Single Gateway นโยบายรัฐกับความเป็นจริง

ประเด็นเรื่อง Single Gateway ยังคงเป็นประเด็นที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่อาจรับทราบเพียงคร่าวๆ ว่าอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข่าวสารต่างๆ หรือการที่หน่วยงานรัฐอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้แม้จะทำการเข้ารหัสแล้วก็ตาม
ดังนั้นจะขอทำความเข้าใจและอธิบายคำว่า Gateway ให้คนทั่วไปทราบแบบง่ายๆ ดังนี้

Gateway ในความหมายของวงการโทรคมนาคมนั้น คือช่องทางการสื่อสารระหว่างโครงข่ายหนึ่งไปยังอีกโครงข่ายหนึ่ง หรือโครงข่ายหนึ่งไปยังหลายๆ โครงข่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบ Gateway ให้เข้าใจง่ายๆ นั้นก็สามารถเปรียบได้กับสถานีขนส่งหรือสนามบิน รวมถึงด่านต่างๆ ตามพรมแดนของประเทศนั่นเอง เพราะ Gateway คือช่องทางเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกันโดยที่มีศูนย์กลางการเชื่อมต่ออยู่ภายในประเทศ ณ จุดที่เจ้าของโครงข่ายนั้นๆ กำหนดไว้

เช่นเดียวกันกับมนุษย์ การที่ข้อมูลจะเดินทางสื่อสารกันระหว่างโครงข่ายย่อมต้องมีการตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันเช่นเดียวกับ ตม. หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์รูปแบบต่างๆ ที่อาจหลุดเข้าไปยังโครงข่ายระหว่างกัน โดยต้องมีเครื่องมือตรวจสอบเช่น Firewall เป็นต้น  
ดังนั้นการที่รัฐมีนโยบายต้องการที่จะทำ Single Gateway ก็เพื่อต้องการให้สะดวกต่อการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้โดยสะดวกนั่นเอง
แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวน Gateway ทั้งในและต่างประเทศรวมกันทั้งหมด 21 Gateway (อ้างอิง: http://internet.nectec.or.th/webstats/internetmap.current.iir?Sec=internetmap_current)  
แบ่งเป็น Gateway ในประเทศ (IX) จำนวน 11 ราย (รายละเอียดตามภาพ)


และ Gateway ต่างประเทศ (IG) 10 ราย (รายละเอียดตามภาพ)


โดยที่เจ้าของ Gateway ในและต่างประเทศส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นเจ้าของเดียวกัน (ในจำนวนนี้มีเพียง BKNIX ที่ไม่มี Gateway ต่างประเทศเป็นของตนเองเพียงเจ้าเดียว)

การที่จะมี Gateway เป็นของตนเองได้นั้น ผู้ให้บริการต้องได้รับใบอนุญาตโทรคมนาคมแบบที่ 3 จาก กสทช. ก่อน จึงจะสามารถมี Gateway เป็นของตนเองได้ และการขอใบอนุญาตนี้สามารถทำได้หากมีทุนเพียงพอในการจัดซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อสร้าง Gateway ขึ้นมา ซึ่งงบประมาณเบื้องต้นในการซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อสร้าง Gateway นั้นอยู่ในหลักสิบล้านถึงร้อยล้านบาทก็เพียงพอแล้ว (ไม่รวมค่าสร้างอาคารหรือค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม)

สาเหตุที่ผู้ให้บริการแต่ละรายต้องการมี Gateway เป็นของตนเองก็เนื่องจากต้องการประหยัดต้นทุนค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในระยะยาว โดยผู้ให้บริการแต่ละรายจะไปเจรจากับโครงข่ายต่างประเทศหรือเว็บไซต์ต่างประเทศกันเอง โดยการต่อรองราคาจะขึ้นอยู่กับปริมาณผู้ใช้งานในโครงข่ายของตนเอง หากมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากการต่อรองด้านราคาก็จะทำได้สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงต้นทุนในการเชื่อมต่อจะยิ่งถูกลง ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ให้บริการในประเทศจึงมีพฤติกรรมแย่งชิงฐานลูกค้ากันนั่นเอง

ดังนั้นเราจึงเห็นว่า Gateway เมืองไทยมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ ยิ่งถ้าคำนวณเฉพาะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศมาหารด้วยจำนวน Gateway ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็จะยิ่งเห็นภาพว่าปริมาณผู้ใช้งานต่อ Gateway มีจำนวนน้อยมาก แต่ในความเป็นจริงนั้นมี Gateway เพียงไม่กี่รายที่มีผู้ใช้งานในปริมาณสูง นั่นคือผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตและสัมปทานทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น การที่รัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายจะทำ Single Gateway นั้น “จำเป็น” จะต้องเปลี่ยนแปลงพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและกฎหมายต่างๆ รวมถึงกฎระเบียบการเชื่อมต่อโครงข่ายพื้นฐานของประเทศใหม่หมด ไม่ใช่เฉพาะแค่ พรบ. คอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะหากจะทำเช่นนั้นแล้ว รัฐจำเป็นจะต้องสร้าง Gateway ขนาดยักษ์ขึ้นมารองรับก่อน รวมถึงทำการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างประเทศจำนวนเป็นร้อยๆ พันๆ โครงข่ายทั่วโลกให้เรียบร้อย และต้องแน่ใจว่ามีปริมาณเพียงพอ สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทั้งประเทศ แล้วถึงจะสามารถให้ผู้ให้บริการในประเทศมาเชื่อมต่อ Gateway กลางได้ ไม่เช่นนั้นการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศจะเป็นอัมพาตทั้งประเทศทันที

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจุดเชื่อมต่อ Gateway กับต่างประเทศแบบ Submarine Cable ที่ประกาศบนเว็บไซต์สากลอยู่จำนวน 4 จุดทั่วประเทศคือ ศรีราชา ระยอง สงขลา และสตูล (อ้างอิง: http://www.submarinecablemap.com/#/landing-point/rayong-thailand) โดยผู้ให้บริการที่มี Submarine Cable เป็นของตนเองคือ
1. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (อ้างอิง: http://www.catdatacom.com/th/site/networks/networks_detail/2)
2. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (อ้างอิง: http://www.tot.co.th/Product/Default.aspx?id=c3a4951f84eeab7c2e582cea939c1122)
3. บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (อ้างอิง: http://www.symphony.net.th/services/international.aspx)

ทั้งนี้ยังไม่นับ Gateway ที่เชื่อมต่อบนภาคพื้นดินโดยผ่านโครงข่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) อีกด้วย (อ้างอิง:  http://www.egattelecom.com/tsbf/index.php) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
แผนที่ Gateway EGAT


และ Gateway ทั้งหมดที่ประกาศนี้ไม่ใช่เป็นเจ้าของเพียงรายเดียว หากแต่เป็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศในการเชื่อมต่อ Gateway แต่ละเส้นทาง เช่นการเชื่อมต่อ Gateway ระหว่าง ไทยกับสิงคโปร์ผ่านภาคพื้นดิน ก็จะต้องลงนามร่วมกัน 3 ประเทศ คือไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากต้องทำการสร้างโครงข่ายผ่านประเทศมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ซึ่งกว่าที่จะสร้างโครงข่ายได้แต่ละเส้นทางนั้น ต้องมีการสำรวจความเป็นไปได้ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ ความคุ้มค่าในการลงทุน ระยะเวลาดำเนินการ ฯลฯ ไปจนถึงการเจรจาต่อรองด้านราคาอื่นๆ ก่อนจะสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสำเร็จ

ดังนั้นหากรัฐต้องการจะทำ Single Gateway ก็จะต้องทำการแปรรูปองค์กรเหล่านี้ให้กลายเป็นหน่วยงานรัฐเสียก่อน หรือต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายบังคับให้องค์กรเหล่านี้ทำการเชื่อมต่อผ่าน Gateway ของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่มีผู้ใดยอมปฏิบัติตามแน่นอน เนื่องจากแต่ละรายมีการลงทุนเชื่อมต่อไปแล้วมูลค่ามหาศาลนั่นเอง

นอกจากนี้ในส่วนการเชื่อมต่อโครงข่ายในประเทศเองก็ดี รัฐก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนจุดในการเชื่อมต่อใหม่ทั้งหมดให้เข้ามาเชื่อมต่อยัง Gateway กลางเพียง Gateway เดียวเท่านั้น ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการจะทำ Single Gateway ซึ่งคำถามก็จะมีตามมาว่า รัฐจะมีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายในประเทศจำนวนกี่จุด เพียงพอในการรองรับผู้ใช้บริการในประเทศกว่า 20 ล้านคนในปัจจุบันหรือไม่ และเมื่อทำแล้วจะกระทบกับโครงสร้างต่างๆ ในปัจจุบันทั้งในด้านบริการและราคาไปจนถึงคุณภาพการให้บริการหรือไม่ รวมถึงต้องตอบคำถามกับผู้ได้รับสัมปทานและใบอนุญาตในประเทศว่าจะรับผิดชอบกับต้นทุนและค่าโครงข่ายของแต่ละรายที่ลงทุนไปแล้วอย่างไร

การลงทุนสร้าง Gateway ขนาดยักษ์นั้นต้องใช้การลงทุนหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไปต่อหนึ่ง Gateway ทั้งในส่วนการสร้างอาคาร การลงทุนซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงการวางระบบความปลอดภัยขั้นสูงต่างๆ อีกทั้งยังต้องมี Gateway สำรองในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย นี่ยังไม่นับมูลค่าการขอเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างประเทศจำนวนมหาศาลอีก และหากสมมติว่ารัฐมีงบประมาณสร้างเพียงพอก็ตาม แต่ก็จะมีคำถามขึ้นมาทันทีว่า หาก Gateway ที่รัฐสร้างและกำกับดูแลเกิดภัยพิบัติที่ไม่สามารถควบคุมได้ขึ้นมา แล้วส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายในทางธุรกิจต่อให้ผู้ให้บริการเอกชนแล้ว รัฐจะสามารถจ่ายรับผิดชอบหรือจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ เนื่องจากมูลค่าโทรคมนาคมในประเทศต่อปีนั้นเป็นหลักแสนล้านบาทขึ้นไป

เพราะฉะนั้นการทำ Single Gateway สำหรับประเทศไทยนั้น คงเป็นได้แค่เพียงแค่นโยบาย หรือหากคิดจะทำจริงคงต้องรื้อระบบโทรคมนาคมทั้งหมดทั่วประเทศ รวมถึงการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาและสัมปทานต่างๆ ที่รัฐทำไว้กับเอกชนทุกรายเสียก่อน จึงจะสามารถทำโครงการนี้ให้เป็นจริงได้ และคงต้องใช้เวลานับสิบๆ ปีกว่าจะทำได้สำเร็จ

*บทความนี้เขียนจากความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานที่อ้างถึงใดๆ
**ข้อมูลที่นำมาประกอบเป็นข้อมูลที่ประกาศอยู่แล้วบนเว็บไซต์ สามารถตรวจสอบได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่