รัฐบาลโต้อุปถัมภ์อิสลามมากกว่าพุทธ เตือนพวกกุข่าวหยุดบ่อนทำลาย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนพวกกุข่าวรัฐอนุมัติงบช่วยอิสลามมากกว่าพุทธ หยุดบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ยันไม่จริง แนะชาวบ้านอย่าหลงเชื่อ ชี้งบสร้างมัสยิดนนท์ ของ อบจ. ส่วนที่นครศรีธรรมราช อนุมัติสร้างมาตั้งแต่ยุค “ยิ่งลักษณ์” เพิ่งเสร็จ แถมปูดเงินเดือนโต๊ะอิหม่ามมั่ว


       
วันนี้ (18 มี.ค.) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อความในสังคมออนไลน์ ระบุ รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจำนวนมาก สร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดหลายจังหวัด เช่น จ.นนทบุรี และ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมกับให้เงินเดือนโต๊ะอิหม่ามเดือนละ 18,000 บาท และคณะกรรมการมัสยิดทุกคน แต่ไม่เคยสนับสนุนการสร้างวัด

โดยพยายามเชื่อมโยงให้สังคมรู้สึกให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลาม มากกว่าศาสนาพุทธ ว่า รัฐบาลมีหน้าที่อุปถัมภ์ดูแลทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกคนมีความรักใคร่กลมเกลียว เอื้ออาทร และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น ข้อความที่มีการแชร์ต่อกันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ จึงขอเตือนผู้ไม่หวังดีหยุดสร้างกระแสบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ส่วนพี่น้องประชาชนก็จะต้องใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร อย่าหลงเชื่อ และไม่ส่งต่อ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยไม่รู้ตัว
       
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายเรื่อง เช่น การสร้างมัสยิดที่ จ.นนทบุรี นั้น เป็นงบประมาณ ส่วนท้องถิ่น ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ใช่งบประมาณของรัฐบาลส่วนกลาง

ส่วนมัสยิดที่ จ.นครศรีธรรมราช มีการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2555 โดย ครม. ในขณะนั้น แต่มาแล้วเสร็จในปี 2559 ขณะที่ภาพของโรงเรียนอิสลามขนาดใหญ่บนเขายายเที่ยง แท้จริงแล้วตั้งอยู่ที่เขตลาดพร้าว กทม.

นอกจากนี้ อัตราค่าตอบแทนของโต๊ะอิหม่ามที่มีการเผยแพร่ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน โดยระเบียบ มท. ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม คอเต็บ และ บิหลั่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 กำหนดให้บุคคลดังกล่าวมีค่าตอบแทนระหว่าง 1,000 - 3,500 บาทต่อเดือน ไม่ใช่ 18,000 บาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง
       
“งบประมาณการก่อสร้างมัสยิดโดยส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค ส่วนการสร้างวัดนั้นทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนบางส่วนร่วมกับผู้มีจิตศรัทธา ขณะที่กรมการศาสนาก็มีบทบาทสนับสนุนศาสนาอื่นๆ ด้วย เช่น คริสต์ ซิกข์ ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่ขอรับความอนุเคราะห์ด้านการจัดกิจกรรมมากกว่าการก่อสร้างศาสนสถาน” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

www.manager.co.th
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่