๙ ความจริงบนท้องถนนเมืองไทย (โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร) ในมุมของผม

อันนี้มีที่มาจากความเห็นส่วนตัวของผมเองนะครับ จากการใช้รถใช้ถนน ใช้ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ (ขนส่งสาธารณะนี่ห่างไปนานมากแล้ว) หากเห็นต่างประการใด หรือต้องการแสดงความเห็นในมุมของตัวท่านเองก็ทำได้เต็มที่ครับ

ต่อไปนี้คือ ๙ ความจริงบนท้องถนนเมืองไทย (โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร) ในมุมของผม โดยเรียงลำดับตามที่นึกออก และจะไม่พูดถึงปัญหาเบสิคเช่นย้อนศร ฝ่าไฟแดง ไม่เปิดไฟเลี้ยว ช้าแช่ขวา อะไรพวกนี้ครับ

๑. มอเตอร์ไซค์ตัดเลนในวงเวียน - เป็นที่รู้กันว่าเวลาติดไฟแดงตามแยกต่างๆ มอเตอร์ไซค์มักเป็นขุนพลแถวหน้าเสมอที่จะได้ออกตัวไปก่อนเมื่อไฟเขียว (หรือแม้แต่ยังไม่ไฟเขียว) ถ้าเป็นทางแยกธรรมดา ก็คงแค่วิ่งตรงไป แต่ถ้าเป็นวงเวียนเล่า ยกตัวอย่างอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อไฟเขียวมอเตอร์ไซค์ออกตัว ก็จะเข้าวงเวียนในทันที สิ่งที่มักเจอก็คือ มอเตอร์ไซค์หลายคันมักไม่อยู่ในเลนที่ตัวเองอยู่จนพ้นวงเวียน แต่จะมีดัดเลนมาทางขวาบ้างทางซ้ายบ้าง บางทีมันก็สร้างปัญหาให้รถยนต์ที่ตามมาด้านหลังเหมือนกัน เพราะหลายครั้งตัดเลนกระชั้นชิดแบบไม่สนใจว่ามีรถตามมา และแน่นอน รถยนต์บางคันก็เป็นเช่นกัน แต่โอกาสเกิดก็ยังน้อยกว่า

๒. เร่งเครื่อง บีบแตร แก้เขิน - ในเวลารถติดๆหรือเคลื่อนตัวช้าๆ ผมเชื่อว่าคนขับรถยนต์หลายคนคงหาจังหวะเปลี่ยนเลนไปเลนที่เร็วกว่า บางครั้งเราได้จังหวะ รถคันหลังของอีกเลนเว้นช่องว่างไว้มาก เป็นโอกาสให้เราเปลี่ยนเลน และมักจะพบว่าคันด้านหลังกลัวเสียเหลี่ยม เหยียบคันเร่งจี้เข้ามา และเมื่อเห็นว่าไม่ทันก็บีบแตรซะหน่อย เป็นการแก้เขินเมื่อตัวเองเสียเหลี่ยมให้รถคันหน้า

๓. ไม่เตรียมตัวเข้าเลนให้ถูก - หลายครั้ง มักเห็นรถที่พยายามปาดจากขวาสุดมาซ้ายสุดหรือตรงกันข้าม เพื่อจะไปให้เส้นทางที่ตัวเองต้องไป บางทีก็ไม่เข้าใจว่า เมื่อรู้จะไปซ้าย ทำไมไม่เตรียมตัวอยู่เลนซ้ายแต่เนิ่น ถ้าซ้ายไม่ได้ เลนถัดมาก็ยังดี นี่บางทีเหลือระยะไม่ถึง 100 เมตร จะไปซ้ายแต่ตัวยังอยู่ขวาสุด รถที่ตามมาก็ต้องเบรคไปตามๆกัน และแค่นั้นก็ทำให้เกิดรถติดสะสมได้แล้ว

๔. อยู่เลนเลี้ยวจะตรง อยู่เลนตรงจะเลี้ยว - หลายๆแยกเลนริมสุดไม่ว่าจะซ้ายหรือขวามักจะบังคับเลี้ยว ส่วนเลนถัดมาก็มักจะให้ตรงอย่างเดียว สิ่งที่พบเจอคือ คันที่อยู่ริมสุดมักคิดว่ายังไงเลนถัดไปก็ต้องตรงไป ส่วนคันที่อยู่เลนถัดมาก็มักคิดว่ายังไงไอ้คันที่อยู่ริมสุดก็ต้องเลี้ยว แต่ใจคนมักไม่ตรงกัน คนอยู่ริมจะตรง คนอยู่ถัดไปจะเลี้ยว พอมาถึงแยกพร้อมๆกัน ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุก็มักได้ยินเสียงแตรดังสนั่น คนที่เดือดร้อนคือคันหลังสิครับ ไปไหนไม่ได้

๕. ซ้ายผ่านตลอดแล้วทำไม ก็จะตรงอ่ะ - นี่คือพฤติกรรมเห็นแก่ตัวอีกอย่างที่พบเจอได้บ่อยๆ ในการจราจรที่ทางตรงมันแน่น คนมักง่ายมักจะออกไปซ้ายสุดเพื่อลักไก่ตรงไป ถ้ากะจังหวะไฟถูกก็ดีไป แต่ถ้ากะไม่ถูก พอมาถึงแยกไฟยังไม่เขียวก็ต้องจอดรอ คนตามหลังมาจะเลี้ยวก็เลี้ยวไม่ได้ เสียเวลาต้องรอคนมักง่ายอีก อย่างไรก็ดี พวกนี้มักโชคดี จอดแป๊บเดียวก็เขียวแล้ว คันหลังยังไม่ทันด่าด้วยซ้ำ

๖. มอเตอร์ไซค์ซอกแซกจะรีบไปไหน - รถติดมากๆ หรือไหลไปได้เรื่อยๆ มักไม่ค่อยมีผลกระทบกับมอเตอร์ไซค์เท่าไหร่ ก็ไหลตามๆกันไป แต่บางทีเวลาต้องการเปลี่ยนไปอีกช่องนึง มอเตอร์ไซค์หลายคันไม่ค่อยดูรถให้ดีก่อน คือนึกจะไปก็ไป ทำให้คันที่ตรงมาอยู่แล้วไม่ชนก็เบรคกันตัวโก่ง หรือบางครั้ง เจอทางม้าลายก็ไม่ยอมลดความเร็วเผื่อว่าจะมีคนข้ามถนน บางทีก็เฉี่ยวชนคนข้ามก็มี

๗. ชอบกันจริง วิ่งบนเส้นแบ่งเลน - เวลาถนนโล่งๆ รถไม่ติด บางทีก็อยากให้ชาวสองล้อวิ่งให้อยู่ในเลน มากกว่าที่จะวิ่งบนเส้นแบ่งเลน (แทรกรถติดไม่ว่ากัน) เพราะเวลารถยนต์จะแซงขึ้นหน้า มันต้องเบี่ยงหลบ แม้จะนิดเดียว แต่หากมีรถตามมาในเลนข้างๆ โอกาสเกิดอุบัติเหตุมันก็มี แต่ถ้าวิ่งในเลน รถยนต์ก็สามารถผ่านขึ้นไปตรงๆได้เลย

๘. คิดให้ดีก่อนเปลี่ยนเลน - เวลาขี่มอเตอร์ไซค์ก็เจอบ่อย รถยนต์เปิดไฟเลี้ยวเปลี่ยนเลน เราก็วิ่งขึ้นหน้าไป แต่ทันใดนั้นเลนที่กำลังจะไปกลับช้ากว่าหรืออะไรก็แล้วแต่ รถยนต์ก็หันรถกลับมาเลนเดิมอย่างกระทันหัน ก็ถึงคราวซวยของมอเตอร์ไซค์แหละครับ หากไม่อยากโดนเบียดก็ต้องเบี่ยงหลบ ดีไม่ดีจะไปเฉี่ยวกับมอเตอร์ไซค์คันอื่นเอา

๙. ดูแค่ระยะห่าง แต่อ่านความเร็วไม่ทะลุ - เวลากลับรถที่ไม่ใช่สะพานตัว u หรืออุโมงค์กลับรถ คนจะกลับรถก็มักจะต้องดูให้มันว่างก่อนจึงจะกลับรถอย่างปลอดภัย หรือเวลาจะเลี้ยวข้ามเลนก็เช่นกัน อย่างไรก็ต้องให้สิทธิ์รถในทางตรง แม้เราอาจจะคิดว่าถึงทางกลับรถก็น่าจะลดความเร็วลงหน่อยนะ แต่เท่าที่เห็น ส่วนใหญ่ดูแค่ว่างแล้ว แต่มองไม่ออกรถทางตรงมาเร็วขนาดไหน หลายครั้งก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากกรณีแบบนี้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่