ฉุนกึก “เฉลิมชัย” โวยโดนละเมิด ทุนจีนทำ-ไทยขาย ช็อกโกแลตรูป “วัดร่องขุ่น”


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

        เชียงราย - “อาจารย์เฉลิมชัย” โวยลั่นวัด แฉทุนจีนละเมิดแอบเอารูปวัดร่องขุ่นทำกล่องช็อกโกแลต บริษัทใหญ่ในกรุงเทพฯ นำเข้า-จัดจำหน่ายทั่วทั้งสนามบิน-ห้างฯ-ร้านสะดวกซื้อ บอกผู้ก่อการพยายามต่อโทรศัพท์ผ่านญาติอยู่ ย้ำไม่มาเคลียร์เป็นเรื่อง
        
       วันนี้ (23 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติและผู้สร้างศิลปะวัดร่องขุ่นที่โด่งดัง ได้นำกล่องผลิตภัณฑ์ขนมช็อกโกแลตออกมาแสดงต่อสื่อมวลชน ที่วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย พร้อมระบุว่า “ศิลปะวัดร่องขุ่นได้ถูกละเมิดลิทธิ์”
       
       ทั้งนี้ พบว่ากล่องช็อกโกแลตดังกล่าวมีขนาดกะทัดรัด ระบุผลิตโดย “ล็อตเต้ ซางไฮ ฟู้ดส์ ประเทศจีน” นำเข้า-จัดจำหน่ายโดยบริษัทชิโน-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เลขที่ 122/2-3 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ข้างกล่องมีรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งส่วนผสม วันเวลาการผลิต วันหมดอายุ และอื่นๆ ปริมาณสุทธิ 196 กรัม จำหน่ายในราคากล่องละ 199 บาท ภายในบรรจุช็อกโกแลตก้อนเล็กเป็นช่องๆ ประมาณ 21 ช่อง พร้อมการห่อหุ้มอย่างดี
       
       อาจารย์เฉลิมชัยระบุว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ภาพวัดร่องขุ่น ที่อยู่หน้ากล่อง ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากด้านข้างด้านสระน้ำของพระอุโบสถขาว สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมหลักภายในวัดร่องขุ่นอันงดงาม โดยมีการระบุชื่อวัดร่องขุ่นเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษสีทอง-พื้นทองไว้ด้านล่างซ้ายอย่างชัดเจน ส่วนมุมบนขวา-มุมล่างซ้าย มีศิลปะตกแต่งให้ดูสวยงามด้วย
       
       อาจารย์เฉลิมชัยระบุอีกว่า มีผู้พบเห็นกล่องช็อกโกแลตดังกล่าวถูกวางจำหน่ายทั่วทั้งที่สนามบิน ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเจ็บอกเจ็บใจมาก เพราะนำภาพที่ระบุชื่อวัดร่องขุ่นเอาไว้อย่างชัดเจนอยู่บนกล่อง
       
       “ผมไม่อยากให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะการที่คนใช้ปัญญาคิดค้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วถูกคนอื่น หรือกลุ่มคน ลอกเลียนแบบ ทำให้เขาเสียหาย หรือเจ๊งมาแล้ว และถือว่าการลอกของคนอื่นไปไม่เป็นการเคารพเจ้าของลิขสิทธิ์โดยเฉพาะด้านศิลปะที่คนสร้างเขาทุ่มเทด้วยความรักและศรัทธา ศิลปะวัดร่องขุ่นสร้างขึ้น มอบให้กับประเทศชาติ และคนไทยทุกคน แต่กลับมีคนนำเอาไปทำมาหากินแบบนี้ จะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายคงไม่ได้ เพราะก็เห็นกันชัดเจนอยู่แล้ว”
       
       อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า ตอนนี้มีผู้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นี้โทรศัพท์มาหาตนผ่านทางญาติๆ เพื่อขอเจรจา โดยอ้างว่าใช้ลิขสิทธิ์จากภาพถ่าย แต่ตนเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะถือว่าเป็นการเอาศิลปะนี้ไปทำมาหากิน ไม่ได้เอาไปเพื่อชื่นชม หรือเพื่อสาธารณกุศล ดังนั้นการจะเอาไปใช้เช่นนี้จะต้องมาขออนุญาตตนก่อน
       
       อาจารย์เฉลิมชัยบอกอีกว่า ตามปกติหากมีการนำไปใช้เพื่อสาธารณกุศล บริจาคทาน ฯลฯ ตนก็ไม่เคยขัดข้อง หรือหากประสงค์จะเอาศิลปะของตนที่มีอยู่แล้วไปใช้ ก็ต้องรอให้ตนเสียชีวิตไปแล้วเป็นเวลา 50 ปีก่อน แต่หากตนยังคงอยู่ก็ขอให้มาคุยกันก่อนว่าจะแบ่งปันเพื่อสาธารณกุศลอย่างไร เช่น บริจาคให้เด็กกำพร้า บ้านพักเด็ก นำไปประกอบหนังสือธรรมะ ฯลฯ แต่ส่วนตัวของตนแล้วไม่ต้องการสิ่งใดเลย
       
       “นี่กลับเอาวัดมาขายช็อกโกแลต คนทำแม้จะทำในจีน แต่ก็เป็นคนไทยนี่แหละที่ทำ แล้วก็เป็นคนรวยอยู่แล้วด้วยจะเอาร่ำเอารวย และเอาเปรียบคนอื่นไปถึงไหนกัน รวยแล้วก็ยังอยากจะรวยอีก วัดร่องุข่นเป็นของประชาชน แม้แต่ครอบครัวผมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เอาวัดไปตั้งร้านค้า หรือเข้าไปค้าขายภายในวัด ซึ่งตอนนี้มีนักกฎหมายมากมายที่เขาขอฟ้องร้องให้ ผมก็บอกว่าโอเคยังสบายๆ อยู่”
       
       อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวด้วยว่า คาดว่าคงจะมีตัวแทนบริษัทเข้ามาหาตน ซึ่งตนก็คงจะขอให้นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้า ซึ่งขายกันมานานจนได้เงินไปมากมายแล้ว ให้นำมาบริจาคเพื่อการกุศล เช่น เด็กกำพร้า บ้านพักเด็ก ฯลฯ แต่ถ้ายังไม่มาพบตนก็คงต้องเป็นไปตามกระบวนการ
       
       อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวเพิ่มอีกว่า อดีตเคยมีการละเมิดศิลปะของตนมาแล้วมากมาย โดยครั้งหนึ่งมีการนำภาพศิลปะของตนไปทำเป็นจิ๊กซอว์จำหน่ายในประเทศจีน จึงมีการตามไปสืบหา และฟ้องร้องกัน จนพบว่ากลุ่มทุนพวกนี้ใช้ชาวบ้านที่ยากจนเป็นชื่อเจ้าของผลิตภัณฑ์
       
       ดังนั้น เมื่อมีการฟ้องร้องจนถึงขั้นขึ้นศาล และเปรียบเทียบปรับกันไปแล้วก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เพราะจะไปเอาความจากคนจนมากก็ไม่ได้จึงปล่อยตัวไป แต่กรณีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตนี้ถือว่ามีความชัดเจนกว่ามาก ตนจึงอยากให้เป็นกรณีศึกษา หรือตัวอย่าง เพื่อไม่ให้ผู้ที่ทุ่มเทกับงานไม่ว่าจะเป็นผลงานทางศิลปะ เพลง ฯลฯ ถูกละเมิดกันอีกต่อไป





ข่าวจาก : MGR Online
http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000018775
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่