*** เงินเดือนน้อย ก็มีล้านแรกได้นะคะ ***

ขอออกตัวก่อนนะคะว่า เป็นกระทู้แรก ที่เขียนแบบจริงจัง(มาก) และยาวเหยียด
หากอ่านแล้วไม่ค่อยปะติดปะต่อ ก็ขออภัยนะคะ แต่เพราะทำได้จริง ก็เลยอยากจะแชร์ประสบการณ์ค่ะ
เพราะเราเองก็ไม่เคยคิดเหมือนกันว่า เงินเดือนที่เริ่มต้นจากหลักพัน จะเดินทางมาสู่หลักล้านได้

จริงๆ เราเองไม่เคยนึกถึงเงินล้านด้วยซ้ำ คิดแค่ว่า ชีวิตนี้ไม่ลำบากก็พอใจแล้ว แล้วก็คิดว่ามีคนวัยทำงานไม่น้อยที่คิดแบบนี้เช่นกัน
แต่วันนี้เราคิดใหม่ค่ะว่า ไม่ว่าเงินเดือนจะน้อยแค่ไหน ก็มีเงินล้านได้ ถ้า "มีเป้าหมาย" ค่ะ
คือ ตั้งเป้าหมาย >> ทำตามเป้าหมาย >> และอดทน รอให้ถึงเป้าหมาย
..........................................................................
เงินหนึ่งล้านแรก เราใช้เวลาเก็บออมประมาณ 12 ปี ( ตั้งแต่ 47-สค 59)

เกิดจากการออมทีละเล็กทีละน้อยจากเงินเดือนอันน้อยนิดค่ะ
แต่เรามีรายได้พิเศษด้วย ก็ทำให้เราพอกิน พอใช้ พอเหลือเก็บค่ะ

เริ่มจาก .. 10 ปีแรก ไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลยค่ะ แต่ก็เก็บเป็นประจำนะคะ .. การออมจึงเป็นแบบออมไปเรื่อยๆ ออมไปงั้นๆ
แต่พอช่วงปี 57 เป็นช่วงที่รู้แน่ชัดว่าจะมีเงินก้อนเข้ามา(เงินบำนาญ)
จึงเริ่มศึกษาเรื่องการเงิน การบริหารการเงิน และเริ่มคิดตั้งเป้าหมายทางการเงินเป็นครั้งแรกในชีวิต(เพื่อเกษียณเป็นหลัก)
ดังนั้นการออมแบบมีเป้าหมายจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 57 นั่นเอง

ผลของการมีเป้าหมายทางการเงิน จึงทำให้เงินออมเติบโตเร็วมากกว่าตอนที่เก็บออมไปเรื่อยๆ

เงิน 1 ล้านแรก มาจาก.. เงินเก็บช่วง 10 ปีแรก 3.6 แสน / เงินบำนาญ 2.5 แสน / และเงินเก็บหลังจากได้รับเงินเดือนใหม่ 3.8 แสน
รวมแล้ว ประมาณ 1 ล้านกว่าอีกเล็กน้อย ( ณ ปัจจุบัน ประมาณ 1.2 ล้าน)

กล่าวคือ เงิน 1 ล้านแรก เกิดจากเงิน3 ก้อน
ก้อนแรก คือ ช่วงเริ่มต้นทำงานราชการ (ตั้งแต่ต้นปี47 - 57)
ก้อนที่สอง คือ ช่วงที่องค์กรออกนอกระบบราชการ(เราจึงลาออกจาก ขรก โดยเลือกรับบำนาญ)
ก้อนที่สาม ช่วงที่ได้รับเงินเดือนใหม่ และเงินบำนาญรายเดือน (ต้นปี58)

เงินก้อนแรก ประมาณปี 47 – ปลายปี 57 ที่เก็บออมได้จากเงินเดือนล้วนๆ ประมาณ 360,000 (ใช้เวลาประมาณ 10 ปี)
ตั้งแต่เริ่มทำงานราชการ เราเงินเดือนน้อยก็จริง(ประมาณ 4,700 บาท ) แต่ก็ฝากเงินที่สหกรณ์ขององค์กร
ในรูปแบบของทุนเรือนหุ้นโดยเริ่มจาก 500 บาท ตัดบัญชีทุกเดือน
และพอมีเงินช่วยค่าครองชีพจาก รบ  ก็ฝากหุ้นสหกรณ์เพิ่ม เป็น 1,000 สักระยะเวลาหนึ่งก็เพิ่มเป็น 2,000
และฝากออมทรัพย์พิเศษของสหกรณ์ด้วย เดือนละ 2,000 เช่นกัน
ทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ จนอายุงานประมาณ 10 ปี จึงมีเงินเก็บในหุ้นสหกรณ์ อยู่ประมาณสามแสนกว่าๆ
ที่จริงเงินออมทรัพย์พิเศษควรจะมีเพิ่มขึ้นด้วยแต่เพราะมีหนี้ กยศ เกือบสองแสน เงินที่ฝากในออมทรัพย์พิเศษจึงฝากไว้เพื่อใช้หนี้เท่านั้น(จึงยังไม่นับรวมเป็นเงินออม) …..

แต่ ในระหว่างช่วงปี 56 พอดีมีเพื่อนชักชวนให้ลงทุนในหุ้นเราก็เปิดบัญชีหุ้นตามเพื่อน แต่ซื้อขายไม่บ่อยและไม่มาก เพราะเงินน้อย
ซื้อสักระยะหนึ่งก็ทิ้งไว้อย่างนั้น ประมาณ 1 ปีกว่า
พอเริ่มเห็นว่าเงินจะเข้ามาเป็นก้อนใหญ่ จึงเริ่มศึกษาเรื่องกองทุนรวม เรื่องหุ้น อีกนิดหน่อย
พอมีเงินก้อนมา ก็เริ่มซื้อกองทุนและออมในหุ้น

เงินก้อนที่สอง ประมาณ 2.5 แสน เป็นเงินบำนาญ(ตกเบิก) เงินก้อนนี้เพิ่งได้มาเมื่อต้นปี 59 นี้เอง
คือเมื่อออกจากข้าราชการ(ในกรณีพิเศษ)ก็ยังสามารถเป็นพนักงานในองค์กรต่อไปได้ เราก็ได้เป็นข้าราชการบำนาญไปโดยปริยาย
โดยที่นอกจากเงินบำนาญรายเดือนแล้วก็ยังได้เงินเดือนปกติด้วย(เพราะยังทำงานต่อ)

เงินก้อนที่สามนี้ ประมาณ 3.8 แสน นับจากต้นปี 58 หลังจากออกนอกระบบเงินเดือนก็เพิ่มมากขึ้น
และบวกกับรายได้พิเศษที่ทำเป็นประจำก็ทำให้มีรายได้รวมมากขึ้นด้วย จึงตั้งใจเก็บออมไว้อย่างน้อย 50% ของรายได้รวม
(ปี 58 เงินออมเฉลี่ยที่ 60% ต่อเดือน.. ปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70% ต่อเดือน)
---------------------------------------------
อย่างที่บอกไว้ว่า.. ตั้งแต่ปี 57 ก็เริ่มศึกษาเรื่องกองทุนและหุ้น บ้าง.. พอมีเงินก้อน ก็เลยแบ่งเงินไปออมในหุ้นทุกเดือน
ตอนแรกก็เดือนละ 5,000 ออมไปเกือบปี ก็เพิ่มเงินออมในหุ้นเป็น 10,000
จนเมื่อต้นปี 59 ถึงปัจจุบัน ได้ปรับเพิ่มเป็น16,000 ต่อเดือน

ส่วนกองทุนนั้น ก่อนหน้านี้ซื้อกองทุนไม่สม่ำเสมอและซื้อหลากหลายมาก
พอต้นปี 59 จึงต้องเลือกกองทุนที่คิดว่าเราสามารถลงทุนเป็นประจำได้ต่อเนื่องหลายๆปี
สุดท้ายจึงเลือกกองทุน set50 เป็นกองที่ซื้อเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท

และยังมีพอร์ทหุ้นที่เอาไว้ซื้อขายเองอีกหนึ่งพอร์ท พอร์ทนี้ค่อยๆเติมเงินลงไปตั้งแต่ปี 55
ตอนนี้มีเงินอยู่ในพอร์ทประมาณหนึ่งแสนต้นๆ (พอเติมครบแสนแล้วหยุดเติม จะใช้วิธีซื้อๆขายๆให้อยู่ในวงเงินนี้)
ส่วนเงินสำรองฉุกเฉิน(ที่เขาว่าควรมีไว้) ก็นำเงินที่ได้จากบำนาญเก็บไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่าย เก็บไว้ในตราสารหนี้ ค่ะ


สรุป คือ  เงินล้านแรกแทบจะไม่ได้เก็บเป็นเงินสดเลยค่ะ จะเก็บไว้ในกองทุน และหุ้น เป็นส่วนใหญ่ (ถ้าไม่มีความรู้เลย ไม่แนะนำนะคะ เราเองก็รู้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่แค่ไม่อยากฝากแบ้งค์ค่ะ)
ที่มาของเงินเดือนปัจจุบัน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ปัจจุบัน เงินเดือน  : 23,000
เงินจากการทำงานพิเศษ  :  6,000
เงินบำนาญ         : 9,000 (ได้เท่านี้เพราะเงินเดือนน้อยด้วย และอายุราชการก็น้อยด้วย แค่ 10 ปี)

ทุกวันนี้พอเงินเดือน + เงินบำนาญรายเดือน ออก สิ่งที่ต้องทำคือ “โอนเงิน”
1. หุ้นสหกรณ์ 2,000บาท (หักบัญชีอัตโนมัติ)
2. ออมทรัพย์พิเศษ 2,000บาท (หักบัญชีอัตโนมัติ)
3. บัญชีออมหุ้น 16,000บาท
4. กองทุน set 50 3,000 บาท
5. โอนเงินที่เหลือก่อนเงินเดือนออก(ถ้ามี)ไปบัญชีออมทรัพย์อีกบัญชีหนึ่ง

นี่คือที่ต้องเก็บทุกเดือนเป็นเบื้องต้นค่ะ (เดือนละ 22,000 โดยประมาณ) ส่วนที่เหลือก็จัดสรรปันส่วนในการใช้จ่าย
โดยการจดบัญชีรับจ่ายและเงินออม ทำให้เรารู้ว่าเราได้มาเท่าไหร่ ออมไปแล้วเท่าไหร่ จ่ายเท่าไหร่คงเหลือสิ้นเดือนเท่าไหร่


ซึ่ง .. ภายหลังพบว่า แม้จะทำการออม และใช้จ่ายเป็นปกติแล้ว ตอนสิ้นเดือนก็ยังมีเงินคงเหลืออยู่อีก
ก็เลยไปเปิดบัญชีออมทรัพย์มาอีกหนึ่งเล่ม ไม่ทำเอทีเอ็ม (ใช้แบ้งค์เดียวกันกับ บ/ช เงินเดือน เพื่อสะดวกในการโอนย้าย)
พอวันเงินเดือนออก .. เงินที่เราเหลือก่อนเงินเดือนออกมีเท่าไหร่ ก็จะโยนเข้า บ/ช อีกเล่มทันที (ใช้ i-banking)
ให้เงินในเอทีเอ็ม มีแต่เงินของเดือนนี้เท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือการออมเงินของเราค่ะ

ความเห็นส่วนตัว
จะเงินเดือนน้อย หรืออายุมากแล้วหรือแม้แต่มีเป็นหนี้ .. เราคิดว่าสามารถเริ่มออมได้เสมอ "เริ่มออมเมื่อไร ก็เริ่มมีเมื่อนั้น"
ถ้าได้เงินก้อนมา อาจจะเป็นเงินโบนัส เงิน OT  เงินตกเบิก หรือเงินพิเศษอื่น ๆ ..  เราก็ไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ให้หมด
อาจจะเอาไปใช้หนี้บางส่วน หรือเอาไปซื้อของที่อยากได้บางส่วน ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้บ้าง

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจเป็นเพราะเราคิดว่า หนี้ กับ เงินออม มันเป็นคนละส่วนกันเป็น คือ มีหนี้ก็ต้องใช้หนี้.. (ถูกแล้วนะคะ)
แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเก็บออมด้วย จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่กำลังของเราค่ะ
หลักการออมของเรา มีแค่ว่า.. เงินที่มองไม่เห็น คือเงินที่ไม่ได้ใช้

** หมายเหตุ **
ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เก็บเงินได้ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก(เมื่อเทียบกับเงินเดือนที่ได้รับ)
เพราะ ไม่มีค่าผ่อนบ้าน ไม่มีค่าผ่อนรถ ..( คือ ไม่มีบ้านและรถยนต์เป็นของตัวเองนั่นแหละ)

เราคิดว่าตัวเองเป็นคนโชคดีคนหนึ่ง.. ที่ครอบครัวไม่ทิ้งภาระอะไรให้เลย(มีแต่หนี้สินส่วนตัวเล็กน้อย)
และเราเองก็ไม่มีครอบครัว (ภาระเรื่องครอบครัวหรือลูกจึงไม่มี)
เหล่านี้ถือว่ามีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้เก็บออมได้อย่างเต็มที่ใช้จ่ายได้อย่างที่เราต้องการและควบคุมได้
ไม่ค่อยมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายว่าจะเพียงพอในการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนหรือไม่


ป.ล.1 การเร่งออมนี่ เหนื่อยเหมือนกันนะคะ  นี่ขนาดไม่มีภาระอะไรเลยนะ แค่เงินเดือนน้อยอย่างเดียวเท่านั้นเอง
แต่ก็เพราะ เราคิดออมเงินช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่มีใครสายเกินออมนะคะ

ป.ล. 2  บางคนอาจคิดว่าแล้วเราไม่เที่ยว ไม่หาความสุขใส่ตัวบ้างเลยรึไง
ขอบอกว่า เที่ยวค่ะ แต่ก็ตามอัตภาพ แค่เป็นคนเที่ยวไม่บ่อยเท่านั้นเอง

เราก็มีของที่อยากได้นะคะ ถ้าเป็นของชิ้นใหญ่ ก็ใช้วิธีกู้เงินสหกรณ์มาซื้อค่ะ แต่ยอดกู้จะไม่เกิน 100,000 และจะใช้ให้หมดภายใน 1-2 ปี
ดอกเบี้ยสหกรณ์ ถูกจะแย่ .. ตอนโปะในวันเงินเดือนออก ก็ไม่เสียดอกเบี้ย แถมตอนปันผลก็ได้เฉลี่ยคืนอีกด้วย
สหกรณ์นี่ ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขขึ้นนเยอะเหมือนกันค่ะ
แต่ตอนนี้อยู่ใน ระยะปลอดหนี้ ค่ะ

ป.ล.3  มันเป็นความโชคดี.. ที่เราขอเรียกว่า " จังหวะชีวิต" นะคะ
ที่เรารับราชการมา 10 ปี แล้วมีการออกนอกระบบช่วงนั้น เราจึงออกจากราชการได้โดยที่สามารถเลือกรับบำนาญได้
เพราะตอนรับเริ่มราชการ ก็ตั้งใจว่าจะทำงานจนเกษียณ จะได้รับเบี้ยหวัดบำนาญด้วย
แต่อย่างที่บอก มันเป็นจังหวะชีวิตค่ะ พอดีมันเป็นขาขึ้น

(เพิ่มเติม) ป.ล.4  เราไม่ซื้อบ้าน เพราะตอนเงินเดือนหมื่นกว่าบาท น่าจะกู้ไม่ได้ แล้วก็ไม่อยากกู้ด้วย
(ตอนปี 56 ฐานเงินเดือนแค่ 13000 เองค่ะ)
ฐานเงินเดือนแค่นี้ เราไม่อาจหาญพอที่จะไปสร้างภาระบ้าน หรือ รถ  ที่บางคนคิดว่าจำเป็นต้องมี
เราก็แค่อยู่กับสิ่งที่เรามี แม้จะไม่ได้ใหญ่โต หรูหรา พอแค่ให้มีที่หลับที่นอน ก็อยู่ได้ค่ะ

เราเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า "ถ้าอะไรที่เป็นของเรา ยังไง ๆ ก็ต้องเป็นของเรา" แต่วันนี้.. ยังไม่ใช่ค่ะ

** แต่เรามีรถนะ แต่เป็นรถเครื่อง มีตอนปี 54 เพราะเหนื่อยกับการรอรถเมล์มาก
ซึ่งก่อนหน้าคิดจะซื้อรถยนต์มืองสอง หลักแสน แต่ดันรับไม่ได้กับเงินที่จะต้องจ่ายหลังมีรถ
เพราะรู้สึกว่าเยอะเกินไป และคิดว่าไม่จำเป็นขนาดนั้น
ไป ๆ มา ๆ เลยได้รถเครื่องมา แต่ไม่ผ่อนไฟแนนซ์ ใช้วิธีซื้อสด โดยกู้เงินสหกรณ์ แล้วจ่ายสหกรณ์แทน
แล้วก็ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบันค่ะ

ขอจบดื้อๆ นะคะ ..
ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ ขอให้โชคดีมีเงินล้านทุกท่านเลยค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 54
"สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นโคลนตม
อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย"

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่