จะเถียงกันไปทำไม ในเมื่อคำสอนในพระพุทธศาสนามีไว้เพื่อปฏิบัติ

เคยมีความสังสัยไหมครับว่า
ทำไม กลุ่มคนบางกลุ่มที่ชอบอ้างว่าต้องการกำจัดอลัชชี หรืออ้างว่าต้องการให้มีการปฏิรูปศาสนา
โดยยกวาทกรรมของพระบางรูปมาโจมตี หรือยกบางส่วนในพระไตรปิฎก (โดยไม่ดูบริบทที่พระพุทธองค์กล่าว) มาโจมตีฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วย
ซึ่งการกระทำเหล่านี้แท้จริงแล้วต้องการอะไร
แม้ในกรณีของวัดพระธรรมกายก็เช่นกัน หากจะเถียงกันว่าวัดสอนผิดหรือสอนถูก ก็พอจะเห็นแนวโน้มที่กล้ายืนยันได้ว่า ถึงจะกางพระไตรปิฎกถกเถียงกันไปอีกร้อยปีพันปี ก็ยังตัดสินไม่ได้ว่าสอนผิดหรือสอนถูก
เพราะทุกอย่างที่วัดพระธรรมกายสอนนั้น ไม่ว่าจะโจมตีกล่าวหากันอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงก็คือ ทุกคำกล่าวหาล้วนมีคำแก้ต่างที่อ้างอิงจากพระไตรปิฎกได้ทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานก็ยังมีร่องรอยอยู่ในพระไตรปิฎก (ปหาราทสูตร) มันจึงไม่ง่ายที่จะมายัดเยียดกันว่าใครสอนผิด หรือตัดสินให้จะแจ้งว่าใครสอนถูกกว่ากัน
ขณะที่การถกเถียงในเรื่องนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้แค่นั่งฟังพระสงฆ์ทะเลาะกัน นั่งดูฆราวาสถกเถียงกับพระสงฆ์ โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อันใดในการพัฒนาสติปัญญาและคุณภาพชีวิตเลย
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการตั้งโจทย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ถูกต้องมากกว่าจะมานั่งจับผิดกันอย่าเปล่าประโยชน์
เพราะโจทย์ที่สังคมต้องการคือ
ทำอย่างไรการเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึงจะมีทั้ง
1. ความถูกต้อง
2. ความเข้าใจสังคม
3. ความเข้าถึงปัญหาชีวิตคนได้จริง
จนถึงขั้นสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองได้จริง
ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และจิตใจได้อย่างเป็นรูปธรรม
หากตอบโจทย์นี้ไม่ได้ ชีวิตของประชาชนก็ไม่ดีขึ้นจริง เขาก็ไม่รู้ว่าจะศรัทธาคำสอนนั้นต่อไปเพื่ออะไร
แต่ถ้าตอบโจทย์นี้ได้ เขาก็มีความเชื่อมั่นว่า วิธีการในทางธรรมสามารถนำไปแก้ไขปัญหาชีวิตในทางโลกได้จริง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาในด้านสังคม เศรษฐกิจ และจิตใจในทางที่ดีขึ้นได้จริง เขาก็ยังคงศรัทธาต่อไป และยกระดับศรัทธาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมถึงยังช่วยเป็นกำลังในการเผยแผ่ให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย
นี่คือโจทย์ที่สังคมต้องการคำตอบจากพระพุทธศาสนาในเวลานี้ ถ้าพระพุทธศาสนาตอบโจทย์นี้ไม่ได้ และมีศาสนาอื่นเขาตอบได้ดีกว่า ประชาชนก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงศรัทธาจากพระพุทธศาสนาได้เช่นกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่