[CR] หนังใหญ่วัดขนอนกับชีพจรอันแผ่วเบา (จ.ราชบุรี)


“หนังใหญ่”

ถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

แต่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดเอาในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ใช้หนังใหญ่เป็นมหรสพภายในพระราชสำนัก

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้แพร่หลายมาสู่ประชาชนทั่วไป และเป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนั้น

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 การแสดงโขนเข้ามามีบทบาททำให้หนังใหญ่ลดความนิยมลงไป

ยิ่งพอบ้านเมืองเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวหนังใหญ่ก็ถูกทิ้งขว้าง และค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย


ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะรู้จักหนังใหญ่ อย่างที่ทำงานของผมจัดทริปไปเที่ยวจังหวัดราชบุรีกัน

ผมจึงเสนอว่าจะพาไปชมการแสดงหนังใหญ่ที่วัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ซึ่งเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ยังคงอนุรักษ์หนังใหญ่เอาไว้

และการไปชมครั้งนี้มันก็ไม่ได้เป็นแค่การเดินชมตัวหนังที่จัดแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ หากแต่หนังใหญ่ของที่นี่ยังมีชีวิต

ยังมีการแสดงจริงๆ อยู่ทุกๆ สัปดาห์ แต่ไม่น่าเชื่อว่าทุกคนกลับถามเป็นเสียงเดียวกัน

หนังใหญ่คืออะไร!?



‘หนังใหญ่’ คือการเล่นหุ่นละครเงาที่มีลักษณะคล้ายกับหนังตะลุงแต่ตัวหนังมีขนาดใหญ่กว่า

โดยใช้หนังวัวมาฉลุสลักลวดลายเป็นตัวละครในเนื้อเรื่อง ส่วนใหญ่นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์

ในการแสดงจะใช้คนเชิดอยู่หน้าฉากทำให้สามารถมองเห็นท่วงท่าของผู้เชิดร่วมกับตัวหนัง

ต่างจากหนังตะลุงที่จะเห็นแค่เงาของหุ่นเชิดอยู่หลังฉาก

ใช้คนพากย์และการเจรจาเป็นการดำเนินเรื่อง

มีวงปี่พาทย์คอยบรรเลงเพลงให้จังหวะถ่ายทอดอารมณ์ไปสู่ผู้ชม ถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย

ที่ผสมผสานทั้งนาฏศิลป์ วาทศิลป์ คีตศิลป์ วรรณศิลป์ และหัตถศิลป์ ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว


จากสมาชิกเกือบ 20 คน กลับมีคนร่วมไปดูหนังใหญ่กับผมแค่ 4 คน รวมตัวผมเองด้วย

ซึ่งเพื่อน 3 คนที่มาก็ไม่รู้ว่าอยากจะไปแค่ไหน หรือจำใจเพราะต้องติดรถผมไป!

หากมองกันผิวเผินความบันเทิงในยุคโบราณไฉนเลยจะสู้สิ่งบันเทิงเร้าใจในปัจจุบันได้

มันอาจจะดูน่าเบื่อในสายตาของคนสมัยนี้ แต่หากลองมาทำความรู้จัก ลองได้เข้าไปสัมผัส

เราจะมองเห็นศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติที่ควรค่าแก่การสืบทอดรักษา



พวกเรามาถึงวัดขนอนก่อนเวลาแสดงประมาณ 15 นาที บรรยากาศดูเงียบเหงามีรถจอดอยู่แค่คันสองคัน

ผมนำเพื่อนเดินตรงไปยังอาคารโรงมหรสพก่อนผลักประตูเข้าไป เห็นที่นั่งเรียงรายมากมายตั้งแต่หน้าประตูไปจนสุดเวที

แต่มันเป็นที่นั่งว่างเปล่าไร้วี่แววผู้คน


บนเวทีขึงฉากสีขาวขอบแดงเหมือนจอหนัง มีตัวหนังใหญ่ตั้งโชว์อยู่ 1 ตัว

ทางด้านซ้ายมือข้างเวทีเป็นมุมของวงดนตรีไทย มีเด็กๆ ใส่ชุดอยู่บ้านนั่งหยอกล้อกันอยู่ตามประสา

ผมชักไม่แน่ใจจึงเดินเข้าไปถามว่าวันนี้มีการแสดงหรือเปล่า?

เด็กน้อยตอบว่า “มี” แต่นี่ใกล้เวลาแล้วยังไม่เห็นมีใครนอกจากพวกเราสี่คน!


สิบโมงนักดนตรีเข้านั่งประจำที่ ซึ่งก็คือเด็กๆ กลุ่มนี้นี่แหละ โดยมีคุณตาคนหนึ่งเป็นผู้คุมวง

ทราบภายหลังว่าท่านคือครูสุเทพ นิ่มอนงค์ เป็นครูผู้ฝึกสอนวงปี่พาทย์ของวัดขนอน



เสียงดนตรีไทยจากเด็กๆ เริ่มประโคมโหมโรงให้ผู้ชม VIP แถวหน้าสุดทั้งสี่คนฟัง

มันเศร้าจับใจยังไงบอกไม่ถูก มันไม่ใช่เพราะท่วงทำนองเพลง หากแต่มองให้ลึกลงไปเมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้น

ไปเจอผู้คนเจอสังคมใหม่ๆ พวกเขาจะยังเล่นดนตรีไทยแบบนี้อยู่อีกหรือเปล่า

จะยังคงอนุรักษ์การแสดงของชาติอย่างนี้อยู่อีกหรือไม่ ในเมื่อสังคมรวมถึงพ่อแม่ของพวกเขาคงต้องมองว่า

สิ่งเหล่านี้มันอาจไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืนมั่นคง และยิ่งหากไม่มีผู้ชมการแสดงก็คงไร้ความหมาย

และน่าเสียดายที่มรดกตกทอดจากบรรพบุรุษที่มีมายาวนานนับร้อยๆ ปี จะต้องมาสิ้นสุดเอาในยุคสมัยของเรา


ยังดีที่ขณะดนตรีบรรเลงเริ่มมีคนทยอยเข้ามานั่งรอชมการแสดงเรื่อยๆ

เสียงคำไหว้ครูเป็นภาษาบาลีของกลุ่มนักแสดงดังก้องออกมาจากทางด้านหลังเวที

ทำเอาทั้งโรงมหรสพเงียบสงบราวต้องมนตร์สะกด จากนั้นพิธีกรหนุ่มในชุดโจงกระเบนสีแดงก็เผยโฉมออกมาด้วยหน้าตาที่ขัดๆ

ก็พี่แกเล่นไว้หนวด ไถผมเป๋เปิดข้างทรงวัยรุ่น ห้อยตุ้มหู ดูยังไงก็เด็กแว๊นชัดๆ!

หนักแล้ววัฒนธรรมไทย! ผมคิดในใจ


แต่พอได้ฟังพี่เค้าเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหนังใหญ่ตั้งแต่การทำตัวหนัง บทพากย์บทละคร ดนตรีที่ใช้

ตลอดจนให้น้องนักแสดงสองคนออกมาสาธิตท่าทางการเชิดปูความรู้ให้ผู้ชมก่อนเริ่มการแสดง

ผมก็ต้องขออภัยที่สบประมาทในหน้าตา เพราะสิ่งที่พี่เค้าถ่ายทอดมาทำให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่า

ว่าก่อนจะมาเป็นหนังใหญ่ได้มันยากลำบากขนาดไหน


ยิ่งพอเริ่มการแสดงจากที่ขออภัยกลับแทบต้องกราบขอขมา ด้วยน้ำเสียงการพากย์การเจรจาที่ทรงพลังเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์

สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาได้อย่างลึกซึ้งถึงบทบาท แล้วบทยาวขนาดนี้จำได้อย่างไร!?

ไม่แพ้น้องๆ นักแสดงที่มีลีลาเชิดหุ่นอันเฉิดฉายจังหวะย่าง จังหวะก้าว กระทืบพื้นตึงตังฟังดนตรีประกอบ

จนผมเพลินและสนุกไปกับเรื่องราวตลอด 1 ชั่วโมงเต็ม





น้ำตาผมคลอหลังจบการแสดง เมื่อหันไปดูทั้งโรงมหรสพไม่ได้มีแค่ผู้ชมเพียง 4 คน

แต่กลับมีราวๆ 30 คน รวมถึงชาวต่างชาติอีกกลุ่มหนึ่ง แม้จะไม่ใช่จำนวนมากมายอะไร

แต่แค่นี้ก็ทำเอาผมตื้นตันใจที่ศิลปวัฒนธรรมไทยซึ่งกำลังจะเลือนหายไปยังไม่ถูกลืม

ยังคงมีคนเห็นคุณค่า ยังคงมีคนมาสานต่อลมหายใจ

ชีพจรของหนังใหญ่จะยังคงเต้นต่อไป ตราบที่คนไทยยังช่วยกันอนุรักษ์รักษา




เส้นทางของไอฟายน้อยสู่วัดขนอน

จากกรุงเทพฯใช้ถนนบรมราชชนนี (ทางหลวงหมายเลข 338) ตรงไปทางอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ประมาณ 30 กิโลเมตร

เจอสะพานให้ตรงขึ้นไปวนขวาเข้าถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองนครปฐม ตรงไปประมาณ 18 กิโลเมตร จะผ่านทางเข้าตัวเมืองนครปฐม

ให้ตรงต่อไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร จะเจอสี่แยกทางเข้าอำเภอบางแพ-โพธาราม

ให้ใช้ถนนเลียบทางยกระดับแล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3080 ตามป้ายอำเภอโพธาราม


ตรงไปประมาณ 5 กิโลเมตร ลงสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองมาจะเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4005

ตรงไปอีกประมาณ 2.5 กิโลเมตร จะเห็นวัดขนอนตั้งอยู่ทางขวามือรวมระยะทางจากกรุงเทพฯประมาณ 84 กิโลเมตร


หนังใหญ่วัดขนอนจะมีการแสดงทุกๆ วันเสาร์เวลา 10.00 – 11.00 น. วันอาทิตย์เวลา 11.00 - 12.00 น. (เข้าชมฟรี)

ส่วนพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.30 น.



ติดตามบทความของไอฟายน้อยเรื่องอื่นๆ ได้ที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=ifind
ชื่อสินค้า:   หนังใหญ่, วัดขนอน, ราชบุรี
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่