***มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ, เว้นจากการพูดโกหก, เว้นจากพูดไม่จริง***

มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ, เว้นจากการพูดโกหก, เว้นจากพูดไม่จริง
       (ข้อ ๔ ในศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐)
-------------

ศีล ๕ สำหรับทุกคน คือ
       ๑. เว้นจากทำลายชีวิต
       ๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
       ๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
       ๔. เว้นจากพูดเท็จ
       ๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท;
       คำสมาทานว่า
        ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๒. อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ;

-----


ศีล ๘ สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ
       ๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
       ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
       ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
       ๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย;
       คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่างจากศีล ๕) ว่า
        ๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ;

------------

ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้
       หัวข้อเหมือนศีล ๘ แต่แยกข้อ ๗ เป็น ๒ ข้อ (= ๗, ๘) เลื่อนข้อ ๘ เป็น ๙ และเติมข้อ ๑๐ คือ
       ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ
       ๘. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ
       ๙. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ
       ๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน;
       คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่าง) ว่า
        ๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๘. มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๙. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
        ๑๐. ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ;

------------

กุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล,
       กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติมี ๑๐ อย่าง คือ
       ก. กายกรรม ๓ ได้แก่
        ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำลายชีวิต
        ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
        ๓. กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
       ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่
        ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
        ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
        ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
        ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
       ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่
        ๘. อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา
        ๙. อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา
        ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม

-----

อ้างอิง
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C1%D8%CA%D2%C7%D2%B7%D2&detail=on
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่