกผมเข้ากองประจำการ ผมไม่เคยเป็นทหารมาก่อน เพราะวัดหน้าอกแล้วมันไม่ได้ขนาด ครั้นผมไปเข้าประจำการ ก็มีพลเรือนเพียงผมคนเดียวที่นั่งทำงานร่วมกับนายทหาร…………..
………. ต่อมาอีกสักอาทิตย์หนึ่ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ผมเป็น พันตรี แล้วก็ถูกส่งไปชายแดน คราวนี้มันก็ยุ่งกันใหญ่ ทหารเขาเรียกผู้บังคับกอง ผมก็ไม่รู้เรื่องว่าเขาเรียกใคร เขาต้องมาดึงเสื้อจึงรู้ การเคารพเราเคยแต่เปิดหมวก ทีนี้มันต้องตาเบ๊ะ เผลอไปจะเปิดหมวกแต่โดนแก๊ปเข้า เลยว่ากันยุ่งไปหมด………
……….ผมไปชายแดนกับเขา ไปจนถึงศรีโสภณ แต่ไม่ได้รบอะไรกับเขา เพราะผมมีหน้าที่เฉพาะการสื่อสาร ต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยเมื่อตกลงสงบศึกแล้ว ผมก็ได้เป็นผู้ไปรับมอบดินแดนคืน และไปชักธงช้างในพิธีรับมอบดินแดนด้วย เพราะเมื่อก่อนนี้เราใช้ธงช้าง คือธงที่บิดาผมต้องชักลงมาแล้วครั้งหนึ่ง ผมจึงไปชักธงช้างขึ้นด้วยตนเอง………..”
เมื่ออ่านมาถึงแค่นี้ ท่านก็คงจะทราบแล้วว่า นายกรัฐมนตรีท่านนี้ก็คือ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นั่นเอง
ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๔๕ ที่เมืองพระตะบอง เป็นบุตรของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพา
ท่านสำเร็จการศึกษาขั้นต้นที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกฝรั่งเศส แล้วได้ออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จวิชาวิศวกรรมโยธา จากเอโกลซังตรัล เดอ ลียอง (ECOLE CENTRALE DE LYON)
ท่านได้เล่าถึงการศึกษาในต่างประเทศไว้ว่า
“ ระหว่างที่ผมไปถึงฝรั่งเศสนั้น เป็นปี ค.ศ.๑๙๑๙ (พ.ศ.๒๔๖๒) คือเลิกสงครามใหม่ ๆ (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ผมไปอยู่ได้สัก ๒ หรือ ๓ ปี ผมก็พบนักเรียนไทยคนหนึ่ง เขาเป็นนักเรียนกฎหมายเพิ่งไปจากเมืองไทย พบกันที่สถานทูต เพราะทางสถานทูตนั้น เวลาหยุดพักเรียนก็อนุญาตให้เราเข้าปารีส สำหรับผมถูกส่งให้ไปอยู่เมืองตูร์ ภาคกลางของฝรั่งเศส แต่ทว่าเวลาพักเรียนอีสเตอร์ หรือวันหยุดต่าง ๆ เขาก็ให้เข้ามาเที่ยวปารีส จึงมาพบหนุ่มคนนั้น นักเรียนกฎหมายคนนี้ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาสัก ๒ ปี ผมก็พบนายทหารหนุ่มอีกคนหนึ่งเป็นร้อยโท คือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ เพราะฉะนั้นเพื่อนเราเวลานั้นก็มี ร.ท.แปลก นายปรีดี นายควง นายชม จารุรัตน์ (เป็นหลวงคหะกรรมเวลานี้ ) นายเอนก ศาสตราภัย เราเป็นเพื่อนรักกัน “
เมื่อท่านสำเร็จการศึกษากลับประเทศไทยแล้ว ก็ได้รับราชการอยู่ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ท่านก็ได้ร่วมมือกับเพื่อน ๆ ของท่าน ที่เป็นนักเรียนฝรั่งเศส ทำการปฏิวัติในนามของ “คณะราษฎร์”
การเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น ก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น เช่นการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือปฏิรูปการปกครองในสมัยต่อ ๆ มา คือมีการเปลี่ยนย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหลายหน่วยงาน ขณะที่นายควงและครอบครัวกำลังพักผ่อนอยู่ที่หัวหิน ทางราชการก็ได้มีคำสั่งเรียกตัวให้กลับกรุงเทพ และต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ค่อนข้างนาน และได้รับเงินเดือนตำแหน่งนายช่างกำกับการโทรศัพท์ ซึ่งต่ำกว่าตำแหน่งอธิบดี จนกระทั่งมีการปรับปรุงกรมไปรษณีย์โทรเลขในเวลาต่อมา ท่านจึงได้รับเงินเดือนตำแหน่งอธิบดีตามปกติเมื่อ กันยายน ๒๔๗๘
อันกรมไปรษณีย์โทรเลขนั้น ตั้งแต่เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ตั้งพระทัยไว้ว่า จะสร้างตึกไปรษณีย์กลางที่บางรัก นายควงจึงได้ดำเนินการไปตามพระดำริ เริ่มด้วยการจัดสร้างตึกไปรษณีย์ ณ ที่กำหนดไว้เดิม ความจริงอธิบดีก่อนหน้านายควง ก็ได้พยายามของบประมาณที่จะดำเนินการตามนั้นตลอดมา แต่ก็มีข้อขัดข้องเสมอ เพิ่งจะมาสำเร็จในสมัยนี้
เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จงใจจะทิ้งระเบิดตึกไปรษณีย์กลางนี้หลายครั้ง แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ลูกระเบิดไม่ถูก จึงได้มีเสียงโจษจันไปว่า เมื่อเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ครุฑสองตัวที่อยู่มุมตึกด้านหน้าจะบินขึ้นไปปกป้องตึกนี้ไว้ ทำให้ลูกระเบิดพลาดเป้าหมายทุกครั้ง จนทำให้วัดที่อยู่ใกล้เคียงต้องรับเคราะห์แทน ครั้นสงครามสงบแล้วมีนักหนังสือพิมพ์บางนายได้ไปถามนายควงว่า
“ เมื่อสร้างตึกนี้ได้ลงของดีอะไรไว้ ลูกระเบิดจึงคลาดแคล้วไปหมด “
นายควงทำหน้าขึงขังตอบว่า
“ มีซิคุณ เมื่อเวลาสร้างตึกนี้ไม่มีใครไปกินกำไรซักสตางค์ แล้วนั่นไม่ใช่ของดีหรือ“
ในสมัยนั้นการกระจายเสียงยังขึ้นอยู่กับกรมไปรษณีย์ ฯ มีสถานีวิทยุพญาไท และสถานีวิทยุกระจายเสียง ศาลาแดง หลวงชำนิกลการเป็นหัวหน้าแผนกกระจายเสียง ขึ้นอยู่กับกองช่างวิทยุ มี พ.อ.พระอร่ามรณชิต เป็นนายช่างกำกับการ เมื่อได้เกิดมีการกบฏยกกำลังมาจากนครราชสีมานั้น วิทยุกระจายเสียงเป็นกำลังโฆษณาอันสำคัญของรัฐบาล เมื่อได้เห็นความสำคัญของการกระจายเสียงเช่นนั้น รัฐบาลจึงได้โอนการกระจายเสียง มาอยู่กับสำนักโฆษณาการในภายหลัง
เมื่อสงครามอินโดจีนสงบลง ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนในมณฑลบูรพาเดิม จากรัฐบาลอินโดจีนในเดือน กรกฎาคม ๒๔๘๔ เมื่อจะออกเดินทางไปปฏิบัติราชการ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอบคำอำลาของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า
“……..โดยเฉพาะนายพันตรีควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีและประธานกรรมการรับโอนดินแดนด้านบูรพานั้น ข้าพเจ้ารู้สึกเต็มตื้นในถ้อยคำที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว สำหรับตัวท่านเองและสำหรับท่านเจ้าคุณบิดาของท่านว่า เมื่อ ๓๔ ปีมาแล้ว ท่านเจ้าคุณบิดาได้เป็นผู้อัญเชิญธงไทย กลับสู่ประเทศไทย ด้วยอาการอันนองน้ำตา และในวาระนี้ท่านผู้เป็นบุตร ได้มีโอกาสอัญเชิญธงไทย กลับไปสู่ที่เดิม เป็นการสนองเกียรติประเทศชาติและรัฐบาล ทั้งเป็นการสนองความปรารถนาอันแรงกล้า ของท่านเจ้าคุณบิดาอีกด้วย………..”
พันตรีควง อภัยวงศ์ได้นำธงช้างอันเป็นธงไทยเดิม ไปชักขึ้นที่หน้ามุขตึกเรสิดังต์ซึ่งเป็นที่ทำการด้วย การเป็นที่ประทับใจยิ่งนัก มีไม่น้อยคนที่ยืนดูด้วยน้ำตาคลอ และในตอนเช้าวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๘๔ กองระวังหน้าของกองทัพบูรพา ภายใต้การนำของ พันโท ไชย ประทีปเสน ก็เคลื่อนเข้าสู่พระตะบอง และวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔ มีการสวนสนาม พลโทมังกร พรหมโยธี แม่ทัพภาคบูรพาเป็นผู้รับความเคารพ เมื่อการรับมอบดินแดนได้ปฏิบัติไปเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เดินทางกลับกรุงเทพ
ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ และได้รับพระราชทานยศ พันตรี เหล่าทหารสื่อสาร ตามแจ้งความทหาร เรื่อง ตั้งนายทหารพิเศษ ที่ ๑๒๖/๑๐๖๗๒ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๔ ซึ่งมีความว่า
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์ ) เป็นนายพันตรี เหล่าทหารสื่อสาร และให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกองทัพบก ตั้งแต่ ๕ มี.ค.๘๔ เป็นต้นไป ลงนามโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ต่อมาท่านได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๔ ท่านจึงเป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่นั้นมา
ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ ต่อจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๘๙ ครั้งที่สาม หลังการกระทำรัฐประหาร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แล้ว คณะทหารได้มาเชิญท่านให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และครั้งสุดท้าย เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑
พันตรีควง อภัยวงศ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๐๖.๐๔ น ด้วยโรคมะเร็งที่ปอด เมื่อมีอายุประมาณ ๖๖ ปี พระธรรมกิตติโสภณ วัดเบญจมบพิตร ได้แสดงพระธรรมเทศนา เมื่อ ๔ เมษายน ๒๕๑๑ มีความตอนหนึ่งว่า
ท่านพันตรีควง อภัยวงศ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอดีต ๔ สมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายครั้ง และที่สำคัญเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตลอดมา ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า เป็นผู้มีคุณธรรมความดีอยู่ในตน และสามารถใช้คุณธรรมนั้น อำนวยประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นได้ ความดีประการอื่น ๆ จะขอยกไว้ จะกล่าวเฉพาะความดีที่ปรากฎในทางการเมืองเท่าที่ทราบได้
คือการที่ท่านพันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้มีชีวิตรุ่งเรืองในทางการเมืองโดยลำดับมา นับตั้งแต่เป็นนักการเมืองผู้น้อย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งโดยการแต่งตั้งและเลือกตั้ง เป็นรัฐมนตรีทั้งช่วยว่าการ และว่าการกระทรวงหลายกระทรวง เป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๔ สมัย ถึงแม้ผลงานจะปรากฎไม่มาก เพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน บางสมัยก็เป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นผลงานที่จัดว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมหาศาล ก็มีปรากฎอยู่ คือในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ซึ่งถ้าหากไม่ได้ท่านพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว อาจจะทำให้สถานการณ์ของประเทศชาติยุ่งยากหลายประการ ซึ่งเป็นที่เข้าใจและทราบกันดีแล้วโดยทั่วไป ถึงผลงานที่ท่านสามารถแก้ไขสถานการณ์ ให้เป็นที่เรียบร้อยดีงาม มิได้มีความยุ่งยากแต่ประการใด
ท่านเป็นนักการเมืองที่รู้แพ้รู้ชนะและรู้ให้อภัย เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องการให้ท่านเป็น ท่านก็เป็น เมื่อต้องการให้ท่านออกจากตำแหน่ง ท่านก็ยินดี มิได้ติดใจที่จะต่อต้านหรือคัดค้านแต่ประการใด ชีวิตความเป็นไปของท่านจึงเป็นปกติโดยลำดับมา มิได้ผ่านคุกตรางเท่าที่ควร หรือมิได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ไหน คงมีชีวิตเป็นปกติอยู่ในประเทศไทยตลอดมา มิได้มีความเดือดร้อนแต่ประการใด
โดยเฉพาะในฐานะแห่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้เหตุการณ์ทางการเมืองจะเป็นประการใด คือทั้งสมัยที่มีระบบพรรคการเมือง หรือไม่มีพรรคการเมืองอย่างไร ท่านก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคตลอดกาล เป็นที่ไว้วางใจของลูกพรรคตลอดมา นับได้ว่าเป็นนักการเมืองที่หาได้ยากท่านหนึ่ง ซึ่งควรเป็นที่ตั้งแห่งความยกย่องสรรเสริญ เป็นบุคคลที่มีปัญญาไหวพริบฉลาดดี สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เป็นที่เรียบร้อย แม้สถานการณ์จะเป็นไปในเวลาที่คับขัน
ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ชื่นบานสนุกสนาน สามารถทำให้บุคคลอื่นคลายทุกข์และความกังวลต่าง ๆ ได้เป็นอันดี เท่าที่ทราบมา ท่านเป็นผู้ที่มีกำลังใจเข้มแข็งสามารถระงับความดีใจเสียใจได้ คือในเวลาได้รับการยกย่อง ก็ไม่แสดงความดีใจ ในเวลาที่ถูกลดจากตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่เสียใจ คงปฏิบัติตนเป็น พันตรีควง อภัยวงศ์ ตลอดมา เพียงเท่านี้ก็เป็นกล่าวสรุปได้ว่า พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นผู้มีคุณธรรมความดีอยู่ในตน และ สามารถนำความดีนั้น ออกใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น และแก่ประเทศชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยสมควรแก่กาลสมัย ฯ
ในคราวที่ท่านได้รับพระราชทานยศทหารนั้น ได้มีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับพระราชทานยศ นายพันตรี เหล่าทหารสื่อสาร หลังจากท่าน นายพันตรี ควง อภัยวงศ์ เพียง ๓ วันเท่านั้น คือ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็น กรมประชาสัมพันธ์ จึงควรที่ท่านอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นนักเขียนประจำในนิตยสารที่มีระดับฉบับนี้ จะได้ค้นคว้าหาประวัติของท่านผู้นี้ มาเล่าสู่ท่านผู้อ่านบ้าง
เมื่อทหารสื่อสารเป๋นนายก ๒๕ เม.ย.๖๐
เมื่อทหารสื่อสารเป็นนายกรัฐมนตรี
พ.สมานคุรุกรรม
ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้อ่านในต่วยตูนมาแล้ว ว่ามีนายทหารบกหลายเหล่าเช่นทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารราบ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาในอดีต คราวนี้จึงอยากจะให้ท่านได้รู้จักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารสื่อสารกันบ้าง
นายทหารสื่อสารผู้ซึ่งได้เป็น นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ถึงสี่สมัยนี้ ได้เล่าเรื่องของการสื่อสารในกองทัพบกไว้ใน ต่วยตูน ฉบับ ธันวาคม ๒๕๔๐ ปักษ์แรก ซึ่งต้องขออนุญาตท่าน บก.สส.คัดลอกมาเตือนความจำท่านผู้อ่านอีกครั้ง ดังนี้
“…….ผมขอพูดถึงเรื่องเครื่องสื่อสารของทหารในสมัยนั้นสักหน่อย ความจริงเครื่องสื่อสารของทหาร ระหว่างสงครามอินโดจีนนั้น ใช้ไม่สะดวกเลย และเกิดขลุกขลักกันใหญ่ ต้องใช้เครื่องสื่อสารของกรมไปรษณีย์ ถึงแม้เราจัดเครื่องของกรมไปรษณีย์ส่งไปให้แล้ว แต่ก็ยังไม่พอใช้ และมีขลุกขลักในเรื่องอื่น ๆ อีกมาก หลวงพิบูล ฯ เวลานั้นยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เรียกผมเข้ากองประจำการ ผมไม่เคยเป็นทหารมาก่อน เพราะวัดหน้าอกแล้วมันไม่ได้ขนาด ครั้นผมไปเข้าประจำการ ก็มีพลเรือนเพียงผมคนเดียวที่นั่งทำงานร่วมกับนายทหาร…………..
………. ต่อมาอีกสักอาทิตย์หนึ่ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ผมเป็น พันตรี แล้วก็ถูกส่งไปชายแดน คราวนี้มันก็ยุ่งกันใหญ่ ทหารเขาเรียกผู้บังคับกอง ผมก็ไม่รู้เรื่องว่าเขาเรียกใคร เขาต้องมาดึงเสื้อจึงรู้ การเคารพเราเคยแต่เปิดหมวก ทีนี้มันต้องตาเบ๊ะ เผลอไปจะเปิดหมวกแต่โดนแก๊ปเข้า เลยว่ากันยุ่งไปหมด………
……….ผมไปชายแดนกับเขา ไปจนถึงศรีโสภณ แต่ไม่ได้รบอะไรกับเขา เพราะผมมีหน้าที่เฉพาะการสื่อสาร ต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยเมื่อตกลงสงบศึกแล้ว ผมก็ได้เป็นผู้ไปรับมอบดินแดนคืน และไปชักธงช้างในพิธีรับมอบดินแดนด้วย เพราะเมื่อก่อนนี้เราใช้ธงช้าง คือธงที่บิดาผมต้องชักลงมาแล้วครั้งหนึ่ง ผมจึงไปชักธงช้างขึ้นด้วยตนเอง………..”
เมื่ออ่านมาถึงแค่นี้ ท่านก็คงจะทราบแล้วว่า นายกรัฐมนตรีท่านนี้ก็คือ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นั่นเอง
ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๔๕ ที่เมืองพระตะบอง เป็นบุตรของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพา
ท่านสำเร็จการศึกษาขั้นต้นที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกฝรั่งเศส แล้วได้ออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จวิชาวิศวกรรมโยธา จากเอโกลซังตรัล เดอ ลียอง (ECOLE CENTRALE DE LYON)
ท่านได้เล่าถึงการศึกษาในต่างประเทศไว้ว่า
“ ระหว่างที่ผมไปถึงฝรั่งเศสนั้น เป็นปี ค.ศ.๑๙๑๙ (พ.ศ.๒๔๖๒) คือเลิกสงครามใหม่ ๆ (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ผมไปอยู่ได้สัก ๒ หรือ ๓ ปี ผมก็พบนักเรียนไทยคนหนึ่ง เขาเป็นนักเรียนกฎหมายเพิ่งไปจากเมืองไทย พบกันที่สถานทูต เพราะทางสถานทูตนั้น เวลาหยุดพักเรียนก็อนุญาตให้เราเข้าปารีส สำหรับผมถูกส่งให้ไปอยู่เมืองตูร์ ภาคกลางของฝรั่งเศส แต่ทว่าเวลาพักเรียนอีสเตอร์ หรือวันหยุดต่าง ๆ เขาก็ให้เข้ามาเที่ยวปารีส จึงมาพบหนุ่มคนนั้น นักเรียนกฎหมายคนนี้ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาสัก ๒ ปี ผมก็พบนายทหารหนุ่มอีกคนหนึ่งเป็นร้อยโท คือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ เพราะฉะนั้นเพื่อนเราเวลานั้นก็มี ร.ท.แปลก นายปรีดี นายควง นายชม จารุรัตน์ (เป็นหลวงคหะกรรมเวลานี้ ) นายเอนก ศาสตราภัย เราเป็นเพื่อนรักกัน “
เมื่อท่านสำเร็จการศึกษากลับประเทศไทยแล้ว ก็ได้รับราชการอยู่ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ท่านก็ได้ร่วมมือกับเพื่อน ๆ ของท่าน ที่เป็นนักเรียนฝรั่งเศส ทำการปฏิวัติในนามของ “คณะราษฎร์”
การเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น ก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น เช่นการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือปฏิรูปการปกครองในสมัยต่อ ๆ มา คือมีการเปลี่ยนย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหลายหน่วยงาน ขณะที่นายควงและครอบครัวกำลังพักผ่อนอยู่ที่หัวหิน ทางราชการก็ได้มีคำสั่งเรียกตัวให้กลับกรุงเทพ และต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ค่อนข้างนาน และได้รับเงินเดือนตำแหน่งนายช่างกำกับการโทรศัพท์ ซึ่งต่ำกว่าตำแหน่งอธิบดี จนกระทั่งมีการปรับปรุงกรมไปรษณีย์โทรเลขในเวลาต่อมา ท่านจึงได้รับเงินเดือนตำแหน่งอธิบดีตามปกติเมื่อ กันยายน ๒๔๗๘
อันกรมไปรษณีย์โทรเลขนั้น ตั้งแต่เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ตั้งพระทัยไว้ว่า จะสร้างตึกไปรษณีย์กลางที่บางรัก นายควงจึงได้ดำเนินการไปตามพระดำริ เริ่มด้วยการจัดสร้างตึกไปรษณีย์ ณ ที่กำหนดไว้เดิม ความจริงอธิบดีก่อนหน้านายควง ก็ได้พยายามของบประมาณที่จะดำเนินการตามนั้นตลอดมา แต่ก็มีข้อขัดข้องเสมอ เพิ่งจะมาสำเร็จในสมัยนี้
เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จงใจจะทิ้งระเบิดตึกไปรษณีย์กลางนี้หลายครั้ง แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ลูกระเบิดไม่ถูก จึงได้มีเสียงโจษจันไปว่า เมื่อเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ครุฑสองตัวที่อยู่มุมตึกด้านหน้าจะบินขึ้นไปปกป้องตึกนี้ไว้ ทำให้ลูกระเบิดพลาดเป้าหมายทุกครั้ง จนทำให้วัดที่อยู่ใกล้เคียงต้องรับเคราะห์แทน ครั้นสงครามสงบแล้วมีนักหนังสือพิมพ์บางนายได้ไปถามนายควงว่า
“ เมื่อสร้างตึกนี้ได้ลงของดีอะไรไว้ ลูกระเบิดจึงคลาดแคล้วไปหมด “
นายควงทำหน้าขึงขังตอบว่า
“ มีซิคุณ เมื่อเวลาสร้างตึกนี้ไม่มีใครไปกินกำไรซักสตางค์ แล้วนั่นไม่ใช่ของดีหรือ“
ในสมัยนั้นการกระจายเสียงยังขึ้นอยู่กับกรมไปรษณีย์ ฯ มีสถานีวิทยุพญาไท และสถานีวิทยุกระจายเสียง ศาลาแดง หลวงชำนิกลการเป็นหัวหน้าแผนกกระจายเสียง ขึ้นอยู่กับกองช่างวิทยุ มี พ.อ.พระอร่ามรณชิต เป็นนายช่างกำกับการ เมื่อได้เกิดมีการกบฏยกกำลังมาจากนครราชสีมานั้น วิทยุกระจายเสียงเป็นกำลังโฆษณาอันสำคัญของรัฐบาล เมื่อได้เห็นความสำคัญของการกระจายเสียงเช่นนั้น รัฐบาลจึงได้โอนการกระจายเสียง มาอยู่กับสำนักโฆษณาการในภายหลัง
เมื่อสงครามอินโดจีนสงบลง ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนในมณฑลบูรพาเดิม จากรัฐบาลอินโดจีนในเดือน กรกฎาคม ๒๔๘๔ เมื่อจะออกเดินทางไปปฏิบัติราชการ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอบคำอำลาของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า
“……..โดยเฉพาะนายพันตรีควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีและประธานกรรมการรับโอนดินแดนด้านบูรพานั้น ข้าพเจ้ารู้สึกเต็มตื้นในถ้อยคำที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว สำหรับตัวท่านเองและสำหรับท่านเจ้าคุณบิดาของท่านว่า เมื่อ ๓๔ ปีมาแล้ว ท่านเจ้าคุณบิดาได้เป็นผู้อัญเชิญธงไทย กลับสู่ประเทศไทย ด้วยอาการอันนองน้ำตา และในวาระนี้ท่านผู้เป็นบุตร ได้มีโอกาสอัญเชิญธงไทย กลับไปสู่ที่เดิม เป็นการสนองเกียรติประเทศชาติและรัฐบาล ทั้งเป็นการสนองความปรารถนาอันแรงกล้า ของท่านเจ้าคุณบิดาอีกด้วย………..”
พันตรีควง อภัยวงศ์ได้นำธงช้างอันเป็นธงไทยเดิม ไปชักขึ้นที่หน้ามุขตึกเรสิดังต์ซึ่งเป็นที่ทำการด้วย การเป็นที่ประทับใจยิ่งนัก มีไม่น้อยคนที่ยืนดูด้วยน้ำตาคลอ และในตอนเช้าวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๘๔ กองระวังหน้าของกองทัพบูรพา ภายใต้การนำของ พันโท ไชย ประทีปเสน ก็เคลื่อนเข้าสู่พระตะบอง และวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔ มีการสวนสนาม พลโทมังกร พรหมโยธี แม่ทัพภาคบูรพาเป็นผู้รับความเคารพ เมื่อการรับมอบดินแดนได้ปฏิบัติไปเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เดินทางกลับกรุงเทพ
ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ และได้รับพระราชทานยศ พันตรี เหล่าทหารสื่อสาร ตามแจ้งความทหาร เรื่อง ตั้งนายทหารพิเศษ ที่ ๑๒๖/๑๐๖๗๒ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๔ ซึ่งมีความว่า
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์ ) เป็นนายพันตรี เหล่าทหารสื่อสาร และให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกองทัพบก ตั้งแต่ ๕ มี.ค.๘๔ เป็นต้นไป ลงนามโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ต่อมาท่านได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๔ ท่านจึงเป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่นั้นมา
ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ ต่อจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๘๙ ครั้งที่สาม หลังการกระทำรัฐประหาร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แล้ว คณะทหารได้มาเชิญท่านให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และครั้งสุดท้าย เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑
พันตรีควง อภัยวงศ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๐๖.๐๔ น ด้วยโรคมะเร็งที่ปอด เมื่อมีอายุประมาณ ๖๖ ปี พระธรรมกิตติโสภณ วัดเบญจมบพิตร ได้แสดงพระธรรมเทศนา เมื่อ ๔ เมษายน ๒๕๑๑ มีความตอนหนึ่งว่า
ท่านพันตรีควง อภัยวงศ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอดีต ๔ สมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายครั้ง และที่สำคัญเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตลอดมา ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า เป็นผู้มีคุณธรรมความดีอยู่ในตน และสามารถใช้คุณธรรมนั้น อำนวยประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นได้ ความดีประการอื่น ๆ จะขอยกไว้ จะกล่าวเฉพาะความดีที่ปรากฎในทางการเมืองเท่าที่ทราบได้
คือการที่ท่านพันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้มีชีวิตรุ่งเรืองในทางการเมืองโดยลำดับมา นับตั้งแต่เป็นนักการเมืองผู้น้อย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งโดยการแต่งตั้งและเลือกตั้ง เป็นรัฐมนตรีทั้งช่วยว่าการ และว่าการกระทรวงหลายกระทรวง เป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๔ สมัย ถึงแม้ผลงานจะปรากฎไม่มาก เพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน บางสมัยก็เป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นผลงานที่จัดว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมหาศาล ก็มีปรากฎอยู่ คือในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ซึ่งถ้าหากไม่ได้ท่านพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว อาจจะทำให้สถานการณ์ของประเทศชาติยุ่งยากหลายประการ ซึ่งเป็นที่เข้าใจและทราบกันดีแล้วโดยทั่วไป ถึงผลงานที่ท่านสามารถแก้ไขสถานการณ์ ให้เป็นที่เรียบร้อยดีงาม มิได้มีความยุ่งยากแต่ประการใด
ท่านเป็นนักการเมืองที่รู้แพ้รู้ชนะและรู้ให้อภัย เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องการให้ท่านเป็น ท่านก็เป็น เมื่อต้องการให้ท่านออกจากตำแหน่ง ท่านก็ยินดี มิได้ติดใจที่จะต่อต้านหรือคัดค้านแต่ประการใด ชีวิตความเป็นไปของท่านจึงเป็นปกติโดยลำดับมา มิได้ผ่านคุกตรางเท่าที่ควร หรือมิได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ไหน คงมีชีวิตเป็นปกติอยู่ในประเทศไทยตลอดมา มิได้มีความเดือดร้อนแต่ประการใด
โดยเฉพาะในฐานะแห่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้เหตุการณ์ทางการเมืองจะเป็นประการใด คือทั้งสมัยที่มีระบบพรรคการเมือง หรือไม่มีพรรคการเมืองอย่างไร ท่านก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคตลอดกาล เป็นที่ไว้วางใจของลูกพรรคตลอดมา นับได้ว่าเป็นนักการเมืองที่หาได้ยากท่านหนึ่ง ซึ่งควรเป็นที่ตั้งแห่งความยกย่องสรรเสริญ เป็นบุคคลที่มีปัญญาไหวพริบฉลาดดี สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เป็นที่เรียบร้อย แม้สถานการณ์จะเป็นไปในเวลาที่คับขัน
ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ชื่นบานสนุกสนาน สามารถทำให้บุคคลอื่นคลายทุกข์และความกังวลต่าง ๆ ได้เป็นอันดี เท่าที่ทราบมา ท่านเป็นผู้ที่มีกำลังใจเข้มแข็งสามารถระงับความดีใจเสียใจได้ คือในเวลาได้รับการยกย่อง ก็ไม่แสดงความดีใจ ในเวลาที่ถูกลดจากตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่เสียใจ คงปฏิบัติตนเป็น พันตรีควง อภัยวงศ์ ตลอดมา เพียงเท่านี้ก็เป็นกล่าวสรุปได้ว่า พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นผู้มีคุณธรรมความดีอยู่ในตน และ สามารถนำความดีนั้น ออกใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น และแก่ประเทศชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยสมควรแก่กาลสมัย ฯ
ในคราวที่ท่านได้รับพระราชทานยศทหารนั้น ได้มีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับพระราชทานยศ นายพันตรี เหล่าทหารสื่อสาร หลังจากท่าน นายพันตรี ควง อภัยวงศ์ เพียง ๓ วันเท่านั้น คือ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็น กรมประชาสัมพันธ์ จึงควรที่ท่านอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นนักเขียนประจำในนิตยสารที่มีระดับฉบับนี้ จะได้ค้นคว้าหาประวัติของท่านผู้นี้ มาเล่าสู่ท่านผู้อ่านบ้าง