เกร็ดความรู้จาก เพชรกลางไฟ ว่าด้วยเรื่อง "เพลงลาวดวงเดือน"

เพลงลาวดวงเดือน ที่หญิงหลงเล่นถวายเสด็จป้า

เป็นเพลงที่ประพันธ์โดย พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ต้นราชสกุลเพ็ญพัฒน์
เสด็จป้าตรัสว่า เสียดายพระองค์ชายอายุน้อย คงได้ฟังเพลงอีกหลายเพลงมากกว่านี้

จริง เพราะ พระองค์ชายสิ้นพระชนต์เมื่อพ.ศ. 2453 หนึ่งปีก่อนเรื่องราวของเพชรกลางไฟ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชนมายุ 20 พรรษา กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ
ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก
งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงสนพระทัยดนตรีไทย โปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า "วงพระองค์เพ็ญ" พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้เสด็จไปนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2446 ทรงชอบพอกับ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ พระธิดาใน เจ้าราชสัมพันธวงศ์ ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่, เจ้าราชสัมพันธวงศ์นครเชียงใหม่ กับ เจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) ณ เชียงใหม่ ได้โปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน (หรือ ลาวดวงเดือน) ขึ้น เมื่อใดที่ทรงระลึกถึง เจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงนี้มาตลอดพระชนมชีพ
วังที่ประทับของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นบ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) บิดาของเจ้าจอมมารดากรกต มีชื่อเรียกว่า วังท่าเตียน มีโรงละครอยู่โรงหนึ่ง ในสมัยนั้นเรียกกันว่า ปรินส์เทียเตอร์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดเรื้อรัง เมื่อ พ.ศ. 2453 พระชนมายุ 28 พรรษา

ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B9%87%E0%B8%8D%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%A1
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่