พระแม่โพสพ เทพธิดาแห่งข้าว
พระแม่โพสพ ในทางเทววิทยาจัดว่าเป็นผีชั้นสูง เป็นสตรีงดงาม แต่งกายด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณสมัยโบราณ ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าจีบชายกรอมลงมาถึงปลายหน้าแข้ง ทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ตระการตา ไว้ผมยาวสลวยประบ่า มีกระจังกรอบหน้า และกรรเจียกจอนชดช้อย
ประติมานวิทยาของพระแม่โพสพ คือประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อยอย่างกุลสตรีไทยโบราณ มือข้างหนึ่งถือรวงข้าว ส่วนอีกข้างถือถุงโภคทรัพย์เต็มถุง โดยปกติประทับนั่งบนแท่น หากเสด็จไปที่ใด ก็ทรงมีพาหนะเป็นปลากรายทองและปลาสำเภา
บางตำนานเล่าว่า แต่เดิมท่านเป็นเทพธิดาครับ เมื่อหมดบุญในสวรรค์แล้วจึงลงมาเกิดเป็นข้าวด้วยสงสารที่มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างอดอยาก โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระฤาษีในป่าหิมพานต์ให้ได้เป็นข้าวกระจายไปในที่ต่างๆ
แต่จากบทความเรื่อง " พระแม่โพสพ เทวีแห่งข้าว" โดย สุกัญญา ภัทราชัย ในหนังสือ ข้าวกับวิถีชีวิตไทย กล่าวว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระแม่โพสพมีเล่ากันทุกภาค มีความแตกต่างกันเป็น ๒ แนวครับ
คือ นิทานภาคกลางและภาคใต้ มีเรื่องตรงกันแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นนิทานของภาคเหนือและภาคอีสาน
โดยในตำนานพระแม่โพสพของภาคกลางและภาคใต้นั้น เล่าว่า ในวันหนึ่งที่เมืองไพสาลี กลางสโมสรสันนิบาต มนุษย์ได้ปรึกษากันว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระแม่โพสพ ใครมีคุณมากกว่ากัน ซึ่งที่ประชุมต่างพากันกล่าวว่า คุณพระพุทธเจ้าใหญ่กว่า
พระแม่โพสพได้ฟังดังนั้น ก็ข้องใจว่าเรารักษามนุษย์อยู่ มนุษย์ไม่เห็นความดี จึงทรงปลากรายหนีไปยังป่าหิมพานต์เขาคิชกูฎ
เมื่อพระแม่โพสพจากไปก็เกิดความอดอยากขึ้นในโลกมนุษย์ ทำไร่ไถนาไม่มีข้าวมีแต่แกลบ มนุษย์จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าให้พระมาตุลีไปเชิญพระนางกลับมา พระมาตุลีตามไปจนถึงเขาทบกันก็ไปไม่ได้ จึงใช้ให้ปลาสลาดไปตามต่อจนพบ
ปลาสลาดได้อ้อนวอนขอให้พระนางกลับคืนโลก พระนางก็ตอบว่า อยู่ที่นี่เราสบาย ถ้าจะไปใจเราหายเพราะเขาไม่รู้บุญคุณ เราจะให้แต่เมล็ดข้าวไปรักษาแก่ฝูงคน เมื่อเก็บนึกถึงเรา เราจะไปปีละหน เก็บเกี่ยวแล้วให้ทำขวัญ
จากนั้น พระนางได้มอบเมล็ดข้าว ๗ เมล็ด (บ้างก็ว่า ๙ เมล็ด) ไปทำพันธุ์
พระนางยังสั่งด้วยว่า เมื่อมนุษย์ทำไร่ไถนา เมื่อข้าวใกล้สุกก็จัดให้มีพิธีทำขวัญ ให้แต่งด้วยข้าว และด้วยเหตุที่ปลาสลาดเป็นผุ้บอกทางที่นางซ่อนแก่พระมาตุลี พระนางจึงสั่งให้นำปลาสลาดมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยด้วย ปลาสลาดก็ลากลับมา เล่าให้พระมาตุลีฟังตามคำพระแม่โพสพ
พระมาตุลีรับเมล็ดข้าวแล้วก็เหาะกลับ ในระหว่างทางพระมาตุลีหยุดพักอาบน้ำ นกกระจาบได้แอบลักเมล็ดข้าวสองเมล็ดบินหนี ข้าวสองเมล็ดนั้นได้ตกลงมายังโลกมนุษย์กลายเป็นข้าวผี
จากนั้นพระมาตุลีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกมนุษย์มาพร้อมกัน ทรงอธิบายให้มนุษย์ฟัง และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่มนุษย์ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อข้าวใกล้สุก มนุษย์จะทำขวัญเชิญพระแม่โพสพเป็นประจำทุกปี
ในขณะที่ตำนานเรื่องพระแม่โพสพ ฉบับชาวพัทลุง เล่าไว้ว่าเมื่อนานมาแล้ว มีเทพธิดาองค์หนึ่ง เป็นเทพธิดาแห่งข้าว อาศัยอยู่บนสวรรค์ มีความประสงค์จะให้มวลหมู่มนุษย์ทั้งหลายนี้มีข้าวกิน จึงจำแลงกายลงมาบนโลก ในร่างของหญิงชรานำพาห่อผ้ามาด้วย ซึ่งในห่อผ้านี้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่
หญิงชราเดินไปในหมู่บ้าน มีแต่ผู้คนรังเกียจ จนไปพบกระท่อมเก่าๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีผัวเมียผู้ใจบุญ แต่ยากไร้ซึ่งเงินทอง อาศัยให้ที่พักพิง หญิงชราซึ้งในน้ำใจของผัวเมียคู่นี้ จึงมอบห่อผ้าที่มีเมล็ดข้าวอยู่ข้างในให้ โดยบอกให้เอาเมล็ดข้าวนี้ไปโปรยลงสู่พื้นดิน
พระแม่โพสพ แบบโบราณ
เมื่อเมล็ดข้าวได้รับน้ำ ก็เกิดความชุ่มชื่น เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ออกรวงแล้วก็สุก และนำมากินเป็นอาหารได้ หญิงชราจึงให้ผัวเมียเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวนี้ไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน แล้วบอกว่า นี่คืออาหารที่ใช้กินต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อพูดจบหญิงชราก็หายตัวไป
ต่อจากนั้น เมื่อถึงเดือนหกฝนก็เริ่มตก ชาวนาจะแรกไถนา และทำพิธีอัญเชิญพระแม่โพสพลงมาเพื่อช่วยดูแลรักษาต้นข้าว ต้องมีพิธีเรียกขวัญข้าว เพื่อตอบแทนคุณ และบูชาพระแม่โพสพ ที่ให้ข้าวแก่มนุษย์กินจวบจนปัจจุบัน
ส่วนตำนานพระแม่โพสพ ของภาคเหนือและภาคอีสาน เรื่องเริ่มที่อุทยานของพญานาคมีข้าวเกิดขึ้นเอง ต้นหนึ่งๆ มีขนาดเจ็ดกำมือ เมล็ดใหญ่เท่าผลมะพร้าว มีสีเงินยวงกลิ่นหอมหวาน
มีหญิงม่ายคนหนึ่งเป็นคนยากไร้ ไม่มีมีดพร้าสำหรับผ่าเมล็ดข้าว จึงใช้ไม้คานทุบข้าว เมล็ดข้าวแตกกระจาย บางส่วนไปเกิดเป็น ข้าวไร่ หรือ ข้าวดอย บางส่วนตกในน้ำเกิดเป็นข้าวนา หรือพระแม่โพสพ
พระแม่โพสพน้อยใจที่หญิงม่ายทำรุนแรงจึงหนีไปอยู่เสียในถ้ำ ทำให้มนุษย์ไม่มีข้าวกินถึงพันปี วันหนึ่งลูกชายเศรษฐีหลงทางเข้าไปในป่า พบปลากั้งซึ่งอยู่กับพระแม่โพสพ ปลากั้งพาไปไหว้พระนาง ลูกเศรษฐีได้อ้อนวอนให้พระนางคืนสู่เมืองมนุษย์ พระนางใจอ่อนจึงกลับมาโลกอีก ลูกเศรษฐีสำนึกในบุญคุณของพระนางจึงชักชวนมนุษย์ให้ยกย่องนับถือพระนาง
ต่อมาอีกพันปี มีชายโลภมากผู้หนึ่งสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวไว้กินแต่ผู้เดียว พระแม่โพสพโกรธจึงหนีกลับไปอยู่ถ้ำในป่าอีก ทิ้งให้มนุษย์อดอยากเป็นเวลาหลายร้อยปี
เทวดาเล็งเห็นความทุกข์ยากของมนุษย์ จึงอ้อนวอนให้พระแม่โพสพกลับคืนมา พร้อมกันนั้นก็สอนให้มนุษย์รู้จักนับถือข้าว รู้จักทำขวัญข้าว
นิทานของชาวลื้อในภาคเหนือบางสำนวนเล่าว่า ในสมัยพระพุทธเจ้า นางขวัญข้าวถูกไล่จึงไปอยู่ถ้ำกับพวกครุฑนาค ต่อมาชาวเมืองอดข้าวจึงได้ทำพิธีเชิญพระแม่โพสพกลับเมือง
จากตำนานนิทานในท้องถิ่นต่างๆ ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ก่อนหันมารับนับถือพุทธศาสนาครับ
นิทานของชาวลื้อ แสดงให้เห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเมื่อหันมานับถือพุทธศาสนาและขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม ในขณะที่นิทานของชาวภาคกลางและภาคใต้ แสดงให้เห็นชัยชนะของพุทธศาสนาเหนือลัทธิศาสนาดั้งเดิม คือคติการนับถือพระแม่โพสพ-เทวีแห่งข้าว ซึ่งชาวบ้านนับถือ
เรื่องที่พระแม่โพสพมักหนีไป จนต้องมีผู้ไปเชิญกลับมาด้วยวิธีการต่างๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของการทำนาปลูกข้าว ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทางธรรมชาติมากมาย แม้จนปัจจุบันนี้
และก็ยังแสดงให้เห็นด้วยนะครับ ว่าในช่วงแรกๆ ที่สังคมเกษตรกรพื้นบ้านไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามานั้น มีการขัดแย้งกัน หรือไม่ใช่เป็นการรับเข้ามาโดยราบรื่นนัก
จนในที่สุด ก็มีการประนีประนอมระหว่างความเชื่อทั้งสอง ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคล และความเจริญของชุมชน
ในนิทานแต่ละเรื่องที่นกตัวอย่างมา จะเห็นปลาชนิดต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นปลาที่หาได้ในท้องไร่ท้องนาทั้งนั้นครับ คนรุ่นใหม่หรือคนในเมืองคงไม่คุ้นเคยกันแล้ว และปัจจุบันก็เหลือแต่ปลากรายทองเท่านั้นที่ยังคงอยู่คู่กับรูปเคารพของพระแม่โพสพ
พระแม่โพสพ ขนาด ๓ นิ้ว หลวงปู่ทิม วัดพระขาว
คนรุ่นเก่านับถือพระแม่โพสพมากนะครับ บางบ้านถึงกับกราบไหว้ท่านก่อนเปิบข้าวคำแรกเข้าปาก และสั่งสอนลุกหลานให้นั่งล้อมวงเปิบข้าวพร้อม ๆ กัน และต้องสำรวมกิริยามารยาทระหว่างเปิบข้าวให้เรียบร้อย อย่าให้มีเม็ดข้าวหายหกตกหล่น กินข้าวอิ่มหนำสำราญแล้ว ยังต้องยกมือไหว้เพื่อสำแดงความกตัญญูรู้บุญคุณ
แม้ข้าวเหลือก้นจานสังกะสีก็ต้องกินให้หมดนะครับ ห้ามเททิ้งลงถังโสโครก ให้เอาใส่ปากหม้อข้าวทับบนข้าวที่หุงมื้อต่อไป หรือไม่ก็ต้องนำไปผึ่งแดด ทำเป็นข้าวตากแห้งเอาไว้ เดี๋ยวนี้ก็ยังทำกันอยู่ในหมู่บ้านชาวนาตามชนบททั่วไปครับ
เหล่าชาวนา เมื่อแรกทำนา จนกระทั่งถึงเวลาไถคราด ก็จะต้องประกอบพิธีเซ่นบูชาพระแม่โพสพเป็นระยะเช่นกัน
อย่างในช่วงก่อนหน้าเวลาฤกษ์แรกนา จะมีการปลูกศาลเพียงตา สูงระดับสายตาคนขึ้น ณ ที่ที่กำหนดไว้เป็นที่แรกนา ตระเตรียมเครื่องสังเวยบูชาพระแม่โพสพให้ครบถ้วน พร้อมทั้งกล่าวคำขวัญเป็นถ้อยคำไพเราะอ้อนวอนพระแม่โพสพให้คุ้มครองรักษาต้นข้าว ขอให้ปีนี้จงทำนาได้ผล ไม่ว่าจะเป็นนาหว่าน นาดำ
ว่ากันว่า เพราะพระแม่โพสพเป็นหญิง ขวัญอ่อนง่าย ต้องทำพิธีเรียกขวัญเสมอไงครับ
แม้การมหรสพของชาวบ้าน ยามเมื่อร้องบทไหว้ครู ก็จะมีการร้องระลึกคุณพระแม่โพสพไว้ด้วย ดังบทไหว้ครูเพลงเรือบทหนึ่งมีความว่า
...จะยกบายศรีขึ้นสี่มุม ลูกจะไหว้พระภูมิ ที่มา ไหว้ทั้งแม่ข้าวเจ้า ทั้งพ่อข้าวเหนียว เสียเเหละเมื่อลูกนี้เกี่ยวกันมา ลูกจะไหว้โพสพ สิบนิ้วนอบนบ นิ้วหน้า ขอให้มาปกปักรักษาลูก ขออย่าให้มีทุกข์เลยหนา ขอให้มาเป็นมงคลสวมบนเกศา กันแต่เมื่อเวลานี้เอย.....
พระแม่โพสพ แม้จะได้รับการนับถือเป็นอันมาก แต่ศาลของพระนางจริงๆ มีนับแห่งได้ ที่มีชื่อเสียงที่สุด เห็นจะเป็น ศาลพระแม่โพสพ วัดศิริวัฒนาราม แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ศาลแม่โพสพริมคลองบางพรม
โดยมีประวัติว่า เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว ตาเหล็งกับยายแฟงชาวบางพรมจะทำขนมจีน เลยแช่ข้าวสารเตรียมไว้ พอรุ่งเช้าข้าวกลับงอกเป็นต้นข้าว ทั้งสองเห็นว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ เลยเอาต้นข้าวดังกล่าวไปผสมปั้นเป็นรูปแม่โพสพ กลายเป็นที่เคารพนับถือบูชาของชาวนาบางพรมและผู้คนในละแวกใกล้เคียง โดยศาลเก่านั้นจะตั้งอยู่ตรงทางสี่แพร่ง บริเวณที่คลองบางพรมมาตัดกับคลองลัดตาเหนียวและคลองลัดมะยม
ต่อมาในพ.ศ.๒๕๒๑-๒๒ คนต่างถิ่นมาขโมยเทวรูปใส่เรือไป จึงมีการรวบรวมศรัทธาสร้างพระแม่โพสพขึ้นใหม่ ปรากฏว่านอกจากจะได้เทวรูปองค์ใหม่แล้ว ยังมีเงินเหลือมากพอสมทบสร้างศาลพระแม่โพสพหลังใหม่ ซึ่งย้ายมาอยู่ในเขตวัดศิริวัฒนารามในปัจจุบันด้วย เพื่อจะได้ดูแลรักษาง่ายขึ้น
ศาลพระแม่โพสพแห่งนี้ ยังนับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่ย่านบางพรมเคยเป็นแปลงนาข้าวขนาดใหญ่มาก่อนที่จะสิ้นสภาพไปในราวพ.ศ.๒๕๒๖ แต่แม้จะไม่มีการทำนาอีกแล้ว พระแม่โพสพก็ยังเป็นที่เคารพบูชาของชาวบางพรมจนทุกวันนี้
โดยทุกๆ ปี จะมีงานฉลองพระแม่โพสพ โดยกำหนดเดิมกำหนดจะตรงกับช่วงฤดูกาลที่ดินแตกระแหง เพราะมีเกร็ดอยู่ว่า ถ้าเชิญพระแม่โพสพออกมา ฝนก็จะตก ทำให้มีน้ำทำนาได้ข้าวดี
ในงานฉลองนี้ แต่ละบ้านจะเอาข้าวเปลือกมากองรวมกัน นิมนต์พระทั้งสี่วัดในละแวกนี้ คือวัดประดู่ วัดใหม่ วัดมะพร้าวเตี้ย และวัดโพธิ์มาสวดมนต์ แล้วทำบุญสมโภช ส่วนกองข้าวเปลือกขนาดมหึมาก็จะมีเจ้าของโรงสีชาวจีนแถบบางเชือกหนังมารับซื้อ เงินที่ได้ก็ถวายวัด หรือใช้ในการสาธารณประโยชน์ต่างๆ
นอกจากนี้ ยังเคยมีประเพณีอัญเชิญพระแม่โพสพแห่ไปตามคลองบางพรมถึงคลองชักพระ แล้วอัญเชิญขึ้นที่วัดแห่งหนึ่ง มีมหรสพสมโภชตลอดคืน พอรุ่งเช้าจึงอัญเชิญลงเรือแห่กลับตามคลองบางเชือกหนัง แล้วกลับมาขึ้นศาลชนวันงานพอดี
แต่น่าเสียดายที่แม้ทางวัดจะเคยรื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ไม่มีการจัดแห่ทางเรืออีกแล้วในปัจจุบัน
ชาวบางพรมรุ่นเก่าๆ ยังจำได้ว่า พระแม่โพสพเคยมาประทับทรงอยู่บ่อยๆ โดยระหว่างพิธีจะต้องมีแต่สาวพรหมจรรย์เท่านั้น และมีผู้สืบทอดการเป็นร่างทรงมาหลายรุ่น
แต่ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระแม่โพสพมาประทับทรงในร่างคนทรงที่ชื่อยายปิ่น บังเอิญมีเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ วิ่งผ่าเข้ามากลางพิธี จากนั้นไม่ปรากฏว่าพระแม่โพสพจะลงมาประทับร่างใครอีกเลย
............บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์....................
นำรูป ลูกสาว แม่โพสพ มาฝากครับ พร้อม เกล็ดเรื่องราว ที่คนเมือง อาจจะหลงลืมกันไปบ้าง.....
พระแม่โพสพ เทพธิดาแห่งข้าว
พระแม่โพสพ ในทางเทววิทยาจัดว่าเป็นผีชั้นสูง เป็นสตรีงดงาม แต่งกายด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณสมัยโบราณ ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าจีบชายกรอมลงมาถึงปลายหน้าแข้ง ทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ตระการตา ไว้ผมยาวสลวยประบ่า มีกระจังกรอบหน้า และกรรเจียกจอนชดช้อย
ประติมานวิทยาของพระแม่โพสพ คือประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อยอย่างกุลสตรีไทยโบราณ มือข้างหนึ่งถือรวงข้าว ส่วนอีกข้างถือถุงโภคทรัพย์เต็มถุง โดยปกติประทับนั่งบนแท่น หากเสด็จไปที่ใด ก็ทรงมีพาหนะเป็นปลากรายทองและปลาสำเภา
บางตำนานเล่าว่า แต่เดิมท่านเป็นเทพธิดาครับ เมื่อหมดบุญในสวรรค์แล้วจึงลงมาเกิดเป็นข้าวด้วยสงสารที่มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างอดอยาก โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระฤาษีในป่าหิมพานต์ให้ได้เป็นข้าวกระจายไปในที่ต่างๆ
แต่จากบทความเรื่อง " พระแม่โพสพ เทวีแห่งข้าว" โดย สุกัญญา ภัทราชัย ในหนังสือ ข้าวกับวิถีชีวิตไทย กล่าวว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระแม่โพสพมีเล่ากันทุกภาค มีความแตกต่างกันเป็น ๒ แนวครับ
คือ นิทานภาคกลางและภาคใต้ มีเรื่องตรงกันแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นนิทานของภาคเหนือและภาคอีสาน
โดยในตำนานพระแม่โพสพของภาคกลางและภาคใต้นั้น เล่าว่า ในวันหนึ่งที่เมืองไพสาลี กลางสโมสรสันนิบาต มนุษย์ได้ปรึกษากันว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระแม่โพสพ ใครมีคุณมากกว่ากัน ซึ่งที่ประชุมต่างพากันกล่าวว่า คุณพระพุทธเจ้าใหญ่กว่า
พระแม่โพสพได้ฟังดังนั้น ก็ข้องใจว่าเรารักษามนุษย์อยู่ มนุษย์ไม่เห็นความดี จึงทรงปลากรายหนีไปยังป่าหิมพานต์เขาคิชกูฎ
เมื่อพระแม่โพสพจากไปก็เกิดความอดอยากขึ้นในโลกมนุษย์ ทำไร่ไถนาไม่มีข้าวมีแต่แกลบ มนุษย์จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าให้พระมาตุลีไปเชิญพระนางกลับมา พระมาตุลีตามไปจนถึงเขาทบกันก็ไปไม่ได้ จึงใช้ให้ปลาสลาดไปตามต่อจนพบ
ปลาสลาดได้อ้อนวอนขอให้พระนางกลับคืนโลก พระนางก็ตอบว่า อยู่ที่นี่เราสบาย ถ้าจะไปใจเราหายเพราะเขาไม่รู้บุญคุณ เราจะให้แต่เมล็ดข้าวไปรักษาแก่ฝูงคน เมื่อเก็บนึกถึงเรา เราจะไปปีละหน เก็บเกี่ยวแล้วให้ทำขวัญ
จากนั้น พระนางได้มอบเมล็ดข้าว ๗ เมล็ด (บ้างก็ว่า ๙ เมล็ด) ไปทำพันธุ์
พระนางยังสั่งด้วยว่า เมื่อมนุษย์ทำไร่ไถนา เมื่อข้าวใกล้สุกก็จัดให้มีพิธีทำขวัญ ให้แต่งด้วยข้าว และด้วยเหตุที่ปลาสลาดเป็นผุ้บอกทางที่นางซ่อนแก่พระมาตุลี พระนางจึงสั่งให้นำปลาสลาดมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยด้วย ปลาสลาดก็ลากลับมา เล่าให้พระมาตุลีฟังตามคำพระแม่โพสพ
พระมาตุลีรับเมล็ดข้าวแล้วก็เหาะกลับ ในระหว่างทางพระมาตุลีหยุดพักอาบน้ำ นกกระจาบได้แอบลักเมล็ดข้าวสองเมล็ดบินหนี ข้าวสองเมล็ดนั้นได้ตกลงมายังโลกมนุษย์กลายเป็นข้าวผี
จากนั้นพระมาตุลีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกมนุษย์มาพร้อมกัน ทรงอธิบายให้มนุษย์ฟัง และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่มนุษย์ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อข้าวใกล้สุก มนุษย์จะทำขวัญเชิญพระแม่โพสพเป็นประจำทุกปี
ในขณะที่ตำนานเรื่องพระแม่โพสพ ฉบับชาวพัทลุง เล่าไว้ว่าเมื่อนานมาแล้ว มีเทพธิดาองค์หนึ่ง เป็นเทพธิดาแห่งข้าว อาศัยอยู่บนสวรรค์ มีความประสงค์จะให้มวลหมู่มนุษย์ทั้งหลายนี้มีข้าวกิน จึงจำแลงกายลงมาบนโลก ในร่างของหญิงชรานำพาห่อผ้ามาด้วย ซึ่งในห่อผ้านี้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่
หญิงชราเดินไปในหมู่บ้าน มีแต่ผู้คนรังเกียจ จนไปพบกระท่อมเก่าๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีผัวเมียผู้ใจบุญ แต่ยากไร้ซึ่งเงินทอง อาศัยให้ที่พักพิง หญิงชราซึ้งในน้ำใจของผัวเมียคู่นี้ จึงมอบห่อผ้าที่มีเมล็ดข้าวอยู่ข้างในให้ โดยบอกให้เอาเมล็ดข้าวนี้ไปโปรยลงสู่พื้นดิน
พระแม่โพสพ แบบโบราณ
เมื่อเมล็ดข้าวได้รับน้ำ ก็เกิดความชุ่มชื่น เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ออกรวงแล้วก็สุก และนำมากินเป็นอาหารได้ หญิงชราจึงให้ผัวเมียเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวนี้ไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน แล้วบอกว่า นี่คืออาหารที่ใช้กินต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อพูดจบหญิงชราก็หายตัวไป
ต่อจากนั้น เมื่อถึงเดือนหกฝนก็เริ่มตก ชาวนาจะแรกไถนา และทำพิธีอัญเชิญพระแม่โพสพลงมาเพื่อช่วยดูแลรักษาต้นข้าว ต้องมีพิธีเรียกขวัญข้าว เพื่อตอบแทนคุณ และบูชาพระแม่โพสพ ที่ให้ข้าวแก่มนุษย์กินจวบจนปัจจุบัน
ส่วนตำนานพระแม่โพสพ ของภาคเหนือและภาคอีสาน เรื่องเริ่มที่อุทยานของพญานาคมีข้าวเกิดขึ้นเอง ต้นหนึ่งๆ มีขนาดเจ็ดกำมือ เมล็ดใหญ่เท่าผลมะพร้าว มีสีเงินยวงกลิ่นหอมหวาน
มีหญิงม่ายคนหนึ่งเป็นคนยากไร้ ไม่มีมีดพร้าสำหรับผ่าเมล็ดข้าว จึงใช้ไม้คานทุบข้าว เมล็ดข้าวแตกกระจาย บางส่วนไปเกิดเป็น ข้าวไร่ หรือ ข้าวดอย บางส่วนตกในน้ำเกิดเป็นข้าวนา หรือพระแม่โพสพ
พระแม่โพสพน้อยใจที่หญิงม่ายทำรุนแรงจึงหนีไปอยู่เสียในถ้ำ ทำให้มนุษย์ไม่มีข้าวกินถึงพันปี วันหนึ่งลูกชายเศรษฐีหลงทางเข้าไปในป่า พบปลากั้งซึ่งอยู่กับพระแม่โพสพ ปลากั้งพาไปไหว้พระนาง ลูกเศรษฐีได้อ้อนวอนให้พระนางคืนสู่เมืองมนุษย์ พระนางใจอ่อนจึงกลับมาโลกอีก ลูกเศรษฐีสำนึกในบุญคุณของพระนางจึงชักชวนมนุษย์ให้ยกย่องนับถือพระนาง
ต่อมาอีกพันปี มีชายโลภมากผู้หนึ่งสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวไว้กินแต่ผู้เดียว พระแม่โพสพโกรธจึงหนีกลับไปอยู่ถ้ำในป่าอีก ทิ้งให้มนุษย์อดอยากเป็นเวลาหลายร้อยปี
เทวดาเล็งเห็นความทุกข์ยากของมนุษย์ จึงอ้อนวอนให้พระแม่โพสพกลับคืนมา พร้อมกันนั้นก็สอนให้มนุษย์รู้จักนับถือข้าว รู้จักทำขวัญข้าว
นิทานของชาวลื้อในภาคเหนือบางสำนวนเล่าว่า ในสมัยพระพุทธเจ้า นางขวัญข้าวถูกไล่จึงไปอยู่ถ้ำกับพวกครุฑนาค ต่อมาชาวเมืองอดข้าวจึงได้ทำพิธีเชิญพระแม่โพสพกลับเมือง
จากตำนานนิทานในท้องถิ่นต่างๆ ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ก่อนหันมารับนับถือพุทธศาสนาครับ
นิทานของชาวลื้อ แสดงให้เห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเมื่อหันมานับถือพุทธศาสนาและขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม ในขณะที่นิทานของชาวภาคกลางและภาคใต้ แสดงให้เห็นชัยชนะของพุทธศาสนาเหนือลัทธิศาสนาดั้งเดิม คือคติการนับถือพระแม่โพสพ-เทวีแห่งข้าว ซึ่งชาวบ้านนับถือ
เรื่องที่พระแม่โพสพมักหนีไป จนต้องมีผู้ไปเชิญกลับมาด้วยวิธีการต่างๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของการทำนาปลูกข้าว ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทางธรรมชาติมากมาย แม้จนปัจจุบันนี้
และก็ยังแสดงให้เห็นด้วยนะครับ ว่าในช่วงแรกๆ ที่สังคมเกษตรกรพื้นบ้านไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามานั้น มีการขัดแย้งกัน หรือไม่ใช่เป็นการรับเข้ามาโดยราบรื่นนัก
จนในที่สุด ก็มีการประนีประนอมระหว่างความเชื่อทั้งสอง ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคล และความเจริญของชุมชน
ในนิทานแต่ละเรื่องที่นกตัวอย่างมา จะเห็นปลาชนิดต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นปลาที่หาได้ในท้องไร่ท้องนาทั้งนั้นครับ คนรุ่นใหม่หรือคนในเมืองคงไม่คุ้นเคยกันแล้ว และปัจจุบันก็เหลือแต่ปลากรายทองเท่านั้นที่ยังคงอยู่คู่กับรูปเคารพของพระแม่โพสพ
พระแม่โพสพ ขนาด ๓ นิ้ว หลวงปู่ทิม วัดพระขาว
คนรุ่นเก่านับถือพระแม่โพสพมากนะครับ บางบ้านถึงกับกราบไหว้ท่านก่อนเปิบข้าวคำแรกเข้าปาก และสั่งสอนลุกหลานให้นั่งล้อมวงเปิบข้าวพร้อม ๆ กัน และต้องสำรวมกิริยามารยาทระหว่างเปิบข้าวให้เรียบร้อย อย่าให้มีเม็ดข้าวหายหกตกหล่น กินข้าวอิ่มหนำสำราญแล้ว ยังต้องยกมือไหว้เพื่อสำแดงความกตัญญูรู้บุญคุณ
แม้ข้าวเหลือก้นจานสังกะสีก็ต้องกินให้หมดนะครับ ห้ามเททิ้งลงถังโสโครก ให้เอาใส่ปากหม้อข้าวทับบนข้าวที่หุงมื้อต่อไป หรือไม่ก็ต้องนำไปผึ่งแดด ทำเป็นข้าวตากแห้งเอาไว้ เดี๋ยวนี้ก็ยังทำกันอยู่ในหมู่บ้านชาวนาตามชนบททั่วไปครับ
เหล่าชาวนา เมื่อแรกทำนา จนกระทั่งถึงเวลาไถคราด ก็จะต้องประกอบพิธีเซ่นบูชาพระแม่โพสพเป็นระยะเช่นกัน
อย่างในช่วงก่อนหน้าเวลาฤกษ์แรกนา จะมีการปลูกศาลเพียงตา สูงระดับสายตาคนขึ้น ณ ที่ที่กำหนดไว้เป็นที่แรกนา ตระเตรียมเครื่องสังเวยบูชาพระแม่โพสพให้ครบถ้วน พร้อมทั้งกล่าวคำขวัญเป็นถ้อยคำไพเราะอ้อนวอนพระแม่โพสพให้คุ้มครองรักษาต้นข้าว ขอให้ปีนี้จงทำนาได้ผล ไม่ว่าจะเป็นนาหว่าน นาดำ
ว่ากันว่า เพราะพระแม่โพสพเป็นหญิง ขวัญอ่อนง่าย ต้องทำพิธีเรียกขวัญเสมอไงครับ
แม้การมหรสพของชาวบ้าน ยามเมื่อร้องบทไหว้ครู ก็จะมีการร้องระลึกคุณพระแม่โพสพไว้ด้วย ดังบทไหว้ครูเพลงเรือบทหนึ่งมีความว่า
...จะยกบายศรีขึ้นสี่มุม ลูกจะไหว้พระภูมิ ที่มา ไหว้ทั้งแม่ข้าวเจ้า ทั้งพ่อข้าวเหนียว เสียเเหละเมื่อลูกนี้เกี่ยวกันมา ลูกจะไหว้โพสพ สิบนิ้วนอบนบ นิ้วหน้า ขอให้มาปกปักรักษาลูก ขออย่าให้มีทุกข์เลยหนา ขอให้มาเป็นมงคลสวมบนเกศา กันแต่เมื่อเวลานี้เอย.....
พระแม่โพสพ แม้จะได้รับการนับถือเป็นอันมาก แต่ศาลของพระนางจริงๆ มีนับแห่งได้ ที่มีชื่อเสียงที่สุด เห็นจะเป็น ศาลพระแม่โพสพ วัดศิริวัฒนาราม แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ศาลแม่โพสพริมคลองบางพรม
โดยมีประวัติว่า เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว ตาเหล็งกับยายแฟงชาวบางพรมจะทำขนมจีน เลยแช่ข้าวสารเตรียมไว้ พอรุ่งเช้าข้าวกลับงอกเป็นต้นข้าว ทั้งสองเห็นว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ เลยเอาต้นข้าวดังกล่าวไปผสมปั้นเป็นรูปแม่โพสพ กลายเป็นที่เคารพนับถือบูชาของชาวนาบางพรมและผู้คนในละแวกใกล้เคียง โดยศาลเก่านั้นจะตั้งอยู่ตรงทางสี่แพร่ง บริเวณที่คลองบางพรมมาตัดกับคลองลัดตาเหนียวและคลองลัดมะยม
ต่อมาในพ.ศ.๒๕๒๑-๒๒ คนต่างถิ่นมาขโมยเทวรูปใส่เรือไป จึงมีการรวบรวมศรัทธาสร้างพระแม่โพสพขึ้นใหม่ ปรากฏว่านอกจากจะได้เทวรูปองค์ใหม่แล้ว ยังมีเงินเหลือมากพอสมทบสร้างศาลพระแม่โพสพหลังใหม่ ซึ่งย้ายมาอยู่ในเขตวัดศิริวัฒนารามในปัจจุบันด้วย เพื่อจะได้ดูแลรักษาง่ายขึ้น
ศาลพระแม่โพสพแห่งนี้ ยังนับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่ย่านบางพรมเคยเป็นแปลงนาข้าวขนาดใหญ่มาก่อนที่จะสิ้นสภาพไปในราวพ.ศ.๒๕๒๖ แต่แม้จะไม่มีการทำนาอีกแล้ว พระแม่โพสพก็ยังเป็นที่เคารพบูชาของชาวบางพรมจนทุกวันนี้
โดยทุกๆ ปี จะมีงานฉลองพระแม่โพสพ โดยกำหนดเดิมกำหนดจะตรงกับช่วงฤดูกาลที่ดินแตกระแหง เพราะมีเกร็ดอยู่ว่า ถ้าเชิญพระแม่โพสพออกมา ฝนก็จะตก ทำให้มีน้ำทำนาได้ข้าวดี
ในงานฉลองนี้ แต่ละบ้านจะเอาข้าวเปลือกมากองรวมกัน นิมนต์พระทั้งสี่วัดในละแวกนี้ คือวัดประดู่ วัดใหม่ วัดมะพร้าวเตี้ย และวัดโพธิ์มาสวดมนต์ แล้วทำบุญสมโภช ส่วนกองข้าวเปลือกขนาดมหึมาก็จะมีเจ้าของโรงสีชาวจีนแถบบางเชือกหนังมารับซื้อ เงินที่ได้ก็ถวายวัด หรือใช้ในการสาธารณประโยชน์ต่างๆ
นอกจากนี้ ยังเคยมีประเพณีอัญเชิญพระแม่โพสพแห่ไปตามคลองบางพรมถึงคลองชักพระ แล้วอัญเชิญขึ้นที่วัดแห่งหนึ่ง มีมหรสพสมโภชตลอดคืน พอรุ่งเช้าจึงอัญเชิญลงเรือแห่กลับตามคลองบางเชือกหนัง แล้วกลับมาขึ้นศาลชนวันงานพอดี
แต่น่าเสียดายที่แม้ทางวัดจะเคยรื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ไม่มีการจัดแห่ทางเรืออีกแล้วในปัจจุบัน
ชาวบางพรมรุ่นเก่าๆ ยังจำได้ว่า พระแม่โพสพเคยมาประทับทรงอยู่บ่อยๆ โดยระหว่างพิธีจะต้องมีแต่สาวพรหมจรรย์เท่านั้น และมีผู้สืบทอดการเป็นร่างทรงมาหลายรุ่น
แต่ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระแม่โพสพมาประทับทรงในร่างคนทรงที่ชื่อยายปิ่น บังเอิญมีเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ วิ่งผ่าเข้ามากลางพิธี จากนั้นไม่ปรากฏว่าพระแม่โพสพจะลงมาประทับร่างใครอีกเลย
............บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์....................