ทำไมผู้ผลิตญี่ปุ่นจึงพ่ายแพ้

กระทู้สนทนา
ทำไมผู้ผลิตญี่ปุ่นจึงพ่ายแพ้ … คนญี่ปุ่นยังคิดว่า “ตัวเองมีความสามารถทางเทคโนโลยี แต่ไม่เก่งขายของ” เอาจริงๆ แล้ว คนญี่ปุ่นยังหลงมัวเมากับคำว่า “ประเทศญี่ปุ่นมีความสามารถเทคโนโลยี” อยู่หรือไม่ ไปๆ มาๆ อาจจะสู้ชาติอื่นแล้วไม่ได้

Panasonic Sony Toshiba Hitachi Sharp Sanyo NEC Pioneer
ชื่อนี้เราได้ยินกันมานาน
แต่รู้สึกว่าปัจจุบันมันไม่ยิ่งใหญ่เท่าเมื่อก่อน

Sumgsung, LG
ผู้ผลิตสัญชาติเกาหลี ที่มีผลิตภัณฑ์ครองพื้นที่ในร้านเครื่องใช้ไฟฟ้ามากที่สุด
และบริษัทจีนเกิดใหม่อย่าง Huawei ที่กำลังมาแรง
ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าทำไมผู้ผลิตญี่ปุ่นจึงเริ่มตายจากหายไป

Yunogami Takashi อดีตวิศวกรของบริษัทฮิตาชิ ได้กล่าวถึง “ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น” ไว้ในหนังสือที่เขาแต่ง ชื่อเรื่องพอแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า …
“ความพ่ายแพ้ของการผลิตแบบญี่ปุ่น : เครื่องบินซีโร่ สารกึ่งตัวนำ ทีวี”
(日本型モノづくりの敗北)

“ความพ่ายแพ้” ที่ว่านี้อย่างน้อยเป็นสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือรู้สึก
ผมก็รู้สึกเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2013 เดือนตุลาคม แม้เวลาผ่านมา 3 ปีเศษแล้ว แต่เนื้อหายังไม่ได้ล้าสมัย

ผมได้อ่านหนังสือเล่มนั้นจบลง เลยมาขอเล่าให้ฟัง ณ มารุมุระ ในที่นี้จะยกประเด็นที่น่าสนใจไว้ 3 ข้อที่เกี่ยวกับสาเหตุความพ่ายแพ้ที่ว่านี้ และตามด้วยความเห็นของคุณ Yunogami ว่าญี่ปุ่นควรทำอะไรดี

1. สินค้าญี่ปุ่น Over Quality และราคาแพง

+ Over quality
ญี่ปุ่นสร้างของที่มี Quality สูง แต่คุณภาพก็สูงเกินความจำเป็น
และไม่ยอมสร้างสินค้าราคาที่ถูกและจูงใจพอให้คนควักกระเป๋าตังค์

ยกตัวอย่างเช่น ทีวีจอ LCD ของ Sony

แม้ทีวี LCD ของ Sony จะภาพสวย กว่าทีวีเจ้าอื่นในต่างประเทศ (ตามที่อ้างในหนังสือ) แต่มันก็เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยที่ยากจะสังเกต

และถ้ามันมีทีวีที่ราคาถูกกว่า มีฟังก์ชั่นที่ต้องการมากกว่า คนจะซื้อ Sony ทำไม

เขายกตัวอย่างเช่นตลาดในอินเดีย
คนอินเดียนิยมดูคริกเกตกันมาก
เกมกีฬาคริกเกตนัดหนึ่งยาวนานมาก ถ่ายทอดทางทีวีถึง 4 – 5 ชั่วโมง
คนดูถ่ายทอดสดก็มีอยากเปลี่ยนไปทีวีช่องอื่นบ้าง แต่ก็ยังอยากรู้สกอร์
ทีวีเจ้าอื่นมีฟังก์ชั่นให้แสดงผลสกอร์กีฬาคริกเกตตรงมุมหน้าจอด้านขวา ถึงเปลี่ยนไปดูช่องอื่นก็สามารถติดตามผลคริกเกตได้
แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ปรับตัวตาม เพราะฝ่ายวางแผนสินค้ายังยืนกรานจะชูจุดขายด้วย Quality ของภาพ

Quality ภาพดี แต่ไม่มีฟังก์ชั่นการแสดงผลคะแนนคริกเกต (Quality ด้านการใช้สอย)
Quality ของคนขาย แต่ใช่ Quality ที่คนซื้อต้องการหรือเปล่า

+ ราคาแพง
สาเหตุที่สินค้าญี่ปุ่นมีราคาแพงเพราะการสร้าง Over quality เหล่านี้
ในกระบวนการสร้าง Over quality ที่ว่านี้ต้องใช้การพัฒนาแบบ Fine-Tuning ที่จูนชิ้นส่วนประกอบทุกชิ้นเข้าหากันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การพัฒนาแบบนี้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 擦り合わせ [สุริอาวาเซะ]

แต่ข้อเสียของการพัฒนาแบบนี้คือเมื่อ Fine-tuned แล้ว จะขาดความยืดหยุ่น หาอะไหล่เปลี่ยนยาก วางแผนสำรองยาก

ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบิน Zero fighter
เครื่องบิน Zero-fighter ถูกออกแบบและผลิตโดยบริษัท Mitsubishi Heavy industry
เครื่องบินถูกพัฒนาให้มีตัวเครื่องเบาที่สุดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ การบินที่รวดเร็ว ของกองทัพเรือ ถึงขั้นไม่ติดเกราะป้องกันกระสุนของเครื่องบินเลยทีเดียว

และแล้วสงครามโลกครั้งที่สองก็เริ่มต้นขึ้น

เพื่อเพิ่มกำลังผลิตเครื่องบินป้อนให้ทันตามความต้องการกองทัพ เลยมีคำสั่งจากกองทัพเรือให้อีกบริษัทที่ชื่อว่าNakjima Hikouki ร่วมการผลิตเครื่องบิน Zero-fighter ด้วย

แต่ด้วยความที่เครื่องบินนั้นถูก Fine-tuned จากการออกแบบของบริษัท Mitsubishi Heavy industry ให้เครื่องบินเบาที่สุด( Quality ความเบา) กลับก่อให้เกิดความลำบากเมื่อต้องการประกอบเครื่องบิน ที่อะไหล่ผลิตกันคนหล่ะบริษัท ตัวอย่างเช่นตัวถังน้ำมันที่ผลิตโดย Nakajima Hikouki ไม่สามารถมาประกอบกับตัวถังเครื่องที่ผลิตโดยบริษัท Mitsubishi Heavy Industry จึงทำให้การผลิตนั้นขาดความยืดหยุ่น กำลังการผลิตลดลง แต่ล่ะบริษัทต้องมีวิธีการบำรุงรักษาต่างกัน และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของตัวบุคคลค่อนข้างมาก

แม้จะเป็นตัวอย่างในอดีต แต่การพัฒนาแบบ Fine-Tuning 擦り合わせ [สุริอาวาเซะ] ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นปรกติในญี่ปุ่น ซึ่งการมุ่งสู่ Quality ที่มากเกินไปนั้น จะทำให้เกิดราคาที่แพงตามมาจากเวลาที่ต้องใช้ไปในการสร้าง Quality นั้นๆ

2. ภาษาญี่ปุ่นที่ตีความหมายของ Innovation และ Marketing แบบผิดๆ

+Innovation

ความเข้าใจผิด
Innovation มักจะถูกแปลเป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่หมายความว่า “การปฎิรูปทางเทคโนโลยี” 技術革新 [กิจุซึคะคุชิน]*

ความหมายแท้จริง
Innovation การผสมผสานระหว่างสิ่งประดิษฐ์และตลาดที่รองรับ

*หลังๆ คนญี่ปุ่นก็เริ่มใช้คำทับศัพท์แล้ว

+Marketing

ความเข้าใจผิด
Marketing คือการขายของที่สร้างขึ้นมา**

ความหมายแท้จริง
Marketing คือการสร้างสรรค์ทำตลาด

**ความคิดแบบคลาสสิคของบริษัทผู้ผลิตที่รุ่งเรืองในยุค 80

คนญี่ปุ่นยังคิดว่า “ตัวเองมีความสามารถทางเทคโนโลยี แต่ไม่เก่งขายของ”
เอาจริงๆ แล้ว คนญี่ปุ่นยังหลงมัวเมากับคำว่า “ประเทศญี่ปุ่นมีความสามารถเทคโนโลยี” อยู่หรือไม่
ไปๆ มาๆ อาจจะสู้ชาติอื่นแล้วไม่ได้

คำพูดที่ว่านี้ เป็นกับดักทางความคิดของคนญี่ปุ่น
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  เทคโนโลยี
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่