ความหลังริมคลองเปรม
เรื่องของคนสามเหล่า
“ วชิรพักตร์ “
คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพตอนเหนือ คือเหนือสนามหลวงขึ้นไป จนถึงบางซื่อ ซึ่งเป็นอาณาเขตด้านเหนือสุดของจังหวัดพระนครหรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี คงจะรู้จัก คลองเปรมประชากร หรืออย่างน้อยก็คงได้ยินชื่อมาบ้าง ชื่อนี้มีมานานแล้วเพราะเป็นคลองดั้งเดิมของกรุงเทพ
เริ่มต้นแยกจากคลองผดุงกรุงเกษมตรงข้างทำเนียบรัฐบาล ใกล้กับสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ พุ่งตรงไปทางทิศเหนือ ขนานกับถนนพระรามที่ ๕ ผ่านวัด เบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ไปเลียบสวนสัตว์ดุสิตหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าเขาดิน เลยโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยและสำนักงานเขตดุสิต ลอดสะพานเกษะโกมล ซึ่งมีบ้านของท่านผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายยุคสมัย เลยไปผ่านมณฑลทหารบกที่ ๑ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นมณฑลทหารบกที่ ๑๑ ติดกับกองพันทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ แล้วก็ตัดคลองบางกระบือถึง สะพานแดง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานบางซื่อไปแล้ว (ปัจจุบันเปลี่ยนกลับมาเป็นสะพานแดงอย่างเก่า) จากนั้นก็ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลียบถนน เตชะวนิชไปลอดสะพานสูงทะลุสามแยกที่จะเลี้ยวไป สถานีรถไฟบางซื่อทางขวา แยกคลองประปาทางซ้าย ตรงดิ่งจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ออกไปกลางทุ่ง ลิ่วไปสิ้นสุดที่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยพายเรือไปตามลำคลองนี้ซักที
ตรงสะพานแดง ที่ถนนทหารจรดกับถนนประดิพัทธ์ จ่อด้วยถนนพระรามที่ ๕ ชนกับถนนเตชะวนิช เป็นสี่แยกขึ้นมานี้มีชื่อเรียกตามชื่อสะพานเก่าว่า สี่แยกสะพานแดง แม้ว่าชื่อสะพานจะเปลี่ยนแปลงไปตั้งนาน คนเก่าพื้นเพดั้งเดิมแถวนั้น ก็ยังคงเรียกสี่แยกนี้ว่า สี่แยกสะพานแดงอยู่อย่างเดิม ซึ่งทำให้เด็กรุ่นหลังงงงวยไปตาม ๆ กัน จนกระทั่งหลังปีการท่องเที่ยวไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ กรุงเทพมหานครได้จัดทำป้ายสีเขียวสูงเด่น สำหรับบอกชื่อเส้นทางและแยกที่สำคัญ จึงได้รื้อฟื้นชื่อสี่แยกสะพานแดงขึ้นมาใช้ใหม่ ทำให้ทหารสื่อสารชอบใจมาก เพราะเรามักจะเรียก กรมการทหารสื่อสาร อันเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ตรงนี้ว่า ค่ายสะพานแดง ติดปากชินหูกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้แต่กรมสรรพาวุธทหารบก กรมการขนส่งทหารบก และกรมช่างอากาศ ก็คงจะพอใจด้วยเช่นกัน เพราะทั้งหมดนี้ได้ร่วมมือกัน จัดการแข่งขันกีฬาประเพณีสี่สโมสร ซึ่งได้เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า กีฬาสี่มุมสะพานแดง มาตั้งแต่เริ่มแรกเหมือนกัน
ค่ายสะพานแดงที่ว่านี้ ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ เนื่องด้วยกรมยุทธนาธิการหรือกระทรวงกลาโหม ได้จัดตั้งโรงแสงสรรพาวุธขนาดใหญ่ขึ้น โดยได้จัดการซื้อที่ดินตำบลบางซื่อ ตั้งแต่ปากคลองบางซื่อด้านใต้ หลังวัดแก้วฟ้าจุฬามณีไปจนถึงทางรถไฟ เลี้ยวไปตามทางรถไฟ ถึงคลองบางกระบือฝั่งเหนือ จนออกแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ได้สร้างโรงงานผลิตสรรพาวุธเพียงส่วนเดียว ตั้งเป็นกรมช่างแสงทหารบก นอกนั้นก็ได้จัดตั้งกองพาหนะและทหารช่าง เพื่อสนับสนุนโรงงานสรรพาวุธ ทหารช่างที่ว่านั้น ก็คือ กรมทหารช่างที่ ๑ ต้นกำเนิดของทหารสื่อสารนี้เอง
ที่ดินซึ่งกรมยุทธนาธิการได้ซื้อไว้ในครั้งกระนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง กรมอุตสาหกรรมทหาร กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรมสรรพาวุธทหารบก กรมช่างอากาศ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ กรมการขนส่งทหารบก กรมการทหารสื่อสาร กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ โรงเรียนทหารขนส่ง นั่นเอง
และคลองบางกระบือ ก็คือคูแคบ ๆ ที่ผ่านข้างวัดประชาระบือธรรม ซึ่งเดิมก็ชื่อวัดบางกระบือ ไปลอดโรงงานผลิตเบียร์โซดาตราสิงห์ ออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดจันทรสโมสร นั่นแหละ
ทั้งหมดนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของค่ายสะพานแดง ริมฝั่งคลองเปรมประชากร ก่อนที่ผมจะเกิด กว่าที่ผมจะมาเกี่ยวข้องจนมีความหลังกับสื่อสารสะพานแดงนั้น ก็เป็นเวลาประมาณ พ.ศ.๒๔๙๗ แต่ก่อนหน้านั้น ผมก็ได้มาวนเวียนอยู่แถว ๆ เขตทหารที่ตำบลบางซื่อตั้งเกือบสิบปีแล้ว เรื่องมันเป็นมาอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟัง
ผมเป็นคนรักการทหารเป็นชีวิตจิตใจ เพราะสมัยที่เรียนหนังสืออยู่ที่วัดสมอรายหรือ โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ชั้นมัธยมปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ นั้นผมก็ได้เป็นยุวชนทหาร ต้องฝึกอาวุธทุกเย็นอยู่แถว ๆ ลานวัดหลังโบสถ์ เคียงข้างกับกองทหารอินเดียอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยจากประชาชนชาวพาหุรัด เพราะขณะนั้นเป็นยามสงครามมหาเอเซียบูรพา ซึ่งญี่ปุ่นเป็นพี่เบิ้มอยู่ในย่านสุวรรณภูมินี้ แม้ก่อนหน้านั้นผมก็เคยร่วมเดินขบวนของประชาชน เป็นครั้งแรกที่สุดในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส จนกลายเป็นสงครามอินโดจีน และต่อมาขยายออกเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผมจึงตั้งความหวังไว้ว่า ในชีวิตนี้ต้องเป็นทหารอย่างแน่นอน
แต่ชึวิตมันก็มักจะไม่เป็นอย่างที่เราหวัง ผมสอบ ม.๖ ตกอย่างไม่เป็นท่า จะไม่ตกได้อย่างไรเมื่อ ม.๒ ก็ยกชั้นเลื่อนโดยไม่ต้องสอบไล่ปลายปี เนื่องจากญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย เรียกกันว่าโตโจสงเคราะห์ โตโจเป็นชื่อของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา พอเรียน ม.๓ ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้ต้องปิดโรงเรียน ตั้งสามเดือนกว่าน้ำจะลด เลยสอบพอเป็นพิธี แล้วก็เลื่อนชั้นกันหมดอีก ถึง ม.๔ สงครามเข้มข้นขึ้น นั่งเรียนอยู่ดี ๆ มีสัญญาณภัยทางอากาศ ก็พากันวิ่งออกจากห้องเรียน ลงไปแอบอยู่ริมคูข้างวัด ถ้ามีเสียงลูกระเบิดตูมตามขึ้นมาก็จะได้โดดลงคูไปเลย เรียนบ้างหยุดบ้างอยู่ทั้งปี แต่ก็ยังพอสอบผ่านไปได้ พอขึ้นชั้น ม.๔ ได้เทอมเดียวกระทรวงศึกษาธิการก็ทนไม่ไหว สั่งปิดโรงเรียนให้แยกย้ายกันหลบภัยสงคราม ติดตามผู้ปกครองไปอยู่แถวชนบท ที่ไม่มีจุดยุทธศาสตร์กันตามยถากรรม ใครจะเรียนต่อที่ไหนได้อย่างไรก็ว่ากันไป ตัวใครตัวมัน ผมก็เลยไม่ได้ไป เพราะเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด มัวนอนหงายดูเครื่องบิน บี.๒๙ สีเงินยวง บินมาโปรยลูกระเบิดใส่โรงไฟฟ้าสามเสนอยู่หลายครั้งหลายคราว กว่าปล่องไฟอันสูงใหญ่ จะลงไปกองอยู่กับพื้นดิน
พอกลางปี พ.ศ.๒๔๘๘ เดือนสิงหาคม สงครามสงบโรงเรียนเปิดสอนใหม่ ผมเสี่ยงสอบเข้าเรียนชั้น ม.๖ ได้ ทั้ง ๆ ที่เรียน ม.๕ เพียงเทอมเดียว แล้วก็เข้าไปเรียนรวมกันทุกห้องที่ใต้ถุนศาลาใหญ่ ของวัดราชาธิวาส เพราะทางการยึดเอาโรงเรียนของผมไปใช้ทำอะไรก็ไม่ทราบ ต้องแบ่งเรียนเป็นสองผลัดเช้าบ่าย ผมก็มัวไปขายขนมหาเลี้ยงมารดาอยู่ ก็ได้เรียนบ้างหยุดบ้างกระพร่องกระแพร่งมาตลอดปี ลงท้ายปลายปีก็สอบได้เพียง ๔๖ เปอร์เซ็นต์ เป็นอันว่าเหลือวุฒิอยู่เพียงแค่ชั้น ม.๔
จะเรียนซ้ำก็ไม่มีค่าเล่าเรียนเพียงปีละ ๔๐ บาทเท่านั้น ไปสมัครสอบนักเรียนจ่าทหารเรือก็ตกว่ายน้ำ เลยต้องเข้าทำงานเป็นลูกจ้างใช้แรงงานอยู่ใน กรมพาหนะทหารบก สมัยที่ยังใช้ปืนเล็กยาวไขว้กับล้อเกวียนเป็นเครื่องหมายเหล่า บังเอิญมีญาติเป็นผู้อาวุโสอยู่ที่นั่น จึงได้ทำงานตั้งแต่ตัวยังเล็กนิดเดียว อายุเพียงสิบห้าปี จนมีคนล้อว่าใครเอาลูกมาทำงานด้วย ต้องอดทนทำงานหนักอยู่ใน แผนกที่ ๓ ซึ่งตั้งเยื้องกับวัดแก้วฟ้าจุฬามณี พื้นที่โรงเรียนทหารขนส่งในปัจจุบัน และคอยรับใช้ท่านผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เช่น พันตรี ศิริ ศิริโยธิน พันตรี ประมาณ อดิเรกสาร จนมีผู้เมตตาเรียกขึ้นไปทำงานแบบนักการภารโรง อยู่อีกสองสามปีต่อมา จึงได้เลื่อนเป็น ข้าราชการวิสามัญ และย้ายไปทำงานเป็นเสมียนในร้านสหกรณ์กรมพาหนะทหารบก ริมคลองเปรมประชากร ฝั่งตรงกันข้ามกับสโมสรนายทหารสื่อสารหลังเก่า
จนถึง พ.ศ.๒๔๙๕ อายุครบเกณฑ์ทหาร แต่ขอผ่อนผันการเกณฑ์เพื่อหาเลี้ยงมารดาซึ่งป่วย และมีบุตรชายคนเดียว ปีนั้นพอบวชแล้วสึกหาลาเพศมาได้เพียงสองเดือน มารดาก็ถึงแก่กรรม ปีถัดไปจึงสมัครเข้าเป็นทหารเสียเลย โดยไม่ต้องรอจับใบดำใบแดง แต่ทางราชการประหยัดงบประมาณ ให้พักไปทีละสามเดือน ต้องไปรายงานตัวครั้งที่ ๔ ในเดือนเมษายน ๒๔๙๗ จึงได้เป็น ทหารราบ สังกัด กองร้อยกองบัญชาการ กองทัพที่ ๑ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวังสวนกุหลาบ ต่อมาเป็นกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๑ แล้วเปลี่ยนเป็นกองบัญชาการช่วยรบที่ ๑ ปัจจุบันเป็นโรงเรียนราชวินิจไปแล้ว
ผมฝึกอย่างหนักตามประสาทหารราบอยู่จนเกือบทั้งปี ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผ่าตัดโรคไส้เลื่อนที่เป็นมาแต่กำเนิด เพราะมันปวดเสียจนปลงแล้วว่า ถึงจะตัดอะไรต่ออะไรทิ้งหมดก็ยอมทั้งสิ้น แต่เคราะห์ยังดีโดนผ่าเพียงไม่ถึงคืบ นอนอยู่ไม่นานก็หายมาเป็นครูฝึกทหารรุ่นใหม่ได้ จนใกล้เดือนธันวาคม ทางราชการประกาศรับนักเรียนนายสิบทหารบก หลักสูตรปกติ ผลัดที่ ๒ และรับพลทหารกองประจำการ เข้าเป็นโดยไม่ต้องสอบ ก็รีบสมัครทันที ผู้บังคับหมวดซึ่งไปขอให้เซ็นค้ำประกันถามว่าจะสมัครเหล่าไหน ก็บอกว่าไม่ทราบเหมือนกันว่าเขารับเหล่าใดบ้าง ท่านก็กำชับให้เอาเหล่าราบ ผมก็รับปากรับคำเป็นอันดี ทั้ง ๆ ที่เข็ดการฝึก เต็มที
พอยื่นใบสมัครจึงรู้ว่าเขามีให้เลือกเพียงสามเหล่า คือ เหล่าแพทย์ ทหารปืนใหญ่ และ ทหารสื่อสาร ผมก็นึกในใจว่า เหล่าแพทย์เห็นจะไม่เอาดีกว่า เพราะกลัวเข็มฉีดยา และเป็นคนใจอ่อนไม่ชอบเห็นคนเจ็บป่วย ให้เป็นที่ทุเรศเวทนา ส่วนเหล่าปืนใหญ่ก็ท่าจะไม่ไหว เพราะปืนมันหนักขืนไปแบกหามลากเข็น เพิ่งผ่าตัดมาใหม่ ๆ เดี๋ยวแผลเกิดปริออกมาท่าคงแย่เป็นแน่ ก็เลยเหลืออยู่เหล่าเดียวเท่านั้น ที่อาจได้ความรู้ทางช่างวิทยุ ติดตัวไว้พอจะออกมาหากินนอกเวลาได้บ้าง เพราะวิชาไฟฟ้าของผมก็ใช่ย่อยเสียเมื่อไหร่ อ่อนกว่าภาษาไทยนิดเดียวเอง
และด้วยเหตุผลตื้น ๆ เพียงแค่นี้แท้ ๆ ทีเดียว ที่ทำให้ผมซึ่งเคยผ่านทหารขนส่ง และ ทหารราบ ได้พลัดหลงเข้ามาเป็น ทหารสื่อสาร ซึ่งมีนิวาสถานอยู่ที่มุมสะพานแดง ริมคลองเปรมประชากร โดยไม่เคยได้ใช้เครื่องสื่อสารเลยสักอย่างเดียวตลอดเวลาสามสิบแปดปี
เรื่องของคนสามเหล่า ๑๒ ก.พ.๖๐
เรื่องของคนสามเหล่า
“ วชิรพักตร์ “
คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพตอนเหนือ คือเหนือสนามหลวงขึ้นไป จนถึงบางซื่อ ซึ่งเป็นอาณาเขตด้านเหนือสุดของจังหวัดพระนครหรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี คงจะรู้จัก คลองเปรมประชากร หรืออย่างน้อยก็คงได้ยินชื่อมาบ้าง ชื่อนี้มีมานานแล้วเพราะเป็นคลองดั้งเดิมของกรุงเทพ
เริ่มต้นแยกจากคลองผดุงกรุงเกษมตรงข้างทำเนียบรัฐบาล ใกล้กับสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ พุ่งตรงไปทางทิศเหนือ ขนานกับถนนพระรามที่ ๕ ผ่านวัด เบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ไปเลียบสวนสัตว์ดุสิตหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าเขาดิน เลยโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยและสำนักงานเขตดุสิต ลอดสะพานเกษะโกมล ซึ่งมีบ้านของท่านผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายยุคสมัย เลยไปผ่านมณฑลทหารบกที่ ๑ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นมณฑลทหารบกที่ ๑๑ ติดกับกองพันทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ แล้วก็ตัดคลองบางกระบือถึง สะพานแดง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานบางซื่อไปแล้ว (ปัจจุบันเปลี่ยนกลับมาเป็นสะพานแดงอย่างเก่า) จากนั้นก็ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลียบถนน เตชะวนิชไปลอดสะพานสูงทะลุสามแยกที่จะเลี้ยวไป สถานีรถไฟบางซื่อทางขวา แยกคลองประปาทางซ้าย ตรงดิ่งจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ออกไปกลางทุ่ง ลิ่วไปสิ้นสุดที่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยพายเรือไปตามลำคลองนี้ซักที
ตรงสะพานแดง ที่ถนนทหารจรดกับถนนประดิพัทธ์ จ่อด้วยถนนพระรามที่ ๕ ชนกับถนนเตชะวนิช เป็นสี่แยกขึ้นมานี้มีชื่อเรียกตามชื่อสะพานเก่าว่า สี่แยกสะพานแดง แม้ว่าชื่อสะพานจะเปลี่ยนแปลงไปตั้งนาน คนเก่าพื้นเพดั้งเดิมแถวนั้น ก็ยังคงเรียกสี่แยกนี้ว่า สี่แยกสะพานแดงอยู่อย่างเดิม ซึ่งทำให้เด็กรุ่นหลังงงงวยไปตาม ๆ กัน จนกระทั่งหลังปีการท่องเที่ยวไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ กรุงเทพมหานครได้จัดทำป้ายสีเขียวสูงเด่น สำหรับบอกชื่อเส้นทางและแยกที่สำคัญ จึงได้รื้อฟื้นชื่อสี่แยกสะพานแดงขึ้นมาใช้ใหม่ ทำให้ทหารสื่อสารชอบใจมาก เพราะเรามักจะเรียก กรมการทหารสื่อสาร อันเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ตรงนี้ว่า ค่ายสะพานแดง ติดปากชินหูกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้แต่กรมสรรพาวุธทหารบก กรมการขนส่งทหารบก และกรมช่างอากาศ ก็คงจะพอใจด้วยเช่นกัน เพราะทั้งหมดนี้ได้ร่วมมือกัน จัดการแข่งขันกีฬาประเพณีสี่สโมสร ซึ่งได้เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า กีฬาสี่มุมสะพานแดง มาตั้งแต่เริ่มแรกเหมือนกัน
ค่ายสะพานแดงที่ว่านี้ ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ เนื่องด้วยกรมยุทธนาธิการหรือกระทรวงกลาโหม ได้จัดตั้งโรงแสงสรรพาวุธขนาดใหญ่ขึ้น โดยได้จัดการซื้อที่ดินตำบลบางซื่อ ตั้งแต่ปากคลองบางซื่อด้านใต้ หลังวัดแก้วฟ้าจุฬามณีไปจนถึงทางรถไฟ เลี้ยวไปตามทางรถไฟ ถึงคลองบางกระบือฝั่งเหนือ จนออกแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ได้สร้างโรงงานผลิตสรรพาวุธเพียงส่วนเดียว ตั้งเป็นกรมช่างแสงทหารบก นอกนั้นก็ได้จัดตั้งกองพาหนะและทหารช่าง เพื่อสนับสนุนโรงงานสรรพาวุธ ทหารช่างที่ว่านั้น ก็คือ กรมทหารช่างที่ ๑ ต้นกำเนิดของทหารสื่อสารนี้เอง
ที่ดินซึ่งกรมยุทธนาธิการได้ซื้อไว้ในครั้งกระนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง กรมอุตสาหกรรมทหาร กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรมสรรพาวุธทหารบก กรมช่างอากาศ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ กรมการขนส่งทหารบก กรมการทหารสื่อสาร กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ โรงเรียนทหารขนส่ง นั่นเอง
และคลองบางกระบือ ก็คือคูแคบ ๆ ที่ผ่านข้างวัดประชาระบือธรรม ซึ่งเดิมก็ชื่อวัดบางกระบือ ไปลอดโรงงานผลิตเบียร์โซดาตราสิงห์ ออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดจันทรสโมสร นั่นแหละ
ทั้งหมดนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของค่ายสะพานแดง ริมฝั่งคลองเปรมประชากร ก่อนที่ผมจะเกิด กว่าที่ผมจะมาเกี่ยวข้องจนมีความหลังกับสื่อสารสะพานแดงนั้น ก็เป็นเวลาประมาณ พ.ศ.๒๔๙๗ แต่ก่อนหน้านั้น ผมก็ได้มาวนเวียนอยู่แถว ๆ เขตทหารที่ตำบลบางซื่อตั้งเกือบสิบปีแล้ว เรื่องมันเป็นมาอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟัง
ผมเป็นคนรักการทหารเป็นชีวิตจิตใจ เพราะสมัยที่เรียนหนังสืออยู่ที่วัดสมอรายหรือ โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ชั้นมัธยมปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ นั้นผมก็ได้เป็นยุวชนทหาร ต้องฝึกอาวุธทุกเย็นอยู่แถว ๆ ลานวัดหลังโบสถ์ เคียงข้างกับกองทหารอินเดียอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยจากประชาชนชาวพาหุรัด เพราะขณะนั้นเป็นยามสงครามมหาเอเซียบูรพา ซึ่งญี่ปุ่นเป็นพี่เบิ้มอยู่ในย่านสุวรรณภูมินี้ แม้ก่อนหน้านั้นผมก็เคยร่วมเดินขบวนของประชาชน เป็นครั้งแรกที่สุดในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส จนกลายเป็นสงครามอินโดจีน และต่อมาขยายออกเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผมจึงตั้งความหวังไว้ว่า ในชีวิตนี้ต้องเป็นทหารอย่างแน่นอน
แต่ชึวิตมันก็มักจะไม่เป็นอย่างที่เราหวัง ผมสอบ ม.๖ ตกอย่างไม่เป็นท่า จะไม่ตกได้อย่างไรเมื่อ ม.๒ ก็ยกชั้นเลื่อนโดยไม่ต้องสอบไล่ปลายปี เนื่องจากญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย เรียกกันว่าโตโจสงเคราะห์ โตโจเป็นชื่อของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา พอเรียน ม.๓ ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้ต้องปิดโรงเรียน ตั้งสามเดือนกว่าน้ำจะลด เลยสอบพอเป็นพิธี แล้วก็เลื่อนชั้นกันหมดอีก ถึง ม.๔ สงครามเข้มข้นขึ้น นั่งเรียนอยู่ดี ๆ มีสัญญาณภัยทางอากาศ ก็พากันวิ่งออกจากห้องเรียน ลงไปแอบอยู่ริมคูข้างวัด ถ้ามีเสียงลูกระเบิดตูมตามขึ้นมาก็จะได้โดดลงคูไปเลย เรียนบ้างหยุดบ้างอยู่ทั้งปี แต่ก็ยังพอสอบผ่านไปได้ พอขึ้นชั้น ม.๔ ได้เทอมเดียวกระทรวงศึกษาธิการก็ทนไม่ไหว สั่งปิดโรงเรียนให้แยกย้ายกันหลบภัยสงคราม ติดตามผู้ปกครองไปอยู่แถวชนบท ที่ไม่มีจุดยุทธศาสตร์กันตามยถากรรม ใครจะเรียนต่อที่ไหนได้อย่างไรก็ว่ากันไป ตัวใครตัวมัน ผมก็เลยไม่ได้ไป เพราะเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด มัวนอนหงายดูเครื่องบิน บี.๒๙ สีเงินยวง บินมาโปรยลูกระเบิดใส่โรงไฟฟ้าสามเสนอยู่หลายครั้งหลายคราว กว่าปล่องไฟอันสูงใหญ่ จะลงไปกองอยู่กับพื้นดิน
พอกลางปี พ.ศ.๒๔๘๘ เดือนสิงหาคม สงครามสงบโรงเรียนเปิดสอนใหม่ ผมเสี่ยงสอบเข้าเรียนชั้น ม.๖ ได้ ทั้ง ๆ ที่เรียน ม.๕ เพียงเทอมเดียว แล้วก็เข้าไปเรียนรวมกันทุกห้องที่ใต้ถุนศาลาใหญ่ ของวัดราชาธิวาส เพราะทางการยึดเอาโรงเรียนของผมไปใช้ทำอะไรก็ไม่ทราบ ต้องแบ่งเรียนเป็นสองผลัดเช้าบ่าย ผมก็มัวไปขายขนมหาเลี้ยงมารดาอยู่ ก็ได้เรียนบ้างหยุดบ้างกระพร่องกระแพร่งมาตลอดปี ลงท้ายปลายปีก็สอบได้เพียง ๔๖ เปอร์เซ็นต์ เป็นอันว่าเหลือวุฒิอยู่เพียงแค่ชั้น ม.๔
จะเรียนซ้ำก็ไม่มีค่าเล่าเรียนเพียงปีละ ๔๐ บาทเท่านั้น ไปสมัครสอบนักเรียนจ่าทหารเรือก็ตกว่ายน้ำ เลยต้องเข้าทำงานเป็นลูกจ้างใช้แรงงานอยู่ใน กรมพาหนะทหารบก สมัยที่ยังใช้ปืนเล็กยาวไขว้กับล้อเกวียนเป็นเครื่องหมายเหล่า บังเอิญมีญาติเป็นผู้อาวุโสอยู่ที่นั่น จึงได้ทำงานตั้งแต่ตัวยังเล็กนิดเดียว อายุเพียงสิบห้าปี จนมีคนล้อว่าใครเอาลูกมาทำงานด้วย ต้องอดทนทำงานหนักอยู่ใน แผนกที่ ๓ ซึ่งตั้งเยื้องกับวัดแก้วฟ้าจุฬามณี พื้นที่โรงเรียนทหารขนส่งในปัจจุบัน และคอยรับใช้ท่านผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เช่น พันตรี ศิริ ศิริโยธิน พันตรี ประมาณ อดิเรกสาร จนมีผู้เมตตาเรียกขึ้นไปทำงานแบบนักการภารโรง อยู่อีกสองสามปีต่อมา จึงได้เลื่อนเป็น ข้าราชการวิสามัญ และย้ายไปทำงานเป็นเสมียนในร้านสหกรณ์กรมพาหนะทหารบก ริมคลองเปรมประชากร ฝั่งตรงกันข้ามกับสโมสรนายทหารสื่อสารหลังเก่า
จนถึง พ.ศ.๒๔๙๕ อายุครบเกณฑ์ทหาร แต่ขอผ่อนผันการเกณฑ์เพื่อหาเลี้ยงมารดาซึ่งป่วย และมีบุตรชายคนเดียว ปีนั้นพอบวชแล้วสึกหาลาเพศมาได้เพียงสองเดือน มารดาก็ถึงแก่กรรม ปีถัดไปจึงสมัครเข้าเป็นทหารเสียเลย โดยไม่ต้องรอจับใบดำใบแดง แต่ทางราชการประหยัดงบประมาณ ให้พักไปทีละสามเดือน ต้องไปรายงานตัวครั้งที่ ๔ ในเดือนเมษายน ๒๔๙๗ จึงได้เป็น ทหารราบ สังกัด กองร้อยกองบัญชาการ กองทัพที่ ๑ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวังสวนกุหลาบ ต่อมาเป็นกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๑ แล้วเปลี่ยนเป็นกองบัญชาการช่วยรบที่ ๑ ปัจจุบันเป็นโรงเรียนราชวินิจไปแล้ว
ผมฝึกอย่างหนักตามประสาทหารราบอยู่จนเกือบทั้งปี ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผ่าตัดโรคไส้เลื่อนที่เป็นมาแต่กำเนิด เพราะมันปวดเสียจนปลงแล้วว่า ถึงจะตัดอะไรต่ออะไรทิ้งหมดก็ยอมทั้งสิ้น แต่เคราะห์ยังดีโดนผ่าเพียงไม่ถึงคืบ นอนอยู่ไม่นานก็หายมาเป็นครูฝึกทหารรุ่นใหม่ได้ จนใกล้เดือนธันวาคม ทางราชการประกาศรับนักเรียนนายสิบทหารบก หลักสูตรปกติ ผลัดที่ ๒ และรับพลทหารกองประจำการ เข้าเป็นโดยไม่ต้องสอบ ก็รีบสมัครทันที ผู้บังคับหมวดซึ่งไปขอให้เซ็นค้ำประกันถามว่าจะสมัครเหล่าไหน ก็บอกว่าไม่ทราบเหมือนกันว่าเขารับเหล่าใดบ้าง ท่านก็กำชับให้เอาเหล่าราบ ผมก็รับปากรับคำเป็นอันดี ทั้ง ๆ ที่เข็ดการฝึก เต็มที
พอยื่นใบสมัครจึงรู้ว่าเขามีให้เลือกเพียงสามเหล่า คือ เหล่าแพทย์ ทหารปืนใหญ่ และ ทหารสื่อสาร ผมก็นึกในใจว่า เหล่าแพทย์เห็นจะไม่เอาดีกว่า เพราะกลัวเข็มฉีดยา และเป็นคนใจอ่อนไม่ชอบเห็นคนเจ็บป่วย ให้เป็นที่ทุเรศเวทนา ส่วนเหล่าปืนใหญ่ก็ท่าจะไม่ไหว เพราะปืนมันหนักขืนไปแบกหามลากเข็น เพิ่งผ่าตัดมาใหม่ ๆ เดี๋ยวแผลเกิดปริออกมาท่าคงแย่เป็นแน่ ก็เลยเหลืออยู่เหล่าเดียวเท่านั้น ที่อาจได้ความรู้ทางช่างวิทยุ ติดตัวไว้พอจะออกมาหากินนอกเวลาได้บ้าง เพราะวิชาไฟฟ้าของผมก็ใช่ย่อยเสียเมื่อไหร่ อ่อนกว่าภาษาไทยนิดเดียวเอง
และด้วยเหตุผลตื้น ๆ เพียงแค่นี้แท้ ๆ ทีเดียว ที่ทำให้ผมซึ่งเคยผ่านทหารขนส่ง และ ทหารราบ ได้พลัดหลงเข้ามาเป็น ทหารสื่อสาร ซึ่งมีนิวาสถานอยู่ที่มุมสะพานแดง ริมคลองเปรมประชากร โดยไม่เคยได้ใช้เครื่องสื่อสารเลยสักอย่างเดียวตลอดเวลาสามสิบแปดปี