ออสเตรเลียส่งงูหลามติดยาไปบำบัดในคุก


ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อของงูหลามตัวนี้ได้


ตำรวจออสเตรเลียส่งงูหลามที่แก๊งค้ายาเสพติดเลี้ยงไว้ ไปบำบัดอาการเสพติดยาไอซ์ในเรือนจำ โดยมีนักโทษคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแล
งูหลามป่าตัวหนึ่งซึ่งตำรวจออสเตรเลียไปพบเข้าในปฏิบัติการบุกทลายห้องแล็บผลิตยาไอซ์เมื่อปีที่แล้ว ถูกส่งตัวไปบำบัดอาการติดยาเสพติดในเรือนจำที่นครซิดนีย์ โดยมีนักโทษ 14 คนคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแล

งูหลามป่าตัวนี้มีอาการเสพติดยาไอซ์อย่างรุนแรง โดยคาดว่าได้ดูดซึมเอาไอระเหยและอนุภาคขนาดเล็กของยาไอซ์ที่ฟุ้งกระจายในห้องแล็บเข้าไปทางผิวหนัง จนทำให้งูหลามที่ปกติมีนิสัยเชื่องและรักสงบ กลับแสดงอาการดุร้ายและขู่อยู่ตลอดเวลา



นายเอียน มิตเชลล์ หัวหน้าศูนย์ดูแลสัตว์ป่าในเรือนจำ กับงูสีน้ำตาลตะวันออก (Eastern Brown Snake )



เจ้าหน้าที่บอกว่า แก๊งอาชญากรรมที่ค้ายาเสพติด มักนิยมเลี้ยงงูเอาไว้ประดับบารมีหรือใช้งูเฝ้าป้องกันคลังอาวุธและยาเสพติดของตนเอง ซึ่งงูหลามป่าขนาดเกือบ 2 เมตรตัวนี้ ก็เป็นหนึ่งในงูจำพวกดังกล่าว

นายเอียน มิตเชลล์ หัวหน้าศูนย์ดูแลสัตว์ป่าในเรือนจำ จอห์น โมโรนี ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีการรักษาความปลอดภัยระดับกลางเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งงูหลามป่าตัวดังกล่าวมาเข้ารับการดูแลและบำบัดอาการติดยาเสพติดที่นี่ โดยย้ำว่าไม่สามารถเปิดเผยชื่อของงูตัวนี้ต่อสื่อมวลชนได้ จนกว่าการดำเนินคดีกับแก๊งยาเสพติดที่เป็นเจ้าของเดิมของมันจะสิ้นสุดลง



หนึ่งในนักโทษ 14 คนที่ได้รับคัดเลือก กำลังทำงานในศูนย์ดูแลสัตว์ป่า



ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ นักโทษชั้นดี 14 คน ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงานในโครงการดูแลสัตว์ป่า ได้เป็นผู้ดูแลงูหลามป่าตัวดังกล่าว รวมทั้งสัตว์อื่น ๆ เช่นจิงโจ้ วอลลาบี โอพอสซัม วอมแบ็ต และนกสายพันธุ์ท้องถิ่นด้วย โดยโครงการนี้มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่า ยังเป็นการฟื้นฟูแก้ไขความประพฤติของนักโทษ โดยการเลี้ยงดูแลสัตว์ป่าทำให้นักโทษจิตใจอ่อนโยน มีความรับผิดชอบและมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

หลังเข้ารับการบำบัดในเรือนจำเป็นเวลา 6 เดือน งูหลามตัวดังกล่าวมีอาการดีขึ้น และพร้อมจะ "กลับคืนสู่สังคมภายนอก" เช่นเดียวกับผู้ที่พ้นโทษแล้ว โดยมีการจัดหาบ้านใหม่ให้งูหลามตัวนี้ได้ไปอยู่กับนักเลี้ยงงูมืออาชีพที่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการต่อไป



http://www.bbc.com/thai/international-39619394
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่