คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นอุบ้ติเหตุอันสุดวิสัย เป็นการต่อสู้ทางคดีอย่างปกติและเป็นธรรมจริงหรือ ?

กระทู้คำถาม
05.30 น.   วันที่ 3  กันยายน 2555     ซอยสุขุมวิท 47
เฟอรารี  ทะเบียน ญญ 1111 กทม.  พุ่งชนมอร์เตอร์ไซด์ออกมาจากซอยเสียชีวิต

ชนแล้วลากศพพร้อมจักรยานยนต์ไปไกลเกือบ 200 เมตร แล้วหลบหนีเข้าบ้านพักเลขที่ 9 ภายในซอยสุขุมวิท 53
ต่อมาพบว่าบ้านพักหลังดังกล่าวเป็นของ “เฉลิม อยู่วิทยา” เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง

ผู้เสียชีวิตคือ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อายุ 47 ปี ผบ.หมู่ ป.ของ สน.ทองหล่อ

แรก ๆ ก็มีการเปลี่ยนตัวคนขับ  แต่เมื่อเกรงว่าจะโดนข้อหาเพิ่ม
คนขับตัวจริงจึงได้ยอมเข้ามอบตัวกับเจ้าพนักงาน



แล้วความแปลกแปร่งแห่งคดีก็ค่อย ๆ ปรากฎขึ้น  
เริ่มจากการทำสำนวนสรุปคดีล่าช้า  จนความผิดบางกระทงขาดอายุความ

ตามด้วยตำรวจและอัยการไม่ฟ้องข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด  และข้อหาเมาแล้วขับ

ขับเร็วเกิดกำหนดหรือไม่  ตำรวจก็เชื่อพยานว่า ขับไม่เร็ว
โดยไม่พิจารณาดูสภาพรถ   เฟอรารีคันเกิดเหตุ  หน้ารถยุบ  กระโปรงรถโค้งงอ  กระจกหน้าร้าวเกือบทั้งแผ่น

หากไม่ชนแรง  ไม่เกิดร่องรอยขนาดนี้   
หากไม่ขับเร็ว  ไม่ชนแรงขนาดนี้

พยานหลายปาก  ผู้เชี่ยวชาญ   ต่างเห็นตรงกันว่า   ขับมาเร็วไม่ต่ำกว่า 170 กม./ขม.

แต่สรุปในสำนวนหน้าตาเฉยว่า  มีพยานบอกขับไม่เร็วเกิดกำหนด


เรื่องเมาหรือไม่
ตำรวจสรุปในสำนวนหลังการตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดว่า  เป็นการ "เมาหลังขับ"

อ้างว่า  ผู้ชน  ชนแล้วตกใจ คิดมาก  จึงดื่มสุราก่อนเข้ามอบตัวกับเจ้าพนักงาน

นี่ความผิดปกติอย่างยิ่งในการทำสำนวน
เพราะตามกฎหมาย  หากผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ยอมเข้าพบเจ้าพนักงาน
หรือมีพฤติการณ์บ่ายเบี่ยงในการตรวจสาเหตุ  เจ้าพนักงานสามารถตั้งข้อหาตามข้อเท็จจริงที่สันนิษฐานได้ทันที
กรณีนี้  สามารถตั้งข้อหาเมาแล้วขับได้อย่างชิว ๆ เพราะองค์ประกอบทางคดีครบสมบูรณ์

แต่ดันทำสำนวนว่า  "เมาหลังขับ"

ไม่ฟ้องข้อหาขับเร็ว  ไม่ฟ้องข้อหาเมาแล้วขับ   แต่ฟ้องข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต..........
ความย้อนแย้งก็ปรากฎทันที

ไม่เร็ว ไม่เมา  ก็กลายเป็นเหตุสุดวิสัย
ชนแล้วลากไปไกลสองร้อยเมตร  อ้างได้ว่าตกใจ  ไม่รู้มีรถมีคนตอดอยู่

เรียกว่า  สำนวนอ่อนยวบ    เหมือนช่วยผู้ต้องหาให้ได้รับโทษน้อยที่สุด  นั่นคือ รอลงอาญา
(คดีแบบนี้  หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริง ๆ  ไม่เมา  มีการแสดงความรับผิดชอบตามความเหมาะสม  รอลงอาญาทั้งนั้น)



เยียวยา 3 ล้าน  เหมาะสมหรือไม่ ?

ตำรวจผู้ตาย   อายุ 47 ปี  เหลืออายุราชการอีก 13-14 ปี   
หลักคณิตศาสตร์ง่าย ๆ   ตีว่าเงินเดือน+เบี้ยเลี้ยง  เดือนละ 30,000 บาท  ก็ตกปีละ 360,000 บาท

14 ปี  ก็ห้าล้านกว่าบาท !!!
มากกว่า 3 ล้านไปเยอะแล้ว !!!


ไม่นับว่าเงินเดือนต้องขึ้นทุกปี   ไม่นับผลประโยชน์อื่น ๆ   ไม่คิดเรื่องอัตราเงินเฟ้อ  และอื่น ๆ

ด้วยหลักคณิตศาสตร์ง่าย ๆ อย่างนี้   การเยียวยาควรไม่น้อยกว่า 8 ล้านบาท
ซึ่ง 8 ล้านบาทสำหรับมหาเศรษฐี  ไม่มากเลย   ไม่ใช่แค่เศษเงิน 3 ล้านบาท



เรื่องทางคดี
มีการทำสำนวนล่าช้า  จนเป็นเหตุให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพนักงานสอบสวนหลายคน

ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาหรือไม่   เป็นการ "ค้าสำนวน" หรือไม่
เพราะสำนวนอ่อนเหลือเกิน   เป็นการสรุปสำนวนทางคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาเกินไป

ไม่คัดค้านการประกัน  ทั้งที่ชนแล้วลากหนี  ชนแล้วหนี  
ไม่คัดค้านการเดินทางไปต่างประเทศ

เลื่อนสั่งคดี เลื่อนส่งฟ้องหลายครั้ง  โดยการอ้างว่าผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม

จริงอยู่  การขอความเป็นธรรม  การต่อสู้ทางคดี  เป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ต้องหา
แต่เหตุแห่งการเลื่อนคดีสร้างความเคลือบแคลงให้สังคมเหลือเกิน

ร้องขอความเป็นธรรมได้  แต่ไม่ใช่ว่าต้องให้โอกาสเสมอไป  หรือสามารถดำเนินการเรื่องที่ขอความเป็นธรรมอย่างรวดเร็วได้
ไม่ใช่เลื่อนซ้ำซาก   ร้องอะไรมา   รับฟังหมด

คดีมีอายุความ 15 ปี   นี่หมดไปแล้ว 5 ปี  แต่คดียังไม่ถึงศาล
(เทียบกับคดีสามสี่วันก่อน ชนแล้วลากสาววัยรุ่นล่าสุดที่ลำพูน  ตำรวจบอกจะส่งฟ้องภายในสามวัน)



คดีนี้   มองมุมไหน  พิจารณาอย่างไร   ก็มองไม่เห็นความปกติ

ชนแล้วลาก  หนีเข้าบ้าน   ขับไม่เร็ว  เมาหลังขับ   เลื่อนคดีซ้ำซาก   เยียวยาไม่เหมาะสม
(การเยียวยาในคดีอื่น ๆ  ที่ไม่เรียกร้องกันมาก  แค่หลักหมื่นหลักแสน  นั่นก็เพราะความเมตตาเห็นอกเห็นใจกัน
  ผู้ชนก็ไม่มีฐานะ  ญาติผู้ตายก็เห็นใจ  ไม่เรียกร้องมากเกินไป - อย่างคดีแพรวา ไม่เยียวยาสักบาท อยากได้ฟ้องเอา)


มีบางคนเถียงว่า  เป็นอุบัติเหตุ  ไม่มีใครอยากให้เกิด   จะอะไรนักหนา
จะมาร่ำไรอะไรกับทายาทกระทิงแดง  ทีทักษิณที่หลอกคนมาตาย  ที่หนีไปต่างประเทศ  ทำไมไม่ตามจี้บ้าง

มันคนละเรื่องเลย   คนละเหตุ   คนละกรณีเลย
เป็นการใช้ตรรกะพิการมาเถียงแบบเด็กเถียงเอาชนะเท่านั้นเอง



เป็นอุบัติเหตุจริง  เพราะไม่มีใครหรอกจะขับรถชนคนตายโดยเจตนา
แต่เมื่อเกิดเหตุแล้ว  ควรกล้ารับผิดชอบ  รับผิดชอบอย่างเต็มที่  ไม่ใช่หนี  ไม่ใช่อ้างบ๊วย ๆ ว่า  อุบัติเหตุจะเอาอะไรนักหนา

ที่สำคัญ  คือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่สังคมเขาตำหนิ  ไม่ได้ตำหนิผู้ต้องหา

เรื่องนี้   หากชน  แล้วแค่จอดรถ  ลงมาดู  แจ้งความ  แสดงความกล้าหาญรับผิดชอบ
เป็นเรื่องพูดคุยกันได้   สังคมก็จะเห็นใจ   ไม่เพ่งเล็งเรื่องสองมาตรฐานทางกฎหมาย

หากเจ้าพนักงานจะทำสำนวนว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย  ไม่เมา  เยียวยาแล้วตามสมควร
เรื่องจบไปนานแล้ว

เพราะเรื่องแบบนี้  เกิดอยู่ทุกวัน   เป็นคดีทุกวัน   ไม่เห็นมีใครติดคุก   ยกเว้นเหลือรับจริง ๆ




คดีนี้   สังคมไม่ได้ตำหนิผู้ต้องหาเท่าไรหรอกครับ   แต่ตำหนิเจ้าพนักงาน
ซึ่ง สตช. และ สำนักงานอัยการ  ควรมีคำตอบให้สังคม  นั่นคือดำเนินการทางคดีอย่างเป็นธรรมซะที

จะห้าปี  แต่ไม่ถึงไหนอยู่อย่างนี้   เกินไปครับ
ถีบขาคู่
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การเมือง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่