[แชร์ประสบการณ์] 1 ปี 2 เดือน 'สุข เศร้า เหงา ทุกข์' "นมแม่ล้วนกับเด็กชายวุ่นวาย" ^_^

นมแม่ "เรื่องธรรมชาติ" ที่คิดว่าง่าย...แต่กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เม่าโศก

จขกท.เป็นคนหนึ่งที่พอรู้ตัวเองว่ากำลังจะเป็นแม่คนก็ตื่นเต้น หาข้อมูลนู่นนี่นั่น ซื้อของเตรียมไว้ทุกอย่าง สรรหาสิ่งที่ดีที่สุด เครื่องปั้มนม คาร์ซีท เตียงนอน เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้เด็กต่างๆ หมดเงินกันไปประหนึ่งซื้อรถมือสองกันเลยทีเดียว ทำแม้กระทั่งจอง รร.อนุบาลชื่อดังแถวบ้าน เนื่องจากกลัวว่าเดี๋ยวจะเต็ม เพราะได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม รร. นี้มาว่าจองกันตั้งแต่อยู่ในท้องเลย (ซึ่งตอนไปจองปีที่น้องจะเข้าเรียนคือเต็มไปแล้ว 6 จาก 10 ห้อง!!)

พกความมั่นใจตัวเองเต็มร้อยก่อนคลอดว่าชั้นจะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างแน่นอน เครื่องปั้มนมล้างทำความสะอาด นึ่งเก็บใส่ถุงซิบแพคในกระเป๋าเสื้อผ้า พร้อมหอบหิ้วไปด้วยกันที่รพ.ตั้งแต่คลอดเลย

เมื่อถึงวันที่เจ็บท้องคลอดก่อนที่จะครบกำหนด 40 สัปดาห์ เพียงแค่ 1 วัน (เจ็บครั้งแรก 10:30 และเริ่มถี่ขึ้นจนคิดว่าควรจะไปรพ. 12:00)
ถูกจับนอนรอในห้องรอคลอดตั้งแต่ 12:30 จนถึง 17:00 ปากมดลูกก็ไม่เปิดมากไปกว่าตอนที่เพิ่งมาถึงรพ.เลย เมื่อคุณหมอที่ดูแลครรภ์อัลตร้าซาวด์ดูอีกครั้งจึงตัดสินใจให้ผ่าคลอด เนื่องจากน้องเอาหัวลงแล้ว แต่ไม่ยอมลงมาอยู่ระหว่างอุ้งเชิงกราน จึงทำให้ปากมดลูกไม่เปิด ลูกชายตัวน้อยของเราจึงออกมาดูโลกที่เวลา 17:35 ด้วย นน. 3660 กรัม และสมบูรณ์แข็งแรงดีทุกอย่าง

แต่เนื่องจากผ่าคลอด....ทำให้แม่ต้องนอนราบนิ่งๆอยู่ 12 ชม. เมื่อครบเวลาจึงต้องแข็งใจลุกขึ้นเดินไปหาลูกที่ห้องเนิร์สข้างๆห้องพักเพื่อไม่ให้แผลผ่าเป็นพังผืด เอาลูกเข้าเต้าดูดนมตัวเองแสนจะทุลักทุเล (เชื่อว่าแม่มือไหม่แทบทุกคนต้องเคยเจอความรู้สึกแบบนี้) แถมลองบีบก็ไม่มีน้ำนมไหลออกมาเลย

ทันใดนั้น...เสียงสวรรค์(หรือเปล่า ?) จากคุณพยาบาลก็บอกว่า "ไม่เป็นไรนะคะคุณแม่ เดี๋ยวพยาบาลป้อนนมเสริมให้น้องก่อนถ้าคุณแม่น้ำนมยังไม่มา"
ในใจตอนนั้นคือรู้สึกขัดแย้งในตัวเองเป็นอย่างมาก ว่าเราตั้งใจให้ลูกทานนมแม่นี่นา แล้วมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ แต่ทำไมเราถึงยังไม่มีนมให้ลูกทาน แต่เมื่อมองหน้าลูกที่กำลังร้อง แว้ก แว้ก อยู่นั้นก็ทำให้หัวอกคนเป็นแม่หวั่นไหวว่า นี่เราจะเอาทิฐิของตัวเองมาอยู่เหนือความหิวของลูกได้ยังไง

สุดท้ายจังลงเอยว่ามื้อแรกของการพยายามให้ลูกกินนมแม่ของเราล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเราก็ได้แต่ลากสังขารตัวเองกลับมานั่งปั้มนมที่ห้อง
แต่ไม่ว่าเราจะตั้งนาฬิกาปลุกตัวเองให้ลุกขึ้นมาปั้มนมทุกๆ 2 ชม. ก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีน้ำนมออกมาแต่อย่างใด
จนกระทั่งเข้าสู่ตี 4 เช้า วันที่ 4 ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายที่จะอยู่พักฟื้นตามแพคเกจผ่าคลอดของรพ.
สิ่งที่ทำให้เราตาลุกวาวอย่างมีความหวังขึ้นมาคือ น้ำนมจำนวนเล็กน้อยเพียงไม่กี่ซีซีที่ได้ออกมาติดก้นขวด
แต่มันสร้างความดีใจให้กับเรามากจนลืมความเจ็บแผลผ่าตัด วิ่งเอานมติดก้นขวดเล็กน้อยนั้นไปขอให้พยาบาลที่ห้องเนิร์สช่วยเอาป้อนให้น้อง

แต่สิ่งที่เราได้รับจากพยาบาลคือเสียงหัวเราะ พร้อมบอกว่า "ได้แค่นี้เองหรอคะคุณแม่ คงไม่พอให้น้องทานหรอกค่ะ"
นางพยาบาลท่านนั้นพูดยิ้มๆ แต่ ณ เวลานั้นเรากลับรู้สึกว่ามันช่างเป็นยิ้มแห่งการดูถูก เรารู้สึกเหมือนถูกตบหน้า
ความพยายามอดหลับอดนอนแค่ทีละ ชม.กว่าๆ ไม่เคยได้นอนยาว ทั้งที่เจ็บแผลมากๆ ตลอดสามวันของเราถูกทำให้รู้สึกว่ามันช่างไม่มีค่าเอาซะเลย
ซึ่งสิ่งนี้เรารู้สึกว่ามันไม่ควรจะออกมาจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกเลย มันส่งผลต่อจิตใจมากๆ
แต่ในความโหดร้ายก่อนออกจากรพ. ก็ยังมีมุมดีๆเกิดขึ้นคือคุณพยาบาลอีกท่านหนึ่งบอกว่าขอตามเข้าไปช่วยดูเต้านมคุณแม่ในห้องหน่อยนะคะ
พอนางตามเข้ามาแล้วลองบีบ+ช่วยนวดเต้านมที่แข็งราวกับหินจนมีน้ำนมพุ่งออกมาหนึ่งสาย
และยืนยันว่าคุณแม่มีน้ำนมนะคะ ไม่ได้น้ำนมน้อย แค่ให้ลูกดูดบ่อยๆเดี๋ยวก็จะดีเองค่ะ ช่วยให้ความตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของเรากลับมาอีกครั้ง

กลับมาบ้าน คืนวันแรกเป็นอะไรที่นรกสุดขีด (ขอใช้คำนี้เลย) เนื่องจากว่าพยายามปลุกปล้ำเอาลูกเข้าเต้าเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ
ทั้งคืนพ่อและแม่ไม่ได้หลับนอน พร้อมทั้งมีคุณย่าคอยตื่นลงมาเฝ้าดูเพราะเสียงหลานร้อง
(เป็นอะไรที่กดดันสุดๆ เนื่องจากเราเป็นคนซึ่งรักความเป็นส่วนตัวมากถึงมากที่สุด ดราม่าตรงนี้ขอข้ามไปแล้วกันค่ะ)

สุดท้ายตลอด 1 เดือนที่อยู่บ้านสามี เราเต็มไปด้วยความเครียดจากความไม่เป็นส่วนตัว สภาพแวดล้อมในบ้าน แม้แต่อาหารการกิน ไม่มีสิ่งใดที่ถูกใจ ถูกปากเราเลย รวมทั้งมีภาวะซึมเศร้ามองหน้าลูกแล้วน้ำตาไหลรินออกมาเองด้วยความรู้สึกผิดว่าทำไมถึงมีนมไม่พอให้ลูกกิน(เรายังคงพยายามปั้มทุก2-3ชม. รอบละ 30นาที ไม่เคยตกรอบ แต่ก็ยังคงปั้มได้ต่อรอบแค่ 1-2 ออนซ์เท่านั้น)

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 สามียอมพาเรากลับมาอยู่บ้านแม่เราเอง(ยาย) เพื่อความสบายใจของเรา
"เมื่อแม่มีความสุข ลูกก็จะมีความสุข" นี่คือเหตุผลของคุณสามี (คือไม่ได้มาอวดนะ แต่ทราบซึ้งใจในเหตุผลนี้มาก ^_^)
แต่แน่นอนว่าเมื่อเด็กทารกโตขึ้น ก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลง สายตาสามารถมองเห็น และรับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวได้มากขึ้น
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 คุณชายน้อยจึงไม่ได้มีแค่กินอิ่มนอนหลับอีกต่อไป แต่เริ่มอยากให้มีคนอุ้มไปชมนกชมไม้ คุยด้วย สารพัดสิ่ง
แต่เมื่อยังบอกเป็นภาษาไม่ได้ก็ต้องบอกด้วยการร้องไห้แทนจ้าา.. = ="

เราจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่า ขอลองอีกซักตั้ง ครั้งสุดท้าย
ถ้าความพยายามครั้งนี้ไม่สำเร็จ ก็จะเลิกคาดหวังว่าจะให้ลูกทานนมแม่ล้วน ได้แค่ไหนก็แค่นั้นแล้วกัน

จึงได้เกิดมหากาพย์ "เข้าคอร์สฝึกหนักกับคลินิกนมแม่" และสถานที่ก็คือ คลินิกนมแม่ รพ.รามาธิบดี (พรีเมียม) นั่นเอง

เราเริ่มจากโทร.ไปปรึกษา ขอนัดคิว (ต้องโทรไปนัดก่อนนะคะ อย่าเพิ่งวอล์คอินเข้าไปเหมือนโรงแรมนะ 55)
โชคดีว่ามีเคสที่ทางคลินิกติดตามอยู่กำลังจะจบพอดี เราจึงได้คิวเป็นอีก 3 วันถัดไป
เมื่อไปถึง คุณพยาบาลก็ทำการประเมิน นน. ลูกชายซึ่งแตกต่างจาก นน.ตอนคลอดถึง 1.3 kg.
ซึ่งเด็กนมแม่เดือนแรกนน.ขึ้น เฉลี่ย 7-800 กรัม มากจริงๆก็ 1000 กรัม แต่ลูกเราขึ้นมาถึง 1,300 กรัม ไม่จำเป็นต้องเสริมนมผสมแล้ว
จากนั้นก็มีการตรวจดูว่าลูกเรามีพังผืดใต้ลิ้นทำให้ดูดนมยาก หรือว่า ท่าดูดนมไม่ถูกต้อง
สรุปการประเมินได้ว่า ลูกเราปกติดีทุกอย่าง ท่าเข้าเต้าถูกต้องแล้ว แต่มีปัญหาติดจุก/ติดกรอกนั่นเอง

สิ่งที่เราได้ยินถึงกับมึนไปเลยว่า หืม...เด็กทารอกติดกรอก ได้ด้วยหรอ.....ซึ่งจากการอธิบายของพยาบาลที่คลินิกนมแม่บอกว่าเด็กทารกสามารถติดกรอกได้จริงๆค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้นมจากถ้วยหรือว่าจากขวดนม ทั้งสองสิ่งก็ไม่ต้องออกแรงดูดเหมือนนมแม่ เพียงแต่อ้าปากรอให้นมไหลเข้าปากเท่านั้น

*** นี่เป็นเหตุผลที่แม่ๆทุกคนที่มีปัญหาการเอาลูกเข้าเต้า ควรจะปรึกษาคลินิกนมแม่ เพราะบุคลากรถูกฝึกมาให้รู้จักเคสต่างๆอย่างถูกหลัก สามารถประเมินได้อย่างถูกต้องว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ไม่ใช่เดาสุ่มจากแค่ ปสก. ส่วนตัวของตัวเองค่ะ ***
เริ่มต้น แก้ติดจุกเพื่อความสำเร็จสู่ "นมแม่ล้วนกับเด็กชายวุ่นวาย" อัศวินขี่ม้าขาว

ทางคลินิกนมแม่ได้ทำการจ่ายอุปกรณ์ให้นำกลับมาใช้ที่บ้านด้วยดังนี้ (ภาพไซริงและเทปยืมมาจากในเน็ท)

โดยวิธีการใช้คือ (ขออธิบายเป็นข้อๆโดยไม่มีภาพปลากรอบนะจ๊ะ)
1. ใช้ไซริงดูดนมที่จะเสริมให้น้อง (นมแม่ที่ปั้มออกมาหรือนมผสมก็ได้) เพื่อความสะดวกก็ดูดใส่ไว้สัก 2-3 แท่ง
2. เอาด้านปลายสายติดด้วยเทปติดแผลตามตัวอย่างในภาพ (จะใช้สก๊อตเทปติดกระดาษหรือเอาแบบฮาร์ดคอร์ใช้เทปติดสันปกก็ไม่ว่ากัน 555)
โดยให้ปลายสายยื่นออกมาจากหัวนมราวๆ 2 mm. (เวลาน้องดูดแล้วหัวนมจะยื่นมาพอดีกัน) ตำแหน่งที่ติดเทปก็ให้เหนือลานนมขึ้นมาหน่อย (ปากลูกจะได้ไม่โดนเทปเวลากิน)
3. เอาไซริงที่ดูนมเสริมเตรียมไว้แล้วต่อเข้ากับข้อต่อ(ส่วนสีเทาในภาพ)ของสายฟีดนม
4. ปฏิบัติการจับลูกเข้าเต้ากินนมตอนที่อารมณ์ดีๆไม่โวยวาย

หลักการณ์คือ เพื่อที่จะให้ลูกชายซึ่งเป็นเด็กใจร้อน นมไหลไม่ทันใจก็พาลไม่กินนมแม่ช่วยกระตุ้นให้แม่มีน้ำนมมากพอจนไม่ต้องเสริมนมผง เพราะหากตัดสินใจเป็นแม่ปั้มล้วน เครื่องปั้มต่อให้เป็นรุ่นที่ดี แพง แค่ไหนก็ไม่สามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำนมได้ดีเท่า "ลูก" โดยการทำแบบนี้ เมื่อลูกออกแรงดูดก็จะได้ทั้งน้ำนมจากเต้าแม่และผ่านทางสายเสริม ทำให้ลูกรู้สึกว่าดูดแล้วมีนมออก ก็มีกำลังใจที่จะออกแรงดูดจนนมแม่ไหลในที่สุดนั่นเอง

แต่ไม่ใช่ว่าการทำแบบนี้จะทำครั้งเดียวแล้วสำเร็จได้โดยง่ายนะคะ จขกท. ต้องงดการใช้ขวดนม หรือป้อนด้วยแก้วโดยเด็ดขาด และก็ปั้มนมกระตุ้นต่อหลังจากที่ลูกทานนมเสร็จแล้ว นมที่ปั้มได้ก็เอาไว้เสริมผ่านสายให้ลูกแบบนี้ในรอบต่อไป ทำแบบนี้วนไปจนประมาณ 1 เดือน ถึงแน่ใจว่าน้ำนมพอ ไม่ต้องมีการเสริมนมผสมแล้ว ช่วงนั้นนมที่ได้ยังพอกินแค่มื้อต่อมื้อ ไม่มีทำสต็อกเลย จึงต้องขยันปั้มกันต่อไปไม่ให้ตกรอบเลยน้ำนมจึงค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนเมื่อครบระยะเวลาลาคลอด 3 เดือน ต้องกลับมาทำงานแล้วก็มีสต็อกน้อยๆไว้ให้ลูกชายเพียงไม่ถึง 10 ถุง

โชคดีที่การกลับมาทำงานของเรา เราสามารถใส่ผ้าคลุมปั้มนม แล้วก็นั่งปั้มมันที่โต๊ะได้ชิลๆ เลยไม่มีปัญหาเรื่องตกรอบปั้มนม

รอบการปั้มนมประจำวันของ จขกท. จะมีรายละเอียดดังนี้
8:00   - เข้าเต้า+ปั้มต่อ(แต่งหน้าไปด้วย)
<< ขับรถไปทำงาน >>
11:30  - ปั้ม 30 นาที
14:30  - ปั้ม 30 นาที
17:30  - ปั้ม 30 นาที
<< ขับรถกลับบ้าน >>
21:00~21:30  - เข้าเต้า+ปั้มต่อ
0:00~0:30  - ลูกตื่นมาเข้าเต้า+ปั้มต่อ
<< แม่นอน >>
3:30~4:00  - ลูกตื่นมาเข้าเต้า+ปั้มต่อ (ถ้าไม่เหนื่อยมาก ถ้าเหนื่อยมากก็ไม่ปั้ม แต่ถ้าลูกไม่ตื่นก็ต้องตื่นมาปั้ม)
7:30  - แม่ตื่น หรือไม่ก็ตื่นพร้อมลูก 8 โมงเลย 555

เท่ากับว่า จขกท. จะให้ลูกเข้าเต้าได้วันละ 3-4 รอบ และ ปั้มอีก 7 รอบ เรียกว่าช่วง 3-6 เดือนแรกทำแบบนี้ไม่เคยตกรอบ แต่ก็ไม่เคยได้นมเกิน 7 ออนซ์ต่อรอบเลย (ปกติเฉลี่ยได้ประมาณ 4-5 ออนซ์ต่อรอบเท่านั้น)

คำถามยอดฮิต : เคยท้อมั้ย เวลาเห็นรูปคนอื่นโพสต์ปั้มนมกันได้รอบนึงสิบกว่าออนซ์ ?
ตอบ : ท้อมาก นอยด์มาก ทำไมเราพยายามเท่าไหร่ก็ไม่เคยได้แบบนั้นบ้างเลยยยยย

แต่พอมองความเป็นจริงที่พอผ่านไปเรื่อยๆจนครบ 6 เดือน ลูกเราก็ได้ทานนมแม่ล้วนมาหลายเดือนแล้วเนอะ
ความตั้งใจ การตัดสินใจพาลูกไปคลินิกนมแม่ในวันนั้นมันคือการตัดสินใจที่ถูกต้องและล้ำค่ามากจริงๆ

จากคนที่เคยร้องไห้คิดว่าตัวเองคงจะไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ปั้มนมได้แค่ติดก้นขวด เอาลูกเข้าเต้าแล้วลูกร้องโวยวายไม่เอาเต้า...มาสู่วันนี้ที่ไม่รู้สึกเหนื่อยกับการให้นมลูกเลย เพราะเวลาอยู่กับลูกก็เข้าเต้ากันสบายๆ ไม่ต้องพะรุงพะรังแบกเครื่องปั้มนม ไอซ์แพค มีแค่ผ้าคลุมผืนเดียวแล้วก็ไปไหนไปกัน ถ้าลูกหลับนานไปหน่อย อิแม่ขี้เกียจ ลูกตื่นมาดูดๆก็หายคัดสบายตัว ^_^

ผ่านมา 1 ปีกว่า ผลตอบแทนล้ำค่าที่ได้แสดงให้เห็นแล้วคือทุกคนทักว่าลูกเราดูสุขภาพดีแข็งแรง ถึงจะไม่ได้อ้วนจ้ำม่ำเป็นมิชลิน แต่ก็แก้มยุ้ยน่าหยิก และที่สำคัญคือ "ไม่เคยป่วยแม้แต่ครั้งเดียว"

บุคคลสำคัญนอกเหนือจากสามีผู้ที่คอยสนับสนุนการให้นมแม่ของเรามาตลอด คือ คุณแม่ของเราเองค่ะ
ต้องขอบคุณที่แม่ของเรา เข้าใจในความพยายามของเรามาโดยตลอด ทั้งไปเป็นเพื่อนที่คลินิกเพื่อไปดูว่าพยาบาลคอยช่วยยังไง เพื่อที่กลับมาบ้านก็มาคอยช่วยหยิบจับอุปกรณ์ที่ดูแสนจะวุ่นวายช่วงที่ฝึกผ่านสายฟีดนม โดยมีแต่คำพูดให้กำลังใจ แต่ก็ไม่เคยกดดันว่าเราต้องทำให้สำเร็จ
สุดท้ายนี้อยากจะฝากบอกคุณแม่และว่าที่คุณแม่ทุกท่านที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันนะคะว่า "มีปัญหา ปรึกษาคลินิกนมแม่เถอะค่ะ" เม่าบัลเล่ต์

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่