แชร์ประสบการณ์ MBA Top 3 ที่อเมริกา และการสมัครงานและถูกปฏิเสธกว่า 3000 ครั้ง จนได้งานบริษัทสตาร์ทอัพแสนล้านที่ SF

สวัสดีครับ ผมอยากจะขอแชร์ประสบการณ์การณ์ของผมตอนเป็นนักเรียน MBA ที่ Kellogg School of Management ชีวิตที่โรงเรียนธุรกิจระดับโลก การหาเพื่อนสนิทเป็นคนอเมริกัน การพัฒนาภาษาอังกฤษและทักษะการสัมภาษณ์งานอย่างเร่งด่วน และการหางานในบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทสตาร์ทอัพที่อเมริกา

ผมคิดว่าเรื่องราวการต่อสู้ของผมและประสบการณ์ที่ผมได้รับมาจากที่นู่น น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านไม่มากก็น้อย
ผมโตและเรียนที่ไทยมาตลอด ผมมีความฝันอยากไปทำงานในบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโลก อย่างเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่สร้าง product ที่มีคนใช้เป็นล้านคน

ถ้าอ่านแล้วเป็นประโยชน์ก็ฝากแชร์หน่อยนะครับ ขอบคุณครับ ยิ้ม

ปล.เรื่องราวจริงๆมีเยอะมาก ถ้าสนใจอ่านต่อ สามารถติดตามได้ที่ Facebook Page และ หนังสือ ตามลิงค์ที่ให้ไว้ด้านล่างสุดครับ

1.    สมัคร MBA

ผมเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ทำงานบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Management consulting firm ได้ 2 ปี จึงตัดสินใจสมัครเรียนต่อ MBA ที่อเมริกา

MBA คือ ปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ ที่เน้นผลิตผู้นำที่สามารถแก้ปัญหาธุรกิจ สร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ดังนั้นเขาจึงคัดเลือกผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานและผลงานมาแล้วว่าทำงานเป็น ทำงานเก่ง มีศักยภาพที่จะเติบโตไปเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ประเมินผู้สมัครจาก หนึ่งคือความฉลาดว่าผู้สมัครคนนี้จะสามารถเรียนในห้องได้ดี ซึ่งวัดจากคะแนนสอบ GMAT และเกรดตอนมหาวิทยาลัย สองคือศักยภาพความเป็นผู้นำ และสามคือโรงเรียนนี้ใช่สำหรับผู้สมัครหรือไม่ ซึ่งดูจากการเขียนเรียงความ จดหมายแนะนำจากเจ้านาย และการสัมภาษณ์ ในเรียงความนั้นผู้สมัครต้องเล่าเรื่องความสำเร็จของตัวเอง ความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีม ตลอดจนเป้าหมายในชีวิตและทำไมถึงอยากเข้าโรงเรียนนี้

เวลาที่มหาวิทยาลัยอ่านใบสมัครนั้น เขาสนใจความลึกและความน่าสนใจของประสบการณ์ที่เรามี จำนวนปีที่ทำงานแทบไม่สำคัญเลย

การสมัครมหาวิทยาลัยทำให้ผมได้มีโอกาสทบทวนตัวเอง นั่งคิดว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรมา อนาคตเราอยากทำอะไร เพื่อระบุเป้าหมายและเหตุผลว่าทำไม MBA ถึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมหาวิทยาลัยเชื่อว่าการมีเป้าหมายดีกว่าไม่มี ถึงแม้เป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงตลอดก็ตาม และคนส่วนใหญ่ที่ไปเรียนMBA ก็เพื่อเปลี่ยนงาน

ตอนเลือกเรื่องมาเขียนเรียงความความเป็นผู้นำ ผมคิดย้อนกลับไปถึงทุกโปรเจคที่ผมได้ทำ ดูว่าโปรเจคไหนที่ผมได้ทำอะไรเยอะ ได้เจอความท้าทาย อุปสรรคต่างๆ ได้ใช้ทักษะการจูงใจคนและความเป็นผู้นำ เป็นโปรเจคที่มีความสำคัญ และผมได้เรียนรู้เยอะมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน
ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้อดีของการเตรียมตัวสมัครเรียนต่อ ทำให้เราได้มานั่งทบทวนและถามตัวเองอย่างจริงจังสำหรับอนาคต

ตอนเขียนเรียงความเล่าเรื่องตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมและคนไทยส่วนใหญ่ เพราะเราไม่ได้ถูกฝึกให้เขียนเรียงความเล่าเรื่องตัวเอง

ผมใช้เวลาในการเตรียมตัวสอบและเขียนเรืยงความทั้งหมดสามเดือน

ผมเลือกสมัครทั้งหมด 6 มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้าน MBA มากสุดในสายตาคนไทย เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไงสุดท้ายแล้วผมก็กลับมาทำงานที่นี่ และได้สัมภาษณ์ทั้งหมดสามที่

วันที่ 17 ธันวาคม 2012 เป็นวันที่ผมลุ้นที่สุดวันนึงในชีวิต และแล้วในช่วงค่ำประมาณสามทุ่มขณะที่ผมนั่งอยู่ที่บาร์แถวสีลมกับเพื่อน ผมมีสายเรียกเข้าที่ไม่โชว์เบอร์ เป็นโทรศัพท์ที่ทำให้ชีวิตผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผมได้รับตอบรับเข้าเรียนที่ Kellogg School of Management


Kellogg School of Management เป็นโรงเรียนธุรกิจชื่อดัง ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน top5 มากว่า 50 ปี มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสืยงในระดับโลกเช่น Doug Conant อดีตซีอีโอของ Campbell Soup Company ซึ่งผมได้มีโอกาสไปฟังเขาพูด เมื่อได้ไปเรียนที่ Kelogg แล้ว ที่ไทยก็มีเครือข่ายศิษย์เก่าที่ใหญ่และเข้มแข็งมาก คนดังเช่น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และด.ร.ทนง พิทยะ ก็จบการศึกษาจากที่นี่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่