เกร็ดความรู้จาก เพชรกลางไฟ ว่าด้วยเรื่อง "ละครปรีดาลัย"

ไม่พูดไม่ได้แล้ว
เนื่องจากท่านหญิงนิดโปรดปรานละครปรีดาลัย  
เเละเด็จออกไปชมละครพร้อมกับสำอางอยู่หลายครั้ง

ประวัติละครปรีดาลัย ก่อตั้งโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าวรวรรณากร" เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 56 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ประสูติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชันษาได้ 70 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงมีชื่อเสียงจากงานพระนิพนธ์หลายชิ้นที่รู้จักกันดี ได้แก่ บทละครพูดเรื่อง " สร้อยคอที่หาย" ซึ่งเคยบรรจุในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ บทละครร้อง "สาวเครือฟ้า" ซึ่งได้สร้างตัวละครให้กลายเป็นคนที่เหมือนกับมีตัวจริงขึ้นมา 2 คน คือ ร้อยตรีพร้อม และสาวเครือฟ้า ทรงก่อตั้งโรงละครร้องขึ้นในบริเวณตำหนักที่ประทับ ชื่อว่า "โรงละครปรีดาลัย" เป็นโรงละครร้องแห่งแรกในสยาม
นอกจากนี้ยังทรงมีงานที่สำคัญ คือ พระนิพนธ์แปล จดหมายเหตุลาลูแบร์ โดยทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ "ตำนานพระแท่นมนังคศิลาอาสน์" รุไบยาตของโอมาร์ คัยยาม และ "นวางกุโรวาท" เป็นต้น และพระองค์ยังทรงใช้นามปากกาว่า "ประเสริฐอักษร" เพื่อทรงพระ นิพนธ์เรื่องสั้นไว้จำนวนหนึ่งอีกด้วย


บทละครเรื่องสาวเครือฟ้า เป็นงานนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงของพระองค์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงได้เค้าเรื่องนี้จากละครอุปรากร (โอเปรา) เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madam Butterfly) ของเกียโคโม บุชชินี อุปรากรเรื่องนี้ได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของจอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่งในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่2 เมื่อพ.ศ. 2450 ได้ทอดพระเนตรการแสดงละครอุปรากรที่ฝรั่งเศส เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายซึ่งเป็นเรื่องความรักและความผิดหวังระหว่างสาวญี่ปุ่นชื่อโจโจ้ซังกับทหารหนุ่มฝรั่ง เมื่อเสด็จนิวัติพระนครได้ทรงเล่าให้กรมนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงดัดแปลงเรื่องนี้มาเป็นละครร้องแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง เป็นที่พอพระหฤทัยมาก นับเป็นการเริ่มต้นกำเนิดละครร้องที่ทรงดัดแปลงมาจากละครอุปรากรของยุโรป

แล้วโรงละครปรีดาลัยอยู่ที่ใด


โรงละครปรีดาลัยตั้งอยู่บริเวณเขตวังของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตรงแพร่งนรา ด้านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งนับเป็นย่านชุมชนชาวบกแห่งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นแหล่งพาณิชยกรรมหรูหรายุคแรกของกรุงเทพฯ โดยสร้างให้มีลักษณะย่านการค้าแบบตะวันตกผสมจีน เคยเป็นแหล่งที่พักอาศัยของนักคิดนักเขียน เช่น เทียนวรรณ มาลัย ชูพินิจ ก.ศ.ร. กุหลาบ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)

วังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต่อมาถูกเวน คืนบางส่วนนำมาสร้างถนน คงเหลือเพียงพระตำหนักไม้หลังเล็กอันเป็นบริเวณเดียวกันที่ตั้งโรงละครปรีดาลัย ภายหลังเมื่อกรมพระนราธิปฯ ได้สิ้นพระชนม์แล้วก็ตก เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ให้เช่าต่อเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ซึ่งปัจจุบันก็เลิกกิจการไปแล้วเช่นกัน ด้านนอกวังได้มีการแบ่งพื้นที่ริมถนนสร้างตึกแถว 2 แถว หันหน้าเข้าหากันมีถนนในซอยคั่นกลาง เพื่อให้เช่าทำการค้า ชาวบ้านแถบนั้น เรียกย่าน นั้นว่า "แพร่งนรา" และเรียกถนนที่ตัดใหม่ว่า "ถนนแพร่งนรา"

ที่มา
http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=80826
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่