ค่าโทร. “เหมาจ่าย VS วินาที”

กระทู้ข่าว
วันนี้มาคุยเรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบโปรเหมาจ่าย กับคิดตามจริงเป็นวินาที กันอีกครั้งนะครับ ผมเคยเสนอความเห็นให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาเรื่องนี้โดยยึด ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และ เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากที่สุด ปรากฏว่า กทค.ก็มีมติ กำหนดให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือออกแพ็กเกจคิดอัตราค่าโทร.เป็นวินาทีและคิดแบบเหมาจ่ายอย่างละครึ่ง

นอกจากนี้ กทค.ยังเปิดกว้างให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำรวจข้อเท็จจริงเป็นเวลา 6 เดือน ว่าประชาชนมีแนวโน้มเลือกใช้งานเป็นวินาทีหรือเหมาจ่าย แล้วเสนอกลับมาให้ กทค.พิจารณาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน อีกครั้ง

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับมติครั้งนี้ เพราะเป็นการเปิดทางเลือกให้ประชาชน ดีกว่าบังคับให้ต้องใช้โทรศัพท์ที่คิดอัตราค่าโทร.เป็นวินาทีอย่างเดียว ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์

ยกตัวอย่างโปรโมชั่นใช้เน็ตบวกโทร.ไม่อั้นตั้งแต่ 4 ทุ่มถึง 5 โมงเย็น โทร.คุยกันหูแฉะ เหมาจ่ายแค่เดือนละ 380 บาท และถ้าผู้บริโภคไม่ชอบโปรของค่ายที่ใช้อยู่ ก็ย้ายไปใช้ค่ายอื่นที่จัดโปรถูกใจกว่าได้

ในทางกลับกันหากผู้บริโภคเลือกแบบคิดค่าโทร.เป็นวินาที โดยตั้งใจจะจ่ายค่าโทร.เดือนละไม่เกิน 380 บาท ขณะที่ค่ายมือถือใช้เกณฑ์ค่าโทร.ของ กสทช.คือ 68 สตางค์ต่อนาที หรือวินาทีละ 1.13 สตางค์ ในคลื่น 4 จี ก็จะโทร.ได้เฉลี่ยวันละไม่เกิน 20 นาที และถ้าใช้เน็ตด้วย ปริมาณการโทร.ก็จะลดลงตามสัดส่วน

การคิดค่าโทร.เป็นวินาทีจึงมีประโยชน์กับคนที่ใช้โทร.น้อยๆเท่านั้น

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เรามาดูข้อมูลการใช้โทรศัพท์ล่าสุด แล้วคำนวณดูจะรู้ว่าใครได้ประโยชน์อย่างไรจากการคิดค่าโทร.ทั้งสองแบบนี้

นักเศรษฐศาสตร์เก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของคนไทย พบว่า ในแต่ละเดือนมีการโทร.เฉลี่ย 202 นาทีต่อเลขหมาย และ การใช้งานแต่ละครั้งเฉลี่ยโทร.ครั้งละ 3 นาที

ค่าโทรศัพท์มือถือปี 2559 ในทุกโปรโมชั่น ทั้งแบบจ่ายรายเดือนและแบบเติมเงิน เมื่อคำนวณออกมาทุกค่ายทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ (คิดตามจริงเป็นนาทีและมีการปัดเศษ) เฉลี่ยอยู่ที่นาทีละ 45 สตางค์

เท่ากับว่าค่ายมือถือมีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 202×0.45= 90.90 บาทต่อเลขหมาย

แต่หากเป็นกรณีบังคับให้คิดค่าโทร.เป็นวินาที ก็ต้องหาค่าเฉลี่ยว่าแต่ละเดือนใช้โทร.ตามจริงโดยไม่ถูกปัดเศษไปเท่าไหร่ กล่าวคือแต่ละเดือนโทร.เฉลี่ย 202÷3 = 67 ครั้ง โทร.แต่ละครั้งถูกปัดเศษนาทีสุดท้าย ถ้าตั้งสมมติฐานว่ามีครึ่งหนึ่งที่เป็นการปัดเศษไม่เป็นธรรม (โทร.ไม่ถึง 30 วินาที แต่ปัดเศษคิดเป็น 1 นาที) เท่ากับ 33.5 นาที แสดงว่ามีการใช้โทรศัพท์ตามจริงเดือนละ 202-33.5 = 168.5 นาที

เมื่อเอามาคูณกับค่าบริการนาทีละ 68 สตางค์ เท่ากับค่ายมือถือ มีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 114.58 บาทต่อเลขหมาย

การคิดเป็นวินาทีจึงแพงกว่าการคิดแบบเหมาจ่ายถึงเดือนละ 114.58-90.90=23.68 บาท

ปัจจุบันคนไทยมีโทรศัพท์ 108 ล้านเลขหมาย ถ้าบังคับให้คิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีทั้งหมด ค่ายมือถือทั้งระบบจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 2,557 ล้านบาท

ตัวเลขออกมาอย่างนี้คงเป็นคำตอบได้ชัดเจน ผมไม่รู้ว่า กลุ่มเอ็นจีโอที่เรียกร้องจะให้คิดค่าโทร.เป็นวินาทีอย่างเดียว มีวัตถุประสงค์อะไรแอบแฝงหรือเปล่า หรือว่าอยากให้ย้อนกลับสู่ยุคผูกขาดราคาอีก?

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/837678
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่