ปาฐกถาโดยบ๊อบ ดีแลน ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2016

“เพลงของผมเป็นวรรณกรรมหรือเปล่า?”
บทพูดจาก "Bob Dylan" กลางเวที Nobel prize
December 11, 2016
The Paperless
......................

สวัสดีครับ ทุกคน ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะขอต้อนรับสมาชิกของราชบัณฑิตยสภาสวีเดน และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ในค่ำคืนนี้

           ขออภัยที่ผมไม่สามารถมาที่นี่ได้ด้วยตัวเอง แต่โปรดรู้ไว้ว่าจิตวิญญาณและความรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลอันทรงค่าอย่างหามิได้ของผมนั้นอยู่ที่นี่กับพวกคุณด้วยอย่างแน่นอน การได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเป็นอะไรที่ผมไม่เคยวาดฝัน หรือคิดว่าจะมีวันนี้มาก่อนเลย  ตั้งแต่วัยหนุ่ม ผมคุ้นเคยกับการอ่านและซึมซับงานเขียนของผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างคิปลิง, ชอว์,โธมัส มันน์ ,เพิร์ล บัค, อัลแบร์ กามูส์, เฮมิงเวย์  ยักษ์ใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมเหล่านี้มีงานที่คนนำไปใช้สอนในชั้นเรียน ซื้อเข้าห้องสมุดทั่วโลก และได้รับการพูดถึงด้วยความยกย่องว่าเป็นงานที่เปี่ยมด้วยความลึกซึ้ง การที่บัดนี้ผมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนักเขียนเหล่านั้นไปแล้วช่างเป็นอะไรที่เหนือคำบรรยายจริงๆ

           ผมไม่รู้ว่าผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลจะรู้สึกว่ารางวัลนี้คือเกียรติยศหรือไม่ แต่ผมคาดว่าใครก็ตามที่เขียนหนังสือ หรือบทกวี หรือบทละคร ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามบนโลกนี้ ต่างมีความใฝ่ฝันนี้เก็บซ่อนเอาไว้ลึกลงไปข้างในอย่างลับๆ ด้วยกันทั้งนั้น แล้วบางทีความฝันนี้ก็อาจอยู่ลึกเสียจนผมไม่เคยรู้เลยว่ามีอยู่ด้วย

           ถ้าก่อนหน้านี้มีใครมาบอกว่าผมมีโอกาสอยู่เล็กน้อยที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผมก็คงคิดว่านั่นฟังดูพิกลเหมือนผมจะมีโอกาสได้ไปยืนบนดวงจันทร์  อันที่จริง ในช่วงที่ผมเกิดและหลายปีถัดจากนั้น ไม่มีใครที่ได้รับการพิจารณาว่าดีพอที่จะได้รางวัลโนเบลเลย ผมจึงจำภาพนั้นเอาไว้ว่าผมอยู่ในกลุ่มคนที่มีอยู่น้อยมากๆ

           ผมกำลังอยู่บนถนนในตอนที่ได้ยินข่าวอันน่าประหลาดใจนี้ และต้องใช้เวลานานหลายนาทีเลยกว่าผมจะประมวลผลได้   ผมเริ่มคิดถึงวิลเลียม เชคสเปียร์ ต้นแบบทางวรรณคดีอันยิ่งใหญ่ ผมคิดว่าเขามองตัวเองเป็นนักเขียนบทละครเวที ความคิดที่ว่าตัวเองกำลังเขียนงานวรรณกรรมคงไม่ได้อยู่ในหัวเขาเลย คำของเขาสร้างขึ้นมาเพื่อการแสดงบนเวที เพื่อให้มีคนพูดออกมา ไม่ใช่เพื่ออ่าน   ตอนที่เขาเขียนเรื่องแฮมเล็ต ผมมั่นใจว่าเขาคงคิดนั่นคิดนี่ในเรื่องที่แตกต่างกันหลายเรื่อง อย่าง “ใครจะเป็นนักแสดงที่เหมาะกับบทเหล่านี้บ้าง?” “ถ้าฉากนี้อยู่บนเวทีแล้วควรเป็นอย่างไร?” “ฉันอยากให้ฉากของเรื่องนี้คือเดนมาร์กจริงๆ สินะ?”  ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามุมมองอันสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นคือสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็คงมีเรื่องจิปาถะหลายเรื่องให้คิดอีก เช่น “จะมีเงินทุนพอไหม?” “จะมีที่นั่งดีๆ ให้แฟนประจำเพียงพอหรือไม่?” “ฉันจะไปหากะโหลกมนุษย์มาจากไหนกันนะ?”  ผมพนันได้เลยว่าเรื่องที่ห่างไกลจากความคิดของเชคสเปียร์ที่สุด ก็คือคำถามที่ว่า “นี่ใช่วรรณกรรมหรือเปล่า?”

           ตอนที่ผมเริ่มเขียนเพลงเมื่อครั้งที่ยังเป็นวัยรุ่น และแม้แต่ตอนที่เริ่มมีชื่อเสียงจากความสามารถนี้ ความตั้งใจของผมก็แค่อยากให้มันไปได้ไกลกว่านี้ ผมคิดว่าอยากให้คนได้ยินเพลงของผมในร้านกาแฟหรือในบาร์ และบางทีหลังจากนั้นก็อาจเป็นในคาร์เนกีฮอล์ (เป็นหอแสดงดนตรีในนิวยอร์ก) ในลอนดอนพาลาเดียม   แล้วถ้าจะฝันถึงอะไรที่ใหญ่กว่านั้นจริงๆ ก็คือจินตนาการว่าเพลงของผมได้รับการบันทึกเสียงและได้ยินเพลงของผมเองในรายการวิทยุ  นั่นคือรางวัลที่ใหญ่จริงๆ แล้วในความคิดผม เพราะการได้บันทึกเสียงและได้ยินเพลงของคุณเองทางวิทยุ หมายความว่าคุณกำลังเข้าถึงผู้ฟังจำนวนมาก และก็อาจหมายถึงคุณจะได้ทำสิ่งที่คุณอยากทำต่อไป      

           นั่นแหละ ผมทำในสิ่งผมเริ่มไว้มาเป็นเวลานานมากแล้ว ตอนนี้ผมมีแผ่นบันทึกเสียงเป็นโหล แสดงคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลกเป็นพันรอบ แต่เพลงก็ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในเกือบทุกสิ่งที่ผมทำ  เพลงของผมดูเหมือนจะค้นพบที่อยู่ของมันในชีวิตของผู้คนจำนวนมากในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย และผมก็ยินดีที่เป็นเช่นนั้น  

          กระนั้นก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ผมต้องพูด ในฐานะนักแสดง ผมเคยแสดงทั้งต่อหน้าผู้ชมห้าหมื่นคนและผู้ชมห้าสิบคน และผมบอกเลยว่าการแสดงต่อหน้าผู้ชมห้าสิบคนนั้นยากกว่า  คนห้าหมื่นคนมีมุมมองทัศนะแบบเดียวกัน ไม่เหมือนคนห้าสิบคน   คนห้าสิบคนที่ผมว่านี้มีความเป็นปัจเจก มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีโลกเป็นของตัวเอง   พวกเขารับรู้สิ่งต่างๆ ได้กระจ่างชัดกว่า ความซื่อสัตย์และการจะเข้าถึงพรสวรรค์ลึกๆ ที่มีอยู่ของคุณได้ก็คือต้องพยายาม  ข้อเท็จจริงที่ว่าคณะกรรมการรางวัลโนเบลนั้นมีจำนวนน้อยมากไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกว่าพยายามเสียเปล่าเลย

           แต่ ก็เหมือนเชคสเปียร์ บ่อยครั้งผมถูกดึงดูดด้วยความตั้งใจในการสร้างสรรค์งาน และต้องรับมือกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตอย่าง “ใครจะเล่นเพลงนี้ได้ดีที่สุด?” “นี่เราเลือกอัดเสียงถูกสตูดิโอแล้วใช่ไหม?” “เพลงนี้อยู่ในคีย์ที่ถูกต้องแล้วหรือยัง?"  บางอย่างก็ไม่เปลี่ยนแปลงเลย กระทั่งในอีก 400 ปีให้หลัง

           ไม่มีสักครั้งเลยที่ผมจะมีเวลาพอที่จะถามตัวเองว่า “เพลงของเราเป็นวรรณกรรมหรือเปล่า?”
            เพราะฉะนั้น ผมขอขอบคุณราชบัณฑิตสภาแห่งสวีเดน ทั้งเรื่องที่ช่วยพิจารณาคำถามดังกล่าว และที่เหนือไปกว่านั้น คือช่วยให้คำตอบอันแสนวิเศษ
           
           ขอพรอันประเสริฐสถิตแก่พวกคุณทุกคน
           บ๊อบ ดีแลน

           [ ปาฐกถาโดยบ๊อบ ดีแลน ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2016
           กล่าวโดย Azita Raji เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรสวีเดน ]
...........................
จาก http://www.thepaperless.co/single-post/2016/12/11/%E2%80%9C%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E2%80%9D-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81-Bob-Dylan-%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B5-Nobel-prize

* อ.ชลธิรา สัตยาวัฒนา บอกที่เฟซบุ๊กเมื่อ ๑๓ ธ.ค. ๕๙ ว่า
"ไม่ทราบว่าใครแปลนะคะ แปลได้ดีมาก"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่