เรื่องเล่าจากคนที่จบจาก "มหา'ลัยไม่ดัง"

ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนจบจากมหา'ลัยไม่ดัง ขอบอกว่าเป็นมหา'ลัยราชมงคล แต่ไม่บอกนะครับว่าเป็นราชมงคลที่ไหน

ตอนแรกที่มีคนรู้ว่าผมเข้าที่นี่ได้ หลายคนพอได้ยินชื่อว่าเป็นราชมงคล ก็จะมีความรู้สึกดูถูกขึ้นมาแล้วว่าเป็นมหา'ลัยเล็กบ้างล่ะ ไม่ดังบ้างล่ะ ไม่เวิร์ค นู่นนี่นั่นเยอะแยะ แต่ก็มีคนให้กำลังใจแบบว่า จะมหา'ลัยเล็ก มหา'ลัยใหญ่มันก็ไม่ได้ต่างกันหรอก ผมก็เลยไม่ได้อะไรมาก

จนเริ่มเปิดเรียน คือผมเรียนเอกภาษาญี่ปุ่น ผมก็ยังไม่รู้สึกอะไรอีกนะ เพราะเห็นว่าอาจารย์ทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นต่างก็สอนได้ดี รุ่นพี่เก่ง ๆ ก็มีกันหลายคน ทำให้ผมเริ่มจะเชื่อคำที่ว่าจะมหา'ลัยใหญ่หรือเล็กก็ไม่ต่างกัน เพราะหลักฐานมันก็เห็น ๆ กันอยู่ แถมต่อมา ผมยังได้รู้อีกว่ามหา'ลัยมีชื่อเสียงด้านภาษาด้วยในสมัยก่อน เลยทำให้ผมไม่คิดอะไร

แต่ในส่วนลึกของใจผมแล้วก็รู้สึกว่าชื่อเสียงมันเทียบกับพวกจุฬา ธรรมศาสตร์ไม่ได้ มีบางช่วงเหมือนกันที่ผมแอบจิตตกในเรื่องนั้น

เวลาผ่านไป สัญญาณไม่ดีก็เริ่มปรากฏขึ้นตอนที่ผมขึ้นปี 2 คือตั้งแต่ช่วงท้าย ๆ ของตอนผมปี 1 แล้วครับ อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าสาขาที่ว่าสอนดี ๆ น่ะเขาไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ก็เลยเหลือแต่อาจารย์ญี่ปุ่นกับอาจารย์คนไทยอีกคน ซึ่งอาจารย์คนไทยก็เป็นคนที่แบบ...(ไม่ขอพูดถึง จะเป็นการลบหลู่อาจารย์เปล่า ๆ) เอาเป็นว่าเขาไม่สามารถที่จะจัดการเรื่องธุระอะไรต่าง ๆ ของสาขาวิชาได้ดีนัก และเนื่องจากอาจารย์น้อย ทำให้ปีนั้น เขาต้องจัดเอารุ่นน้องปี 1 เอกผมที่เพิ่งเข้ามาใหม่ไปเรียนรวมกับเอกอื่นที่มีเรียนวิชาโทภาษาญี่ปุ่น คือมันเป็นขนาดนั้นเลย

อีกปัญหาที่ผมเจอคือเรื่องของหนังสือเรียนครับ คือโดยทั่วไป โรงเรียนหรือมหา'ลัยที่มีการสอนภาษาญี่ปุ่นมักจะใช้หนังสือชุดหนึ่งที่มี 4 เล่มจบ ซึ่งตอนหลังผมไปเจอเพื่อนตอนมัธยมที่ตอนมัธยมเขาอ่อนภาษาญี่ปุ่นกว่าผม แล้วก็ไม่ได้เจอกันนาน มาเจออีกทีตอนปี 2 ซึ่งเขาได้ไปเข้าที่มหา'ลัยแห่งหนึ่งย่านบางแสน เจอกันอีกทีผมรู้สึกเลยว่าเขาเก่งขึ้นมาก อาจจะเก่งกว่าผมด้วยซ้ำ เขาบอกด้วยว่ามหา'ลัยเขาน่ะสอนหนังสือที่ว่ามี 4 เล่มน่ะจบตั้งแต่ปี 1 แล้ว เพื่อนอีกคนที่เรียนราชมงคลอีกแห่งก็เหมือนกัน คือจบ 4 เล่มตั้งแต่ปี 1 แล้วก็เลยไปเรียนเนื้อหาอื่นที่มันลึกขึ้น ยากขึ้นต่อไป

ในขณะที่มหา'ลัยผมกว่าจะจบ 4 เล่มก็ปาเข้าไปตอนจบปี 2 คือเอาง่าย ๆ ช่วง ปี 1-2 พวกผมได้เรียนแต่ไวยากรณ์ใน 4 เล่มนั้นที่มันเป็นไวยากรณ์พื้นฐาน

ช่วงปี 2-3 นี่แหละเป็นช่วงที่ผมคิดว่าวิกฤติที่สุด โดยเฉพาะช่วงปี 3 ที่ไม่มีอาจารย์คนไทยเหลืออีกแล้ว อาจารย์คนที่ผมว่าจัดการอะไรไม่ได้เขาก็ออกไป จนต้องไปขอแรงอาจารย์จากเอกอื่นมาช่วยเป็นหัวหน้าสาขาให้ชั่วคราว เป็นขนาดนั้นเลย และแม้แต่อาจารย์ญี่ปุ่นผมก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ คือไม่ใช่เขาสอนไม่ดีนะ แต่จะมีอาจารย์ญี่ปุ่นคนหนึ่งเขาจะชอบเอาไวยากรณ์เก่า ๆ ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ที่พวกผมเคยเรียนแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งมาสอนแล้วสอนอีก มันก็เป็นการดีสำหรับคนที่ไม่เก่งที่จะได้ทบทวนไปเรื่อย ๆ แต่สำหรับคนที่เก่งแล้วจะรู้สึกว่ามันอยู่กับที่ ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย อาจารย์ญี่ปุ่นที่สอนดีก็มี แต่อยู่ได้ไม่นานก็ออกไป คนที่สอนไม่ดีมาก ๆ แย่มาก ๆ ก็มีอีกเหมือนกัน

วิกฤติอีกอย่างคือเรื่องของนักศึกษา นักศึกษาหลายคนเลยที่ไม่เก่ง ไม่ขยัน ไม่สนใจ และเรียนยังไงก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แถมตอนที่มีการจัดกิจกรรม คือเป็นกิจกรรมที่จัดแบบออกงานสาธารณะ ต้องแข่งกับมหา'ลัยอื่น ในปีนั้นก็ทำออกมาได้แบบ เละเทะมาก คือมันจะต้องมีการแสดงมหา'ลัยละชุดไงครับ แต่ของมหา'ลัยผมคนที่จะต้องขึ้นแสดงก็ดันมายกเลิกกะทันหัน จนผมต้องขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีแก้ขัดเพื่อให้มหา'ลัยมันมีอะไรโชว์หน่อย ร้องสด ๆ ไม่มีดนตรีอะไรทั้งนั้น ร้องเสร็จผมต้องรีบชิ่งลงจากเวทีเลย ทนอายไม่ไหว ตอนที่ผมไปรายงานตัวว่าเป็นตัวแทนขึ้นแสดงของมหา'ลัย ทีมงานยังงง

นอกจากเอกของผมแล้ว นักศึกษาเอกอื่นผมก็รู้สึกว่าบุคลิกมันแบบ ออกแนวนักเลง ๆ กุ๊ย ๆ ดูแตกต่างกับนักศึกษามหา'ลัยใหญ่อย่างสิ้นเชิง ชอบจับกลุ่มสูบบุหรี่กันในห้องน้ำด้วย

วิกฤติหลายอย่างถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องเนื้อหาการเรียนที่ผมบอกว่ามันไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย ผมเลยคิดว่าจะพึ่งมหา'ลัยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ก็เลยไปยืมหนังสือไวยากรณ์ขั้นสูงที่อาจารย์ญี่ปุ่นไม่ยอมสอนเสียทีมาอ่านเอง เจอตรงไหนไม่เข้าใจก็บุกไปถามอาจารย์ญี่ปุ่นที่มหา'ลัยเลย (เป็นช่วงปิดเทอม) ผมจะไม่ยอมมารอเรียนแค่ในห้องอีกแล้ว

พูดถึงเรื่องการเรียน มีอาจารย์อีกคนหนึ่งที่เขาไม่ใช่อาจารย์ประจำ และไม่คิดจะประจำด้วย คือเขาเป็นคนที่เก่งมาก และไปรับจ้างสอนในหลาย ๆ มหา'ลัย รวมไปถึงจุฬาด้วย เขาเล่าว่าตอนที่เขาไปสอนเด็กจุฬา มาถึงก็สอนไวยากรณ์เลย โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนเป็นคาราโอเกะ ไม่ต้องมานั่งสอนตัวอักษร เพราะเดี๋ยวคนที่ไม่มีพื้นฐานตอน ม.ปลาย ยังไม่รู้ตัวอักษรก็จะไปศึกษาหาความรู้เอาเอง ไม่ต้องมารอให้อาจารย์ป้อนให้ หรือมีเด็กคนนึงจะไปเตรียมเนื้อหามาก่อนทุกครั้ง เจอตรงไหนไม่เข้าใจก็จะเอาดินสอเขียนเครื่องหมายคำถามไว้แล้วมาถามอาจารย์ในห้อง เข้าใจแล้วก็ลบออก

คนละอย่างกับมหา'ลัยผมเลย แต่พอผมขึ้นปี 4 แสงแห่งความหวังมันก็เริ่มมา คือมีอาจารย์คนใหม่เข้ามา ซึ่งอาจารย์นั้นเป็นศิษย์เก่าด้วย ตอนแรกที่อาจารย์เข้ามาผมรู้สึกว่าอาจารย์เขาพยายามที่จะจัดการแก้ไขวิกฤติ ปัญหาที่มันเละเทะมา 2 ปีให้หมดไป และพยายามหาทุน หากิจกรรมอะไรให้นักศึกษาซึ่งมันไม่เคยมีเลยตลอด 2 ปี และเท่าที่ผมทราบตอนนี้คืออาจารย์หัวหน้าสาขาที่ว่าไปเรียนต่อน่ะเขากลับมาแล้ว รุ่นน้องใหม่ ๆ ก็เก่ง ๆ กันหลายคน อนาคตน่าจะสดใสขึ้นบ้าง

ตอนนี้ผมจบออกมาแล้ว ทำงานเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขอบอกเลยว่าการยืมหนังสือจากห้องสมุดของผมในวันนั้นแหละช่วยชีวิตผมไว้ เพื่อนผมหลายคนตอนนี้ก็ทำงานแล้ว บางคนก็เป็นล่าม บางคนก็ไม่ได้เป็นล่าม แต่ต้องทำงานคนญี่ปุ่นอยู่ดี บางคนก็ทิ้งสายญี่ปุ่นไปเลย คือทุกคนมีงานทำหมดแหละพูดง่าย ๆ แต่ก็ต้องบอกตามตรง ถึงผมจะบอกว่าการยืมหนังสือในห้องสมุดมันช่วยชีวิตผมไว้ก็จริง แต่เอาจริงแล้วถ้าเทียบกับพวกเด็กมหา'ลัยดัง ๆ ก็ยังห่างกันอยู่

มหา'ลัยใหญ่กับเล็ก มันต่างกันที่คุณภาพการสอน และคุณภาพนักศึกษาจริง ๆ แต่ถ้าตัวนักศึกษาพยายามด้วย มันก็จะช่วยให้อะไรดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย เหมือนเวลาที่เรารีบแล้วเดินขึ้นบันไดเลื่อน ถึงบันไดมันจะพาเราไปถึงจุดหมายได้ก็จริง แต่ถ้าเราก้าวขาเดินหรือวิ่งด้วยมันก็จะถึงเร็วขึ้น
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่