ขอรวมกระทู้เดียวเลย สตาร์ต ฟองสบู่แตก BTSกินรวบ น่าจะไป 10 บาทได้แล้ว

ฟองสบู่ "สตาร์ตอัพ" บทเรียนใหม่จาก "ซิลิคอนวัลเลย์"

ย้อนหลังไปเพียงแค่ 18 เดือน มีคำเตือนกันว่าใครที่เดินทางไปปักหลักทำมาหากินอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ในย่านเบย์แอเรียของนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ควรมีเงินติดตัวระหว่าง 8,000-10,000 ดอลลาร์ (ราว 280,000-350,000 บาท) เป็นอย่างน้อย เพราะนั่นคือค่ามัดจำล่วงหน้า 1 เดือนสำหรับเป็นค่าเช่าที่พัก ขนาด 2 ห้องนอน ที่นั่นไม่มีการต่อรองเด็ดขาด เพราะหากไม่ยอมจ่ายยังมีคนที่เข้าคิวอยู่ด้านหลังอีกนับสิบที่พร้อมที่จะจ่ายค่าเช่าบวกมัดจำตามราคาที่ว่านั้น

แต่หลังจากราคาห้องเช่าสำนักงาน ที่นั่นถีบตัวสูงขึ้นอย่างเจ็บปวด ตอนนี้กลับอยู่ในระดับทรงตัว ทรง ๆ อยู่แบบ "เหี่ยวแห้ง" ลงตามลำดับแบบเดียวกับฟองสบู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ซิลิคอนวัลเลย์

เพราะถึงตอนนี้บรรดา "วีซี" (เวนเจอร์แคปิตอล-ธุรกิจร่วมลงทุน) ทั้งหลายให้ความสนใจลงทุนน้อยลง มูลค่าของสตาร์ตอัพต่าง ๆ ลดร่วงลงตามลำดับ ส่งผลให้การจ้างงานลดจำนวนลงตามไปด้วย

มาร์ก ไดแนน เจ้าของธุรกิจซอฟต์แวร์รีครูตเตอร์ในย่านเบย์แอเรีย ซึ่งเกาะติดการว่าจ้างและไล่ออกจากงานของบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์บอกว่า ตอนนี้ใบสมัครพร้อมประวัติการทำงานของวิศวกรซอฟต์แวร์ที่มากองอยู่ที่บริษัทมากที่สุด เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์จากบริษัทที่โมเดลธุรกิจ ไม่ได้ผล และหาเงินทุนสนับสนุนไม่ได้

สตาร์ตอัพพวกนี้หมดเงิน หมดสายป่าน เพราะบรรดาวีซีทั้งหลายเริ่มจำแนกแยกแยะ เลือกเฟ้นการลงทุนของตัวเอง ลงทุนน้อยบริษัทลด ไม่หว่านไปทั่วเหมือนก่อนหน้านี้ แต่เพิ่มเดิมพันของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม

โทมาสซ์ ทังกัซ ตัวแทนของ "เรด พอยต์" หนึ่งในธุรกิจวีซีที่นั่น เปิดเผยว่า จำนวนการลงทุนในตลาดลดลงราว 1 ใน 3 แต่จำนวนเงินรวมยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับเดิม ในเวลาเดียวกัน ทังกัซตั้งข้อสังเกตว่า "เงินด่วน" ทันใจจากกองทุนประเภทเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) และกองทุนรวมทั้งหลายก็เริ่มหันหน้าหนีไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ แทน

แอสวัธ แดโมดารัน ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากสำนักบริหารธุรกิจสเติร์นยืนยันตรงกันว่า สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว ตอนนี้การระดมทุนไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน วีซีเริ่มตั้งเงื่อนไขมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบมากกว่าเดิม

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่บรรดาบริษัทสตาร์ตอัพต่างๆ ตบเท้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์น้อยลง ชะลอลงมาก ข้อมูลของบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า เมื่อปีที่แล้วเป็นปีที่มีการเสนอขายหุ้นใหม่ครั้งแรก หรือที่เรียกว่า การทำไอพีโอน้อยที่สุดในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นต้นมา เม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปี 2016 ลดลงมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณเมื่อปี 2015 ที่สำคัญก็คือ บริษัทจากซิลิคอนวัลเลย์ที่ทำไอพีโอก็ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จ



ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไอพีโอของบริษัทจาก ซิลิคอนวัลเลย์ไม่ได้ประสบความสำเร็จใหญ่โตใด ๆ เลย จนกระทั่ง "สแนป อิงค์" (เจ้าของสแนปแชท, สเปคตาเคิลส์ และบิทโมจิ เป็นต้น) ทำไอพีโอเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และสแนปจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของซิลิคอนวัลเลย์ แต่เป็นบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในลอสแองเจลิสต่างหากอีกด้วย

ซีบี อินไซท์ บริษัทที่ติดตามกิจการสตาร์ตอัพในซิลิคอนวัลเลย์มาตั้งแต่ปี 2015 พบว่าสัดส่วนของบริษัทขาลง หรือ "ดาวน์ราวนด์สคอมปะนี" ซึ่งหมายถึงบริษัทที่ระดมทุนด้วยการขายหุ้นตัวเองในราคาต่ำลงกว่าการระดมทุนครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้มูลค่ารวมของบริษัทลดลงตามไปด้วย มีเพิ่มมากขึ้นเป็นราว 20 เปอร์เซ็นต์ของกิจการทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ 95 เปอร์เซ็นต์สามารถระดมทุนได้ในราคาสูงขึ้นกว่าเดิมตลอด

ดาวน์ราวนด์สคอมปะนีเหล่านี้มีทั้งกิจการชื่อดังอย่างเซเนฟิทส์,โฟร์สแควร์ เจ้าของแอปพลิเคชั่น โฟร์สแควร์ บนสมาร์ทโฟน หรืออาร์ดิโอ บริษัทให้บริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์

นอกจากนั้น ยังมีบางกิจการที่ถูกตีมูลค่าไว้เป็นหมื่น ๆ ล้านดอลลาร์ อาทิ แอร์บีเอ็นบี หรืออูเบอร์ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการตีมูลค่าไว้สูงเกินจริง แต่ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นจริงหรือไม่จนกว่าบริษัทเหล่านี้จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วถูกบังคับให้เปิดเผยรายละเอียดทางการเงินของบริษัท เป็นต้น

มาร์ก ไดแนน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า บรรยากาศและสถานการณ์ในเวลานี้คล้าย ๆ กับเมื่อครั้งที่เกิดภาวะหุ้นเทคโนโลยีถล่มครั้งใหญ่ที่เรียกกันว่า "ดอตคอมแครช" เมื่อปี 1997 ตั้งแต่การได้เห็นกิจการสตาร์ตอัพที่มูลค่าสูงเกินจริง, การลงทุนให้เงินทุนสนับสนุนที่ขึ้นอยู่กับการคาดหวังและความฝันมากกว่าโมเดลธุรกิจ การให้ความสำคัญกับความสนใจต่อเทคโนโลยีมากกว่าผลกำไร เรื่อยไปจนกระทั่งถึงพฤติกรรมย่ำแย่ของผู้บริหาร (ตัวอย่างเช่น ข้อกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศของผู้บริหารอูเบอร์ หรือการหลอกฝึกงานของเซเนฟิทส์ ที่ทำธุรกิจจัดหาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น) ที่สะท้อนถึงการขาดวินัยภายในบริษัท เป็นต้น

ศาสตราจารย์แอสวัธ แดโมดารัน เตือนเอาไว้เหมือนกันว่า ดอตคอมแครชนั้นเกิดขึ้นฉับพลัน ไม่มีการเตือนล่วงหน้า ยากที่จะหาใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ถึงแม้ว่าหลังเกิดขึ้นมาแล้วจะมีหลายต่อหลายคนอ้างว่ารู้ก็ตาม

เพราะถ้าใครคาดการณ์ได้จริง ๆ ป่านนี้คงรวยไม่รู้เรื่องไปแล้ว แทนที่จะนั่งหน้าเหี่ยวหน้าแห้งไปตาม ๆ กัน

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1490174023

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่