เกร็ดความรู้จาก "แต่ปางก่อน" ว่าด้วยเรื่อง "คนต่างถิ่นในวังเจ้านายสยาม"

สวัสดีค่ะ

ดื่มดำกับละครในตำนาน "แต่ปางก่อน" ไปแล้วตอนแรก

เรื่องอุปสรรครักของ "ท่านชายรังสิธร" กับ "เจ้านางม่านแก้ว เจ้าหญิงจากฝั่งลาว"

เราสังเกตเห็นบ้างแล้วว่าในงานเลี้ยงต้อนรับการกลับมาของท่านชาย

เมื่อม่านแก้วในชุดพื้นเมืองเดินถือซอสามสายเข้างาน สายตาของผู้คนที่จ้องมอง มองด้วยความแปลกประหลาด และมีเสียงซุบซิบตามมา

เราได้คะเนว่าเป็นสายตาในแง่ลบ แสดงว่าผู้คนต่างมีอคติต่อหญิงสาวต่างถิ่นต่างภาษา

นอกจากนี้ หม่อมพเยีย หม่อมแม่ของท่านชายแสดงออกถึงความรังเกียจเจ้านางม่านแก้วอย่างยิ่ง สาเหตุว่า "เป็นหญิงต่างชาติ ต่ำศักดิ์กว่า แม้จะเกิดในฐานะเจ้านาง และไม่ยินยอมที่จะให้ลูกชายไปเกี่ยวดองใดๆทั้งสิ้น"

ในอดีตสังคมไทย ความคิดอคติคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมในวังเจ้านายไทยมีให้เห็นในเรื่องเล่า และบันทึกของเจ้านาย

ยกตัวอย่างเช่น



เรื่องของ เจ้าดารารัศมี พระราชยาใน รัชกาลที่ ๕
เจ้าดารารัศมี เมื่อมาประทับอยู่ในฝ่ายใน พระองค์ยังรักษาธรรมเนียมบ้านเกิดของตน ภายในตำหนักข้าหลวงแต่งกายนุ่งซิ่น และปรุงอาหารแบบล้านนา ประหนึ่งนครล้านนาย่อมๆในฝ่ายใน
แต่มีเรื่องเล่าถึงความไม่สบายพระทัยของพระองค์ ที่ต้องเผชิญกับความอิจฉาริษยาในฝ่ายใน มีหลักฐานปรากฎไว้ว่า

"ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในพระบรมมหาราชวังซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แม้จะเป็นที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าหลวง แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งจากเหล่าสนมนางในคนอื่นที่อิจฉาและโดนดูถูกว่าเป็นเจ้า "ลาว" (คนสยามภาคกลางสมัยนั้นมองว่าคนเหนือรวมกันหมดว่าเป็นลาว) มีการกลั่นแกล้งสารพัดเหมือนกับละครน้ำเน่าในสมัยนี้เช่น เอาหมามุ่ยใส่ในห้องน้ำ เอาอุจจาระมาทิ้งในตำหนัก ไม่รวมการล้อเลียนซุบซิบต่างๆ นานา"

ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึง เจ้าพระยายมราช( ปั้น สุขุม) ลงวันที่ ๒0 พศจิกายน ร.ศ ๑๒๘ เกี่ยวกับเรื่องการจัดการรับเสด็จพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งเสด็จกลับจากภาคเหนือ มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบกันในพระราชสำนักฝ่ายในมีความตอนหนึ่งว่า...

"...ถ้าหากว่าเป็น(ข้อความถูกคัดออก)จะไม่พูดเลยเป็นอันขาด เพราะถ้าพูดขึ้นคงว่าบ้า หน้านิ่วคิ้วขมวดต่างๆ แต่นี่เป็นเจ้าพระยายมราช เห็นดีอย่างไรก็พูดกันตามตรง ทางดารานั้นเมื่อมาตามทางหัวเมือง ทุกๆเมืองเขาได้ต้อนรับได้บายศรีทำขวัญ แลมีการเล่นบางอย่างมาตามลำดับ แต่ครั้นเมื่อมาถึงพระนครจะหน้านิ่วกุดกันแจ ก็ไม่เห็นว่ามีประโยชน์อันใด เป็นแต่สะใจผู้คิดทำเช่นนั้น ได้ปลื้มครู่เดียว ถ้าใจไม่ขี้เกียจเสียถึงขนาด ก็จะออกรำคาญได้บ้าง เพราะฉนั้นในหัวเมืองมณฑลพระนครนี้ไม่มีที่แวะแห่งใด จะตรงมาขึ้นแพหน้าวัดราชาธิวาศที่เดียว ถ้าหากว่าเจ้าพระยายมราชมารับที่แพ จะตกแต่งแพด้วยใบไม้ใบไล่บ้างเล็กน้อยคงจะเป็นที่ชื่นชมยินดีเป็นอันมาก นับว่าเป็นการเสมอต้นเสมอปลายไม่ต้องมีงานมโหรสพอะไร เพราะชั่วแต่มาขึ้นท่าต้อนรับแล้วก็เข้าวังเท่านั้น หวังใจว่าเจ้าพระยายมราชจะไม่มีความรังเกียจในการที่ว่าเช่นนี้..."

ซึ่งถ้าจะนำข้อความ ในพระราชหัตถเลขานี้มาประ มวลเข้ากับคำปรารภที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีตรัสขณะประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นคำเมืองว่า " ใคร่ปิ๊กบ้านวันละร้อยเตื้อ " แปลว่าอยากกลับบ้านวันละร้อยหน ก็น่าจะหมายถึงมีปัญหาที่ทำให้ไม่สบายพระทัยนัก
       
ที่มา.  http://stat05.diaryclub.com/20071203/%A4%C7%D2%C1%CD%D4%A8%A9%D2%C3%D4%C9%C2%D2-%E4%C1%E8%C5%A7%C3%CD%C2%A1%D1%B9-
%E3%B9%BE%C3%D0%C3%D2%AA%CA%D3%B9%D1%A1%BD%E8%D2%C2%E3%B9

ที่มา. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9470000070683
.................................................................................................................................
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่