รวมพลังยุติ“วัณโรค”รู้ทันป้องกันได้

กระทู้สนทนา
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งดำเนินงานควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาวัณโรค โดยในปีนี้ตั้งเป้าตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในผู้ต้องขังให้มากกว่า 284,000 คน จากเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง และดำเนินการเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายให้เมืองไทยปลอดวัณโรค ภายในปี พ.ศ. 2578
ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ทันตแพทย์หญิงจุฑารัตน์ จินตกานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถ นานา นายกกรรมการสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ Dr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย นายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และนายสราวุธ ราชศรีเมือง รองผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันวัณโรคสากล ประจำปี 2560
นายแพทย์ธวัช กล่าวว่า สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ กำหนดให้ 24 มีนาคมของทุกปีเป็น วันวัณโรคสากล (World TB Day) และกำหนดหัวข้อรณรงค์ คือ “Unite to End TB” ภาษาไทย คือ “รวมพลัง ยุติ วัณโรค” หมายความว่า ร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อจะยุติปัญหาวัณโรค  ซึ่งปัจจุบันวัณโรคยังคงเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของไทย และประมาณการณ์จะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 117,000 รายต่อปี เสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานอาจมากถึง 4,700 ราย อัตราการลดโรคในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา ( พ.ศ. 2543-2558) เฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี ปัจจุบันการค้นหาและเข้าถึงการรักษาประมาณร้อยละ 56 ของจำนวนผู้ป่วยที่ประมาณการณ์
กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป็นนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ.2560 ถึง 2564 โดยมีเป้าหมายลดอัตราป่วยร้อยละ 12.5 ต่อปี หรือจากอัตราป่วย 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคนภายในปี 2564 โดยเน้น 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุม  2.ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรค  3.พัฒนาศักยภาพของบุคลากร  4.สร้างกลไกลบริหารอย่างยั่งยืน  และ 5.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรการป้องกันดูแลรักษาวัณโรค  โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ “เมืองไทยปลอดวัณโรค” และยุติปัญหาวัณโรค ภายในปี พ.ศ.2578
ด้านนายแพทย์เจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายและสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีแผนงานที่สำคัญและต้องเร่งรัด ดังนี้ 1.คัดกรองและค้นหาวัณโรคเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ผู้ป่วยโรคร่วมต่างๆ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ตามเขตชายแดน แรงงานต่างด้าว ผู้อาศัยในชุมชนแออัด ผู้สัมผัสโรค  2.จัดหาเทคโนโลยีใหม่และได้ผลเร็วมาใช้ในการวินิจฉัยวัณโรค  3.จัดหายาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการบริหารวัณโรคดื้อยา โดยลดระยะเวลาในการรักษาให้สั้นลง  และ 4.พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารวัณโรค
ในปี 2560 นี้ กรมควบคุมโรค ได้เร่งรัดดำเนินการโดยร่วมกับกรมราชทัณฑ์ คัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในผู้ต้องขังให้มากกว่า 284,000 คน จากเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่งรวมถึงมาตรการที่จะดูแลผู้ต้องขังที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ 30,000 คนที่จะกลับสู่สังคมภายนอก โดยมีหลักการเชิงนโยบาย คือ ประชากรทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีสิทธิหรือไร้มีสิทธิมีโอกาสเข้าถึงบริการคัดกรอง ตรวจค้นหาวัณโรคและให้การรักษาจนหายขาดทุกๆราย เนื่องจากวัณโรคเป็นปัญหาสำคัญในเรือนจำมีอัตราป่วยมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 6 เท่า ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ง่าย และอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 7  โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์และค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ในโครงการ"ผู้ขับขี่ปอดสะอาด ปราศจากวัณโรค สำหรับผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ" และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ความรู้แก่ประชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่