|- สุดทางแล้วหรือยังพอมีทางอยู่ =

เนื่องจากมีข้าราชการกลุ่มหนึ่งได้ต่อสู้เรื่องการลิดรอนสิทธิ์และความเสมอภาคกันของข้าราชการในมหาวิทยาลัยด้วยตนเองตามกำลังความสามารถที่มีอยู่
มาเกือบทศวรรษแล้ว

บัดนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว จึงเอาประสบการณ์มาเผยแพร่

แต่มีประเด็นที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้นำมาวินิจฉัยและเกิดข้อสงสัยบางประการต้องการความคิดเห็นจากผู้รอบรู้ช่วยแนะนำเพิ่มเติมด้วยครับ

เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑    
ผู้ฟ้องคดีฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนกฎที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย มาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๘๔ (๗) ดังนี้
๑. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ที่ให้สิทธิเฉพาะพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น
๒. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งฯ และข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลฯ ที่ห้ามข้าราชการเป็นผู้บริหาร
(ระหว่างฟ้องคดีมีการแก้ไขข้อบังคับไปแล้วบ้าง จากกำหนดเป็นลักษณะต้องห้าม เป็นให้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานะเมื่อได้รับการแต่งตั้ง หรือให้เสนอชื่อพนักงานมหาวิทยาลัย หรือบุคคลภายนอก)

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา ดังนี้

คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น https://drive.google.com/file/d/0B97ZBnYtBDXucDlCeE1ZYllrTkk/view?usp=sharing

๑. เพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย
๒. ยกคำขอที่ให้เพิกถอนข้อบังคับที่ห้ามข้าราชการเป็นผู้บริหาร เพราะเห็นว่า มาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สถานะของบุคคล หมายถึง ความเป็นอยู่ของบุคคลในครอบครัวและในประเทศและเป็นตัวกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคนในสังคมและประเทศ โดยมีกฎหมายให้การรับรองและคุ้มครองสถานะของบุคคล โดยบุคคลจะได้รับการคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก เช่น สัญชาติของบุคคล สถานภาพของบุคคลที่เป็นผู้เยาว์หรือผู้บรรลุนิติภาวะ ความเป็นบุตร บิดา มารดา สามีหรือภรรยาที่มีกฎหมายกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่มีต่อกันในครอบครัว เป็นต้น สถานะของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงมิได้มีความหมายรวมไปถึงสถานะด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคล เช่น สถานะทางอาชีพหรือสถานะทางหน้าที่การงาน เนื่องจากสถานะดังกล่าวแม้จะมีผลทำให้มีสิทธิและหน้าที่ตามตำแหน่งเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสถานะของบุคคล เพราะมิใช่คุณสมบัติหรือลักษณะทางกฎหมายที่เป็นฐานสำหรับผูกพันอยู่กับตัวบุคคลในลักษณะเช่นเดียวกับสถานะในประเทศหรือในครอบครัว ทั้งสถานะดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยการเปลี่ยนตำแหน่งนั้นๆ การเลือกปฏิบัติต่อข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกันจึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องของสถานะบุคคลตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ต้องระบุไว้ในบทนำของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง

เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ผู้ถูกฟ้องคดีก็อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖
ศาลปกครองส่งความเห็นในการลิดรอนสิทธิ์ข้าราชการให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญว่า มาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ น่าจะขัดหรือแย้งกับมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยสรุปได้ดังนี้

บัดนี้คดีมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่เนื่องจากความเห็น ประเด็นมาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดให้ผู้ที่เป็นข้าราชการสามารถเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยได้แล้ว แสดงให้เห็นว่า ทั้งข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยมิได้มีข้อแตกต่างกันในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรมแต่อย่างใด คงมีแต่เพียงข้อแตกต่างเฉพาะเรื่องของสถานภาพว่าเป็นข้าราชการหรือพนักงานเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวน่าจะมีลักษณะที่ลิดรอดสิทธิของบุคลากรที่เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัย ในอันที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องการบริหารและการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่อยู่ การจำกัดสิทธิในเรื่องดังกล่าว จึงน่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องของสถานะของบุคคล

“มาตรา ๗๔ ให้ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๓๓ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับคงดํารงตําแหน่งต่อไปจนครบวาระ ถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อครบกําหนดเวลาสิบห้าวันตามวรรคหนึ่งแล้ว  ถ้าผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้พ้นจากตําแหน่ง

ให้นําความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับผู้ดํารงตําแหน่งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีโดยอนุโลม

มาตรา ๗๗ ให้ผู้ดํารงตําแหน่งคณบดี ผู้อํานวยการวิทยาลัย ผู้อํานวยการสถาบัน ผู้อํานวยการสํานัก ผู้อํานวยการศูนย์ หัวหน้าภาควิชาและหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มี ฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดํารงตําแหน่งต่อไปจนครบวาระ  ถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยบูรพาต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น พนักงานมหาวิทยาลัยภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นําความในวรรคสองของมาตรา ๗๔ และวรรคสองของมาตรา ๗๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้นําความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับผู้ดํารงตําแหน่งรองคณบดี รองผู้อํานวยการวิทยาลัย รองผู้อํานวยการสถาบัน รองผู้อํานวยการสํานัก รองผู้อํานวยการศูนย์ รองหัวหน้าภาควิชา และรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาโดยอนุโลม”

สมัยที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นส่วนราชการ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้รับผลกระทบจากมาตรการคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้ในเรื่องเสร็จที่ ๑๕๑/๒๕๔๙ และเรื่องเสร็จที่ ๕๔๒/๒๕๔๙  โดยสรุปได้ว่า เมื่อข้อเท็จจริงในปัจจุบันปรากฏว่า บุคลากรสายวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ มีทั้งผู้ที่เป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยและพนักงานมหาวิทยาลัย  พนักงานมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนและทำงานประจำอยู่ในมหาวิทยาลัยจึงเป็น “คณาจารย์ประจำ” ของมหาวิทยาลัยฯ เช่นเดียวกันกับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย และมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาตามบทบัญญัติมาตรา ๒๙(๑๐) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ ได้ การบัญญัติถ้อยคำว่า “ข้าราชการพลเรือนของมหาวิทยาลัย” และคำว่า “คณาจารย์ประจำ” ในบทมาตราต่างๆ ของกฎหมายดังกล่าวแม้จะมีการใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันแต่น่าจะมีเจตนารมณ์ให้มีความหมายเช่นเดียวกันคือประสงค์ให้ผู้ที่เป็นคณาจารย์ประจำเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า คณาจารย์ประจำหมายความรวมถึงพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้ทำหน้าที่สอนและทำงานประจำอยู่ในมหาวิทยาลัยฯ แล้ว ประกอบกับเพื่อแก้ไขปัญหาในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวในขณะที่มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้ พนักงานมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยฯ จึงสามารถดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก ศูนย์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และหัวหน้าภาควิชาได้

เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มิได้มีบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ https://drive.google.com/file/d/0B97ZBnYtBDXubllIaWpiNjRJaDQ/view?usp=sharing

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
ศาลปกครองอ่านของศาลปกครองสูงสุดที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยสรุปได้ว่า

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด https://drive.google.com/file/d/0B97ZBnYtBDXucnFFRXFQVHRhR2M/view?usp=sharing

………จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า มาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ ขัดหรือแย้งกับมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือไม่ อีกต่อไป จึงมีคำพิพากษาให้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารจะต้องไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาที่กำหนดว่า ไม่ให้แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงสอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา หรือชอบด้วยกฎหมาย..........
........ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับการที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย (สภามหาวิทยาลัยได้แก้ไขแล้วหลังจากศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา)..............

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
ผู้ฟ้องคดียื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า มาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๗ รวมถึงมาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๐ ขัดหรือแย้งกับมาตรา ๔ และหรือมาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช  ๒๕๕๗ หรือไม่

วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐
เนื่องจากวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๖๐
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยไม่ทันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช  ๒๕๕๗ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินอาจส่งไปศาลรัฐธรรมนูญไม่ทันก่อนสิ้นสุดการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช  ๒๕๕๗ จึงส่งเรื่องให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านตู้ ปณ 1111 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ พิจารณาแก้ไขและปรับปรุงมาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๐ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๖๐ ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่น่าจะสามารถยื่นได้ประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๑

จึงขอความเห็นว่า
๑. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม พรบ เหมือนที่แก้ไขพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้หรือไม่
๒. หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ผู้ฟ้องคดียังสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่ว่า มาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๗ รวมถึงมาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๐ ขัดหรือแย้งกับมาตรา ๔ และหรือมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๖๐ ได้หรือไม่
๓. ศาลรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขเรื่องกำหนดเวลาหลังจากประกาศใช้กฎหมายไปแล้วในการไม่รับไว้วินิจฉัยหรือไม่
๔. การดำรงตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล นอกจากขัดกับ พรบ ของมหาวิทยาลัยนั้นแล้ว ยังมีข้อห้ามปรากฏอยู่ในกฎหมายใดอีกหรือไม่ อันเป็นเหตุที่ทำให้ต้องนำมาออกเป็นกฎหมายเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม

ขอความกรุณาอย่าตอบว่า อยากเป็นผู้บริหารหรือไง เพราะได้ยินมาเยอะแล้วตลอดเวลาที่ฟ้องคดีเกือบทศวรรษแล้วครับ

ขอบคุณล่วงหน้าทุกท่านและทุกความเห็นครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัย รัฐบาล รัฐศาสตร์ การศึกษา
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่