ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับร่าง พรบ. ปี 2559 เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและ Single Gateway

อ้างอิง:
รายงานของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2559 : http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext64/64240_0001.PDF

และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550: http://www.moi.go.th/image/rule_computer/law-comter1.pdf

ก่อนอื่นขอชี้แจงเลยนะครับว่าผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งรัฐบาลและประชาชน แต่จะตีความหมายคร่าวๆ ของร่างฯ ฉบับนี้ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายๆ ตามนี้ครับ

ตามที่เป็นประเด็นกันอยู่ในเรื่องการแก้ไขร่าง พรบ. ฉบับนี้และมีกระแสเกี่ยวกับการต่อต้านการทำ Single Gateway นั้น บอกตามตรงว่าตอนแรกผมก็ไม่ได้เข้าไปอ่านเนื้อหาโดยละเอียดครับ แต่เนื่องด้วยงานที่ผมทำ จำเป็นต้องอ่าน พรบ. คอมพิวเตอร์แทบทั้งเล่มก็ว่าได้ ก็เลยต้องเข้าไปอ่านร่างฯ ฉบับนี้จนเสร็จเรียบร้อย

ภาพรวมของ ร่าง พรบ. เพิ่มเติม แก้ไข พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ผมอ่านนี้ “ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งที่ระบุเรื่องของการทำ Single Gateway แม้แต่วรรคเดียว” ข้อความทั้งหมดในร่างฯ แก้ไข/เพิ่มเติมฉบับนี้เน้นไปยังการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานในปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงปรับบทลงโทษให้มีความชัดเจนและลงรายละเอียดมากขึ้นเท่านั้น

จากมาตราในร่างฯ ฉบับนี้ระบุไว้เกี่ยวกับบทลงโทษในการแฮ็กข้อมูลหรือเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นโดยมิชอบ (มาตรา 5 – 10) และระบุโทษเกี่ยวกับการส่งข้อมูลหรืออีเมล์ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือรำคาญแก่ผู้รับ โดยที่ผู้รับไม่สามารถบอกเลิกหรือปฏิเสธได้ (เพิ่มเติมจากมาตรา 11 พรบ.ฯ ปี 2550)

ในส่วนของการชักจูงให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอันเป็นเท็จไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (มาตรา 14 วรรค 1) ให้คงโทษเดิมไว้ แต่เพิ่มต่อท้ายในส่วนของวรรค 1 นี้ว่า “ถ้าการกระทำผิดตามวรรค 1 มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคล ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้กระทำ...ฯลฯ... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้” หมายถึง ถ้าให้ข้อมูลเท็จระหว่างบุคคลเช่นการหมิ่นประมาทก็เป็นคดีอาญายอมความได้นั่นเอง

ทั้งนี้ผมพยายามวิเคราะห์เนื้อหาบางส่วนที่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องการเข้ารหัส SSL ตามที่เป็นข่าวอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นเนื้อหาส่วนใดกล่าวถึงแม้แต่น้อย
ส่วนที่ใกล้เคียงที่สุดนั้นจะอยู่ในมาตรา 13 (วรรค 6 และ 7)  ของร่างฯ ฉบับนี้ โดยไปยกเลิกความในมาตรา 18 และ 19 ของ พรบ.ฯ ปี 2550 และใช้ข้อความตามร่างฯ ฉบับนี้แทน หมายความว่า จะต้องมีขั้นตอนการแจ้งความหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นก่อน เจ้าพนักงานจึงจะมีอำนาจตามมาตรานี้ และยังระบุไว้ด้วยว่า ให้ใช้อำนาจ “เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด” นี้เท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีการระบุอำนาจของเจ้าพนักงานในมาตรา 19 ด้วยว่า การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามมาตรา 18 (พรบ. ปี 2550) วรรค 4 5 6 7 ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้องก่อน จึงจะใช้อำนาจตามมาตรา 13 ในร่างฯ ฉบับนี้ได้
และในมาตรานี้ยังระบุไว้อีกด้วยว่าการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 18 วรรค 4 (พรบ. ปี 2550) “ให้ทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น”

โดยสรุปแล้วผมก็เลยไม่เข้าใจว่าที่ออกมาเรียกร้องคัดค้านร่าง พรบ. ฉบับนี้ผู้ที่ตั้งประเด็นขึ้นมามีจุดประสงค์ใดกันแน่ เพราะถ้าได้อ่านร่างฯ โดยละเอียดและอ่าน พรบ. ปี 2550 ประกอบด้วยแล้ว จะเห็นว่าไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งกระทบต่อประชาชนทั่วไปเลย มีแต่การปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับการใช้งานในปัจจุบันและขั้นตอนการทำงานของเจ้าพนักงานเท่านั้น

ดังนั้นผมว่าก่อนจะคัดค้านหรือแสดงท่าทีอย่างหนึ่งอย่างใด ควรศึกษาข้อมูลให้ครบก่อนจะดีกว่านะครับ จะได้ไม่เป็นผู้ถูกชักจูงได้ง่าย หรือเชื่อโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อนครับ

ข้อสังเกตุ: ตั้งแต่มีเรื่องการคัดค้านร่างฯ ฉบับนี้ยังไม่เห็นมีผู้ให้บริการรายใดออกมาให้ความเห็นหรือตั้งคำถามใดๆ เกี่ยวกับเรื่อง Single Gateway ทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ผู้ให้บริการ Gateway ทั้งหมดจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นอันดับแรก

ป.ล. เข้าใจหลายๆ คนครับว่ามันงง เพราะเวลาอ่านกฎหมายหรือพระราชบัญญัติต่างๆ มันต้องเปิดกางทั้งของเก่าของใหม่มาเทียบกันแล้วตีความ คนที่ไม่ได้ศึกษามาด้านนี้ก็อาจจะอ่านแค่ผ่านๆ แล้วไปตีความเอาเอง ซึ่งอาจไม่ถูกต้องครับ แต่ก็นั่นแหละครับ ประเทศเราที่จริงควรจะต้องมีฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่สามารถชี้แจงศัพท์แสงต่างๆ ทางกฎหมายมาให้ประชาชนตาดำๆ เข้าใจง่ายที่สุด ไม่ต้องไปใช้ศัพท์วิชาการมากจนเกินไปนักหรอกครับ คนทั่วไปเค้าไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูดหรอกครับ

***สำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายเชิญแนะนำและชี้แจงได้เต็มที่เลยนะครับ จะได้ช่วยๆ กันทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้นครับ***
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  Single Gateway อินเทอร์เน็ต กฎหมายการเมือง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่