พระเมรุมาศ หลังจากเสร็จพระราชพิธีแล้วนำไปทำอะไรต่อครับ

พระเมรุมาศ หลังจากเสร็จพระราชพิธีแล้วนำไปทำอะไรต่อครับ (ขออภัยหากใช้ภาษาไม่เหมาะสมครับ)
คือผมสงสัยว่าหลังจากเสร็จพระราชพิธีแล้ว มีการเก็บรักษา หรืออนุรักษ์ พระเมรุมาศ หรือนำไปทำอะไรต่อครับ ขอบคุณครับ

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
ส่วนใหญ่ก็ต้องทิ้งแหละครับ เพราะว่าเป็นไม้อัดบุผ้า พวกนี้นำไปใช้อะไรอีกไม่ได้แล้ว (ลองดูรูปตอนรื้อพระเมรุสมเด็จกรมหลวงฯ จะเห็นว่ารื้อลงมากระจัดกระจายมาก เพราะว่าเป็นไม้อัดทั้งนั้น) ส่วนโครงสร้างภายในเป็นเหล็กนั้นขายได้ เพราะว่าเป็นวัสดุหมุนเวียน

ประติมากรรม ฉากบังเพลิงบางส่วนเก็บได้ ส่วนประดับเช่น ลายช่องลมฉลุอะไรแบบนี้ เมื่อรื้อแล้วก็กระจายไปเก็บหลายหน่วยงาน เป็นทำนองของระลึกถึง แต่ต้องคิดว่าของเหล่านี้สร้างเพื่อวาระชั่วคราว มันเสื่อมสลายงายหากไม่เก็บถนอม และเก็บได้แค่บางชิ้น ลองไปดูของบางส่วนที่เลือกเก็บไว้ที่โรงราชรถได้ครับ

งานพระเมรุเป็นงานชั่วคราวอยู่แล้ว แม้จะพยายามบอกกันว่าเก็บนั่นนี่ไว้ได้ แต่ความจริงแล้วก็แค่ราว ๆ 10 เปอร์เซ็นของทั้งหมดเท่านั้น

ส่วนสมัยโบราณนั้น งานพระเมรุส่วนใหญ่ ไม้โครงสร้างเป็นไม้จริง ไม้พวกนี้หมุนเวียนใช้ ใช้ต่อได้ การจะได้ไม้มามีทั้งเกณฑ์ลงมาจากเมืองเหนือ เกณฑ์คนไปตัดจากป่าแขวงสระบุรี และเบิกไม้จากคลังมาใช้เป็นคราว ๆ (ไม้ซุง) ซึ่งถ้าเป็นกรณีเบิกไม้มาใช้นี้เกิดหลังยุครัชกาลที่ 5 แล้ว

การนำไม้จากการพระเมรุไปใช้ต่อนี้มีหลายเคส ไม่ได้เป็นแบบแผนว่าจบงานแล้วไปไหน เช่นงานเจ้าฟ้าศิริราชฯ รัชกาลที่ 5 ท่านคิดว่าควรนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะต่อ ก็เอาไปสร้างเป็นอาคารที่พักฟื้นคนไข้ หรือบางงาน ทายาทนำไปใช้ต่อ มีอยู่งานหนึ่งทายาทนำไปใช้สร้างบ้านพักตากอากาศที่หัวหิน แต่ลูกหลานก็กลัวผี เพราะว่าเป็นไม่จากงานอวมงคล

ความคิดเรื่องวัสดุจากงานพระเมรุนอกจากในแง่ศิลปะแล้ว ความคิดเรื่องไม่เป็นมงคลก็ยังมีอยู่ในยุคนี้สำหรับผู้ใกล้ชิด เช่น ชิ้นส่วนช่องลมฉลุงานเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ซึ่งกระจัดกระจายไปนั้น มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งขอไปเก็บไว้ที่บ้าน ปรากฏว่า รู้สึกชีวิตเลวร้ายลง แล้วบ้านก็หม่นหมอง จึงต้องนำไปไว้ที่กระทรวง สำหรับคนทั่วไปก็อาจจะมองในแง่ศิลปะอย่างเดียว

ส่วนพวกต้นไม้ กระถาง เทพชุนนุมประดับพระเมรุยุคโบราณนั้น มีบางเคสที่นำไปถวายประดับในโบสถ์ แต่ก็พบในเอกสารเก่ามากว่า พวกต้นไม้ประดับ กระถางประดับนี่ มีการเกณฑ์มาจากเหล่าเจ้านาย เอามาตั้ง เป็นการประดับประดาและประกวดประชันกระถาง และไม้ประดับในหมู่เจ้าผู้ปกครองกันไปในตัวครับ

งานพระเมรุสมัยโบราณเป็นงานใหญ่กว่าเดี๋ยวนี้ แต่ละงานก็มีกรณีต่าง ๆ กันไป แต่เรื่องเมื่อจบงานแล้วก็มักจะไม่ได้รู้กันแพร่หลาย ถ้าจะให้ถี่ถ้วนก็อาจจะต้องค้นดูจากพวกหมายรับสั่งครับ จะเจอเพิ่มเติม เช่นเบญจาที่รองพระโกษฐ์ในพระเมรุมาศเมื่อออกพระเมรุแล้ว ก็อาจมีนำไปถวายวัด เป็นพุทธบัลลังรับพระพุทธรูปต่อในบางงาน

พอหลัง ร.6 วัสดุมันเปลี่ยนจากไม้จริง มาเป็นวัสดุชั่วคราวมากขึ้น เพราะหลังจากปฎิรูปมณฑลเทศาภิบาลแล้ว เราก็เกณฑ์แรงงาน เกณฑ์ของไม่ได้ ค่าใช้จ่ายแฝงที่สมัยรรัฐจารีตไม่เคยต้องจ่าย เช่น ค่าแรงคนงาน ค่าไม้ ก็ปรากฏขึ้นมา ก็ต้องเปลี่ยนไปจ้างแรงงานจีนที่ถูกกว่าบ้าง ปรับจากไม้จริง เป็นไม้ชิ้นเล็ก ๆ ลงบ้าง เหล่านี้เป็นเงินทั้งสิ้น

ยุคนี้ก็ไม่ต่างจากสมัย ร.6 นัก คือ วัสดุก็ยังคงปรับมาใช้วัสดุชั่วคราว เพื่อการชั่วคราว เพียงแต่ว่าราชสำนักไม่ต้องรับผิดชอบรายจ่ายอะไร เป็นเรื่องการจัดสรรของรัฐบาลจากเงินภาษีประชาชนทั้งสิ้น เราก็เลยเห็นแนวทาง (ทั้งจากพระบัญชาของสมเด็จพระเทพฯ คณะทำงาน) หรือความพยายามที่จะควบคุมทุกอย่างให้พอดี คุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายลงไปกับสิ่งชั่วคราวที่ต้องรื้อสลายไปสิ้นเมื่อพ้นเวลา สิ่งที่เก็บไว้ได้ คือ ความทรงจำ ความภาคภูมิ พระเกียรติยศ และการที่ช่างฝีมือได้ฝึกประสบการณ์และสืบต่อไปยังรุ่นต่อไป
ความคิดเห็นที่ 1
ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์ โดยในสมัยก่อนส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มักจะเป็นตัวไม้ หลัก ๆ เท่านั้น ส่วนสัตว์หิมพานต์สมัยก่อน วัดวาอารามบางวัดจะขอเก็บไว้บ้าง แต่ที่เก็บไว้ก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพิเศษ โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือนรูปต่างๆ โดยโปรดเกล้าฯให้ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นไม้จริง ด้วยมีพระราชประสงค์ว่าครั้นเสร็จการให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ได้จำนวน 4 หลัง ณ บริเวณวังหลัง ซึ่งต่อมาคือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน[43]

พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังเสร็จสิ้นงาน เอาไปสร้างศาลาหลังหนึ่งที่วัดปทุมวนาราม ข้างวังสระปทุม โดยเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธี ของทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง โดยส่วนที่นำไปแปรธาตุไปใช้อย่างอื่นเช่น ศาลาต่างๆ ทับเกษตร ราชวัติ ส่วนที่เก็บไว้เช่น ส่วนฉัตร กลีบบัว ฉัตรปรุ โครงฉัตรผ้าฉลุทอง[44]

หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาคารพระเมรุและอาคารประกอบ ถูกรื้อถอนเป็น 3 ส่วน คือส่วนแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้หน่วยงานต่างๆ ส่วนที่ 2 เปิดประมูล และส่วนที่ 3 เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา เช่นชิ้นส่วน พระโกศจันทน์ รูปปั้นเทวดา สัตว์หิมพานต์[45]

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A8
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่