สัมมาทิฏฐิ มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

ยังมีความเชื่อตามๆ กันมาในชาวพุทธแบบที่ต้องปลอบใจตนเองว่า เพียงมีความเชื่อ ศรัทธาในเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ แค่นี้ก็ได้ชื่อว่า ตนเองมีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นหนึ่งในอริยมรรคแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นเพียงแค่พื้นฐานสำคัญของบุคคลที่ได้ชื่อว่า "เป็นคนดีศรีสังคม" เท่านั้น

เพราะทุกศาสนานั้น ล้วนสอนให้ ละชั่ว ทำความดี บุคคลที่เข้าใจในความคิดที่ตกผลึกเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากรู้จักที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่มาขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของตน เป็นบุคคลที่รู้จักรักษาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตน ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์จากขุ่นมัว ให้ผ่องใสได้โดยนึกถึงบุญกุศล คุณงามความดี หรือสิ่งที่เป็นมงคล ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปในทุกๆ ศาสนากระทำได้โดยไม่ยาก

แต่ก็แปลกที่ยังมีบุคคลบางพวก ชอบกล่าวหาบุคคลที่มีความเห็นไม่ลงกับตนเองว่าเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" ทั้งๆ ที่ตนเองก็ยังไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" ที่ตรงต่ออริยมรรคเลย

เมื่อพิจารณา "โอวาทปาติโมกข์" ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงในวันมาฆะปุรณมีบูชา ดูว่าต่างไปจากศาสนาอื่นๆ ตรงไหน ๑.ละชั่ว ๒.ทำความดี ๓.ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส (เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย)

ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ข้อที่ ๓ ที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในการชำระจิตของตน แม้ปัจจุบันศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ เริ่มเล็งเห็นความต่าง และได้เลียนแบบไปบ้างแล้ว แต่ถึงจะเลียนแบบยังไง ถ้ายังเข้าไม่ถึงสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว คงยากที่จะได้ "สัมมาทิฏฐิ"

เพียงแค่ศึกษาลูบคลำตำรับตำราแบบที่ชาวพุทธในปัจจุบันเข้าใจกัน แล้วคิดไปว่าตนเองรู้ซึ้งถึงสัมมาทิฏฐิในอริยมรรค ต้องถือว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ถ้าเชื่อว่าการเข้าถึงอริยมรรคได้ง่ายๆ แบบที่รู้ๆ กันจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์นั้น ขอบอกตามตรงได้เลย เป็นเพียงการให้กำลังใจของพ่อแม่ครูบาจารย์เท่านั้น

สรุปสุดท้ายนี้  ขอยกเอาพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ดังนี้

"ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง
เพราะว่าธรรมนี้ เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต
ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วย ความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้"

เมื่อรู้ความจริงดังที่มีพระพุทธพจน์รจนาไว้ จงช่วยกันถนอมรักษาให้ดี อย่าปล่อยให้ความมักง่าย สบายๆ ลัดสั้น มาเป็นเครื่องกั้นความหลุดพ้น ที่สามารถค้นหาได้ในตนเอง

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่