ถึงเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ เกี่ยวกับการพาดหัวข่าว

เว็บข่าวควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ผมกล้าพูดได้เลยว่าเว็บข่าวสมัยนี้เป็นตัวการในการทำให้ภาษาไทยของเราแย่ลง ขอให้เว็บข่าวหยุดทำลายภาษาไทยได้แล้ว  ผมเฝ้าดูพวกคุณฉุดภาษาไทยลงเหวมานานแล้ว
       ขอให้นักข่าวคำนึงถึงภาษาพูดและภาษาเขียนให้มากกว่านี้  ปัจจุบันไม่มีใครแยกแยะภาษาพูดและภาษาเขียนเลย  ใช้ภาษาปนกันอย่างไม่รู้จักกาละเทศะ
    พวกคุณรู้หรือไม่ว่าภาษามีสองชนิดคือภาษาพูดและภาษาเขียน
ภาษาพูด คือภาษาที่เอาไว้สื่อสารโดยการพูด
ภาษาเขียน คือภาษาที่เอาไว้สื่อสารโดยการเขียน
        การจะใช้ภาษาจะต้องคำนึงถึงกาละเทศะด้วย ทุกวันนี้ผมเห็นพวกคุณเขียนพาดหัวข่าวด้วยความทะลึ่งคึกคะนองจนเกินกว่าจะรับได้แล้ว    
       การพาดหัวข่าวด้วยภาษากักขฬะ มีแต่จะทำให้วงการนักเขียน วงการข่าวดูไร้ค่าและตกต่ำลง
ผมลองมาวิเคราะห์ดูทำไมวงการข่าวถึงได้หย่อนยานเรื่องภาษา น่าจะเกิดจาก
1.ย้อนหลังไปสิบกว่าปีก่อนเริ่มมีรายการคุยข่าวทางทีวี เริ่มมีการเอาศอกท้าวโต๊ะ เอามือท้าวคาง นังเอนหลัง คุยไปหัวเราะไป มีการใช้คำว่า เออ เอ่อ อือ เอ้อ อืม ในรายการจนเป็นเรื่องปกติ ความหย่อนยานอาจจะเริ่มจากรายการคุยข่าวพวกนี้
2.รายการข่าวบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นข่าวบันเทิงทางทีวีหรือเว็บไซต์
มักจะใช้ภาษาหรือสำนวนที่ใส่จริตมากจนเกินเหตุ
3.ทางเว็บข่าวต้องการจะเพิ่มยอดวิว จึงใช้ภาษาวิบัติ ภาษากักขฬะ  และภาษาถ่อยเถื่อนต่างๆ และตามด้วยเครืองหมายเรียกร้องความสนใจต่างๆเช่น  ! , !!,  !!! ,!?!?

ลองดูตัวอย่าง  ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวที่ใช้ภาษาถ่อยเถื่อนที่แสดงถึงความเสื่อมในการใช้ภาษาของเว็บข่าวสมัยนี้
-อะไรวะ? Live ทะลุล้าน!! โชว์สัก-ร้องเพลง-ร่อนเอว นี่หรือที่โซเชียลฯ ต้องการ!!? [มีคลิป]
(คำว่า “อะไรวะ” เป็นภาษาหยาบ ไม่ควรเอามาใช้พาดหัวข่าวอย่างยิ่ง)
-เคยไปทำเธอตอนไหน? เด็ก ม.5 เจอไม้หน้าสามฟาดหัวหน้า 7-11 แม่งงไม่เคยมีเรื่องกันมาก่อน  
(คำว่า “แม่งง” เป็นภาษาหยาบ ไม่ควรเอามาใช้พาดหัวข่าวอย่างยิ่ง)
-“บิ๊กตู่” ร้อง อ้าวเฮ้ย! ถามได้ไงวะเหตุจับหนุ่มหมักเบียร์-ไล่บี้ฟาร์มหมูใช้ยาปฏิชีวนะรุนแรง
(ผู้นำเราใช้ภาษาแบบนี้  ภาษาไทยเลยทรุดหนัก)


ลองดูตัวอย่าง  ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวที่ใช้ภาษาวิบัติ ,ภาษาพูด,ภาษาวัยรุ่น
-แอร์พอร์ตลิงก์ น็อตหลุด 159 จุด อย่างนี้ก็ “ได้” หรอ!?
(คำว่า “หรอ” เป็นภาษาวิบัติ  เขียนผิดหลักภาษาไทย  ไม่ควรเอามาใช้พาดหัวข่าวอย่างยิ่ง)
-ปังปะหล่ะ? หนุ่มไฟแรงลาออกจากงาน ทำเสื้อยืดขาย สร้างรายได้วันละครึ่งแสน!
(คำว่า “ปังปะหล่ะ?” เป็นภาษาพูด ไม่ควรเอามาใช้พาดหัวข่าวอย่างยิ่ง)
-อ่างบัวทำเนียบฯ ใบละ 5 พัน รั่วซะแล้ว! แค่โดนเศษหินกระเด็นใส่ “บิ๊กตู่” ยันวางเพื่อความสวยงาม กำลังสอบซ่อมตึกช้า
(คำว่า “ซะแล้ว!” เป็นภาษาพูด )
-สอบสินบนโรลส์-รอยซ์ เอาจริงเร้อ?
(คำว่า “เร้อ? ” เป็นภาษาพูด )
-จะดีหรอ?! สติ๊กเกอร์ปลุกใจขาแว้น “อย่ากลัวตายหรือพิการ พวกเรามันสายหมอบ”
(คำว่า “หรอ” เป็นภาษาวิบัติ  เขียนผิดหลักภาษาไทย  ไม่ควรเอามาใช้พาดหัวข่าวอย่างยิ่ง)


     ลองดูตัวอย่าง  ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวที่ใช้เครื่องหมาย! หรือ? เลอะเทอะ ซ้ำซ้อนกันหลายอัน
-เนื้อสมัน สัตว์ป่าของกรุงเทพฯ มีอยู่แห่งเดียวในโลก! สูญพันธุ์เพราะสวยเกินเหตุ!!
(ใช้เครื่องหมาย ! หลายครั้งจนเกินเหตุ)

-คนชอบเที่ยวห้ามพลาด!!! “เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก ครั้งที่ 20” จัดเต็มเรื่องท่องเที่ยวแบบครบวงจร
-แปลกใหม่!!! “ตรุษจีนวิถีไทย เก๋ไก๋ปีระกา”...สัมผัสสีสันชุมชนจีนทั่วไทย ที่สวนลุมพินี
-ไปกันหรือยัง!!! กับ 20 ที่ท่องเที่ยวมาแรงทั้งไทยและเทศ ปี 59
-สายกินห้ามพลาด!!! “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ยกอาหารถิ่นรสเด็ดทั่วไทยมาไว้ที่สวนลุมฯ

     ปัญหาอีกอย่างคือ สมัยนี้นักข่าวชอบแสดงความรู้สึกส่วนตัวลงไปในข่าวจนเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วไม่ควรทำอย่างยิ่งเพราะเป็นการชี้นำ
      หน้าที่ของนักข่าวคือนำเสนอข่าวให้ประชาชนรับรู้ ส่วนคนอ่านเมื่ออ่านข่าวแล้วจะมีความรู้สึกต่อข่าวนั้นอย่างไรก็เป็นเรื่องของคนอ่านนักข่าวไม่ต้องชี้นำความรู้สึก

        ลองดูตัวอย่างพาดหัวข่าวที่นักข่าวแสดงความรู้สึกส่วนตัวลงไป
-เศร้าสลด! กระบะชน จยย.อดีต ตร.มือปราบแม่สอด ร่างกระเด็น สิ้นใจต่อหน้าลูก
(คำว่า “เศร้าสลด” เป็นความรู้สึกส่วนตัวของนักข่าว)
-อึ้ง! พบฝูงปลาดุกหลังแดงยักษ์กว่า 1 ฟุต โผล่ขึ้นมาเล่นน้ำภายในวัดนาทวี (ชมคลิป)
  (คำว่า “อึ้ง” เป็นความรู้สึกส่วนตัวของนักข่าว)
-จะอ้วก! คลิปแฉรถดูดส้วมแอบทิ้งสิ่งปฏิกูลตามป่าข้างทาง
(คำว่า “จะอ้วก!” เป็นความรู้สึกส่วนตัวของนักข่าว)


        ลองดูตัวอย่างพาดหัวข่าวที่เรียบง่าย ทรงคุณค่า ใช้ภาษาที่เหมาะสม โดยไม่ต้องมีเครื่องหมาย! หรือใช้คำวิบัติต่างๆเพื่อเรียกร้องความสนใจ
-เดินเครื่อง “ซูเปอร์เลเซอร์” กำลังสูงกว่าเลเซอร์ใดๆ บนโลก 10 เท่า
-ชมคลิป คปพ.เปิดสินบน โรลส์-รอยซ์ กระทบ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
-“ต๊ะ นารากร” พร้อมแอดมินเพจรักหมา แจ้งจับสิบแปดมงกุฎหลอกเงินชาวบ้านหลักล้านค่ารักษาหมาแมว
-ออกหมายจับ 2 คนร้ายยิงนักธุรกิจเมืองผู้ดีแล้ว


              ข้างล่างนี้น่าสนใจมาก เอามาจาก Wikipedia (ภาษาวิบัติ)
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0
%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4

“…..เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ช่วงที่มีผู้สร้างภาพยนตร์ไปตั้งเป็นชื่อ หอแต๋วแตกแหวกชิมิ กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย ระบุ คำว่า "ชิมิ" หากเป็นการใช้ภายในกลุ่มก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการล้อกันเล่นซึ่งเป็นปกติของภาษา และจะเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่การนำไม่ใช้เชิงสาธารณะดังที่ไปตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ ถือว่าไม่เหมาะสมนัก[4] เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า สถานการณ์ภาษาไทยในปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นวิกฤต และวัยรุ่นใช้ภาษาแช็ตเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต และสื่อสารภายในวัยรุ่นเท่านั้น ยังไม่พบนำมาใช้ในการเขียนหรือการทำงาน…..”

    สรุป คือ เมื่อ พ.ศ. 2554 คุณกนกวลี ชูชัยยะ บอกว่าสถานการณ์การใช้ภาษาไทยยังไม่มีปัญหาน่าห่วง แต่ผ่านไปเพียงหกปี  ปัจจุบัน พศ.2560 สถานการณ์มันแย่ลงถึงขั้นเว็บไซต์ข่าวเอาภาษาวิบัติไปใช้ในการเขียนหรือการทำงานอย่างเป็นทางการแล้วครับ น่าเป็นห่วงไหมครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่