[SR] HP Omen 15 ปี 2017 ได้หน้าตา, จอ IPS และ Windows 10 เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ i7-7700HQ + GTX 1050 ในราคา 33,900 บาท

ได้มีการจับ HP Omen 15 รุ่นใหม่ ปี 2017 ขอมาเล่าให้ฟังกันหน่อย เพราะถือว่าเป็นโน้ตบุ๊คที่เน้นเล่นเกมอีกหนึ่งรุ่นที่คุ้มค่าทีเดียว โดยมีคู่แข่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ Acer Aspire VX5 และ Lenovo Legion Y520 เพราะมีช่วงราคาที่ใกล้เคียงกัน และได้สเปกที่เกือบจะเหมือนกัน แต่ว่าทาง HP ตัว Omen 15 จะเด่นกว่าตรงที่ ได้หน้าจอ IPS และ Windows 10 มาให้เลย อย่าง VX5 นั้นจะเป็นพาเนล TN และไม่มี Windows ส่วน Legion Y520 จะได้เพียงหน้าจอ IPS เท่านั้น โดย HP Omen 15 รุ่นใหม่ ปี 2017 มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 33,900 บาท เหมือนกับรุ่นปี 2016
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ราคา อย่างที่บอกไปแล้วตั้งแต่ตอนต้น HP Omen 15 นี้ หน้าตาการออกแบบเองต้องบอกว่ายังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งในส่วนของดีไซน์ภายนอกภายใน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าส่วนของรูปลักษณ์นั้นทำได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว (ตามราคา) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสันของตัวเครื่อง ที่สวยดุดันตามสไตล์ของโน้ตบุ๊คเพื่อการเล่นเกมด้วยโทนสีดำทั้งตัวเครื่องตัดกับสีแดง จากฝาหลังของตัวเครื่องที่มีโลโก้ OMEN เป็นเอกลักษณ์สีแดงสะดุดตา ประกอบกับพื้นผิวลวยลายสีดำแบบเคฟล่าแบบด้านสากมือที่ให้ความรู้สึกเป็น Gaming ส่วนด้านใต้เครื่องจะเป็นสีดำแบบมีกากเพชรสวยงาม

ด้านในตัวเครื่องมาพร้อมสีสันที่โดดเด่นดำแดงดุดัน พร้อมลวดลายเคฟล่าแบบฝังไปในเนื้อลักษณะเดียวกันกับรุ่นก่อนๆ ตัดด้วยไฟสีแดงจากแป้นคีย์บอร์ด และช่องลำโพงสามเหลี่ยมถี่ๆ ตามสไตล์ HP OMEN ที่ช่วยเสริมความสวยงามได้ดี รวมถึงยังมีบานพับสีดำที่ดูแล้วแข็งแรงทนทานสวยงาม โดยเป็นแบบ 2 แกน เชื่อได้ว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องบานพับในระยะยาวของการใช้งานแต่อย่างใด (มาถึงตรงนี้เหมือนเดิม 100%)
ตรงนี้ถือว่าใครรับได้คงไม่มีปัญหาอะไร กับดีไซน์หน้าตาแบบเก่า นั่นหมายความว่าเราแทบจะแยกไม่ออกเลยระหว่าง HP Omen 15 รุ่นใหม่และรุ่นเก่า (ไม่นับรวมพวกสติ๊กเกอร์นู่นนี่นั่นนะ ฮา) ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีความต่างอยู่เล็กน้อยกับในส่วนของทัชแพดที่ตัวเก่าจะเป็นแบบมันๆ ส่วนตัวใหม่จะเป็นแบบด้าน เอาว่าถ้าใครรับไม่ได้ คงต้องทำใจกันไป เพราะในเรื่องของหน้าจอพาเนล IPS และ Windows 10 ในราคาเท่านี้ยังถือว่าทำได้ดีอยู่

สเปคเต็มๆ ของ HP Omen 15 แบ่งเป็น 3 สเปกด้วยกัน ที่หลักๆ ซีพียูเป็น Intel Core i7-7700HQ (2.80 – 3.80 GHz) Gen 7 Kaby Lake เน้นประสิทธิภาพสูงรุ่นยอดนิยม ส่วนกราฟฟิกการ์ดเป็นตัวคุ้มตัวแรงอย่าง NVIDIA GeForce GTX 1050 (4GB GDDR5) หรือ NVIDIA GeForce GTX 1050Ti (4GB GDDR5) สำหรับรุ่นท็อปสุด แน่นอนว่ามีความแรงกว่ารุ่น GTX 960M พอตัว รองรับการเล่นเกมปัจจุบันได้ลื่นๆ ทั้งหมด

ฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูลมีความจุ 1 TB 7200 RPM หรือถ้าเป็นตัวกลางขึ้นไปก็จะได้ SSD แบบ M.2 PCIe Gen 3 NVME ได้อีก 1 ตัวความจุ 128GB โดยมีแรม DDR4 ขนาด 4GB หนึ่งแถว ส่วนตัวท็อปจะเป็นแรม 8GB ตอบรับกับการใช้งานได้ดีในทุกรูปแบบทั้งเกม ทำงาน หรือบันเทิง ด้วยระบบปฏิบัติการ Windows 10 แบบลิขสิทธิ์ ทำให้เราพร้อมใช้งานได้ทันทีในครั้งแรกของการเปิดเครื่อง
หน้าจอแสดงผลมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD หรือ 1920×1080 พิกเซล แบบด้านพาเนลจอ IPS ให้ความสวยงามสมจริงกว่า TN โดยมีมุมมองที่กว้างกว่า ห้การแสดงผลที่สมจริงแบบสุดๆ มุมมองกว้างที่ 178 องศา ทำให้สีสันแทบไม่เพี้ยนเลย เมื่อลองใช้งานจริงแล้วให้ประสบการณ์ใช้งานระดับที่น่าพึงพอใจ สำหรับลำโพงเป็น Bang & Olufsen ซึ่งได้ให้การแบ่งทิศทางเสียงด้านซ้ายขวา อีกทั้งมีเทคโนโลยี HP Audio Boost ทำให้ได้พลังของเสียงที่มีคุณภาพ

ส่วนการเชื่อมต่อก็มีมาอย่างครบถ้วน 1 x Microphone-in/Headphone-out jack , 1 x USB 2.0 , 2 x USB 3.0 x , 1 x RJ45 LAN Jack for LAN insert , 1 x HDMI พร้อมรองรับมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth 4.2 และอินเตอร์เน็ตไวเลสผ่าน 802.11a/b/g/n/ac แต่มีจุดสังเกตอยู่ที่ขาดพอร์ตเชื่อมต่อ USB 3.1 Type-C ที่ควรจะมีโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ตรงนี้ถือว่าไม่ได้มีการปรับปรุงจากรุ่นปี 2016 แต่อย่างใด
มิติของตัวเครื่อง HP Omen 15 มาในขนาดที่เล็กกระทัดเมื่อเทียบกับ Gaming Notebook ขนาดหน้าจอ 15.6 นิ้วตามมาตรฐาน บนน้ำหนักตัวเครื่องที่เบามากๆ เพียง 2.0 กิโลกรัม ยิ่งเมื่อรวมแบตเตอรี่รูปแบบใหม่แบบแผ่นภายในตัวเครื่อง 4 Cell ขนาด 5,150 mAh ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดที่เล็กเหมือนเดิม ถือว่าได้ตรงนี้ยังทำได้ดีเหมือนเดิมเช่นกัน เพราะพวกโน้ตบุ๊คเล่นเกมสเปกแบบนี้ส่วนมากจะมีน้ำหนักมากกว่านี้ แถมหนากว่านี้ด้วย

ราคาอยู่ที่ 33,900 บาท ในตัวเริ่มต้น ส่วนตัวกลางจะมีราคา 36,900 บาท ซึ่งจะได้ SSD M.2 128GB และตัวท็อปการ์ดจอจะเป็น GTX 1050Ti ที่แรงขึ้นประมาณ 10-20% พร้อมยังมีแรม DDR4 8GB และเพิ่มเติมในส่วนของ SSD M.2 128GB มาให้ โดยมีราคาอยู่ที่ 43,900 บาท
ตัวที่ผมได้สัมผัสจะเป็นรุ่นล่าง แต่ว่าเอามาอัพเกรดใส่ SSD ใส่แรมเพิ่มเข้าไป ซึ่ง Intel Core i7-7700HQ ซึ่งเป็นซีพียูที่เน้นการใช้งานหนักๆ ไม่จะเป็นการโปรเซสงาน ตัดต่อวีดีโอ หรือเล่นเกม มีความเร็วอยู่ที่ 2.80 GHz แต่สามารถเร่งประสิทธิภาพขึ้นไปได้สูงสุดถึง 3.80 GHz เป็นซีพียูแบบ 4 Core 8 Threads เรียกได้ว่าแรงกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง Intel Core i7-6700HQ ในระดับนึง (แต่ไม่มาก)

กราฟิกการ์ดออนบอร์ด Intel HD Graphics 630 ติดมากับซีพียู มีประสิทธิภาพที่ดีในเรื่องของกราฟิก 2 มิตินั้นก็รองรับได้อย่างสบายๆ หรือถ้าเป็น 3 มิติ ก็ต้องบอกว่ารองรับการทำงานได้ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงๆ ก็สนับสนุนการเล่นเกมได้ในระดับนึงเหมือนกัน ที่โดยรวมแล้วให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่า Intel HD Graphics 530 รุ่นก่อนหน้าแน่นอน เพราะอย่างน้อยๆ ก็รองรับการทำงานกับหน้าจอความละเอียดสูงได้แบบไม่มีปัญหา
แต่ถ้าจะเล่นเกมยังไงก็ต้องพึ่งพากราฟิกการ์ดจอแยกอย่าง NVIDIA GeForce GTX 1050 ที่ต้องบอกว่าแรงเทียบเท่าระดับพีซี และแรงกว่า GTX 1050 แบบรู้สึกได้ หรือถ้าเทียบกับรุ่นก่อนก็บอกได้เลยว่าแรงกว่า GTX 960M และ GTX 965M อย่างสบายๆ ทำให้ตอบสนองในส่วนของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ 3 มิติ หรือเกม 3 มิติที่กินทรัพยากรได้เป็นอย่างดีทีเดียว

ซึ่งจากคะแนนและเฟรมเรทในการเล่นเกมทั้ง 5 เกม ไม่ว่าจะเป็น Battlefield 1 / GTA V / Rise of the Tomb Raider / Overwatch / DOTA 2 บนความละเอียด Full HD ตาม Native ของหน้าจอ พร้อมกับการปรับสุดในทุกเกม มีความน่าสนใจทีเดียว เพราะจากการทดสอบมีค่ามากกว่า 30FPS ขึ้นไปแทบทุกเกม ซึ่งตรงนี้ก็สามารถชี้วัดความสามารถในการเล่นเกมที่กราฟิกละเอียดๆ และภาพสวยๆ ได้ลื่นไหลเป็นอย่างดีเลย จากการที่สเปกภายในเป็นชิปประมวลผล Intel Core i7-7700HQ ที่สามารถรีดพลัง NVIDIA GeForce GTX 1050 ออกมาได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับยังใช้แรม 8GB DDR4 และ SSD ความเร็วสูง รวมไปถึงฮาร์ดดิสก์ 7200 รอบ (ใช้ติดตั้งเกม)
โดยเกมกินทรัพยากรพอตัวอย่าง Battlefield 1 /GTA V และ  Rise of the Tomb Raider ก็สามารถเล่นได้ดี โดยกราฟิกปรับระดับสูงสุดทั้งหมด ภาพก็สวยจนน่าประทับใจแบบที่สุด ซึ่งดูจากเฟรมเรทเฉลี่ยแล้วแทบไม่ต่ำไปกว่า 30FPS เรียกได้ว่าเหลือๆ กับการตอบสนองความต้องการเล่นเกมได้สมบูรณ์ที่สุด แม้ว่าต้องยอมว่ามีข้อสังเกตุว่ามีภาพฉีกอยู่บ้างกับเกมบางฉากที่เคลื่อนไหวเร็วๆ จากการที่หน้าจอไม่ได้เป็น G-Sync เวลาที่เราปรับให้ปล่อยเฟรมเรทสูงๆ แต่ในส่วนของพาเนล IPS ก็ทำหน้าที่เรื่องสีสันได้ดีเช่นเดิม

อีก 2 เกมออนไลน์ที่โดยส่วนตัวเล่นเป็นประจำอย่าง Overwatch, DOTA 2 ก็จัดการทดสอบให้ด้วยเช่นกัน โดยทั้งนี้การตั้งค่าความละเอียดของภาพก็อยู่ที่ 1920 x 1080 พิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดที่จะสามารถเล่นให้ลื่นได้ สำหรับรายละเอียดภาพอื่นๆ ก็เรียกได้ว่าเปิดทุกอัน  ผลที่ได้ออกมาก็คือสามารถเรนเดอร์ได้อย่างไหลลื่น ระดับเฟรมเรทที่สูงสุด แม้กระทั่งฉากตะลุมบอนกันก็สบายๆ ค่าเฟรมเรทเฉลี่ยแทบไม่ต่ำ 60FPS เลย สรุปโดยรวมแล้วคือเล่นได้สบายๆ ทำได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งจากความลื่นไหลและหน้าจอที่สวยงามสมจริง

HP Omen 15 นั้นมาพร้อมกับแบตเตอรี่ ที่สามารถใช้งาน Wi-Fi เพื่อท่องเว็บได้ยาวนานประมาณ  5 – 6 ชั่วโมง (แต่ถ้าใช้งานหนักๆ ก็น่าจะเหลือ 2-3 ชั่วโมงได้) ซึ่งถือว่าทำเวลาได้ดีกว่าโน๊ตบุ๊คที่ใช้ Core i7 ที่เป็นรหัสเดียวกันในหลายๆ รุ่น ส่วนของอุณหภูมิการระบายความร้อน ถือว่าสามารถที่จะทำได้ดีขณะที่เราเล่นเกมทดสอบเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเล่นเกมที่เน้น GPU และ CPU พบว่าระดับของอุณหภูมิในจุดต่างๆ ของตัวเครื่องจะเพิ่มขึ้นมาน้อยมาก จุดที่มีอุณหภูมืที่หนักที่สุดจะอยู่ที่ ตรงกลางขอบเครื่องด้านหลัง แต่ก็ใช้เวลาถ่ายความร้อนออกไปได้ไม่นานมากเท่าไรนักเมื่อเราใช้งานทั่วไป อันนี้คงต้องยอมรับว่าระบบระบายความร้อนทำได้น่าประทับใจอยู่ จากการที่มีพัดลมสองตัว พร้อมฮีตไปป์สองเส้นเป่าออกด้านหลัง และเทคโนโลยี HP Cool Sense ช่วยจัดการ สรุปคือร้อนหนักๆ ที่สุดอยู่ที่ 80 - 88 - 95 องศา แล้วแต่สภาพอากาศและเกมที่เล่น ส่วนเปิดเครื่องไว้เฉยๆ เย็นสุด 36 - 38 องศาได้

สรุปใครกำลังมองหาโน้ตบุ๊คเพื่อการเล่นเกมในช่วงราคานี้ แล้วอยากได้หน้าจอ IPS พร้อม Windows 10 แท้ โดยไม่สนใจเรื่องของดีไซน์แบบใหม่และ USB 3.1 Type-C ล่ะก็ HP Omen 15 รุ่นนี้ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีได้อย่าง เพราะจากประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมถือว่าใช้ได้เลย แบตเตอรี่และอุณหภูมิก็ถือว่าใช้ได้ แต่มีข้อแม้ว่ายังไงก็ตามซื้อเครื่องรุ่นล่างมา ในการใช้งานจริงๆ ก็ควรที่จะอัพเกรดแรมเป็น 8GB หรือ 16GB ไปเลย เพราะว่า 4GB เดิมๆ สำหรับตัวล่างนี่ไม่น่าจะไหว (จริงๆ ก็ทุกรุ่นที่เป็นแรม 4GB แหละ) อย่างของเพื่อนมันมีแรมและ SSD อยู่แล้วก็เลยยัดเข้าไปเลย ก็เลยลื่นไหลไปซะทุกอย่าง ส่วน Windows ที่ติดฮาร์ดดิสก์มาไม่ต้องกังวล เพราะถ้าเรา Windows 10 ใหม่ที่โหลดผ่านทาง Microsoft เดี๋ยวตามขั้นตอนมันจะ Activate ให้เอง (S/N ติดกับเมนบอร์ดอยู่แล้ว)
อ่อ อีกอย่างอแดปเตอร์ดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาเหมือนสมัยรุ่นปี 2016 แล้วนะ เพราะเป็นรุ่นใหม่ 150W จ่ายได้สบายๆ ต่อเนื่องอย่างแน่นอน ส่วนประกันก็ 2 ปี On-site เหมือนเดิม สบายใจได้ ใช่ไหม !?!?! ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อมูลขอการเลือกซื้อโน้ตบุ๊คเล่นเกมงบสามหมื่นอีกหนึ่งกระทู้แล้วกันครับ
ชื่อสินค้า:   HP Omen 15
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่